Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ว้ากน้อง ร้องเพลงเชียร์ เต้นรำสนุกสนาน สั่งน้องให้เข้าแถว ยืนตรง นิ่ง นับจำนวนคนที่มาและคนที่ขาด สั่งให้วิ่ง หันซ้ายหันขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน สั่งให้นั่งประชุมนิ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง สั่งให้ร้องเพลงดังๆ ที่สุด ตบมือให้ดัง ร้องเพลงหลายๆ รอบให้พร้อมกัน (ทำตามคำสั่ง order) ห้ามคุยกัน ห้ามแสดงความคิดเห็น หรือโต้ตอบการกระทำของรุ่นพี่ ห้ามมองหน้าพี่ ห้ามยิ้ม ห้ามเกา ถ้าไม่ทำตามก็จะมีมาตรการลงโทษเช่น นำตัวไปที่ห้องเรียน ปิดประตูหน้าต่าง ปิดพัดลมให้หมด เพื่อไม่ให้คนภายนอกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้อง จากนั้นก็ด่าทอ ตะโกนใส่อย่างบ้าคลั่ง กักตัวไม่ให้ไปไหน กลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาสมควร หรือจนกว่าพี่จะพอใจ กลั่นแกล้งสารพัด โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมความสามัคคี (unity) ในหมู่คณะและความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง (seniority) ข้างต้นจัดขึ้นในช่วงที่กำลังจะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ถึงการสอบกลางภาคในรั้วมหาวิทยาลัย วิทยาลัยทุกปีจนเป็นประเพณี (tradition) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฤดูล่าหัวมนุษย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2543) เบื้องหน้าและเบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์ เมื่อมองดูกิจกรรมเหล่านี้อย่างผิวเผินและไม่คิดอะไรมาก จะรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่คอยดูแลห่วงใย ให้ความช่วยเหลือ (spirit) แก่รุ่นน้องที่จะเข้ามาศึกษาในสถาบันใหม่ให้เกิดความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ อบอุ่นที่มีคนมาให้ความสำคัญแก่เขา ไม่รู้สึกเป็นตัวประหลาดมากนักท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมาย และรู้สึกเป็นพวกเดียวกันในที่สุด ตรงนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความมั่นคงในจิตใจของนิสิตใหม่หรือความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ได้มาจากปัจจัยภายนอกหรือได้รับจากบุคคลภายนอก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากภายในตัวเองอย่างแท้จริง ดังนั้นขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร รุ่นพี่จะทำอะไรกับนิสิตใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ความมั่นคงและความอบอุ่นที่ลงทุนลงแรงไปอย่างมหาศาล และรุ่นน้องจะสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงและความมั่นใจที่ให้โดยบุคคลอื่น เรามาลองพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์นี้ซิว่า มันเป็นสิ่งที่มีเจตนาดีหรือซ่อนเจตนาอื่นเอาไว้ ที่ทำให้มันต้องถูกตั้งคำถามไว้มากมาย ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีทำไมถึงมีอะไรชอบกลที่น่าเคลือบแคลงสงสัยด้วย คำถามที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของกิจกรรม มีดังนี้ 1. ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยถึงหลงใหลคลั่งไคล้กิจกรรมรับน้อง ที่ทำให้กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดูพิเศษกว่ากิจกรรมของชมรมอื่นๆ ไปได้ 2. การรับน้อง-เข้าเชียร์ เป็นการสร้างวงจรของการใช้อำนาจเผด็จการใช่ไหม แล้วใครได้ประโยชน์จากกิจกรรม 3. ทำไมถึงมีการสังเวยชีวิตนิสิตให้กับกิจกรรมนี้ รวมทั้งความเจ็บปวด ความกดดันและความเครียด เช่น สอบตก เป็นลมหมดสติ นอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา เสียชีวิตกลางคัน และไม่สามารถเป็นเหตุผลให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ? 4. ความตายของคน 1 คนคุ้มค่าแล้วหรือที่จะแลกกับความสนุกสนานของคนเป็นพันคน แลกกับความสะใจในการใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นสารพัด และแลกกับความสามัคคีอันจอมปลอม 5. การอ้างว่ากิจกรรมเป็นไปเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คณะ ความรักที่ให้ต่อกัน การเกื้อกูลกันเป็นการอ้างที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ เนื่องจากขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพ ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์เบื้องหลังที่ทำให้กิจกรรมรับน้องดำรงอยู่มาได้ ในระดับจิตวิทยาเชื่อมโยงกับระดับวัฒนธรรม กล่าวคือการพิสูจน์ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสถาบันนิยม (หรือเรียกว่าระบบโซตัส) 1> ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ อันเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้โครงสร้างทางชนชั้นสูง-ต่ำยังคงอยู่ และทำให้การยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกภาพของคนหนุ่มสาวหดหายไป การวิเคราะห์ในระดับจิตวิทยา อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน อธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ว่า การที่สมาชิกในสังคมจะมีบุคลิกภาพบางประการที่เหมือนกันนั้น (บุคลิกภาพเชิงสังคม) เกิดจากพลังทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและพลังทางประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของปัจเจกชน ดังทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ (สมบัติ พิศสะอาด 2539) รวมทั้งทฤษฎีทางจิตวิทยาพื้นฐานเรื่องความโน้มเอียงแบบซาดิสต์ (Sadist) และมาโซคิสต์ (Masochist) ที่แฝงอยู่ในคนๆ เดียวกัน และแนวคิดของฟรอยด์เรื่องจิตใต้สำนึก(Unconsciousness)ว่า คนสามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยไม่รู้ตัว และอ้างเหตุผลขึ้นมาบังหน้าการกระทำนั้นเสมอ (rationalization) นับจากชัยชนะของเผด็จการทหารที่ทำลายขบวนการนักศึกษา ประชาชนระดับล่างเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค (ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519) ทำให้ระบบการเมืองไทยขับเคลื่อนด้วยพลังของฝ่ายเผด็จการทหาร ออกนโยบายการศึกษา นโยบายทางวัฒนธรรม การอบรมบ่มเพาะค่านิยมชนชั้น เชื่อฟังผู้มีอำนาจ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ผ่านสื่อและสถาบันต่างๆ ผู้เขียนขอวิเคราะห์ลักษณะทางจิตของผู้ที่นิยม/ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ ดังต่อไปนี้ ความต้องการอยู่ใต้อำนาจ (มาโซคิสต์) และความต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น (ซาดิสต์) เป็นกลไกที่คนใช้ละทิ้งเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อไปหลอมรวมเข้ากับคนบางคน เข้ากับกลุ่ม หรือสิ่งที่อยู่นอกตัว เช่น สถาบันกองทัพ เพื่อที่จะรู้สึกถึงความมั่นคง มีอำนาจเข้มแข็งเวลาที่รวมกันเป็นกลุ่ม กลไกการหลีกหนีเสรีภาพของตัวเองนี้ทำให้ตัวเขามีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม (Authoritarian personality) และกลไกนี้มีอยู่ในกระบวนการอบรมกล่อมเกลาในสังคมไทย เช่น ในสถาบันการศึกษา สถาบันกองทัพ ความต้องการแบบมาโซคิสต์พูดให้ชัดก็คือ ความต้องการพึ่งพิงผู้อื่น ยอมก้มหัวให้กับอำนาจที่เหนือกว่าหรือกับคนที่เหนือกว่าอย่างราบคาบ ทั้งนี้เพราะมองตัวเองว่าเป็นคนต่ำต้อย ด้อยค่า ไร้พลัง หาความสำคัญอะไรไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลเป็นพยาธิสภาพหรือโรคจิต (Pathological) แต่คนที่กระทำก็มักหาเหตุผลมาบังหน้าเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาของตนเอง เช่น อ้างว่าการพึ่งพิงในแบบมาโซคิสต์ คือความรัก ความจงรักภักดีต่อผู้เหนือกว่า หรืออ้างว่าความรู้สึกต่ำต้อยเกิดจากความบกพร่องของตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้นคือ ในจิตใต้สำนึกมีแรงขับบางอย่างในตัวเขาคอยผลักดันให้เขาดูถูกและตำหนิตัวเอง ทำให้ตัวเองอ่อนแอ ไร้ค่า บางคนถึงขนาดทำร้ายตัวเอง นอกจากนี้ภายในคนๆ เดียวกันยังมีแนวโน้มแบบซาดิสต์ปรากฎอยู่ด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อยและแสดงออกชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้างในคนปกติ กล่าวคือ มีความโน้มเอียงหรือความต้องการให้คนอื่นมาพึ่งตัวเอง และอยากมีอำนาจเหนืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนคนอื่นนั้นกลายเป็นเพียงเครื่องมือของตนเอง เช่น เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ วาน ขูดรีด ฉกฉวยสิ่งของ หรือให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่ตน ที่สำคัญแนวโน้มแบบซาดิสต์นี้มีเป้าหมายเพื่อทำร้ายทางกายและ/หรือทางจิตใจ และต้องการให้คนอื่นรู้สึกอับอายขายหน้า ถูกลบหลู่ดูหมิ่นอย่างที่สุด การแสดงออกถึงความบ้าอำนาจซาดิสต์นี้จะคลี่คลายลงเมื่อมีปัจจัยพิเศษมาช่วยคือ มีเป้ารองรับการกระทำเสมอ ซึ่งไม่เหมือนมาโซคิสต์ที่ใช้ตัวเองเป็นเป้ารองรับ สำหรับการอ้างเหตุผลมาบังหน้าของคนแบบซาดิสต์คือ มักพูดว่า \ที่ผมต้องมีอำนาจเหนือคุณ ก็เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณคืออะไร ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง คุณก็ควรจะตามผมโดยไม่ต้องโต้แย้ง\" หรือพูดว่า \"ผมทำอะไรให้คุณมามากแล้ว ตอนนี้ถึงทีที่ผมจะเอาจากคุณบ้างล่ะ\" หรือแบบที่ก้าวร้าวกว่าจะอ้างว่า \"ฉันถูกคนอื่นทำร้ายก่อนนี่ ฉะนั้นการที่ฉันจะคิดทำร้ายเขาบ้างก็เป็นการแก้แค้นและป้องกันไม่ให้เขามาทำร้ายฉันก่อน\" และคนประเภทซาดิสต์จะมีความรักให้ต่อผู้ที่เขารู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า เป้าทั้งหลายที่รองรับอำนาจของเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูก ลูกน้อง คนรับใช้หรือขอทาน พูดง่ายๆ คือ เขามีอำนาจเหนือคนเหล่านั้นจึงทำให้เขารักคนเหล่านั้น และเขาอาจติดสินบนคนเหล่านั้นด้วยวัตถุสิ่งของ คำสรรเสริญเยินยอ แสดงความสนใจไยดี สัญญาว่าจะพาไปเลี้ยงดูปูเสื่อ ให้ผลประโยชน์ในแบบต่างๆ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ จะไม่ยอมให้สิทธิที่จะเป็นอิสระแก่คนเหล่านั้น จากข้างต้น คำอธิบายเรื่องกลไกการละทิ้งความเป็นปัจเจกภาพที่แสดงออกมาทั้งแบบซาดิสต์และมาโซคิสต์ ที่เรียกรวมกันได้ว่า เป็นลักษณะอำนาจนิยม แม้ว่าเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวมา แต่จะไม่ขอเพิ่มเติมในที่นี้ เพราะคำอธิบายตามหลักจิตวิทยาข้างต้นเพียงพอสำหรับใช้วิเคราะห์สถานการณ์ได้ชัดเจนว่า ทำไมพวกเขาจึงหลงใหลและสนุกสนานไปกับการทำกิจกรรมรับน้องจนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก่อนกิจกรรมอื่น ฉะนั้นจึงไม่ควรแปลกใจอีกต่อไปว่า เพราะนั่นคือการสนองตอบต่อแรงขับแบบซาดิสต์ที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของตัวเอง โดยไม่รู้ตัว อันสืบเนื่องมาจากการที่เคยถูกกระทำให้เป็นคนที่ไร้พลังแบบมาโซคิสต์มาแล้วตอนปี 1 จึงต้องแก้แค้น และอ้างเหตุผลบังหน้าตลอดเวลา ทั้งไม่สามารถตระหนักรู้ได้เลยว่า ตนเองกำลังทำสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และทำให้การละเมิดเสรีภาพนี้เป็นเรื่องปกติและไม่ผิดสังเกต จนกลายเป็นนิสัยที่จะละเมิด ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นต่อไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้เขียนจึงขอสรุปบนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยานี้ว่า ระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัย คือวงจรของการใช้อำนาจเผด็จการ ที่มีแรงผลักดันมาจากจิตใต้สำนึกของคนที่เคยถูกใช้อำนาจมาก่อนแล้ว และจะเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการต่อผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าทันทีที่ตนเองมีโอกาสใช้มัน พร้อมกับจะอ้างเหตุผลเชิงเป้าหมายมาปกป้องการใช้อำนาจของตนเองให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรมที่ผู้ถูกกระทำจะยอมรับการกระทำของเขาได้ และผู้ที่ได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้คือ ผู้บริหาร ผู้ปกครองฝ่ายเผด็จการที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจของรัฐไทย โดยพยายามทำให้คนตัวเล็กๆ ปกครองง่าย การวิเคราะห์ในระดับวัฒนธรรม เราลองย้อนกลับไปนึกถึงเมื่อครั้งเป็นเด็ก จะทำให้มองเห็นว่าเราถูกรัฐปลูกฝังให้ยอมรับอำนาจของผู้ใหญ่ ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเราต้องทำตามคำสั่งจากคุณครูอยู่เสมอ เพราะครูคือผู้ป้อนทุกสิ่งให้ ครูคือผู้ที่ได้รับความเคารพอย่างยิ่ง การเรียนการสอนจึงมีลักษณะที่ไม่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือถามคำถามใดๆ เด็กนักเรียนจึงไม่กล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองหรือแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมาต่อหน้าผู้มีอำนาจ แล้วเด็กจะมีอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร เพราะครูที่อบรมเขาก็ผ่านการศึกษามาในลักษณะที่เป็นอยู่นี้เหมือนกัน สังคมไทยจึงวนเวียนอยู่กับการใช้อำนาจที่คอยทำลายเสรีภาพในการคิดของเด็ก จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำจนถึงขีดสุด ไม่สามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพได้ เห็นได้จากการสะท้อนปัญหาการศึกษาในโรงเรียนโดยเด็กนักเรียนเองว่า โรงเรียนก็คือคุกดีๆ นี่เองที่ทำลายการแสดงออกของเขา เราอาจเริ่มต้นวิเคราะห์ด้วยการพิจารณาจากโครงสร้างของสังคมไทยแล้วลงไปสู่ระดับจิตวิทยาและวัฒนธรรมได้ สังคมไทยมีโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น สั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นผลิตผลที่มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบเผด็จการทหาร ที่ชนชั้นผู้มีอำนาจปลูกฝังให้แก่พลเมืองมายาวนานผ่านสถาบันการศึกษาและสื่อสารมวลชน ค่านิยมและทัศนคติที่แสดงออกถึงลักษณะแบบอำนาจนิยม ได้แก่ ค่านิยมเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสหรือผู้มีอำนาจ ค่านิยมยอมรับและพึ่งพาผู้ใหญ่ การนับถือผู้มียศตำแหน่งสูงหรืออยู่ในชนชั้นสูงกว่า ค่านิยมกดขี่ผู้หญิง คนรักร่วมเพศ ค่านิยมเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม ที่ทำให้แรงขับแบบซาดิสต์และมาโซคิสต์ในตัวคนมีระดับเข้มข้นก้าวร้าวมากขึ้น และถูกกดทับไว้ในจิตใต้สำนึก จนทำลายเสรีภาพและความเป็นปัจเจกภาพของตัวเอง กลายเป็นคนไม่เติบโตทางความคิด จนทำให้ไม่รู้ว่าอะไรคือ ความเป็นธรรม ยกเว้นแต่เรื่องอาวุโส การพึ่งพา การใช้อำนาจ การยอมรับอำนาจและรับใช้ระบบเผด็จการบ้าอำนาจที่ทหารกำลังครองเมือง สิ่งเหล่านี้คือ การทำลายพลังจิตสำนึกทางการเมืองของคนหนุ่มสาว สรุป เมื่อเป้าหมายของวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมคือการดำรงอำนาจอันชั่วร้ายที่ทำให้พลเมืองอ่อนแอ จึงเป็นสิทธิของเราที่จะตั้งคำถามกับมัน แม้กระทั่งศีลธรรมของสังคมไทยที่ยึดถือกันอยู่ เรามีสิทธิที่ค้นหาความจริงได้ด้วยตัวเราเอง แต่ไม่ใช่รับเอาความจริงที่ถูกยัดเยียดให้มาโดยผู้มีอำนาจรัฐ ที่ใช้ข้ออ้างว่าเป็นสิ่งดีงามที่คนส่วนใหญ่ยึดถือมาช้านาน เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือกันมักโน้มนำไปสู่ความอยุติธรรมในสังคมได้โดยง่าย เช่น การแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่นมาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ (ศูนย์กลางแห่งอำนาจ) กรณีการสร้างเขื่อนที่เป็นการละเมิดสิทธิทำกินของคนส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะศีลธรรมสังคมไทยแบ่งคนออกเป็นระดับชั้นตามระดับของอำนาจในการให้คุณให้โทษ อำนาจในการดูแลปกป้องและให้ผลประโยชน์ โดยผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูงกว่าจะปกป้องดูแลผู้ที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่าที่หวังพึ่งพิง ภายใต้ข้อแม้ที่ว่าผู้ที่พึ่งพิงต้องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของผู้ที่ปกป้องตน และต้องยอมรับการเอาเปรียบขูดรีดจากผู้มีอำนาจเหนือตนด้วยเพื่อแลกกับความมั่นคงและสิทธิพิเศษต่างๆ นานา เรื่องศีลธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความเมตตากรุณา หรือเลือกที่รักมักที่ชังได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ชนชั้นนี้ สิ่งที่เราต้องการเรียกร้องคือ การตระหนักถึงการใช้อำนาจอย่างจริงจังว่าเป็นโทษต่อผู้ถูกกระทำเพียงใด ท่านจะยอมแลกเสรีภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง และศักยภาพในการเรียนรู้ของท่านซึ่งเรียกรวมกันได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของท่าน เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง ความเป็นหมู่คณะ เส้นสายของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างนั้นหรือ ถ้าไม่ จะมีหนทางอื่นใดที่จะทำให้เราในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีเสรีภาพ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม ฟรอมม์เสนอว่า เราต้องมีเสรีภาพทางบวกเพื่อป้องกันความกลัวโดดเดี่ยว กล่าวคือ เราต้องดำรงปัจเจกภาพของตัวเองเอาไว้ และเข้าไปสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการทำงานแบบสร้างสรรค์ ช่วยเหลือสังคมและให้ความรักความจริงใจแก่ผู้อื่น ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีค่าและภูมิใจตัวเองขึ้นมา พูดสั้นๆ ก็คือ การหาความหมายของชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีโดยให้เกียรติ เคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของผู้อื่น สำหรับระบบอาวุโส รุ่นพี่-รุ่นน้อง เราขอเรียกร้องให้ยกเลิก เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าจะให้มีกิจกรรมรับน้องนี้ต่อไป ก็ขอให้เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาใหม่สามารถเลือกที่เข้าร่วมด้วยตนเอง และเข้าไปกำหนดรูปแบบของกิจกรรมด้วย โดยไม่มีการใช้วิธีการบังคับ หรือใช้ความกดดันของเพื่อนๆ (Peer pressure) ให้เขาต้องเข้าร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายสุด ผู้เขียนขอชื่นชมการออกมาคัดค้านกิจกรรมรับน้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามในปีการศึกษา 2554 เพื่อปกป้องตัวเองจากอำนาจเผด็จการ โดยที่คนหนุ่มสาวไม่จำเป็นต้องไปหวังพึ่งผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริหาร หรืออาจารย์มาคอยปกป้อง เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปขอความเมตตา เนื่องจากย่อมมีบางส่วนของคนเหล่านั้นที่ต้องการให้ระบบอาวุโสดำรงอยู่ เห็นได้จากมีการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพแบบเงียบๆ เพื่อที่เขาผู้ใหญ่คนนั้นจะปกครองนิสิตได้โดยง่าย ไม่มีการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์มากนัก นั่นคืออาศัยประโยชน์จากความอ่อนแอของนิสิตนักศึกษาเพื่อไต้เต้าหาตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ นั่นเอง ------------------------------------------- แหล่งอ้างอิง ธเนศวร์ เจริญเมือง. ว้ากน้อง การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net