Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีการเปิดเผยรายชื่อ 146 กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไป ที่ร่วมกันลงชื่อใน “จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์” รวมถึงให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงการรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในคืนวันที่ 5 มิ.ย.54 นั้น นิสิตชูป้ายต่อต้านระบบโซตัส ส่วนหนึ่งจาก \คลิปรับน้อง มมส.\" จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.54 ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมเกี่ยวกับการรับน้อง ล่าสุดวันนี้ (20 มิ.ย.54) ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์ ล่าสุดมียอด 765 รายชื่อแล้ว (คลิกดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/event.php?eid=125579787523543) หลังจากมีการเผยแพร่จดหมายฉบับดังกล่าวพร้อมรายชื่อ 146 รายชื่อที่ประกอบด้วยกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการสังเกตรายชื่อทั้ง 765 รายชื่อที่ร่วมลงชื่อนั้นในส่วนที่ระบุที่มาของตนเอง ส่วนมากเป็นนักศึกษาโดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ อักษรศาสตร์ เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยที่ลงชื่อมากที่สุดคือ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองลงมาเป็นจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบุรพา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามลำดับ อนึ่ง ในวันเดียวกับที่มีการเปิดเผยจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ (วันที่ 9 ม.ย.54) ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต ได้ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “กิจกรรมเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้อง แจงกิจกรรมในคลิปเป็น ‘การประชุมเชียร์’ สอนให้รักสถาบัน ร้องเพลงสถาบันได้ รู้สึกผูกผันสถาบัน เด็กเป็นลมเรื่องธรรมดาเพราะมีคนเยอะ” อีกทั้งยังกล่าวหาฝ่ายต่อต้านรับน้องว่าเป็น “พวกร้อนวิชาสิทธิมนุษยชน” หวังสร้างสถานการณ์เปิดวงเสวนา\" เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในผู้ร่วมลงรายชื่อ 765 รายชื่อ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นดังกล่าวว่า จากคำสัมภาษณ์ของอธิการบดีในข่าว ท่านพูดเหมือนกับว่ากิจกรรมทุกอย่างอยู่ในความสอดส่องดูแลของผู้บริหาร ตรงนี้ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเป็นการพูดเพื่อป้องกันข้อกล่าวหาเรื่องความหย่อนยานที่จะตามมารึไม่ แต่การพูดเช่นนี้หมายความว่าทุกอย่างอยู่ในความรับรู้และเห็นดีเห็นชอบของผู้บริหาร ซึ่งผมมองว่าอันตรายมาก เพราะจากคลิปที่เราได้ดู ก็เห็นว่ามันมีความพยายามที่จะปกปิด ไม่ให้มีการเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้จัดเอง “ถ้าเรามองว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับกิจกรรมนี้ แล้วจะตีความคำพูดของอธิการว่าเข้าข่าย \"สมรู้ร่วมคิด\" ได้รึไม่? อธิการบดีพร้อมจะรับผิดชอบถ้ามี \"เหตุสุดวิสัย\" เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียวหรือ?” เกรียงศักดิ์ ตั้งคำถาม เกรียงศักดิ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ข่าวที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องการให้ผู้บริหาร มมส.ชี้แจงกรณีนี้เป็นลายลักษณ์อักษร แสดงให้เห็นว่า สกอ.มองว่ามันมีปัญหาอยู่ และเท่าที่ได้อ่านรองอธิการฝ่ายพัฒนานิสิตของ มมส. ก็แสดงความเห็นในทำนองยอมรับว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าคำพูดของผู้บริหารไม่สอดคล้องกัน ตรงนี้จะตีความว่าอธิการออกมาปกป้องนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมได้รึไม่ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าท่านไม่เป็นกลาง ไม่เป็นประชาธิปไตยใช่หรือไม่ “ผมคิดว่าการที่ท่านพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าเป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าหรือสร้างสถานการณ์โดยนักศึกษาบางกลุ่มอาจทำให้เกิดความแตกแยกภายในประชาคมมากขึ้น และน่าจะทำให้การจัดการปัญหาเป็นไปยากขึ้น” เกรียงศักดิ์ ระบุ “สุดท้าย ผมมองว่าประเด็นเรื่องโซตัสเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่ มมส.แห่งเดียว การวินิจฉัยถูก-ผิดโดยคนๆ เดียวคงจะทำไม่ได้แน่นอน และเราก็รู้ดีว่ามีคนจำนวนมากอึดอัดและไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ ฉะนั้น ผมคิดว่าต้องมีการระดมความเห็น ทั้งในระดับสังคมและในระดับประชาคมแต่ละแห่ง เพื่อทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเราได้และเสียอะไรไปบ้างจากระบบนี้ มันคุ้มรึเปล่าที่จะมีต่อไป แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการจะเปลี่ยน จะเปลี่ยนกันอย่างไร” เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทยเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถูกเผยแพร่ทางยูทูปตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ในคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2554 นั้น พวกเรา กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นนี้ ต้องการแสดงความวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และต้องการให้กำลังใจกับกลุ่มนักศึกษาเสียงข้างน้อยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในการแสดงความเห็นตามวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติวิธี พวกเราทุกคนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ รู้สึกหดหู่และสะท้อนใจกับสิ่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่กระทำกับนักศึกษาผู้ประท้วงกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกับทัศนคติและท่าทีของผู้จัดกิจกรรมที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้ประท้วงได้ทำการชี้แจงและ/หรือเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้างกับนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด พวกเราทุกคนมีความเชื่ออย่างมั่นคงและจริงใจว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษาขั้นสูงต้องเป็นพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนได้รับการประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และควรเป็นสถานที่บ่มเพาะและขัดเกลาให้เชื่อมั่นและยึดถือในคุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของทุกคน ไม่ใช่สถานที่บ่มเพาะและปลูกฝังให้ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมหรือการบังคับกล่อมเกลาให้ฝักใฝ่ในระบบเผด็จการอำนาจนิยม รวมทั้งระบบอุปถัมภ์แบบจารีต ซึ่งสวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง หรือหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาจนอาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอัน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือ “ลบหลู่” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งหรือคำอธิบายของผู้จัดกิจกรรมตามที่ได้ประจักษ์จากวิดีโอนี้ พวกเราจึงเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมการรับน้องแบบนี้จะยังเกิดขึ้นต่อไปในสถานศึกษาทุกแห่งตามที่เคยได้ปฏิบัติกันมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและค่านิยมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวนิสิตนักศึกษาเอง ถึงแม้พวกเราจะเชื่อว่ากิจกรรม “รับน้อง” ที่ถูกออกแบบจากวิธีคิดดังกล่าว ในนามของระบบ “โซตัส” จะเป็นกิจกรรมที่ ไม่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเสรี ปลอดจากความรับผิดชอบและไม่ควรจะได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นต่อไปอีกนั้น แต่พวกเราก็ไม่เชื่อมั่นเช่นกันว่าการบังคับออกคำสั่งจากผู้บริหารสถานศึกษาหรือการกำหนดบทลงโทษกับนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยหลุดพ้นจากวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมไปได้ พวกเรากลับเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักศึกษาทั้งระบบ รวมถึงการตระหนักรู้ต่อความอันตรายและผลกระทบเชิงอุดมการณ์ของระบบ “โซตัส” นี้จากสังคมไทยเองด้วย สุดท้าย พวกเราขอให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและ/หรือผู้ใดก็ตามที่เชื่อมั่นในแนวทางเดียวกันและกำลังสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยหลุดพ้นจากค่านิยมและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเช่นนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net