Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สีสันในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างหนึ่งของประเทศไทยซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ใด ในโลก ก็คือ กระแสรณรงค์ “โหวตโน”ของ พันธมิตรมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนาย สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของพันธมิตรฯ หลังจากที่พันธมิตรเริ่มมีท่าทีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสนธิ ได้ประกาศ กลยุทธ์ โหวตโนโดยได้วางยุทธศาสตร์ว่า “จะขอจุดเทียนเล่มที่ 2 ด้วยการลงคะแนนในช่องไม่เลือกใครเพื่อปฏิรูปการเมืองที่เลวร้าย” และตั้งเป้าไว้ถึง 10 ล้านเสียง ตามที่ได้ประกาศในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ภายใต้แคมเปญดังกล่าวยังปิดบังเงื่อนงำหลายประเด็นไว้ ทั้งเรื่องความแตกคอในหมู่แกนนำพันธมิตรฯ ที่ นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งในนาม “พรรคการเมืองใหม่” จนเป็นที่แตกแยกในหมู่แกนนำ มีการขุดเรื่องฉาวโฉ่มาแฉกันทั้งปมเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรค 3 ล้านบาท ที่เกิดวิวาทะโดยนายสมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า นายสนธิ “รับงานใครมา?” รวมไปถึงกรณีความขัดแย้งของนาย สมศักดิ์และ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กรณีเงินจากการจัดคอนเสิร์ตการเมือง รวมไปถึงภาพความร้าวฉานระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ อดีตแนวร่วมอุดมการณ์ โดยจุดแตกหักน่าจะเกิดขึ้นจากกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถยื่นประกันตัว นาย วีระ สมความคิด และ น.ส. ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่เดินเข้าไปให้จับกุมในชายแดนกัมพูชาในข้อหาบุกรุก แต่ได้ประกันตัวนาย พนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์พร้อมคณะบางส่วน หลังจากนั้น พันธมิตรฯได้ปล่อยแคมเปญดังกล่าว ด้วยการขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่บริเวณทางด่วน และเวทีที่มัฆวาฬว่า “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา” ก่อนที่ป้ายดังกล่าวจะถูกกระจายไปยังรอบๆเมืองหลังจากที่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีการประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม ป้ายรูปแบบแรกถูกติดตั้งในภาพของ “ควาย ตัวเงินตัวทอง สุนัข ลิง และเสือ” โดยมีเนื้อหาเชิงเสียดสีนักการเมืองบนตรรกกะชุดความคิด “นักการเมืองเลวไม่แตกต่างจากสัตว์” และถูกร้องเรียนจากผู้สมัครหลายพรรคไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านสืบสวนสอบสวน ได้มีมติที่ประชุมมีเสียงข้างมาก 4-1 เสียง ให้ปลดป้ายดังกล่าวลงในวันที่ 8 มิถุนายน เนื่องจากไม่ได้เป็นการรณรงค์หาเสียง โดยตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตามมาตรา 10 ระบุว่า การโฆษณาด้วยการปิด ทิ้งหรือโปรย แผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้หรือไม่อนุญาตได้ และมาตรา 11 ระบุว่า หากไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้สั่งเป็นหนังสือ ปลด รื้อ ถอน ขูด ลบหรือล้างข้อความหรือภาพนั้นภายในเวลาที่กำหนด ต่อมาพันธมิตรได้แจ้งว่าป้ายดังกล่าวนั้นเป็นของ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” ซึ่งเป็นพรรคของเครือข่ายสันติอโศก และมีการนำหมายเลข 18 และโลโก้พรรคเพื่อฟ้าดินมาติด และออกเวอร์ชั่นที่สองที่มีสโลแกน ต่างๆ เช่น “หนีเสือปะจระเข้” “3 ก.ค. วันตบโหลกนักการเมือง” หรือรูปของควายที่ใส่สูทสีเสื้อคล้ายของพรรคการเมืองใหญ่ และโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งได้ออกป้าย “อย่าปล่อยให้คนเผา และ คนปล่อยให้เผา เข้าสภา” โดยได้เสียงตอบรับจากบรรดาแม่ยกพอสมควร และมีการตั้งเป้าว่าถ้าหากมีการโหวตโนมากกว่าคะแนนผู้สมัครได้ถึง 26 เขต ก็จะไม่สามารถทำให้เปิดประชุมสภาได้ โดยได้อ้างว่ามีความหมายทางกฎหมายแล้ว จากประเด็นดังกล่าวภาคประชาชนได้ตรวจสอบไปยังกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 93 วรรคท้าย ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งวรรคที่ 7 บอกว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร และต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่จะมีอายุของ ส.ส.ที่เหลืออยู่ โดยถ้าหากมีกรณีดังกล่าวรัฐอาจจะต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งซ่อมไม่น้อยกว่า หลักร้อยล้านบาทตามมาด้วยแต่เมื่อผลปิดหีบผลกับพลิกล็อก!! ไม่แรงอย่างที่กระแสพันธมิตรฯโหมโปรโมทในเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการและช่อง ASTV ว่าได้รับกระแสการตอบรับที่ดี โดยในครั้งนี้มีผู้ไปกาในช่องงดออกเสียง 1,405,037 บัตร ในแบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ 4.04 ในขณะที่การเลือกตั้งในปี 2550 มีผู้กาในช่องงดออกเสียงถึง ร้อยละ4.57 และไม่ได้มากกว่าผู้สมัครสักเขต แม้กระทั่งชลบุรีที่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของพันธมิตรฯ จากการสำรวจสาเหตุหนึ่งคือ ผู้ที่แต่เดิมมีความตั้งใจจะกางดออกเสียงมีความรู้สึกว่าอาจจะถูกเหมารวมว่า สนับสนุนพันธมิตรฯ จึงไปเลือกพรรคอื่นแทน โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวกลับไปเป็นตัวสกัดกั้นผู้สมัครของประชาธิปัตย์ที่มี ฐานคะแนนเสียงทับซ้อนกับพันธมิตรฯ คะแนนจึงถูกแบ่งไปยัง พรรครักษ์สันติ และพรรครักประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้เหตุผลในกรณีดังกล่าวว่า “จริงๆแล้วอาจจะมีคนโหวตโนเยอะ แต่ถูกกรรมการนับคะแนนขานเป็นบัตรเสีย” โดยในความเป็นจริงมีการตั้งข้อสังเกตว่าบัตรเสียที่มีมากถึงร้อยละ 5.75 ส่วนหนึ่งจะมาจากกรณีที่บนบัตรเลือกตั้ง โลโก้ของพรรคเพื่อไทยมีขนาดเล็กทำให้ผู้ลงคะแนนสับสนและกาผิดช่องมากกว่า หากประเมินในด้านการลงทุน นี่เป็นการลงทุนที่ล้มเหลวอย่างมาก หากคำนวนค่าป้ายหาเสียงราคาเฉลี่ยป้ายละ 200 บาท จำนวน 1แสนป้าย ก็ตกมูลค่า 20ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นการประเมินหลักการตลาดเมื่อเราลงโฆษณาสินค้าเราจะหวังผลหรือยอด ขายที่เพิ่มขึ้น 20 – 30% แต่กรณีดังกล่าวกลับมีจำนวนลดลง SIU ประเมินว่าก่อนหน้านั้นที่พันธมิตรดำเนินกลยุทธดังกล่าวเพื่อหวังกระแส “ซาวนด์เช็ก” มวลชนว่ามีผู้สนับสนุนตนมากน้อยเพียงใด โดยแยกจากมวลชนประชาธิปัตย์และไปตัดคะแนนเสียงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าเป้า และเป็นการกระทำเพื่อจะสามารถกำหนดวิธีการดำเนินการต่อไปหลังจากการเลือก ตั้งเสร็จสิ้นของพันธมิตรฯ โดยถ้าหากมีผู้โหวตโนจำนวนมากก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นและสามารถต่อรองกับ สังคมได้มากขึ้นทำให้พันธมิตรฯต้องหันมาทบทนตัวเอง นาย ปานเทพ ยังกล่าวไปอีกว่า “พรรคการเมืองใหม่ของนายสมศักดิ์ที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 3หมื่นกว่าเสียงควรจะพิจารณาแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่อไป” หากวิเคราะห์กันแท้จริงกลยุทธดังกล่าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิงทั้งภาพความแตกแยก ในหมู่แกนนำ กระแสการตอบรับที่น้อยเกินคาดทำให้ต่อไปนี้อาจถูกลดความสำคัญในสังคมลงไปอีก ข้อเสนอแนะของ SIU คือแทนที่พันธมิตรฯจะสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ของ นาย สมศักดิ์ เพื่อที่จะเข้าไปเป็นผูัตรวจสอบอำนาจรัฐ แบบที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อาสาเป็นฝ่ายค้านต้านคอร์รัปชั่น แต่มวลชนกลับถูกนำมารับใช้ความขัดแย้งทั้งภายในแกนนำเอง และพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าหลังจากนี้พันธมิตรฯ อาจจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่กันอีกครั้ง และเป็นหลักฐานที่ชัดว่าการกระทำบางอย่างนั้นอาจจะได้ความสะใจจากกลุ่มผู้ สนับสนุนหรือแม้กระทั่งเจตนารมณ์ที่ดีในการสกัดกั้นการคอร์รัปชั่น แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง พันธมิตรฯยังคงเป็นเพียงแค่สีสันของการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ความหวังของพรรคการเมืองแบบมวลชนในความฝันของการเมืองใหม่ที่พวกเขา อยากเห็น การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์หากคุณจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของมวลชน คุณจำเป็นที่จะเข้ามาอยู่ในเกมส์!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net