Skip to main content
sharethis

"ไชยันต์ รัชชกูล" ให้สัมภาษณ์ต่อมุมมองต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ กับเรื่องของการก่อการจลาจล ความขัดแย้งทางความคิด เรื่องของการพยายามหาทางออกในช่องทางกระบวนการประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา รายการ “มองคนละมุม” ผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 MHz ได้เชิญ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากกลุ่มสันติประชาธรรม และกลุ่มอิสระในม.ช.มาวิเคราะห์สถานการณ์เป็นบทเรียนและทางออกทางการเมืองไทย
 
สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพครับ ขอต้อนรับท่านผู้ฟังเข้าสู่รายการมองคนละมุม ประจำวันเสาร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2553 น่ะครับ ทางสถานีเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 กับผม มานพ คีรีภูวดล น่ะครับ ท่านผู้ฟังครับ ก่อนอื่นมองคนละมุม ก็ขอแสดงความเสียใจ กับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ กับเรื่องของการก่อการจลาจล ความขัดแย้งทางความคิด เรื่องของการพยายามหาทางออกในช่องทางกระบวนการประชาธิปไตย และแล้วทั้งเรื่องของทรัพย์สิน และชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม ทั้งฝ่ายรัฐบาลและก็ฝ่ายผู้ชุมนุม สิ่งที่มองคนละมุมอยากจะชวนท่านผู้ฟังมานั่งคุย นั่งไตร่ตรอง แล้วก็มานั่งช่วยกันคิดว่า หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้  แล้วน่ะครับ บทเรียน คือ อะไร  แล้วสิ่งที่จะฝ่าวิกฤติไปเพื่อความอยู่รอด ความเป็นปกติสุขของบ้านเมืองเป็นอย่างไร วันนี้เราได้เรียนเชิญ นักวิชาการที่ได้ติดตามเรื่องนี้ ท่านเป็นสมาชิกของกลุ่มสันติประชาธรรม น่ะครับ และ ปัจจุบันก็เป็นกลุ่มอิสระในม.ช. คือ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล 
 
มานพ คีรีภูวดล -สวัสดีครับ อาจารย์ครับ
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -สวัสดีครับ
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์ ครับ ที่เรารู้ๆว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สงบเท่าไหร่ ต่างจังหวัด หรือแม้แต่บางพื้นที่  หรือ ปริมณฑลของกรุงเทพฯ ก็มีการก่อการณ์จลาจล หรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย  ตรงนี้ ถ้าจะแก้ไขปัญหาให้ยุติ หรือหาทางออกที่ดี ทำอย่างไร 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล - อันนี้การที่จะตอบบอกว่า ก็ใช้กฎหมายให้เด็ดขาด สิ  น่ะครับ ถ้าพูดอย่างนี้ ก็แสดงว่า จะไม่เข้าใจสถานการณ์ เลย ก็จะไม่สามารถทำได้ ความจริง การที่ใช้กฎหมายให้เด็ดขาด เขาก็ทำแล้ว ออกกฏหมายใน พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และก็ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม นี่เขาก็อ้างอยู่เสมอว่า นี่คือ ต้องรักษานิติรัฐ จะเห็นว่าอันนี้ไม่เป็นผล และก็การที่จะยืนด้วยคาถานี้ต่อไป ก็คงจะเป็นความล้มเหลว เพราะว่า กฎหมายที่จะเป็นไปได้ ในการบังคับใช้นั้น มันจะต้องเนื่องมาจากพื้นฐานอันแรก คือ คนนั้นเชื่อถือในกฎหมาย  ส่วนคนที่ไม่เชื่อกฎหมายในส่วนน้อย ส่วนเกินไปก็จะถูกการใช้กำลังของรัฐเข้าจับหรือปราบปราม แต่ในกรณีนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์มองว่า ณ สถานการณ์ วันนี้ ก็คือ กฎหมาย หรือ นิติรัฐใช้ไม่ได้ผล  
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -เพราะว่า ความจริงก็คือ นิติรัฐต้องขึ้นอยู่กับนิติธรรม แล้วรัฐจะออกกฎหมายอะไรมาก็ได้หรือ นี่คือคำถาม และทีนี้ผมคิดว่า นี่ด้วยคาดการณ์ น่ะ ครับ  ปฏิกิริยาที่รุนแรง ที่โต้ตอบมา เนี่ย มันก็อยู่ในคนที่อารมณ์โกรธอีกไม่กี่วัน ก็จะซาไป ภายในไม่กี่วัน ภายในช่วงเวลาอันสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่ออารมณ์โกรธที่พลุ่งพล่านนี้ มันจะหายไป แล้วเนี่ย และปฏิกิริยาต่อรัฐบาลจะหายไปด้วย อันนี้เราต้องแยกออกจากกัน  แล้วจะถามว่า เราจะทำอย่างไรดี อันนี้เป็นคำถามใหญ่มาก
 
มานพ คีรีภูวดล -คือ อาจารย์มองว่า หมายความว่า สถานการณ์คล้ายๆ ลูกโป่ง มันแตก สุญญากาศ มันแตกออกมา แต่ว่า ความเสียหาย ผู้คน ต่างๆ แต่ว่าอาจารย์มองว่า ความคิดไม่ชอบรัฐบาล และความคิดที่มองต่างกัน ก็ยังอยู่
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ยังอยู่อย่างเหนียวแน่น  ผมลองยกตัวอย่างนิดหนึ่ง มีคนชอบพูดว่า การปราบที่ราชประสงค์ เหมือนที่ เทียนอันเหมิน ในกรณีที่จีน แต่ปรากฏว่า ที่จีนเขาทำได้ เพราะว่า จีนเป็นรัฐเผด็จการ ถ้าจะพูดไปและมีกำลังทหารมหาศาล และที่ปราบบริเวณ ที่เทียนอันหมิน ก็ราบคาบไปเลยครับ แต่ว่ากรณีของไทย จะเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราชประสงค์ แต่ปัญหาอยู่ที่ในชนบท ในต่างจังหวัด และที่สำคัญที่สุดอยู่ในใจของคน  ซึ่งกลไกของรัฐไม่อาจชนะ ถ้าเราจะพูดสำนวน ก็คือ ชนะศึกไม่ได้ชนะใจ ที่นี้เราจะทำอย่างไร ถ้าเกิดจะถามว่า จะชนะใจได้ ผมลองเสนอดู น่ะครับ 
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์เห็นมุมมองไงบ้าง
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล - คือ หลังวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา ที่มีการทำลายชีวิตผู้คน ทางฝ่ายนปช. และฝ่ายเสื้อแดง ก็เรียกร้องเติมจากที่เรื่องยุบสภา 3 เดือน เป็นเรื่องเล็กไปเลย ก็คือ อภิสิทธิ์ต้องลาออก แน่นอนอภิสิทธิ์ไม่ลาออกน่ะครับ อย่างที่เราทราบ ถ้าเกิดเขาลาออก ก็เหมือนกับว่าเขาเสียหน้า เพราะถูกกดดัน เขาแพ้ ตามที่เขาคิด และพวกฝ่ายที่สนับสนุน ก็คิดอย่างนั้น สำหรับฝ่ายที่พยายามพยุงค้ำอภิสิทธิ์ไว้ตอนนั้น  พอถึงตอนนี้ เราก็จะเรียกได้ว่า ฝ่ายนปช. แพ้ก็ได้อย่างน้อยกรณีใช้กำลัง ถ้าเกิดใช้สำนวนแบบนี้ อภิสิทธิ์ก็ชนะได้  แต่ว่าเรื่องมันเกิดเสียหายขนาดนี้ ผมก็คิดว่า คนก็โกรธแค้น คุณอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก รวมทั้งกับคนอื่นๆ ด้วยที่เกี่ยวข้อง สมมุติว่า เขาลาออก ดีกรีความพลุ่งพล่าน จะลดลงไปมากเลยครับ
 
มานพ คีรีภูวดล -ข้อเสนอของอาจารย์ คือ อภิสิทธิ์ควรจะลาออก
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ควรครับ ควรลาออก อันนี้ เขาไม่ได้อยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง ไม่ใช่แรงกดดันภายใต้จากการใช้กำลัง ถ้าเขาจะลาออกมาจากมโนสำนึกของเขาเอง 
 
มานพ คีรีภูวดล –เขาเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลายนี้
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ทั้ง2 ด้าน ทั้งเรื่องบริหารงานแผ่นดินก็ถือว่าล้มเหลวได้อย่างมากอย่างรุนแรง อันนี้ในฐานะนายกฯ ก็น่าจะพิจารณาตัวเอง น่ะครับ อันนี้หนึ่ง ถ้าเกิดเขาไม่ได้คิดอย่างนี้  ลองถามมโนธรรมสำนึกของตัวเอง การที่เขาอยู่ต่อไปแล้วจะเกิดความเสียหายต่อขึ้นไปอีก มันจะมาแลกชั่งน้ำหนักกันได้ไหม ผมคิดว่า ถ้าเขาลาออก 
 
มานพ คีรีภูวดล -แล้วสถานการณ์อาจจะคลี่คลายดีกว่านี้ 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ดีกว่านี้ แล้วเขาจะได้รับความชมเชยด้วย ผมก็จะชมเชยเขา และเขาก็ไม่เสียหน้า น่ะครับ
 
มานพ คีรีภูวดล - คือ หมายความว่า อภิสิทธิ์ ออกมารับผิดชอบไม่มีขีดความสามารถบริหารได้แล้ว หรือสร้างความเสียหาย
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -คือ ทั้งสองอย่าง ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถจะจัดการให้เรียบร้อยอย่างสงบได้ มีความเสียหายมาก อันนี้ หนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบเบื้องต้น ทีนี้นอกเหนือจากนั้น ที่อนาคตที่จะเกิดขึ้น ที่มันอาจจะเกิดขึ้น ถ้าเกิดเขาลาออก ก็เป็นการว่า เขายอมมีมโนธรรมเรียกร้อง มีศีลธรรม มีจริยธรรมเรียกร้อง ว่า ระหว่างเขาที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป กับความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้น แลกกับอะไร เอาอะไรมาแลก อะไรมันจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ทีนี้เขาจะบอกว่า ไม่หรอก เขาจะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมืองต่อไป  ถ้าเกิดเขาใช้เหตุผลแบบนี้ มันก็จะยิ่งเลวร้ายลงไป
 
มานพ คีรีภูวดล - สิ่งที่ถ้าอภิสิทธิ์อยู่ต่อ ในมุมของอาจารย์ หมายความว่า ถ้าใช้เหตุผลว่า นี่แหละก็คือ เหตุผลจะต้องอยู่ต่อ จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น  
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล –อันนั้นส่วนหนึ่งแล้ว
 
มานพ คีรีภูวดล -จะต้องอยู่ต่อ จะต้องดูแล จะต้องคลี่คลายทุกปัญหา อาจารย์คิดว่า ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น หรือว่า ความไม่สงบ หรือว่า ปมเหตุต่างๆ ที่จะคุขึ้นมาจะเป็นอย่างไร 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -เอาอย่างนี้ น่ะ ครับ เรามองย้อนบทเรียนไปวันที่ 10 เมษา ที่เกิดอย่างนั้น ผมก็คิดว่า เรื่องใหญ่ ความจริงอภิสิทธิ์ น่าจะคิดพิจารณาตัวเองแล้ว  แต่ถ้าเกิดเขาลาออกจากช่วงนั้นแล้ว เขาก็จะโอ้โห เสียหายมากทางการเมือง มองในแง่ของเขา น่ะครับ รวมทั้งอันนี้เป็นการปราชัยต่อผู้ชุมนุม ต่อนปช.  เพราะฉะนั้น เขาก็จะใช้เหตุผลว่าเขาจะต้องอยู่ต่อไป เพื่อที่จะรักษาบ้านเมือง เพื่อจะทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยในระยะยาว   จากวันที่ 10 เรื่อยมาถึงวันที่ 19 พฤษา มันดีขึ้นไหม นี่ถาม เดือนกว่า จากวันที่ 10 เมษาถึงวันที่19 เหตุการณ์กับเลวร้ายลงไปและเลวร้ายหนักมาก จนถึงวันที่ 19 เหตุผลที่คุณอ้างก็ไม่ได้ ว่าจะดูแลรักษาบ้านเมือง นี่เดือนกว่า ก็พิสูจน์แล้ว
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์ดูตรรกะแค่นี้ก็พอ ใช่ไหม ครับ
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ถ้าเกิดคุณใช้เหตุผลเดิมอีกว่า ที่จะอยู่ต่อไป ที่จะบอกว่ารักษาบ้านเมืองต่อไป แน่ใจหรือเปล่า ว่ามันจะไม่เกิดซ้ำรอยจากวันที่ 10 เมษาถึง 19 พฤษา
 
มานพ คีรีภูวดล -คือ อาจารย์ มองว่า คนที่จะเยียวยาความรู้สึกทั้งสองฝ่าย ต้องไม่ใช่อภิสิทธิ์แล้ว 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -เนื่องจากเขามีส่วนเป็นคู่กรณี ถ้าเกิดเขาออกจากความเป็นคู่กรณีนี้ ผมเชื่อเลย ไม่ใช่ผมเชื่อคนเดียว เราก็คาดการณ์กันได้ว่า อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน จะลงเบาเย็นลงเยอะ คล้ายๆกับ เด็กนักเรียนต่อยกันตีกัน ถ้าคู่กรณีมาโอเค เสียใจ น่ะ ผมคิดว่า อีกฝ่ายหนึ่งเขาคงไม่ได้เป็นมนุษย์ใจไม้ไส้ระกำ ไม่ใช่ยักษาอำมหิต และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่มันเป็นปฏิกิริยา ที่มีต่อการปราบปราม กรณีที่มีการเผาบางอาคาร บางตึกที่แถวสยามสแควร์ ที่อื่น ความจริงเขาชุมนุมอยู่เป็นเดือนแล้ว กระจกแตก ก็ยังไม่มี แถมเขายังขอบคุณ central world ให้ไปใช้ห้องน้ำ ผมคิดว่า มันจะไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดความรุนแรงให้สถานที่ เกิดความเสียหาย และเราเห็นพ้องโดยไม่ยากได้ว่า ปฏิกิริยาของเหตุการณ์ต่อคู่กรณี แล้วคู่กรณีแสดงความเสียใจ ซึ่งก็ควรจะเสียใจ หรือไม่เสียใจผมไม่ทราบ 
 
มานพ คีรีภูวดล -ตอนนี้ มีการแถลงความเสียใจของนายก หรือยัง
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ผมยังไม่ได้ยิน แล้วศอฉ. ไม่ได้แสดงความเสียใจอย่างเดียว ยังซ้ำเติมอีกมากมาย หาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เราอย่าไปพูดเรื่องนี้เลย ก็คือ การใช้คำ แต่ว่าความหมายตรงกันข้าม เช่น การขอคืนพื้นที่ คือ การสลายม็อบ การปรองดอง แปลว่า ปราบปราม ต้องเอาอย่างนี้ เป็นคำท้ายสุด ต้องเอาพื้นที่ การทำบ้านเมืองให้สามัคคีรักกัน และสามัคคีโดยพื้นฐานอะไร อย่างเช่นผมดูน่ะครับ เพลงคนไทยรักกัน แต่ภาพประกอบกับ มีรถถัง ทหาร ตรงกันข้ามกับเนื้อเพลง ภาพประกอบกับเนื้อเพลงตรงกันข้าม  ลักษณะนี้เรียกว่า กลับตาลปัตร ปรากฏว่าเขาก็ใช้คำนี้ ภาษาโฆษณาซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่อกลับตาลปัตรความเป็นจริง เราไปติดอยู่กับคำที่เขาใช้ไม่ได้หรอกครับ  ถ้าเกิดคำพูดเขาเป็นจริงบ้านเมืองก็สงบสุขไปแล้ว ผมอยากให้พิจารณานี้ความน่าจะเป็นให้อภิสิทธิ์ ลาออก ไม่ใช่ภายใต้แรงกดดันของฝ่ายนปช.   แต่เป็นความรู้สึกผิดชอบ มโนธรรม ศีลธรรมของตัวของเขาเอง อย่างเช่น ผมยกตัวอย่าง พ่อแม่ทำร้ายลูก แล้วลูกเขาหนีออกจากบ้าน แล้วเกเร  ไปติดยา พ่อบอก เขาก็เสียใจ ที่เกิดขึ้น เขาก็พยายามหันหน้าให้ลูกกลับมา ทีนี้เราต้องเข้าใจลูกว่าทำไมเป็นแบบนั้น และในส่วนของพ่อ ไม่ใช่ซ้ำเติมลูก อย่าไปดุด่าว่าร้ายให้เจ็บช้ำน้ำใจมากยิ่งขึ้นไปอีก
 
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์มองว่า ถ้าเบื้องต้น คุณอภิสิทธิลาออก มีความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องการเมืองก็ได้ ทำให้อารมณ์ ความรู้สึกคู่ขัดแย้งลดลง ทำให้รุนแรง กลายเป็นอารมณ์เย็นลง 
 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -เรื่องความรุนแรง ก็เมื่ออารมณ์คนเย็นลง ก็จะคลี่คลาย ในระยะสั้น นี่เราพูดถึงระยะสั้น แล้วเรามาพิจารณาว่าอะไรเสียหาย และเราจะมาฟื้นฟูอย่างไร  ธุรกิจเสียหาย แล้วรัฐบาลจะชดเชย ช่วยเหลือ นั่นก็เป็นอีกส่วน และคนที่เสียชีวิตกันมากมาย ก็มีโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ บางส่วนแล้วทำไมรัฐบาลไม่มีสัญญาณดูแลรับผิดชอบ คนที่เสียชีวิต บาดเจ็บให้มากขึ้นต้องให้พอ เรียกว่า เยียวยา และรักษาใจ คล้ายๆกับว่า บาดแผลทางใจ แน่นอน คนที่เสียชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถเรียกกลับมาได้ แต่ว่าสำหรับญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง รวมทั้งคนบาดเจ็บ
 
มานพ คีรีภูวดล -อาจารย์มองว่า เรื่องกระบวนการถ้านายก ลาออก หรือว่า ก่อนจะลาออกต่างๆ การได้แสดงของฝ่ายบริหาร การได้สื่อสารว่า เรื่องธุรกิจ เรื่องผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต จะมีกระบวนการยุติธรรมอย่างไร น่าจะทำให้ บรรยากาศอารมณ์เบาลง
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล - เราน่าจะคาดเช่นนั้นได้ ตามวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่เฉพาะวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมอื่น จากต่างประเทศ ทั้งข่าวทั้งนักการเมือง ในออสเตรเลีย ในสหรัฐ ที่เขาพูดด้วยภาษาการทูต แต่ก็ตำหนิรัฐบาลไทยในตัว มีอาจารย์ชาญวิทย์ ว่า โอโห้ ร้ายแรงในรอบ 100 ปี  ผมคิดว่า น่าจะสั้นไป น่าจะเป็น200 ปีเลยครับ  ไม่เคยรุนแรงอย่างนี้  กรณี 14 ตุลา ก็แค่ระยะสั้น ทั้งหมดเลยที่เกิดมา ที่ยาวหน่อย ก็เป็นพฤษาทมิฬ แค่สัปดาห์หนึ่ง แต่ระยะสั้น คนเสียชีวิต น้อยกว่า บาดเจ็บน้อยกว่า

มานพ คีรีภูวดล -ความเสียหาย ทรัพย์สินก็น้อยกว่า 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -อ๊ะ ยกตัวอย่างอย่างนี้ก็ได้ ตอนที่พลเอก สุจินดา ก็ได้ ตอนนั้น สุจินดาปราบปรามคน แล้ว สุจินดา ลาออก คนเขาโห่ร้องไชโยกัน เรียกว่า อารมณ์เปลี่ยนไปเลย  สมมุติสุจินดายังอยู่ต่อไป ก็คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะเป็นตรงกันข้าม และทำนองเดียวกับอภิสิทธิ์  ซึ่งตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม
 
มานพ คีรีภูวดล - คือ สถานการณ์ดูเหมือนยังควบคุมไม่ได้ ถ้าดูอารมณ์ความรู้สึกของคนยังคุกรุ่นในต่างจังหวัด แม้แต่ปริมณฑลในกรุงเทพฯ
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -อันนั้นยิ่งเป็นเหตุ แทนที่จะเสียหายร้ายแรง กว่านี้  แล้วนี้ แน่ใจหรือครับ ว่า หลังจากที่เปิดมาวันจันทร์ ธุรกิจต่างๆ จะเรียบร้อย และโปรดสังเกตว่า ที่เขาทำร้ายตึก อาคารต่างๆ ไม่ได้ทำร้ายไป ซุ่มสี่สุ้มห้า มีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน เช่น ต่อสื่อมวลชน และไม่ใช่สื่อมวลชนโดยรวม เป็นบางส่วนของสื่อมวลชน บางเล่ม บางฉบับ เช่น ผมยกตัวอย่าง ทำไมคนที่ทำร้ายไม่ระเบิดไทยรัฐ ก็ไม่ยากน่ะครับ แต่เขาทำไม ทำกับ Bangkok post  แต่เดอะเนชั่นทำไม่ได้ เพราะเขามีการป้องกัน นี่ผมยกตัวอย่าง หรือว่า เขาไป ทำช่อง 3 หรือ ที่ขอนแก่นว่า เขาทำ ช่อง 11 คือ ความชอบธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ว่าอารมณ์ของผู้ชุมนุม มีเป้าหมาย ไม่ใช่สุ่มเสี่ยง สะเปะสะปะ แต่มันมีผลร้ายตามมาที่คาดไม่ถึง เช่น ไปเผาทำไมโรงหนังสยาม แต่ว่า โรงหนังสยาม เป็นผลพลอยได้ เพราะว่า เขาโจมตีธนาคารติดกับโรงหนัง แล้วใคร เหรอ เป็นประธานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ
 
มานพ คีรีภูวดล -คือ อาจารย์มองว่า การทำลายอาคาร ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายคน นั้น หมายความว่า มันเป็นนัยยะของคู่ตรงกันข้าม 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -มันทำให้เราเข้าใจเช่นนั้น เราจะเรียกว่า จลาจล คือ ในอินโดนีเซีย ก็มีใช้ในอินโดนีเซีย  จลาจล คือ อะไรก็ไม่รู้ ไม่สนใจ จัดการหมด ก็เกิดคำนี้ amok  วุ่นวาย คือ ระส่ำระสายไปทั่ว ไม่สนใจว่าของใคร เกิดในอินโดนีเซีย แต่ว่ากรณีของไทยไม่เป็นเช่นนั้น จะเห็นได้ว่า ทำไมเขาไปทำร้ายศาลากลาง ไม่ทำร้ายโรงพยาบาล ไม่ทำร้ายโรงเรียน ผิดกับทางใต้ ที่ทำร้ายโรงเรียน  หรือว่า ทำไมเฉพาะ บางจุดบางแห่ง บางเป้า แต่ไม่ได้ทั่วไป นี่ผมยกตัวอย่าง และผมก็เป็นห่วง มีญาติกัน ก็เป็นญาติกัน เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็คือ คนที่เจ็บช้ำน้ำใจ หรือมีความแค้นเคืองอยู่ในใจ เช่น เขาทำธนาคารนี้ เขาคิดจะทำถึงพนักงานธนาคารนี้นั้นหรือไม่  ทีนี้ คนที่เจ็บช้ำน้ำใจ คนที่เสียชีวิตไป ก็มีไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็มีเรื่องจะไปกันใหญ่ แล้วถ้าผมถามกลับ ศอฉ. หรือ รัฐบาล กำลังคิดถึงการแก้ปัญหาเรื่องที่เป็นอยู่นี้อย่างไร? ไหน ลองบอกมาหน่อย  หนึ่งเขาคิดว่าเป็นแรงระเบิดชั่วครั้งชั่วคราว อีกไม่กี่วันก็หายไป ก็เหมือนกับเด็กดื้อ ไม่ได้ดั่งใจ เดี๋ยวก็จะหายไป เขาคิดอย่างนี้เหมือนกัน ตั้งแต่ 14 มีนาคม เขาบอกว่า พวกที่มาชุมนุม เดี๋ยวก็กลับไปแล้ว ขอโทษน่ะ ผมได้ยินคนที่พูดว่า พวกมาชุมนุมตากแห้ง แล้วก็กลับบ้านไปเอง ปรากฏว่า ไม่เป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเกิด รัฐบาลปล่อยๆไป เดี๋ยว อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ค่อยๆ เบา บรรเทาลงอันนี้ เท่ากับไม่มีมาตราอะไร 
 
มานพ คีรีภูวดล -คือ อาจารย์ มองว่า รัฐบาล หรือ ศอฉ. ก็คือว่า ไม่ได้พูดเรื่องการจัดการปัญหา ที่มันจะนำไปสู่ความสงบลง 
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -ไม่เห็นมี
 
มานพ คีรีภูวดล -พูดว่าเรื่องรักษาความสงบ
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล -รักษาความสงบ คือ อะไร จะใช้กำลังต่อไป เหรอ หรือ จะใช้กำลังทหาร ตำรวจ  ไปเฝ้าสถานที่จะถูกทำร้าย หรือ ถูกเผา ถูกโจมตี แล้วเราจะรู้ได้ไง เราจะไปรักษาที่ไหนกันบ้าง มัน เยอะแยะไปหมด
 
มานพ คีรีภูวดล -คือ ตอนนี้ กลุ่มผู้ที่จะสร้างความเสียหาย ทำลายทรัพย์สิน มีความมุ่งหมายอยู่เต็มไปหมด แล้วอาจารย์มองว่า กำลัง ทหาร ตำรวจไม่พอ  
 
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล - มันก็เหมือนกับคนโจมตี กับคนเฝ้าระวัง เหมือนกับเราเป็นหวัดก็ต้องเฝ้าระวัง  คือ คนโจมติ ก็ได้เปรียบอยู่ก็เหมือนกับการชุมนุมเหมือนกัน ครับ ฝ่ายชุมนุม เขากำหนดเวลา แต่ฝ่ายที่เฝ้าระวังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ อย่างกรณีที่ขอนแก่น ที่มีคนไปชุมนุม ที่ไปบุกอะไร บ้านส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วมีเรื่องกัน ก็ไม่ทราบว่ามีข่าวมากน้อยขนาดไหน นี่เราก็ไม่ทราบ นึกไม่ถึง นึกไม่ออกว่าสเกลของความมุ่งทำร้ายกัน มันจะไปไกลถึงไหน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมี ผมก็คิดว่าน่าจะคิดถึงทางเลือกที่เหมาะสม และก็เชื่อว่า คงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
 
มานพ คีรีภูวดล -ท่านผู้ฟังครับ สิ่งที่อาจารย์ไชยันต์ ได้พยายามเสนอ ก็คือ การบรรเทาความรุนแรง หรือว่า การทำให้อุณหภูมิ หรือ ความคิดที่ต่างกันเบาลง ข้อเสนอของอาจารย์ชัดเลย คือ ท่านนายกอภิสิทธิ์ต้องออกมาโดยการรับผิดชอบลาออกทันที จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ด้วยการเมือง หรือว่า สำนึกที่เป็นผู้นำเรา และส่วนที่สอง การแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในนามของรัฐบาล และผู้นำประเทศ และส่วนที่สามคือ  การแสดงออกถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นศอฉ. ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ก็ต้องออกมา อาจารย์ครับ สิ่งที่ผมเป็นห่วง น่ะครับ ก็ค่อนข้างที่ทำให้พวกเราทุกคน  คนไทยทุกคน สิ่งที่เราอยากเห็น คือ การปรองดองกัน ด้วยเหตุและผลจริงๆ ไม่ใช่ปรองดองด้วยคำพูดเฉยๆ อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล สมาชิกกลุ่มสันติประชาธรรม และกลุ่มอิสระใน ม.ช.  ขอบคุณท่านผู้ฟัง ครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net