Skip to main content
sharethis

คุยกับคนทำร้าน ‘เอกาลิเต้’ ร้านหนังสือแห่งเมืองลำปาง ที่มีแนวคิดเป็น “พื้นที่กลาง” ระหว่างผู้อ่าน นักเขียน และคนทำหนังสือ และเป็น “พื้นที่เปิด” ให้ทุกคนเข้ามาเลือกสรรสิ่งที่อยากรู้และหยิบไป


ร้านหนังสือ “เอกาลิเต้” ในอาคารเก่าสร้างเมื่อปี 2474 ตั้งอยู่บนถนนทิพย์ช้างตัดกับถนนไปรษณีย์



สติ๊กเกอร์ที่กระจกหน้าร้าน กับสโลแกน “คนอ่าน คนเขียน เราเท่าเทียมกัน”


20101231_egalite_003

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (วอร์ม)


20101231_egalite_004

เกรียงไกร เกิดศิริ (กอล์ฟ)


20101231_egalite_005

บรรยากาศในร้าน “เอกาลิเต้”


20101231_egalite_006

ในร้านมีการจัดแสดงนิทรรศการ “โปสการ์ด” กิจกรรมร่วมสนุกด้วยการส่งโปสการ์ดมายังร้าน โดยแฟนเพจในเฟซบุคของร้าน โดยมีการส่งโปสการ์ดมาจากหลายเมืองในประเทศไทย และหลายเมืองทั่วโลก

 

 

เมื่อพูดถึงลำปาง ผู้อ่านอาจจะนึกไปถึงชามตราไก่ วัดวาอารามที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ หรือไม่ก็รถม้าโดยสารที่เป็นเอกลักษณ์ จะมีใครรู้ล่ะว่ามีชายหนุ่ม 2 คนผู้มีความฝัน ที่เคยคลุกคลีอยู่ในวงการวิชาการและงานเกี่ยวกับหนังสือมาเปิดร้านหนังสือที่มี “สไตล์” ของตนเองในเมืองนี้

เราเดินทางตามแผนที่ตัวเมืองลำปางไปจนถึงถนนไปรษณีย์ ตัดกับ ถนนทิพย์ช้าง แลเห็นอาคาร “เสาจินดารัตน์” ที่มีลักษณะเก่าแก่ ยอดอาคารมีอักษรสลักว่า “พ.ศ.2474” ที่บ่งบอกถึงอายุขัย ขณะที่ชั้นล่างสุดเป็นร้านติดกระจกขนาด 2 คูหา มีหนังสือ โปสการ์ด และสินค้าอีกจำนวนหนึ่งวางเรียงราย กระจกหน้าใต้สัญลักษณ์และชื่อร้านมีสโลแกนเขียนว่า “คนอ่าน คนเขียน เราเท่าเทียมกัน”

เรามีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้านทั้ง 2 ท่านภายในร้าน แกล้มบรรยากาศที่มีเพลงบรรเลงคลอเบาๆ และกาแฟมอคค่าเย็น กับกองหนังสืออีกบางส่วนซึ่งกำลังจะจัดขึ้นชั้นหนังสือ ก่อนวันติดริบบิ้นเปิดร้าน 1 วัน 

 

 

ร้านหนังสือของท้องถิ่นลำปาง

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ หรือ “วอร์ม” เป็นคนลำปางโดยกำเนิด เขาร่วมหุ้นกับ เกรียงไกร เกิดศิริ หรือ “กอล์ฟ” ชาวประจวบคีรีขันธ์ ผู้ที่ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งสองได้มาพบเจอกันขณะที่กอล์ฟมาทำงานวิจัยสถาปัตยกรรมวัดปงสนุกที่ลำปาง

“พวกเรามีงานวิจัยที่คาบเกี่ยวกันอยู่ พี่วอร์มแกทำงานวิจัยเรื่องเมืองในโครงการชีวิตสาธารณะ ผมเข้ามาทำเรื่องอนุรักษ์” เกรียงไกรกล่าว

วอร์ม มีอาคารเก่าซึ่งบรรพบุรุษเป็นเจ้าของก่อนตกทอดมาสู่รุ่นของเขา จึงคิดว่าอยากจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนให้เป็นร้านหนังสือเพราะอยากเป็นพื้นที่ของความรู้สำหรับคนในท้องถิ่น

“คือผมเป็นคนลำปาง อยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ รู้สึกตะหงิดๆ ทุกทีที่มีคนบอกว่า เฮ้ย! ลำปางไม่น่าอยู่เลย บอกว่าอยากไปอยู่เชียงใหม่ อยากไปอยู่ปาย แล้วทำไมเราไม่อยากจะสร้างพื้นที่ของเราเอง”

 

 

ในความหมายของ "พื้นที่"

ร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่เรื่องใหม่โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มีร้านหนังสือเดินทาง ร้านก็องดิด หรือในเชียงใหม่ก็มีร้าน ‘เล่า’ ขณะเดียวกันก็มีความน่าสนใจเรื่องรูปแบบธุรกิจของร้านว่าต้องอาศัยแบบแผนลักษณะเดียวกันหรือไม่ 

กอล์ฟบอกว่าเขาวางแผนจะให้นักศึกษาใช้ร้านหนังสือเป็นที่ทำงาน พร้อมๆ กับดูแลร้านแบบพาร์ทไทม์  “เหมือนกับสมัยที่ผมทำงานร้านหนังสือเดินทาง คือร้านหนังสือมันจะเงียบ จะมีลูกค้าแต่ช่วงเย็นๆ ช่วงกลางวันหลังจากเตรียมอะไรเสร็จมันก็จะเงียบๆ เหมาะจะนั่งอ่านหนังสือ”

“อย่างเช่นนักศึกษา ป.โท ศิลปากรพอเขาเข้าไปทำงานอยู่ในระบบออฟฟิศ เขาก็จะไม่มีเวลาให้กับการเรียน เพราะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่พอเรามีพื้นที่อย่างนี้ให้เขาทำงานพิเศษกันเองมันทำให้เขาไม่ต้องไปทำงานในระบบออฟฟิศ พวกเขาก็จะจัดการพื้นที่กันเอง แบ่งงานกันเอง” กอล์ฟกล่าว

เมื่อพูดถึงการที่ให้พนักงานจัดการร้านกันเอง กอล์ฟก็อธิบายเพิ่มเติมว่า คนเฝ้าร้านแต่ละคนก็เสมือนเป็นเจ้าของร้านของตัวเองในแต่ละวัน รวมถึงบุคลิกอย่างเช่นการชงกาแฟก็จะมีรสชาติเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน แต่ผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานร้านควรจะมีคุณสมบัติบางอย่างด้วยเช่นกัน “จะต้องเป็นคนที่รักหนังสือ รักความเงียบ แต่ก็ต้องยินดีที่จะพูดคุยเวลาคนเข้ามา คล้าย ๆ ต้องจัดการทั้ง 2 บุคลิกของตัวเอง เพราะร้านหนังสือมันก็มีช่วงเวลาเงียบๆ ที่ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักหนังสือ”

“...เพราะคาแรกเตอร์ของร้านขนาดเล็ก คนที่เข้ามาในร้านเหมือนเป็นเพื่อนฝูงกัน ไม่เหมือนร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่หนังสือมันจะจมเข้าไปในทะเลหนังสือหมดเลย” กอล์ฟกล่าว “เราก็เลยพยายามจะคัดหนังสือที่คิดว่ามันไม่มีพื้นที่ในร้านขนาดใหญ่มาด้วยเพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาจะจับจองพื้นที่ในร้านใหญ่ๆ ได้ทั้งหมด”

กอล์ฟยังได้กล่าวถึงการที่ตนได้เรียนรู้ระบบของสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้พบว่า "สมมุติว่าเขาเป็นสายส่งเองแล้วเขามีหน้าร้านหนังสือของตัวเอง ถ้าเราไปฝากเขาขายหนังสือของเราก็จะไปอยู่ไกล ๆ หนังสือที่อยู่ในชั้นวางด้านหน้าก็จะเป็นหนังสือของสายส่งหรือสำนักพิมพ์เขาเอง"

“เราก็เลยคิดว่าหนังสือเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่เขามีกัน มันไม่ค่อยได้มีพื้นที่หน้าร้าน เราก็เลยทำร้านขึ้นมาด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้หนังสือมันมีความหลากหลายมากขึ้น ที่พี่วอร์มแกตั้งชื่อว่า 'เอกาลิเต้' (Egalite) ที่แปลว่าเท่าเทียมกัน ในส่วนหนึ่งก็มองว่าหนังสือมันเป็นความรู้ ก็อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ แล้วหนังสือมันก็มีหลากหลายแนว” กอล์ฟกล่าว

“ก็อยากลองพิสูจน์ดูว่าจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองหรือเปล่า อย่างน้อยหนังสือนี้ ไม่ใช่รายได้ทั้งหมดของร้านอยู่แล้ว รายได้ส่วนใหญ่ที่มาน่าจะมาจากขายเครื่องดื่ม เดี๋ยวจะมีขายของว่างเพิ่มมา” วอร์ม กล่าว

กอล์ฟเสริมว่า ร้านกาแฟกับร้านหนังสือมันก็เป็นของคู่กัน “บุคลิกของเครื่องดื่มมันไม่ได้ขัดกับความเป็นร้านหนังสือ แต่คราวนี้เครื่องดื่มต้องมาช่วยเลี้ยงร้าน เพราะส่วนต่างที่เราได้รับจากการขายหนังสือมันน้อยมาก”

ลักษณะของร้านหนังสือเล็กๆ จึงไม่ใช่แค่เพียงการซื้อมาขายไปของหนังสือ แต่ยังเป็นพื้นที่เสวนาแลกเปลี่ยน เป็นสภากาแฟของคนรู้ใจ เป็นพื้นที่ทำงาน-อ่านหนังสือของนักศึกษา และมีความหมายอื่นๆ เสริมตามบริบททางพื้นที่และเวลาของมัน

 

 

จากคนรักหนังสือ คนทำหนังสือ มาเป็นร้านหนังสือ

กอล์ฟ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับหนังสือมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เนื่องจากเขามีแม่เป็นครู และครูก็ต้องมีภาระดูแลนักเรียนตั้งแต่เช้ายันเย็น เวลาเขาจะไปรอแม่ก็ต้องไปรอที่ห้องสมุดตั้งแต่สมัยประถม เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยดี เป็นโรคหอบ ทำให้ต้องอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มต้นเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียนอยู่ 1 ปีแล้วรู้สึกไม่สนุกจึงมาเรียนในสาขาอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์

เมื่อช่วงราวเกือบ 10 ปีที่แล้วซึ่งเป็นยุคที่หนังสือทำมือกำลังบูม ตัวกอล์ฟเองก็มีโอกาสร่วมยุคสมัย จากการที่เป็นคนทำหนังสือทำมือคนหนึ่ง “ตอนนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังเรียน มันมีพื้นที่ใหม่ๆ ออกมามาก มีพื้นที่สาธารณะที่ให้คนเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่มากขึ้น”

“ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่สนิทอยู่ในหอเดียวกัน เรียนคณะเดียวกันมาแล้วก็มาเรียนอักษรฯ ด้วยกันต่อ ซึ่งตอนนี้เขาก็เป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่ที่ศิลปากร ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เลยชวนกันทำแล้วก็มีประเด็นหลายประเด็นในมหาวิทยาลัยที่มันน่าสนใจแต่ถูกมองข้าม ถูกทำให้ลืม เช่นประเด็นเรื่องรับน้อง เราก็รู้สึกอยากจะตั้งคำถามแล้วพอตั้งคำถามแล้วก็อยากจะผลิตมันออกมา ก็ได้เริ่มเรียนรู้การจัดอาร์ตเวิร์ก ทำให้ได้ความรู้มาทำสำนักพิมพ์อุษาคเนย์...”

กอล์ฟ กล่าวถึง “สำนักพิมพ์อุษาคเนย์” ว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเกี่ยวกันศิลปะ สถาปัตยกรรม ซึ่งเขาทำอาร์ตเวิร์กเอง จากนั้นจึงนำ “พุกาม: การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งศรัทธา” หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ที่เกี่ยวกับการวิจัยในพุกามออกมาให้ดู และพูดคุยเรื่องวัด เจดีย์ กับผู้สื่อข่าวอีกคนที่สนใจอย่างออกรส ก่อนที่เขาจะพูดคุยเรื่องหนังสือทำมือต่อ

“ตอนนั้นผมใช้วิธีการระดมทุน มีการถ่ายเอกสารออกมาก่อน แล้วจึงมีสปอนเซอร์ที่เป็นกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง เผยแพร่ด้วยการไปตั้งไว้หน้าห้องเรียนให้หยิบ ใครหยิบก็ใส่เงินไว้ให้สำรองไว้พิมพ์เล่มหน้า มีการเผยแพร่ไปในวงกว้างเหมือนกัน แล้วอีกอย่างเราก็มีต้นฉบับวางไว้ร้านถ่ายเอกสาร ใครจะถ่ายเอกสารเอาไปอ่านก็เอาไป แม้เรามีทุนจำกัดแต่เราก็อยากเผยแพร่ความคิด” กอล์ฟเล่า

เมื่อถามถึงช่องทางเรื่องหนังสือทำมือในปัจจุบันที่ซบเซาลงไปมากกอล์ฟก็พูดถึงลักษณะการจัดพิมพ์แบบปรินท์ ออน ดีมานด์ คือการพิมพ์ตามจำนวนที่มีคนสั่งไว้ ซึ่งอาจจะมีเพียง 10-20 เล่ม 

 

 

ทำไมต้องร้านหนังสือเล็กๆ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างหนังสือทำมือ บวกกับชั่วโมงบินทั้งจากงานสำนักพิมพ์และช่วยงานในร้านหนังสือ กลายมาเป็นหนึ่งแรงที่ช่วยสร้างร้านหนังสือเล็ก ๆ อีกแห่งขึ้นมา “ถามว่าทำไมถึงทำร้านหนังสือเล็กๆ คือในวงจรธุรกิจหนังสือมันก็มีหลายส่วน ทั้งคนทำร้านหนังสือ สายส่ง สำนักพิมพ์ ผู้เขียน สัก 4-5 กลุ่มหลัก ร้านหนังสือเป็นส่วนที่อยู่ปลายน้ำที่สุด คือเป็นสื่อกลางระหว่างส่วนอื่นๆ กับผู้อ่าน ก็เลยพยายามหาพื้นที่ในแบบที่ร้านขนาดใหญ่ไม่มี”

กอล์ฟสารภาพถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกเส้นทางตรงนี้ว่ามาจากภาพยนตร์โรแมนติกอย่าง Notting Hill “อิทธิพลจากตอนที่เราตั้งแต่เด็กๆ รวมถึงการได้ทำหนังสือทำมือก็มีผลกับวิธีคิดเรา อีกอย่างหนึ่งคือการได้ดูหนังเรื่อง Notting Hill เป็นหนังที่มีร้านหนังสือขนาดเล็กอยู่ในชุมชน มันก็มีอิทธิพลกับเราเหมือนกันในแง่หนึ่งที่ว่าเราอยากให้ในชุมชนเล็กๆ อาจจะเป็นพื้นที่ในชุมชนเมือง มันมีพื้นที่ที่คนจะเข้ามาเลือกหยิบหนังสืออยากที่อยากจะอ่านได้...เราอยากให้เป็นอย่างนั้น”

วอร์มก็แสดงความรู้สึกต่อเรื่อง Notting Hill ในแบบเดียวกัน “ผมเองก็รู้สึกว่าทำไมแต่ละชุมชน ก็มีร้านหนังสือของมัน ทำไมมันมีธุรกิจที่หลากหลาย มันทำเพื่อคนตรงนี้ในพื้นที่ มีร้านต่างๆ ในชุมชนของเราเอง มีให้มันครบทุกรูปแบบ” 

“แล้วพอดีพี่วอร์มเขาก็มีตึกเก่าอยู่ เราก็ได้มาใช้ ส่วนหนึ่งเราก็ทำเรื่องอนุรักษ์อาคาร อนุรักษ์เมือง พื้นที่สาธารณะด้วย ทั้งหมดนี้มันก็หล่อหลอมให้เกิดก้อนความคิดก้อนหนึ่งว่าอะไรที่เราจะทำได้ แล้วมันก็เป็นเหมือนธุรกิจด้วย เป็นอาชีพที่มันไม่ได้เอาเปรียบคนอื่น ไม่ได้เอาเปรียบสังคม แล้วมันยังเป็นพื้นที่สื่อกลางด้วย ให้เขาได้อ่านก่อน แล้วถึงจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขาไป” กอล์ฟเล่าต่อ

“อีกอย่างหนึ่งผมเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือ สิ่งที่อยากทำก็จะเป็น ไม่ให้ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเป็น” กอล์ฟกล่าว “มันหล่อหลอมเรามา กระบวนความคิดของเรา มันทำให้เราต้องไปทำงาน ต้องเดินทางไปนู่นไปนี่ มันกลายมาเป็นสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้”

กอล์ฟบอกว่า เขาจะคอยดูแลในช่วงแรกๆ ก่อนจนกระทั่งทางร้านลงตัวจะเปิดให้ผู้ช่วย เข้ามาทำ โดยอาจถึงขั้นต้องเดินทางกลับมาช่วงเสาร์-อาทิตย์ “ถ้ามันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราเหนื่อย กลายเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบ เราไม่รัก มันจะกลายเป็นภาระ แต่ตรงนี้มันก็สนุกอีกแบบ”

กอล์ฟพูดถึงประสบการณ์จากการเป็นผู้ช่วยดูแลร้านหนังสือเดินทาง ว่ามันเป็นพื้นที่ที่คนเป็นคอหนังสือจะได้มาพบปะสังสรรค์กัน

“ตอนแรกเดิมทีพี่หนุ่ม (อำนาจ รัตนมณี) เจ้าของร้านจะปิดร้านนี้ แต่มันก็เป็นร้านที่ผมกับพี่หนุ่มและน้องคนอื่นๆ มีส่วนร่วมกันมา ก็ทำร้านกันมานาน 5-6 ปี ก็จะต้องพักเบรกช่วงหนึ่งแล้วจะปิดร้าน ตัวผมอยู่ศิลปากร อยู่ตรงแถวเกาะรัตนโกสินทร์ สมัยนั้นเดินผ่านข้าวสารจะไม่เจอร้านแบบนี้ เลยกลัวว่าร้านแบบนี้จะหายไป พื้นที่เรียนรู้ก็จะหายไปอีกที่หนึ่ง พื้นที่ที่จะไปเจอคนใหม่ได้ ไปเจอเพื่อนใหม่ ไปเจอคนชอบอ่านด้วยกัน เพราะบางทีเราก็เหนื่อยเหมือนกันในการจะคุยกับคนอื่น แต่ถ้าได้คุยกับคนในร้านหนังสือด้วยกัน มันก็อีกแบบหนึ่ง มันก็เห็นมุมที่เห็นคนอ่านหนังสือแบบเดียวกับเรา แล้วก็ชวนกันคุยได้ต่อ เราเลยอาสาเขาไปช่วยรันร้านหนังสือนั้นให้อยู่ให้ได้ แต่ผมทำงานประจำเลยไปทำเองก็ไม่ได้ เลยนึกถึงโมเดลให้นักศึกษามาทำงานพิเศษ”

 

 

สื่อออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโปรโมทร้าน

หลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตาร้านนี้บ้างแล้วจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Facebook (http://www.facebook.com/egalite.bookshop) รวมถึงเว็บบล็อก Exteen (http://egalite.exteen.com/) ซึ่งมีภาพตั้งแต่กระบวนการทำงาน การจัดร้าน มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 มาจนถึงช่วงเปิดร้านในปัจจุบันพื้นที่โฆษณาออนไลน์ยังคงใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม รวมถึงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของตัวร้านที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์กับผู้มาเยี่ยมชม 

“การก่อรูปของร้านมันมาหลายทาง หนึ่งคือ ทางกายภาพ กับอีกทางหนึ่งคือการเกิดขึ้นของเฟสบุ๊ค” วอร์มแซวว่า ถ้าให้เขียนกิตติกรรมประกาศ คงต้องมีเขียนขอบคุณ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก “เพราะว่าหลายคนมากรู้จักร้านจากเฟสบุ๊ค แล้วหลายคนมากที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าลำปางคืออะไร ไม่เคยมาลำปางเลย บางคนบอกอยากจะมาลำปางครั้งแรกเพราะร้านนี้ อันนี้ดีใจมาก”

“ร้านมันเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม มีหุ้นส่วนที่เข้าใจกัน มีสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง” วอร์มกล่าว “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปิดร้านแบบนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร้านรูปแบบที่ให้คนมากินกาแฟ มาอ่านหนังสือ ยังไม่มีใครรู้จักฟิลล์นี้ แต่ลำปางมันผ่านประสบการณ์ที่มีคนมาใช้สเปซแบบสาธารณะเยอะแล้ว”

วอร์มกลับมาพูดถึงเรื่อง “พื้นที่” ว่านอกจากเฟสบุ๊คแล้วก็จะมีเรื่องของ “โปสการ์ด” มีแผนการจัดนิทรรศการโปสการ์ดโดยจะมีส่งมาทั้งจากทางเฟสบุ๊คและจากทางคนที่รู้จักด้วย “ส่งมาจากทุกทวีปทั่วโลกยกเว้นแอฟริกา ที่ส่งมาแล้วมีทั้งจากฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แล้วก็มีจากจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาค ทั้งจากนครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, มหาสารคาม, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, กรุงเทพมหานคร ฯลฯ” 

“ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากเฟสบุ๊คด้วยที่มันสานให้คนเข้ามาใกล้กันมากขึ้น” วอร์มกล่าว “ขณะเดียวกันร้านเรามันก็กลายเป็นหมุดหมายอะไรบางอย่างของคนที่มีความรู้สึกใกล้ๆ กัน เช่นที่กอล์ฟบอกว่าคนที่มาร้านหนังสือมันก็มีเคมีบางอย่างที่มันเข้าถึงเรื่องแบบนี้”

วอร์มพูดถึงกระบวนการเริ่มจัดร้านว่า ร้านของพวกเขามีข้อดีตรงเป็นร้านกระจก พอระบบไฟเสร็จ ก็มีการเปิดหน้าร้าน คนที่ผ่านไปมาก็จะสงสัยว่าเป็นร้านอะไรเพราะในช่วงแรกๆ ขณะกำลังจัดร้านยังดูโล่งๆ “คนก็จะคิดว่าเป็นร้านเหล้าบ้าง ร้านอะไรบ้าง คนเขาจะคุ้นเคยกับสเปซ (พื้นที่) ที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นร้านอย่างอื่นได้ พอหลังจากนั้นจึงเริ่มมีหนังสือจัดวางในร้าน ก็มีคนมาซื้อบ้าง จึงค่อนข้างอุ่นใจว่าร้านจะอยู่ได้”

หลังจากที่มีของเข้ามาในร้านมากขึ้น วอร์มบอกว่ามีกลุ่มลูกค้าเข้ามาในร้านหลากหลายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง “ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของร้านเราคืออยู่ติดกับถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์ ก็จะมีคนทุกประเภทมาเดิน แต่ตรงนี้จะเป็นต้นทาง...” อย่างไรก็ตามวอร์มคิดว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์น่าจะเยอะกว่ากลุ่มอื่นและพวกเขาคาดการณ์ในเรื่องนี้ไว้แล้ว

“หรือบางทีก็มีนักศึกษาแพทย์จากที่อื่นที่มาฝึกงานที่โรงพยาบาลลำปาง เขาก็มาดูร้าน พอเห็นว่ามีกาแฟขายเขาก็มาสั่งกาแฟแล้วเอางานมาทำ ซึ่งเราคาดหวังอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วพอคนอื่นเห็นคนนั่งอยู่ก็กล้าที่จะเข้ามาด้วย” วอร์มเล่าให้ฟัง

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเวลาเปิดร้าน “ตรงข้างๆ นี้เป็นร้านยำ ร้านขายลูกชิ้น เปิดตั้งแต่ 4 โมงถึง 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน ตรงข้ามนี้ก็เป็นร้านขายยา ก็จะมีคนมาซื้อของตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำให้คนเห็นร้านนี้ผ่านตา เริ่มรับรู้ เช่นนักศึกษาธรรมศาสตร์บางคนมาซื้อยาแล้วเห็นร้านก็เลยแวะมา”

“ฉะนั้นในฐานะที่เป็นสเปซ เป็นพื้นที่กลางก็ถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง”

 

 

หากเปรียบร้าน 'เอกาลิเต้' เป็นหนังสือ ก็จะเป็นหนังสือเรื่อง 'สัญญาประชาคม'

ที่กระจกหน้าร้านนี้มีคำขวัญที่หยิบยืมมาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” และมีข้อหนึ่งที่เป็นตัวเน้นอยู่ตรงกระจกหน้าร้าน ก็คือหนึ่งในคำขวัญข้อ “เสมอภาค” 

วอร์มอธิบายในจุดนี้ว่า ในมุมแรก คือการที่คนเรามีบุคลิกทางการเมืองในคนละแบบ แต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกันได้ “คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ผมเชื่อว่าอุดมคติเรื่องการเคารพในความเป็นมนุษย์ผมถือว่ามันต้องมีคอนเซปท์ ต้องมีอุดมการณ์อะไรบางอย่างซึ่งผมเลือกที่จะใช้ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คือความเสมอภาค คือความหมายของชื่อร้าน 'เอกาลิเต้' นั่นแหละ”

“ถ้าเปรียบร้านก็องดิดเป็นหนังสือก็คงเป็นหนังสือเรื่อง 'ก็องดิด' แต่ถ้าเปรียบร้านผมเป็นหนังสือก็จะเป็นเรื่อง 'สัญญาประชาคม' (Social Contract) ของ ฌอง ชาค รุสโซ ซึ่งเป็นต้นธารของคณะราษฎร แล้วการที่เรามีคำขวัญของคณะราษฎรก็เพราะว่ามันเป็นหลักสากลที่คิดว่ามนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกัน”

“อีกอย่างหนึ่งคือมีนัยยะที่จะสะท้อนกลับไปด้วยว่าสิ่งเหล่านี้มันมีเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ไม่ใช่ว่าร้านผมอยากจะทำก็ทำ” อย่างไรก็ตามวอร์มก็บอกว่าไม่ได้หมายความว่าร้านนี้เป็นกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หนังสือที่วางอยู่ในร้านก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นของกลุ่มเสื้อสีใด “เราก็มีหนังสือของทั้งแดงทั้งเหลือง หรือที่ถูกเรียกว่าเป็นสลิ่มหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นพื้นที่ที่เราพยายามจะเปิด แต่ในสังคมไทยตอนนี้มันกลายเป็นปฏิเสธกัน แต่เราจะพยายามมองในมุมที่ผสมผสานกัน”

“มันอาจจะตรงกับคำขวัญที่พี่วอร์มเขียนไว้ว่ามันเป็นพื้นที่ของความเท่าเทียม เป็นพื้นที่ที่อยากเปิดให้ทุกคนเข้ามาเลือกสรรสิ่งที่อยากจะรู้ อยากจะหยิบไป ซึ่งเราก็เสนอให้เป็นพื้นที่ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะพื้นที่กระแสหลักอย่างร้านหนังสือใหญ่ๆ ในลำปางก็มีเยอะมาก ซึ่งร้านอย่างเราก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ได้หรือเปล่าจริง ๆ เพราะหนังสือทำเงินไม่มากนัก เปอร์เซ็นต์น้อย แล้วก็ร้านใหญ่ๆ เขามีหนังสือทุกประเภท แต่ของเราที่คัดมาก็เฉพาะทางพอสมควร แต่ก็ลองดูละ” กอล์ฟกล่าว

ชายหนุ่มทั้ง 2 บอกว่าตนทุ่มทุนในการสร้างร้านนี้จนถึงขั้นว่าจะไม่มีเงินเก็บเหลือ 

“แต่ขณะเดียวกัน ผมก็มองว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้ทางธุรกิจนะ คือมันเป็นธุรกิจ เพียงแต่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เอาเปรียบคนอื่น” กอล์ฟกล่าว

“ได้กำไรหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ขอให้อย่างน้อยมันอยู่ด้วยตัวเองได้ คือไม่ใช่ว่าเป็นการกุศล” วอร์มเสริม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net