Skip to main content
sharethis

ภาควิชารัฐศาสตร์และหลักสูตรปริญญาโทสาขาผู้นำทางสังคมและธุรกิจการเมือง (ระบบออนไลน์) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “24 มิถุนา 2475 เบื้องแรกประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ภาควิชารัฐศาสตร์และหลักสูตรปริญญาโทสาขาผู้นำทางสังคมและธุรกิจการเมือง (ระบบออนไลน์) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “24 มิถุนา 2475 เบื้องแรกประชาธิปไตย” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ รศ.วิทยากร เชียงกูล , ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ , ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุววรณ , ดร ณัฐพล ใจจริง ดำเนินรายการโดย ร.อ. หญิง ภัทรมล สุวพันธุ์ ซึ่งมีนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 50 คน ในงานได้เริ่มต้นอภิปรายโดย ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อธิบายถึงความทรงจำเกี่ยวกับวันชาติ โดยเฉพาะแม่แบบประชาธิปไตยในโลก อาทิ ปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา ปี 1789 และในฝรั่งเศส ปี 1789 ซึ่งเห็นว่าทุกประเทศก็มีวันชาติ ในประเทศไทยปัจจุบันจะพบว่าทีลักษณะที่ต่างออกไป ผศ. ดร. ธเนศ ได้ให้ความเห็นว่า ก่อนปี 2500 ประเทศไทยได้ใช่วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันเฉลิมฉลองวันชาติมาโดยตลอด และได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ 5 ธันวาคม ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้การรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับวันชาติได้เปลี่ยนแปลงไป “ซึ่งถ้าเป็นเมืองนอกเขาจะไม่คุยกันแบบนี้ เช่นคุยกันหาข้อผิดพลาด หรือใคร ทำอะไรที่ไหนในตอนนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญก็จริง แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ความทรงจำเกี่ยวกับ 2475 มันได้เปลี่ยนไป ซึ่งเราควรขยายพรมแดนไปสู่การสนทนาถึง ปัญหาในปัจจุบันหรือในอดีต” ผศ.ดร. ธเนศ กล่าว นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงมูลเหตุและสภาพความจริงทางประวัติศาสตร์ว่า 24 มิถุนายน 25475 ได้ถูกทำให้ลดความสำคัญลงตามลำดับเรื่อยมา โดยเฉพาะการรัฐประหารในปี 2490 ประกอบกับบริบททางสังคมการเมืองในขณะนั้น เช่นสงครามโลก ครั้งที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ กรณีสวรรคต ได้สร้างภาพลบต่อคณะราษฎรโดยเฉพาะสายเสรีนิยมอย่างมาก และถูกกลุ่มอนุรักษ์นิยมใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศในที่สุด อาจารย์ธเนศได้สรุปประเด็น โดยเห็นว่า การปฏิวัติ 2475 ฝ่ายกระทำการยังไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของคณะราษฎรไปได้ เนื่องจากสภาวะทั้งภายในและภายนอก ได้ทำให้เกิดการประนีประนอมระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎร ซึ่งความทรงจำเกี่ยวกับ 2475 มันยังไม่ลงตัวและมีปัญหาอยู่ ทำให้การสนทนาไม่ได้มุ่งไปสู่อนาคต สังคมไทยจึงกลับไปสู่การสนทนา ณ จุดเริ่มต้นอีกครั้ง นอกจากนี้อาจารย์ยังได้สำรวงจบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในยุคนั้น โดยการอธิบายผ่านมิติทางชนชั้น โดยตั้งข้อสังเกตถึงภาวะการขยายตัวของชนชั้นกลางไทยในขณะนั้นว่ามีความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 ขึ้น “เราไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างอย่างแท้จริง เราเพียงแต่เปลี่ยนโครงสร้างชั้นบน แต่ชั้นล่างในสังคมยังไม่ได้เปลี่ยน การจัดตั้งของประชาชนจึงยังไม่เข้มแข็งมากพอ” ผศ.ดร. ธเนศ กล่าว ด้าน ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญว่าเหตุใด ต้องมีการทำความเข้าใจ 2475 โดยกล่าวว่า อดีตจะชี้ให้เห็นพฤติกรรมของสังคมไทยในอนาคต ซึ่งถ้ามองจากมิติของวันหยุด จะเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันหยุดที่เกี่ยวข้องกับ รัฐธรรมนูญ เช่น 10 ธันวาคม หรือ 24 มิถุนายน ซึ่งในช่วงก่อน 2500 มีการเฉลิมฉลองและปลูกฝังหลักการประชาธิปไตยอยู่คึกคัก ซึ่งในสมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีความพยายามในการยกเลิกวันหยุดนี้ แต่กระแสในช่วงนั้นโดนต่อต้าน อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุถึงความจำเป็นของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่า มีลักษณะ เปลี่ยนจากบริษัทสยาม จำกัด เป็น บริษัท ไทยมหาชน (ไม่จำกัด) กล่าวคือ พื้นที่ทางการเมืองของราษฎรได้เปิดกว้างขึ้นด้วย คนสามัญมีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะไม่สามารถเกิดได้ในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของบริบทความเป็นประชาธิปไตยของโลกตะวันตกก็ได้ไหล่บ่าเข้ามาสู่ราชสำนักไทยเช่นเดียวกัน เห็นได้จาก การส่งโอรสและธิดาไปศึกษายังประเทศประชาธิปไตยในยุโรปและอเมริกา แต่เมื่อเสด็จกลับมา เจ้านายชั้นสูงก็นำความรู้เหล่านั้นมาใช้เพื่อบริหารจัดการอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งที่ระวังมากที่สุดคือการที่ราชสำนักไม่นำระบอบ Parliament ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ทำให้กระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองมีอยู่ตลอดและก่อน 2475 ด้วยเช่นกัน เช่น กบฏ รศ 130 เป็นต้น ที่น่าสนใจ ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ ยังได้ตอบคำถามถึงว่า คณะราษฎรคือใคร โดยอธิบายว่าคณราษฎรได้เริ่มจาก คนหนุ่ม 7 คนมาคุยกัน โดยคนที่หนุ่งที่สุดคือ อาจารย์ปรีดี พนามยงค์ อายุเพียง 26 ปี สูงสุดคือ ร.ท. แปลก พิบูลสงคราม อายุ 29 เห็นพ้องต้องกันถึงปัญหาการเมืองไทยในขณะนั้น และจัดตั้ง เป็น The People ‘ s Party ซึ่งมีความหมายคล้ายกับพรรคการเมืองของประชาชน แต่ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีการแปลอย่างชัดเจน จึงให้ใช้คำว่าคณะราษฎรซึ่งเห็นว่ามีความหมายครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งหมายถึงคณะตัวแทนของราษฎร ก่อนที่อาจารย์จะอภิปรายถึงเกร็ดในช่วงการปฏิวัติอีกหลายชิ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น ท่าทีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่เกิดการยึดอำนาจขึ้น อาจารย์ ณัฐพล ใจจริง ได้อภิปรายผ่านมิติการทัศนศึกษาทางประวัติศาสตร์ โดยการสำรวจพรมแดนทางความรู้ จากภูมิทัศน์ของการปฏิวัติ 2475 ว่า “หากมองไปที่เส้นขอบฟ้า เราจะเห็นภาพภูมิทัศน์แบบราชาชาตินิยมของกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวาดภาพเริ่มต้นจากศูนย์กลางของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อ ดำรง พระบรมเดชานุภาพของ ราชาไว้อย่างเหนียวแน่น มีการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองขึ้น” ซึ่งอาจารย์เห็นว่า เป็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการทำให้ 2475 รกร้างว่างเปล่า อุจาดบนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์แบบราชานิยม ซึ่งมีการผลิตงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากมาย ในการขับเคี่ยวตอบโต้กับ ปัญญาชนฝ่ายคณะราษฎร เช่น ม.ร.ว. ทรง สุจริต นวรัตน์ , ม.ร.ว. คึกฤกษ์ ปราโมช ในการสร้างภาพเลวร้ายให้กับ 2475 ขณะเดียวกัน ฝ่ายราชานิยมยังได้มีแนวร่วมมุมกลับที่เห็นด้วยในการโจมตี 2475 นั่นคือปัญญาชนฝ่ายซ้าย เช่น อุดม สีสุวรรณ และจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เห็นว่า 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันอาจารย์ณัฐพล อธิบายภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์แบบราชานิยมว่า หลัง รัฐประหาร 2490 การทำลายภาพ 2475 ว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม หรือทำให้ 2475 เป็นฝันร้าย เป็นปลักโคลนบนถนนหรือแอ่งที่สกปรกได้เพิ่มมากขึ้น เช่น วรรณกรรม เรื่อง สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤกษ์ ปราโมช ได้ทำให้ 2475 กลายสภาพเป็นทัศนอุจาดในมุมมอง “ราชทัศน์” แม้ว่าจะมีกระบวนการฝังกลบ 2475 มาโดยตลอดหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและแม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้นี้ แต่ 2475 กลับเปล่งประกาย บนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยหลังการรัฐประหารใป 2549 โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มประชาชนเหล่านี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นความสำคัญของ 2475 โดยอาจารย์ณัฐพล สรุปถึงความหมายแบบ 2475 ที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งว่า “การเคลื่อนตัวของพลังที่ทำให้เกิดถล่มทลายในการเลือกตั้ง เมื่อ 2548 และปัญหาทางการเมือง การรัฐประหาร 2549 การต่อต้านรัฐประหาร เหตุการณ์ เมษายนและพฤษภาคม 2553 เป็นเสมือนสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย การเคลื่อนตัวของความอัดอั้นไม่พอใจ การสั่นไหวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ชายขอบของประเทศจำนวนหลายริกเตอร์ ย่อมมีผลทำให้เกิดความสั่นสะเทือนอย่างมากบนยอดเขา ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่รับรู้การสั่นไหวจากเบื้องล่างได้มากที่สุด และติดตามด้วยการอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกหลายครั้ง แต่การพยายามหยุดยั้ง ภาวะผืนดินถล่มทลาย ยังคงดำเนินการต่อไป ทำให้เกิดการสะสมพลังที่อัดอั้นอยู่ภายใน การปิดกั้นพลังดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าของภูมิทัศน์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างรุนแรง คนรุ่นนี้และรุ่นหน้าอาจจะไม่มีใครจำได้ว่านี่คือภูมิทัศน์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เคยเป็นมาอย่างยาวนานก็ได้” อาจารย์ณัฐพล กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net