Skip to main content
sharethis

สำรวจทรัพยากรสตูล แหล่งหิน ดิน ทราย น้ำ ใช้สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พบเขา 10 ลูกจะถูกระเบิดถมทะเลกับแหล่งทรายอีก 2 แห่ง พ่วง 1 อ่างเก็บน้ำ

น้ำท่วมใหญ่ครั้งต่อไป คงไม่มีใครโทษภัยธรรมชาติอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะสาเหตุส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น ก็คือ การกระทำของมนุษย์เอง ตัวอย่างของภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงที่มาจากสาเหตุนี้ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ น้ำท่วมและดินถล่ม

ในขณะที่ปริมาณฝนที่ตกหนักมากขึ้นและพายุที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ก็เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์อีกที่ทอดหนึ่ง เช่นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมและดินถล่มรุนแรงขึ้น มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างป่าไม้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการชะลอน้ำและเป็นพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติ และมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น การถมที่ขวางทางน้ำหรือพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ 

นับวันแนวโน้มในการทำลายทรัพยากรป่าไม้และการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์มีมากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง

ตัวอย่างเช่น ในจังหวัดสงขลา ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดสงขลา ระบุว่า ในปี 2552 จังหวัดสงขลามีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 1,440,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นการปลูกยางพาราในเขตหวงห้าม เช่น เขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบ 200,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความต้องการใช้ที่ดิน ในการถมที่ปลูกสร้างอาคารต่างๆที่เพิ่มขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เพราะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเช่นกัน เช่น การขุดดิน การขุดทราย การถมที่ การระเบิดหิน การทำลายป่าไม้เพื่อนำทรัพยากรในดินมาใช้ ไปจนถึงผลกระทบที่ตามมาจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจรุนแรงมากหรือน้อยตามมาตรการและความเข้มงวดในการควบคุมดูแล

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล น่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่อาจส่งผลเกิดความรุนแรงของภัยพิบัติตามมา เพราะจะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลมาสร้างท่าเรือทั้ง ดิน หิน ทรายและน้ำจืด

ทรัพยากรเหล่านี้จะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากการขุดดิน ขุดทราย ระเบิดหิน และสร้างเขื่อนกันน้ำ เพื่อมาถมทะเลและสร้างท่าเรือ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติตามมา

ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและการถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ระบุว่า โครงการนี้ต้องใช้หินทั้งในการถมทะเลและก่อสร้างท่าเรือรวมทั้งหมดปริมาณ 1,188,439 ลูกบาศก์เมตร

หินเหล่านี้จะมาจากการระเบิดภูเขาในจังหวัดสตูลทั้งหมด 8 แห่ง ในอำเภอละงู ทุ่งหว้า และควนกาหลง รวม 10 ลูก โดยมีปริมาณสำรอง 112 ล้านตัน บนเนื้อที่รวม 1,276 ไร่

ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ทรายและดินลูกรังด้วย ในอีไอเอฉบับนี้ ระบุปริมาณความต้องการทรายบกทั้งสิ้น 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแหล่งทรายถมที่มีความเป็นไปได้มี 2 แหล่ง คือ บริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูกกับบ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ส่วนแหล่งทรายก่อสร้างและลูกรัง อยู่ในพื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

ส่วนแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในจังหวัดสตูลมี 2 แห่ง คือ คลองละงูและคลองดุสน คลองทั้งสองสายเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาป้อนหลายพื้นที่ของจังหวัด อาจถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ ในจังหวัดสตูลยังมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ซึ่งอาจมีการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไปใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย

จะเห็นได้ว่า แค่โครงการเดียว อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในเขตที่ตั้งโครงการเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงแหล่งทรัพยากรอื่นๆ ที่จะถูกนำมาใช้ในโครงการนี้ด้วย

แหล่งดิน หิน ทรายและน้ำ คือฐานทรัพยากรที่สำคัญของคนในชุมชนที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะดินเป็นแหล่งทำมาหากิน แหล่งน้ำก็เป็นที่หาอาหาร ขณะเดียวกันทรัพยากรพวกนี้ก็ยังช่วยปกป้องจากภัยพิบัติธรรมชาติด้วย หากมันไม่ถูกรวบกวนมากนัก

 

.........

แหล่งหินอุตสาหกรรม และปริมาณสำรองในจังหวัดสตูล

ชื่อแหล่งหิน

ที่ตั้ง

พื้นที่ (ไร่)

ปริมาณสำรอง

ล้านตัน

เปอร์เซ็นต์

เขาจำปา-เขาเณร-เขาโต๊ะชั่ง

อำเภอควนกาหลง

141

3.41

3.04%

เขาจุหนุงนิ้ย(มีปัญหาสิทธิในที่ดิน)

อำเภอละงู

288

0

0.00%

เขาพลู

อำเภอควนกาหลง

100

5.14

4.59%

เขาละใบดำ

อำเภอควนกาหลง

100

13.6

12.14%

เขาละมุ

อำเภอควนกาหลง

30

2.72

2.43%

เขาลูกช้าง

อำเภอควนกาหลง

75

7.5

6.70%

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

อำเภอทุ่งหว้า

312

31.1

27.77%

เขาวังบุมาก

อำเภอควนกาหลง

230

48.54

43.34%

รวม

1,276

112.01

100%

ที่มา : กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

โรงโม่หินหลักใน จังหวัดสตูล มี 2 แห่ง คือ โรงโม่หินทุ่งนุ้ยศิลาทอง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราประมาณ 60 กิโลเมตร และโรงโม่หินพุธผา อำเภอละงู จังหวัดสตูล อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราประมาณ 20 กิโลเมตร แหล่งหินทั้งสองมีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งมีความต้องการใช้หินในเบื้องต้นเท่ากับ 1.19 ล้านลูกบาศก์เมตร

หมายเหตุ : คัดลอกจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและการถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

 

 

เขาจูหนุงนุ้ย

 

เขาโต๊ะกุ้ง

เขาจูหนุงนุ้ย

เขาจูหนุงนุ้ย ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ริมถนนสายละงู – ทุ่งหว้า ตั้งอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ควนทัง – เขาขาว ด้านหน้าเขามีสวนยางพาราของชาวบ้านและมีบ้านพักอาศัยปลูกอยู่ 2 หลัง ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนมีบ้านเรือนชาวบ้านปลูกอยู่ค่อนข้างหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม ตามพิกัดในแผนที่แหล่งหินที่ปรากฏในภาคผนวก ค หน้า ค1 - 2 น่าจะเป็นเขาโต๊ะกุ้งตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเขาจูหนุงนุ้ยประมาณ 500 เมตร มีลักษณะเป็นภูเขาหินโดดๆ แทรกอยู่ในกลุ่มเขาหินหลายลูก

เมื่อปี 2538 นายเกตุชาติ เกศา นายทุนจากอำเภอละงู ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในบริเวณเขาโต๊ะกุ้ง 300 ไร่ เพื่อทำเหมืองหิน แต่เปิดเหมืองได้ไม่นานก็ถูกชาวบ้านประท้วงคัดค้าน จนต้องล้มเลิกกิจการกลายเป็นเหมืองร้าง ปัจจุบันยังปรากฏอาคารที่พักและสำนักงานอยู่

โดยในรัศมี 3 กิโลเมตร จากเขาโต๊ะกุ้ง มีสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านป่าฝาง ห่างประมาณ 900 เมตร โรงเรียนบ้านควนฟ้าแลบ ตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลละงู 3,000 เมตร โรงเรียนบ้านทุ่งเสม็ด 1,500 เมตร โรงพยาบาลละงู 2,500 เมตร มัสยิดบ้านป่าฝาง 1,000 เมตร ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดบ้านป่าฝาง 1,000 เมตร

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ตำบลกำแพง อำเภอละงู 800 เมตร มัสยิดอิมามฮูเซ็น(อ.) ซึ่งเป็นมัสยิดของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ 600 เมตร ส่วนกูโบร์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับมัสยิด มัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ในจุดที่มองเห็นเขาจูหนุงนุ้ยได้จัดเจน เนื่องจากเป็นที่โล่ง

 

 

 

 

 

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

 

ในแผนที่แสดงที่ตั้งเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อยู่ในพื้นที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ไม่พบว่ามีเขาหินชื่อนี้ เมื่อสังเกตจากที่ตั้งในแผนที่ คาดว่าภูเขาลูกนี้คือ ภูเขาหล้อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านป่าแก่บ่อหิน ตำบลป่าแก่บ่อหิน

ภูเขาหล้อน มีลักษณะเป็นภูเขาหิน 2 ลูกตั้งอยู่ใกล้กัน โดยลูกหนึ่งเล็กอีกลูกหนึ่งใหญ่ พื้นที่รอบเขาทั้งสองลูก ด้านหน้าเป็นพื้นที่ชุมชนบ้านป่าแก่บ่อหิน มีบ้านเรือนประชาชนปลูกอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ที่เหลือเป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากภูเขาหล้อน มีสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนป่าแก่บ่อหิน ห่างจากเขาหล้อนประมาณ 1 กิโลเมตร สำนักสงฆ์ป่าแก่บ่อหิน สถานีอนามัยตำบลป่าแก่บ่อหิน โรงเรียนบ้านทุ่งดินลุ่ม ห่างจากเขาหล้อนประมาณ 2 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาพลู

เขาพลู

เขาพลู ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านวังผาสามัคคี(กะทูน – พิปูนล้นเกล้า) ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ห่างจากทางหลวงชนบทสายซอย 10 – เขาใคร (สต.4004) ประมาณ 400 เมตร อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาพลูมีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย วัดวังผาสามัคคี ห่างประมาณ 300 เมตร สถานีอนามัยกะทูน – พิปูนล้นเกล้า 300 เมตร โบสถ์คริสตจักรควนกาหลง ในมูลนิธิคริสเตียนสัมพันธ์ประเทศไทย และศูนย์คริสเตียนอาสา 500 เมตร ศูนย์ธรรมวาตะ 400 เมตร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกะทูน – พิปูนล้นเกล้า 400 เมตร โรงเรียนบ้านกลุ่ม 5 ประชารักษ์ 400 เมตร วัดกุมภีลบรรพต 1 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาผึ้ง

เขาละใบดำ

ในแผนที่ที่แสดงที่ตั้งแหล่งหินเขาละใบดำ ระบุว่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าไม่มีเขาชื่อนี้ แต่น่าจะเป็นเขาผึ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยน้ำดำใน ตำบลควนกาหลง ซึ่งแยกออกมาจากหมู่ที่ 1 เมื่อปี 2543

เขาผึ้งเป็นกลุ่มเขาหินขนาดใหญ่ 2 ลูก โดยบริเวณที่ถูกกำหนดเป็นแหล่งหินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นส่วนที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณนี้เคยมีการซื้อขอสัมปทานทำเหมืองหินมาแล้ว เคยมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ควนกาหลงเมื่อปี 2548

เขาผึ้งตั้งอยู่ใกล้ถนนประชาสงเคราะห์(ทางหลวงหมายเลข 4137 ทุ้งนุ้ย – นิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ อำเภอควนกาหลง) ประมาณ 500 เมตร และมีทางหลวงชนบทสายสต.3012 ตัดผ่านต้านทิศตะวันตก และทางหลวงชนบทสาย สต.4013 ตัดอ้อมทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอควนกาหลงกับอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

ด้านทิศใต้มีคลองสระเกด หรือคลองการะเกด ตัดผ่านบริเวณเชิงเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 45 กองบัญชาการทหารสูงสุด

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาผึ้งมีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย ที่ว่าการอำเภอควนกาหลงหลังใหม่ ห่างประมาณ 700 เมตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ 1.5 กิโลเมตร วัด มัสยิดธรรมประทีปและศูนย์เด็กเล็กบ้านห้วยน้ำดำ 2 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านถ้ำทะลุ 1.5 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล 1 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำหรับอุโภค บริโภคของชาวบ้าน หมู่ที่ 10 บ้านห้วนน้ำดำใน , หมู่ที่ 2 บ้านซอย 10 และหมู่ที่ 3 บ้านควนล่อน ตำบลควนกาหลง ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายโครงการครอบคลุมหมู่ที่ 4 บ้านซอยสี่-เจ็ด และหมู่ที่ 7 ตำบลควนกาหลง

 

 

 

 

เขาจำปา

เขาโต๊ะชั่ง

เขาเณร

เขาละมุ

 

เขาจำปา – เขาโต๊ะชั่ง – เขาเณร – เขาละมุ

ทั้ง 4 เขา ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งตำเสา ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยเขาจำปา เขาโต๊ะชั่งและเขาเณร ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีเขาละมุตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแนวเขาจำปา เขาโต๊ะชั่งและเขาเณร ห่างประมาณ 500 เมตร

ปัจจุบัน บริเวณเขาโต๊ะชั่ง มีการระเบิดหินแล้ว โดยมีรถบรรทุกหินวิ่งเข้าออกทุกวัน ห่างออกไปทางทิศใต้มีโรงโม่หินตั้งอยู่ บริเวณรอบๆ มีป้ายสีน้ำเงินติดตั้งอยู่ โดยมีข้อความว่า “นายชยุตพงศ์ เรืองกูลการได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่แห่งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยกรมป่าไม้แล้ว เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2542”

ที่ตั้งของเขาทั้ง 4 ลูก ค่อนข้างห่างจากพื้นที่ชุมชนหนาแน่น สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นสวนยางพาราสลับกับสวนปาล์มน้ำมัน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากภูเขามีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ ห่างประมาณ1.5 กิโลเมตร มัสยิดอัลอาติก 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านน้ำหรา 1.5 กิโลเมตร สถานีตำรวจภูธรควนกาหลง 2 กิโลเมตร ศูนย์ราชการอำเภอควนกาหลง 2 .5กิโลเมตร สถานีอานามัยควนบ่อทอง 3 กิโลเมตร

 

 

 

 เขานาบาหมัน

เขาวังบุมาก

เขาวังบุมาก ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย หมู่ที่ 3 บ้านหัวกาหมิง และหมู่ที่ 7 บ้านเกาะใหญ่ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ชาวบ้านเรียกว่า “เขานาบาหมัน”

ลักษณะภูเขาเป็นแนวยาวแนวเหนือ – ใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของถนนยนตรการกำธร หรือทางหลวงหมายเลข 406 (สตูล – หาดใหญ่) เป็นเขาหินที่มีปริมาณสำรองในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามากที่สุด คือ 48,054 ล้านตัน คิดเป็น 43.34% ของปริมาณหินที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด

ปัจจุบันเขาวังบุมากหรือเขานาบาหมัน เป็นพื้นที่สัมปทานทำเหมืองหินของ โรงโม่หินทุ่งนุ้ยศิลาทอง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงโม่หินรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดสตูล โดยพื้นที่เขาส่วนหนึ่งทางด้านทิศเหนือของเขาลูกนี้ได้ถูกระเบิดไปหมดแล้ว

รอบๆ เขาลูกนี้ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหลายแห่ง ได้แก่บ้านทุ่งนุ้ย บ้านน้ำร้อน บ้านหัวกาหมิง บ้านโตน และบ้านโคกโดน

นอกจากนี้ ยังมีคลองธรรมชาติที่สำคัญไหลผ่านในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ คลองกาหมิง คลองโตนและคลองน้ำร้อน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของคลองดุสน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาลูกนี้ มีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย กุโบร์บ้านทุ่งนุ้ย ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านน้ำร้อน มัสยิดบ้านน้ำร้อน โรงเรียนตาดีกาบ้านน้ำร้อน กุโบร์บ้านน้ำร้อน 1.5 กิโลเมตร

โรงเรียนบ้านหัวกาหมิง มัสยิดดารุลอามาน โรงเรียนตาดีกาดารุลอามาน 500 เมตร มัสยิดดารุลวุสตอ 1 กิโลเมตร ระบบประปาหมู่บ้านหัวกาหมิง 1 กิโลเมตร โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา 1 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาลูกช้าง

เขาโต๊ะกลั้ง

เขาลูกช้าง

ตามแผนที่ที่ตั้งเขาลูกช้าง ระบุว่า อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง แต่จากการสอบถามชาวบ้าน ระบุว่า เขาที่ระบุในแผนที่คือเขาโต๊ะกลั้ง ส่วนเขาลูกช้าง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านดุสน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ห่างจากเขาโต๊ะตรังประมาณ 500 เมตร

เขาโต๊ะกลั้งตั้งอยู่ห่างจากถนนยนตรการกำธร ประมาณ 500 เมตร

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาโต๊ะกลั้ง มีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนอรูณศาสน์วิทยามูลนิธิ ห่างประมาณ 700 เมตร สถานีอนามัยควนบ่อทอง โรงเรียนบ้านดุสน 1 กิโลเมตร ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ตำบลควนโดน 1.5 กิโลเมตร กุโบร์บ้านดุสน 1.5 กิโลเมตร และฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 (ฝายดุสน) 2 กิโลเมตร

สำหรับ ฝายดุสน กั้นลำคลองดุสน ซึ่งบางช่วงไหลผ่านใกล้เขาโต๊ะตรัง เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาที่สำคัญของจังหวัดสตูล

รายงานประจำเดือนตุลาคม 2553 ของฝายดุสน ระบุว่า สำนักงานประปาสตูลได้ใช้น้ำดิบจากฝายดุสนผลิตน้ำประปาได้ปริมาณ 356,982 ลูกบาศก์เมตร ส่งไปยังผู้ใช้น้ำทั่วจังหวัดสตูล ยกเว้นอำเภอละงู ประมาณ 13,311 ราย เฉพาะเขตเทศบาลเมืองสตูล มีประมาณ 5,800 ราย

ต้นน้ำของคลองดุสนมาจากเทือกเขาบรรทัด มีคลองสาขา ได้แก่ คลองโตน คลองน้ำร้อน คลองหัวกาหมิง ไหลผ่านตำบลทุ่งนุ้ย คลองหัก คลองเลี้ยว ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติทะเลบัน มารวมกันเป็นคลองดุสนที่บ้านบูเก็ตยามู หมู่ที่ 7 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

 

 

 

แหล่งทรายบ่อเจ็ดลูก

แหล่งทรายบ้านหัวหิน

แหล่งทรายและลูกรัง

ทรายที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มี 2 ส่วน คือ ทรายถม และทรายก่อสร้าง ปริมาณทั้งสิ้น 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร 

สำหรับแหล่งทรายถมที่มีความเป็นไปได้มี 2 แหล่ง คือ พื้นที่บริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร ชั้นทรายหนา 7 เมตร ปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกแหล่งคือบริเวณปากละงู บ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ชั้นทรายหนา 3.5 – 5 เมตร ปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแหล่งทรายก่อสร้างและลูกรัง พบปริมาณมากเพียงพอในพื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล 2548 พบว่า มีผู้ประกอบการทรายก่อสร้างและดินลูกรัง 4 บ่อ ได้แก่ บ่อทรายทนาย บ่อทรายเขาพระ บ่อทรายหลังสวนลำไย และบ่อทรายทวีทรัพย์ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ส่วนแหล่งวัสดุทรายและลูกรังในจังหวัดสตูล มี 12 แห่ง

 

 

 

 

 คลองช้าง

อ่างเก็บน้ำคลองช้าง(ทุ่งนุ้ย)

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีพื้นที่เก็บน้ำ 1,700 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 89.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กั้นห้วยคลองช้าง ซึ่งเป็นต้นลำน้ำสาขาของคลองท่าแพรอยู่ในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ที่ตั้งหัวงานอยู่บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ห่างจากทางหลวงหมายเลข 406 ประมาณ 1 กิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงเขื่อนดินประมาณ 12 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำลงอ่าง 44.04 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 510 ล้านบาท

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมชลประทานจึงว่าจ้างบริษัท พรีดีเวลอปเมนท์ บริษัท เอกรุ๊ป คอนซัลแตนท์ และบริษัท ร้อจแอนด์แอสโซซิเอทส์ จำกัด ในวงเงิน 18 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 27กันยายน 2553 – 21 ธันวาคม 2554

จากการสำรวจ พบว่า บริเวณที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งสันเขื่อนอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกในแนวตะวันออก – ตะวันตก ห่างกันประมาณ 300 – 400 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้แบบผสมผสานและสวนยางพาราตลอดตามแนวคลอง สภาพพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net