‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ สื่ออิสระในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

- 1 - ในบรรดา ‘นักเขียนอาชีพ’ ที่เดินบนเส้นทางนี้อย่างมั่นคงมากที่สุดคนหนึ่ง ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ คือคนที่นักเขียนรุ่นหลังใคร่โค้งคารวะได้อย่างสนิทใจ ก้าวย่างชีวิตของเขามีรายละเอียดที่น่าพูดถึง ทั้งความพิเศษในตัวตนที่กล้าลงมือทำอย่างที่นักเขียนจำนวนมากไม่กล้าทำ กล้าเขียนในเรื่องที่นักเขียนบางคนไม่มีความกล้า และความพิเศษในแง่มุมความคิดอันละเมียด ที่ส่งผ่านความลุ่มลึกแต่ตรงไปตรงมาผ่านตัวอักษร อย่างน้อยแฟนประจำตัวหนังสือแปลกๆ ที่นักวรรณกรรมหลายคนส่ายหน้าก็จับกลุ่มก้อนติดตามผลงานของเขาอย่างต่อเนื่อง มีคนติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับตัวเขาที่ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทว่าละเอียดแบบมืออาชีพ สิ่งหนึ่งที่แฟนหนังสือตั้งแต่เล่มแรก ‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’ และกระทั่ง ‘มีตำหนิ’ ยอมคาระเป็นแฟนนานุแฟนให้ผู้ชายหัวล้านร่างเล็กแต่พูดน้อย (กับคนแปลกหน้าและบทสนทนาไม่น่าสนใจ) คือความมีวินัยผ่านความละเอียดแบบมืออาชีพอย่างที่ว่า เพราะ 9 ปีหลังจากหนังสือเล่มแรกเปิดตัวออกมา เขามีงานเขียนบนแผงหนังสือมาแล้ว 15 เล่ม และเล่มที่ 16 กำลังจะถูกเปิดตัวในเร็ววันนี้ (ซึ่งกำลังจะกล่าวถึง) เป็นจำนวนหนังสือที่มากพอจะตอบคำถามได้ว่า วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ยืนหยัดความเป็นนักเขียนอาชีพของตนเองอย่างมั่นคงเพียงใด เพียงแต่วรพจน์อาจจะโชคไม่ดีที่ประเทศนี้ไม่มีรางวัลใดๆ มาการันตีสถานะของนักเขียนอาชีพที่ผลิตงานประเภท ‘ความเรียง’ งานของเขาไม่ได้ถูกให้คุณค่าในเชิงการประพันธ์ หรือด้านวรรณศิลป์ ไม่ถูกจัดเข้าจำพวกงาน ‘วรรณกรรม’ ที่ขีดเส้นใต้ไว้สำหรับ ‘นวนิยาย-เรื่องสั้น-บทกวี’ แม้การใช้ตัวหนังสือในการบอกเล่าความคิดของเขาจะสวยงาม ลุ่มลึก และ ‘มีชีวิต’ แต่ดูเหมือนงานความเรียงหรือสารคดี และแม้แต่บทสัมภาษณ์ดีๆ จะถูกปิดกั้นเสียเรียบร้อยแล้วในโลกของวรรณกรรม แม้นคนเขียนหนังสือประเภทนี้จะได้รับการยอมรับจากนักอ่านรุ่นใหม่ในวงกว้าง แต่ไม่ใช่สำหรับนักวิจารณ์วรรณกรรมเยอเนอเรชั่นเก่า นักเขียนความเรียง-สารคดีจะไม่มีวันได้รับคุณค่าเฉกเช่นนักเขียนนวนิยาย-เรื่องสั้น และกวี จากพวกเขาเหล่านั้น หรือเพราะคนเขียนหนังสือแบบวรพจน์ไม่ใช่คนวรรณกรรม... เปล่าเลย ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า วรพจน์ ต้องการสิ่งนั้น!! - 2 - “วรพจน์ เปลี่ยนไป” เพื่อนนักเขียนหนุ่มบ่นกับผมแล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่ บทสนทนาถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของนักสัมภาษณ์มือดี ถึงท่าทีการแสดงออกทางการเมืองของเขาผ่านงานเขียน ความเรียง/บทความ/บทกวีนับจำนวนเกินครึ่งร้อยชิ้นในรอบสอง-สามปีมันบ่งว่าอย่างนั้น แล้วไง –ผมนึกในใจ , วรพจน์จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน คนแบบเขาควรคารวะสิ่งใด? ...งาน หรือ จุดยืนทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของนักเขียนเสื้อแดงมาแรง และยิ่งแรงหนักขึ้นในสื่อเว็บไซต์ในเครือ ASTVผู้จัดการ ครั้งหนึ่งที่มีการลงชื่อเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนบางอย่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ถูกกางชื่อหราพร้อมกับวัฒน์ วรรลยางกูร คำสิงห์ ศรีนอก เดือนวาด พิมวนา ไม้หนึ่ง ก.กุณที ฯลฯ คอลัมนิสต์ระดับมือขวาของเจ้าสำนักบ้านพระอาทิตย์ถึงกับจั่วหัวคอลัมน์ว่า “ความเป็นคนของนักเขียนเสื้อแดง” คนเข้ามาแสดงความเห็นนอกจากด่าทอเหล่านักเขียนตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อสนุกปากแล้ว หลายคนที่เคยเป็นแฟนหนังสือวรพจน์ก็สาดโคลนเข้าใส่ว่าเขารับเงินทักษิณเข้าให้แล้ว หลังอ่านเจอคอลัมน์ดังกล่าว ผมโทรหาวรพจน์ทันทีเพื่อถามความเห็น นักเขียนหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคนข่าวในค่ายผู้จัดการมาก่อน เคยเป็นลูกศิษย์สนธิ ลิ้มทองกุลมาแล้วหัวเราะร่วน “คนที่เขียนว่าเรา มันเคยลงไปปัตตานีหรือเปล่า?” ประโยคนี้มีความสำคัญ ไม่ได้ความหมายว่าวรพจน์หลงตัวเองว่าเจ๋ง เพราะไปใช้ชีวิต 1 ปีเต็มอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อผลิต ‘ที่เกิดเหตุ’ ออกมา 1 เล่ม แต่เขากำลังตั้งคำถามถึงความ ‘แฟร์’ ในการใช้ชีวิตในฐานะ ‘สื่อ’ ด้วยกัน เป็นจุดยืนแบบ ‘ใกล้ตา ใกล้ตีน’ คนหนึ่งมีสื่ออันทรงพลัง มีปากกา (แป้นคีย์บอร์ด) เป็นอาวุธ ชี้นำคนอ่านได้เป็นจำนวนนับแสนเพียงวินาทีที่เขาคลิกปุ่ม Enter ส่วนอีกคนใช้เวลาเพื่อเดินทางไปคุย เก็บข้อมูล และนอนครุ่นคิดใคร่ครวญว่าจะสื่อสารแบบใดให้มันถูกต้องแต่มีพลังมากที่สุดเพื่อให้คุ้มค่ากับข้อมูลและต้นทุนที่เสียไป ไม่นับการหาเงินเพื่อตีพิมพ์และช่องทางไปสู่คนอ่าน ไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริง เพียงแค่นี้ก็พอรู้ว่าใครมีโอกาส ‘มักง่าย’ ในการสื่อสารมากกว่า ผมรู้จักวรพจน์เมื่อครั้งเขาลงไปใช้ชีวิตและทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิน ดื่ม นอน และออกไปทำงานด้วยกันก็บ่อยครั้งจนพอทำความรู้จักวิธีคิดและมุมมองต่อโลกรอบข้างพอสมควร ถัดจากนั้นเราแยกจากกัน ทราบว่าเขาไปโผล่ที่เวทีพันธมิตรฯ กลางสนามหลวง เข้าป่าอุ้มผางนานหลายเดือน ก่อนมารู้อีกครั้งว่าเขาเดินเลียบๆ เคียงๆ อยู่ข้างผู้ชุมนุมเสื้อแดงตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงราชประสงค์ ติดตามอ่านงานคอลัมน์ใน GM ก็พอรู้ที่มาที่ไป (และมันก็หายไปจาก GM ปัจจุบันซึ่งผมไม่ทราบสาเหตุ ใครสนใจต้องถาม บก.โตมร เอาเอง) แต่มันไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘หน้าที่’ “เราเป็นสื่อ เลือกมาเป็นสื่อมวลชน ถ้าไม่ออกไปฟังเสียงประชาชนก็ไม่รู้จะเป็นไปทำไม” ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดกับผมอย่างนั้น และพอทราบคร่าวๆ ถึงเหตุผลว่า เขาเขียนเรื่องเสื้อแดงค่อนข้างมาก เพราะมองเห็นพื้นที่ส่วนนี้หดแคบ และถูกกดพลิกให้เห็นความจริงอีกด้าน –ด้านเดียว ผมชอบคำอธิบายของเขา “ก่อนหน้านั้นผมเคยเข้าไปติดตามเฝ้าดูการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่นาน เขียนบทความเสนอความเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้งก็หลายหน จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่าที่ที่ยืนอยู่นั้นเริ่มแออัด หายใจไม่สะดวก ผมก็เดินออกมา ถูกต้อง, เครือข่ายด้านข่าวสารของพันธมิตรฯ แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่ผมจะไปทำซ้ำซ้อน ตรงกันข้ามกันคนเสื้อแดง” คำอธิบายเช่นนี้ ยากที่สื่อมวลชนคนข่าวทั่วไปเข้าใจ โดยเฉพาะนักข่าวที่รับเงินเดือน และมีคนจ่ายเงินเดือนซึ่งรับเงินค่าโฆษณามาจากกลุ่มทุนชนชั้นนำของประเทศ - 3 - ในระยะเวลาอย่างน้อยก็สองปีที่ผ่านมา หลายคนคุ้นกับชื่อวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในหน้าหนังสือมติชน สุดสัปดาห์ กลางช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ “กวีกระวาด” เป็นชื่อที่ครั้งหนึ่งเคยลงบทกวีคู่กับขาประจำอย่าง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุณที’ แต่หลังจากไม้หนึ่งติดปีกบนเวทีเสื้อแดงในฐานะกวีราษฎร ก็หายไปจากหน้ามติชนสุดสัปดาห์ (มาโผล่ที่หน้าหน้าประชาไทแทน) ชื่อของเพื่อนรักร่วมรุ่นจากรั้วทับแก้วอย่าง วรพจน์ก็ก้าวเข้ามาเป็นขาประจำ ก่อนหน้านี้หลายคนไม่เคยรู้ว่า วรพจน์เขียนบทกวีเป็น แต่สุดท้ายเขาก็ทำให้เห็นว่าบทกวีของเขาคมคาย มีมิติ และมีเสน่ห์เฉพาะตัวคือไม่ต้องตีความหรือต้องปีนบันไดอ่าน (อาจเพราะเรื่องที่เขาต้องการสื่อสารไม่ใช่กับนักเขียนหรือกวีด้วยกัน) วรพจน์ทำให้เห็นว่า โลกของคนเขียนหนังสือมันเป็นโลกเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกโลกของกวี นวนิยาย หรือความเรียง สารคดี เส้นแบ่งบางๆ อยู่ที่ความชอบ ความเคยชินมากกว่า งานประเภทที่นักวรรณกรรมรุ่นเก่าส่ายหัว อย่าลืมว่ามันได้รับความนิยมกับคนอีกรุ่น เมื่อเทียบกับงานวรรณกรรมที่เป็นเรื่องแต่งก็พบว่า ต่างกันที่วิธีการหยิบใช้เทคนิคมาสื่อสาร แต่มีเป้าหมายเดียวกัน วิถีของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ จึงเป็นวิถีที่นักเขียนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้ทำความเข้าใจ อย่างน้อยก็การดำรงตนในฐานะคนเขียนหนังสือที่เคารพตนเองเท่าๆ กับเคารพประชาชน วิถีของเขาจึงเป็นวิถีที่สื่อมวลชนอาชีพควรทำความเข้าใจถึงสถานะของ ‘สื่ออิสระ’ ที่ไม่มีบัตรนักข่าว นอกจากเครื่องบันทึกเสียงพกพา 1 เครื่อง สมุด 1 เล่ม ปากกา กล้องถ่ายรูปราคาถูก เอ่อ...และ น้ำดื่ม 1 ขวด - 4 - หนังสือ ‘ สถานการณ์ฉุกเฉิน’ มาอยู่ในมือผมนานนับเดือนแล้ว เป็นผลงานถัดมาจาก ‘มีตำหนิ’ รวมความเรียงเล่มล่าที่ได้รับคำชมอย่างกว้างขวางจากแวดวงนักอ่านส่วนใหญ่ที่ติดตามวรพจน์ต่อเนื่อง คมเข้ม (แข็ง) จริงจัง และซีเรียสกว่าทุกเล่มที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเรื่องเกี่ยวกับมุมมองทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด แต่ก็เทียบกันไม่ได้กับ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ หนังสือที่มีรูป ‘ไพร่ ตาก’ ยืนชูสองมือบนหน้าปก หนังสือเล่มนี้นอกจากวรพจน์แสดงจุดยืน มุมมอง และวุฒิภาวะทางการเมืองของตนอย่างเข้มข้นและตรงไปตรงมา การแสดงความเห็น ความคิด และการใคร่ครวญถึงบทบาทจุดยืนทั้งกับตนเองและบทบาทของสื่อมวลชนนับว่ารอบด้านและลึกซึ้ง อยากให้คนที่เรียกตนเองว่า ‘สื่อ’ ได้อ่านกัน ไม่ได้เรียกร้องในพันธกิจร่วมในจุดยืนทางการเมือง แต่วรพจน์พูดถึงหน้าที่ของความเป็นสื่อ –สื่อที่เชิดชูความอิสระยิ่งกว่ามงกุฎทองคำ แต่เมื่อมองเทียบกับวรพจน์ สื่ออิสระของจริงที่ไม่มีต้นสังกัดและบัตรนักข่าวนอกจากหัวใจของตนเอง ก็น่าจะเข้าใจว่าสื่อมวลชนกระแสหลักนั้น ความอิสระได้ตายจากไปนานแล้ว นอกจากความเรียง หนังสือเล่มนี้ยังรวมเอาบทกวีจำนวนมากที่เขาเขียนขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสองปีที่ผ่านมาและส่วนใหญ่ตีพิมพ์ไปแล้วในมติชนสุดสัปดาห์แต่ก็นำมารวมให้อ่านกันอีกครั้ง และท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ทวีความเข้มข้นคึกคัก วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป นอกจากเป็นงานเปิดตัว ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ อย่างเป็นทางการ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ จะนำคุย “สื่ออิสระในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ร้านหนังสือก็องดิด ถนนตะนาว เขตพระนคร ร่วมด้วย ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ช่างภาพอิสระที่ใช้ชีวิตในป่ามากกว่าเมือง แต่ในห้วงสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปีก่อน เขาใช้กล้องถ่ายภาพบวกกับมุมมองอันเจนจัดบันทึกภาพหลากหลายและนำมาให้ดูกันในงาน ผมพลิกหนังสือเล่มนี้ไปมา พบว่ามันไม่ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์โอเพ่น ของภิญโญ ไตรสุริยาธรรมา ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ประจำที่วรพจน์ใช้คลอดหนังสือส่วนใหญ่ของตนเองเหมือนเคย แต่กลับเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ ‘ banglumpooh’ ซึ่งมาจากชื่ออีเมล์ของเขา หลังสะกิดถาม นักเขียนหนุ่มบอกตรงไปตรงมาว่า “ไม่อยากให้เพื่อนต้องมาได้รับผลอะไรกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ของเรา” ผมเขียนถึงวรพจน์มาอย่างยืดยาว ก็เพราะผมเข้าใจจุดยืนทางการเมืองของเขา แม้ว่าหลายเรื่องผมกับเขายังมีความแตกต่างทางความคิด จุดยืนบางด้านยังเป็นจุดที่เราสองคนไม่อาจยืนร่วมกัน แต่ในสถานะของนักเขียน ในคมคิดของ ‘สื่ออิสระ’ แบบวรพจน์ และ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ของบรรยากาศทางสังคมขณะนี้รวมไปถึงแวดวงสื่อสารมวลชน ผมยกมือสนับสนุนเขาอย่างจริงจัง เพราะยังจำมันได้ ขณะห่ากระสุนถูกกราดใส่คนบริสุทธิ์กลางเมือง หนุ่มสาวบางคนสำลักเสรีภาพอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สื่อบางสำนักกำลังกระตุ้นยอดโฆษณาเดือนใหม่ นักธุรกิจกลุ่มหนึ่งร่วมสบถใส่การชุมนุมไร้สาระ แต่สื่ออิสระบางคนกลับต้องกระเสือกกระสนรายงาน...สถานการณ์ฉุกเฉิน นั่นแหละ ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ ที่เสธ.ไก่อูไม่รู้จัก.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท