ว่าด้วย"เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

การปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้บนสถานะที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถเทียบกันได้ (equivalent to) คือ ฝ่ายหนึ่งไม่มีเสรีภาพ นอกจากนี้ไม่มีความเสมอภาคกับอีกฝ่าย และยังไม่มีภราดรภาพแก่กัน

ระบอบการปกครองปัจจุบันอันเป็นที่ยอมรับและเป็นกระแสหลักนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่ประชาธิปไตยโดดๆ หากแต่มันคือ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณ (ซึ่งผู้หญิง ทาสเองก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในทางการเมือง) คำขวัญสำคัญอันหนึ่งของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ได้มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสก็คือ Liberté, égalité, fraternité หรือ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ไม่ได้ได้มาพร้อมๆ กัน หรือได้อย่างหลังมาก่อน แต่มันต้องเริ่มต้นที่เสรีภาพก่อน จึงจะเกิดความเสมอภาค และสุดท้ายก็จะเกิดภราดรภาพ (สำหรับองค์ประกอบของเสรีนิยมประชาธิปไตย ดูได้จากหนังสือ อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย ของรศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ)

ความคิดในคำว่าเสรีภาพ (liberty) ก็ออกจะไม่ยุ่งยากนักคือ “You have freedom if you have choice. I have liberty if I have choice, if I have option and if I am able to select among them.” หมายถึง “คุณมีอิสระ ถ้าคุณมีทางเลือก ฉันมีเสรีภาพ ถ้าฉันมีทางเลือก หากฉันมีตัวเลือก ฉันก็สามารถที่จะเลือกของพวกเขาได้” คือไม่ว่ายังไงเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมมีตัวเลือกให้ประชาชนที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงตัวเลือกเดียว เช่นว่า ถ้าคุณไม่เลือกผมถือว่าคุณไม่รักชาติ?

ส่วนคำว่าเสมอภาค (equality) นั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเท่ากัน หรือมีค่าเท่ากัน (equivalence) ซึ่งก็คือ“people or things are equal when they are equivalent to each other” หมายถึง “คนหรือทุกอย่างที่เท่าเทียมกัน เมื่อมีการเปรียบเทียบกัน” สำหรับความเสมอภาคทางการเมืองนั้นก็คือ ความมีสิทธิที่เท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เมื่อเกิดความเสมอภาคขึ้นก็จะไม่เจอกับปัญหา เช่น สองมาตรฐาน? สามมาตรฐาน?

ภราดรภาพ (fraternity) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า frater หมายถึง brother คือความเป็นพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมชาติ พูดกันอย่างหยาบๆ ก็คือ “คนบ้านเดียวกัน” มาอยู่รวมกันแล้วก็เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมันก็จะไม่เกิดคำถามเช่นว่า คุณเป็นคนพื้นเพที่ไหน? คุณไม่ใช่พวกผมเพราะคุณไม่ได้มาจากที่เดียวกับผม?

ถ้าจะพูดกันให้ทันสมัยหน่อยสำหรับการเมืองไทย ก็คือคำว่า “ปรองดอง” (ถ้าจะดูเป็นภาษาอังกฤษก็คือ hamony มาจากภาษากรีกคือ hamonia แปลว่า การร่วมกัน “joint”, การตกลงกัน “agreement”, สอดคล้องกัน “concord” ซึ่งมาจากคำกริยาว่า harmozo หมายถึง ให้พอดีกัน “to fit together” , ให้ร่วมกัน “to join”) ซึ่งคำพูดที่โก้หรูอย่างคำว่า “ปรองดอง” ดูจะเป็นเป้าหมายที่ทุกๆ ฝ่ายอยากจะให้เป็น แต่เมื่อดูสภาพการณ์ต่างๆ หรือบริบททางการเมืองแล้ว มันไม่ได้ตอบสนองต่อองค์ประกอบทั้งสามเลย (แถมออกจะไปในทางตรงกันข้าม) ถ้าไม่มีองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ คำว่า “ปรองดอง” ก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้จริง และสิ่งที่สำคัญการปรองดองนั้นไม่ใช่การเกี้ยเซียะกันเองของนักการเมือง แต่มันจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับประชาชน
 

ทำไมรัฐ(บาล)ต้องเริ่ม? รัฐ(บาล)ต้องเป็นตนแบบ ตัวเริ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐ(บาล)คือผู้ที่กุมอำนาจของรัฐทั้งหมด หาใช่ประชาชนหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ รัฐ(บาล)สามารถที่จะประกอบกิจกรรมใดๆ แม้กระทั่งความรุนแรงโดยชอบธรรมด้วย ดูจากความเห็นเช่น แมกซ์ เวเบอร์เองก็กล่าวถึงว่า “รัฐคือประชาคมของมนุษย์ที่อ้างสิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ” โดยเวเบอร์ก็อ้างถึงลีออน ทรอตสกี้ที่ว่า “รัฐทุกรัฐก่อตั้งขึ้นบนฐานของความรุนแรง” หรือแม้แต่คำกล่าวของจอร์จ วอชิงตันที่ว่า “รัฐบาลไม่มีเหตุผล ไม่สำบัดสำนวน – มันคือกำลัง” เป็นต้น

การปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้บนสถานะที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถเทียบกันได้ (equivalent to) คือ ฝ่ายหนึ่งไม่มีเสรีภาพ นอกจากนี้ไม่มีความเสมอภาคกับอีกฝ่าย และยังไม่มีภราดรภาพแก่กัน

############################################

หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ"ว่าด้วย Liberté, égalité, fraternité "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท