Skip to main content
sharethis

26 มิ.ย.54 หลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน เรียกร้องให้รัฐกำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรม กำหนดกลไกเพื่อคุ้มครองพยาน มีระบบเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งตั้งองค์กรสอบสวนอิสระ แถลงการมีรายละเอียดดังนี้ ตามที่มาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายโดยการห้ามทรมาน ทารุณกรรมหรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ซึ่งทำให้การกระทำใดๆโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ซึ่งเป็นกระทำเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ให้กลัวหรือเพราะเหตุใดๆบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติถือเป็น “การทรมาน” ซึ่งรัฐมีพันธกรณีในการป้องกันและต่อต้านไม่ให้เกิดการทรมานดังกล่าว อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เป็นภาคีอนุสัญญาฯดังกล่าวจนปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการใดไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการกระทำทรมาน เยียวยาผู้เสียหาย คุ้มครองพยาน หรือนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทำให้การทรมานยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่ในสังคมไทยไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการเรียกร้องทางการเมือง หรือภายใต้การบังคับใช้กฎหมายปกติ ซ้ำร้าย ผู้เสียหายซึ่งร้องทุกข์ว่าถูกทรมานให้รับสารภาพในคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ. 2547 ยังถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องคดีกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ หลังจากหลังจากคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ทั้งนี้ผู้เสียหายยังเป็นลูกความและพยานในคดีเกี่ยวเนื่องกับการถูกบังคับให้หายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องรัฐเร่งดำเนินการปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานโดยการออกกฎหมายเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือกำหนดมาตรการใดๆเพื่อ 1. ให้ฐานความผิดเรื่องการทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดดังกล่าว ปัจจุบันในกฎหมายไทยยังไม่มีฐานความผิดว่าด้วยการทรมานที่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ 2. ให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวน และมีกลไกในการตรวจสอบที่อิสระและเป็นกลางจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกรณีทรมาน ในคดีซึ่งมีการร้องทุกข์ว่ามีการทรมานเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่ ที่กระทำผิดไม่ถูกนำตัวมาลงโทษเนื่องจากผู้ที่ทำการสอบสวนและผู้กระทำผิดมักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งทำให้ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการสอบสวน 3. ให้มีการคุ้มครองพยานที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ฝึกอบรมและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงที่จะทำให้ระบบการคุ้มครองพยานเกิดประสิทธิภาพได้จริง 4. ให้สร้างระบบการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางจิตใจต้องมีการบำบัด ฟื้นฟูอย่างเป็นรูปแบบ พร้อมทั้งพัฒนาระบบนิติจิตเวชให้แพทย์มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบภาวะทางจิตของผู้เสียหายที่มีภาวะความเครียด วิตกกังวล ภายหลังผ่านประสบการณ์เลวร้าย (Post Traumatic Stress Disorder -PTSD) 5. ให้มีหลักประกันต่อผู้เสียหายว่าคำร้องทุกข์จะได้รับการตรวจสอบโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และจะไม่ถูกดำเนินคดี ดังที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 62 ได้รับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยการของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลซึ่งให้ข้อมูลสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่นั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่ปรากฏในประเทศไทยผู้รอดชีวิตจากการทรมานโดยการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง และถูกฟ้องกลับภายหลัง หากกลไกยุติธรรมของรัฐล้มเหลวในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ “การทรมานคืออาชญากรรม” ด้วยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1.เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 2.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 3.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 4. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย 5. ศูนย์ข้อมูลชุมชน 6. มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ 7. โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ 8.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 9. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 10. กลุ่มบุหงารายา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net