Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธการเจรจารอบสาม ภายใต้ข้อเสนอของแกนนำ นปช. ที่ให้ยุบสภาภายใน 30 วัน ด้วยเหตุผลที่พอจะสรุปได้ว่า

หนึ่ง เงื่อนเวลาในการยุบสภาไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ต้องทำอะไรบ้างเพื่อปู
ทางไปสู่การเลือกตั้งอย่างเสรี และสงบสันติ เมื่อตกลงกันได้ว่าจะทำอะไรบ้าง จึงจะได้คำตอบเรื่องเงื่อนเวลาที่เหมาะสม แต่ที่แน่นอนคือ 30 วัน ทำอะไรไม่ทันแน่

สอง รัฐบาลจะไม่ยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขการข่มขู่หรือคุกคามด้วยวิธีรุนแรง หรือผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้เป็นบรรทัดฐานได้ว่า ต่อไปหากคนกลุ่มไหนต้องการชนะทางการเมืองก็จะใช้วิธีเช่นนี้อีก

สาม ข้อเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่อาจจะมีเป้าหมายต่อไปว่าต้องการชิงอำนาจรัฐเพื่อช่วยเหลือตัวบุคคล หรือเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ
 
สี่ การตัดสินใจของรัฐบาลไม่ใช่ต้องฟังเฉพาะเสียงของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ต้องฟังทุกกลุ่ม หรือฟังคนทั้งประเทศ หรือต้อง “ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ”

เหตุผลดังกล่าวนี้จะมีน้ำหนักอย่างมาก

ถ้า (1) ไม่เป็นความจริงว่า ขณะนี้สังคมมีความแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการใช้รัฐประหารแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และคุณอภิสิทธิ์เองก็อยู่ในอีกฝ่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้งที่ (ถูกเชื่อว่า) เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และขึ้นมาเป็นรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายอำมาตย์ที่ทำรัฐประหาร และพันธมิตรฯ

ถ้า (2) ไม่เป็นความจริงว่า รัฐบาลได้สั่งสลายการชุมนุมในค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 จนมีผู้เสียชีวิตทั้งผู้ชุมนุมและทหาร รวม 25 ศพ และบาดเจ็บเกือบพันคน และต่อมาเกิดการปะทะกันของม็อบที่มีความเห็นต่างจนมีการบาดเจ็บ มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ติดต่อกันถึง 5 ลูก จนมีผู้เสียชีวิตอีก 1 คน บาดเจ็บอีกเกือบร้อยคน (หรือจะไม่เป็นความจริงว่า หากสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก)

แต่ถึงแม้ “สมมติ” ว่า (1) และ (2) ไม่จริง (รัฐบาลไม่ได้สั่งสลายการชุมนุม ทหารทำเกินคำสั่ง) คุณอภิสิทธิ์ก็ยังจำเป็นต้องอธิบายเหตุผลให้สังคมเข้าใจก่อนว่า การอยู่ต่อไปของรัฐบาล มี “คุณค่า” กว่า หรือจะทำให้เกิดสิ่งดีงามอะไรได้บ้างที่ “คุ้มค่า” กับ 25 + 1 ชีวิต (หรืออาจ +…) ที่สูญเสียไป และต้องแสดงหลักประกันให้สังคมมองเห็นได้ก่อนว่า การอยู่ต่อไปของรัฐบาล จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบาดเจ็บล้มตายอีก

ถ้าไม่สามารถอธิบายเหตุผลและแสดงหลักประกันดังกล่าวได้ ก็ควรจะหันมาพิจารณา “เหตุผลโดยตรง” (หมายถึงตัด “วาระซ่อนเร้น” ของทุกฝ่ายออกไป) ของการยุบสภาอย่างน้อย 2 ประการ คือ

ประการแรก การยุบสภาเป็น “วิถีทางประชาธิปไตย” ที่สมควรใช้ในสถานการณ์ที่สังคมแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางเช่นที่เป็นอยู่นี้หรือไม่?

การใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” มีความหมายตรงไปตรงมาว่า ให้ประชาชนทุกคนทั้งคนเมือง คนชนบท คนทุกชนชั้น ได้ใช้สิทธิในการตัดสินใจอย่างเสมอภาค “1 คน = 1 เสียง” ผลของการตัดสินใจ = “ฉันทามติของคนทั้งประเทศ” (เสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไรก็ต้องยอมรับตามนั้น)

การที่คนเสื้อแดงเรียกร้องให้ใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” ดังกล่าว ต่อให้เขามีเป้าหมายต่อไปหลังเลือกตั้ง แต่ตราบที่เขายังใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” (การเลือกตั้ง/กระบวนการทางรัฐสภา)เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆอยู่ เขาก็ย่อมมีความชอบธรรมมิใช่หรือ? (ถ้ามีปัญหาว่าการเลือกตั้งทุจริต ก็ต้องแก้ที่ปัญหานั้น ไม่ใช่ไม่ยอมให้เลือกตั้ง)

ฉะนั้น เมื่อคนเสื้อแดงยังยึดมั่นใน “วิถีทางประชาธิปไตย” เขาก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามที่เขา (มีสิทธิ์) เชื่อ และเขาก็ไม่สามารถเอารถถังออกมาข่มขู่ เอาปืนมาจี้ เอาเงินมาจ้างคนเสื้อสีอื่นๆ หรือประชาชนทั้งประเทศที่ไม่มีสีให้เลือกอุดมการณ์ เป้าหมาย หรือนโยบาย พรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนได้มิใช่หรือ?

เสื้อสีอื่นๆ และประชาชนทั้งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับ “เป้าหมายต่อไป” ของคนเสื้อแดง ก็มีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะคัดค้านคนเสื้อแดงตาม “วิถีทางประชาธิปไตย” ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นในสถานการณ์ความเห็นต่างเช่นนี้ “วิถีทางประชาธิปไตย” ย่อมยุติธรรมกับประชาชนทั้งประเทศใช่หรือไม่?

ประการที่สอง แม้การยุบสภาจะแก้ปัญหาความขัดแย้งยังไม่ได้ในทันที แต่ก็เป็นทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายที่อาจเกิดขึ้นได้อีกมิใช่หรือ?

ปัญหาการแตกแยกทางความคิดที่เกิดจากหลายสาเหตุเช่นที่เป็นอยู่นี้ ไม่มีใครเชื่อว่าจะแก้ได้ในเร็ววัน แต่หากคุณอภิสิทธิ์มีความจริงใจในจุดยืนที่ว่า “รัฐบาลต้องตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ” ก็น่าจะแสดง “วุฒิภาวะ” ของผู้นำให้เหนือกว่าแกนนำ นปช.ด้วยข้อเสนอเชิงรุก เช่น 1) ประกาศย่นระยะเวลาการยุบสภาให้เร็วขึ้นเพื่อหยุดการ (อาจจะ) เกิดสงครามกลางเมือง 2) ประกาศยกเลิกการปิดสื่อแบบเหวี่ยงแห 3) เชิญชวนทุกฝ่ายมาทำข้อตกลงให้เกิดการเลือกตั้งอย่างเสรี โปร่งใส และสงบสันติ และ 4) เปิดพื้นที่ “สื่อของรัฐ” (ไม่ใช่ของรัฐบาล) ทางทีวีช่อง 11 เพื่อความยุติธรรมต่อความเห็นต่าง

โดยเฉพาะข้อสุดท้าย จะเป็นการปฏิรูปสื่อของรัฐก้าวสำคัญ ถ้ารัฐบาลกล้าตัดสินใจให้เวลาอย่างสมดุล แก่แกนนำ นักวิชาการ ตัวแทนที่เป็น “กลุ่มตัวอย่าง” ของมวลชนทุกเสื้อสี และฝ่ายที่ไม่มีสี ได้มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เป้าหมาย และเหตุผลต่างๆ ของตนเองอย่างอิสระ (ภายใต้ข้อตกลง ไม่บิดเบือน ไม่ใส่ร้าย ไม่ปลุกเร้าความรุนแรง)

การที่รัฐบาลใดก็แล้วแต่ใช้สื่อของรัฐเป็น “กระบอกเสียง” ของฝ่ายตนเท่านั้น ภายใต้ความคิดที่ว่า ต้องการให้ข้อเท็จจริง ให้ความรู้ ให้ “ปัญญา” แก่ประชาชนเพื่อสร้างสันติ-สมานฉันท์นั้น ย่อมไม่อาจประสบผลสำเร็จได้จริง เพราะ 1) ไม่ยุติธรรมกับความเห็นต่าง จึงรังแต่จะขยายความแตกแยกมากยิ่งขึ้น 2) ขัดต่อหลักปรัชญาแห่งเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น ที่มีหลักการว่า ประชาชนจะสามารถตัดสิน หรือเชื่อได้ว่า อะไรจริง เท็จ ถูก ผิด ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีในการเสนอความเห็นทั้งสองด้าน (หรือมากกว่า) ให้เขาได้พิจารณาเปรียบเทียบอย่างอิสระ

และที่สำคัญ ความคิดที่ว่าจะสามารถให้ข้อเท็จจริง ความรู้ หรือปัญญา แก่ประชาชน จากความเห็นด้านเดียวนั้น เป็นความคิดที่อยู่บนฐาน (จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ของ “ญาณวิทยา” ที่ว่า มีความจริง ความถูกต้องแบบ “สัมบูรณ์” (absolute) ที่โต้แย้งไม่ได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ประชาชนควรเชื่อ แต่ในโลกปัจจุบันผู้คนมีแนวโน้มจะเชื่อมากขึ้นว่าความจริงความถูกต้องอาจมีหลากหลาย เป็นสิ่งที่สังคมร่วมกันสร้างขึ้น หรือเป็นข้อตกลงทางสังคม (social convention) จึงจำเป็นต้องเพิ่ม “พื้นที่” แห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อความยุติธรรมต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดความจริงความถูกต้องที่สังคมควรยึดถือร่วมกัน

ฉะนั้น การเลือกใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” แก้ปัญหาได้อย่างทันการณ์ และเปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้ทุกฝ่ายได้แสดงเหตุผลต่อสาธารณะอย่างสมดุล เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้ตัดสินด้วยวิจารณญาณของตนเอง จึงไม่เพียงแต่ท้าทายต่อความมี “วุฒิภาวะที่เหนือกว่า” ของรัฐบาลเท่านั้น หากยังท้าทายต่อความกล้าหาญที่จะสนองตอบ “อย่างก้าวหน้ากว่า” ต่อปัญหาความขัดแย้งทางความคิดอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง!
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net