แรงงานพม่าเสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัว ที่ สภ.ปากน้ำระนอง นักสิทธิฯ ร้องสอบข้อเท็จจริงเกิดจากการทรมานหรือไม่

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแรงงานพม่าเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ที่ สภ.ปากน้ำระนอง พร้อมร้องหน่วยงานรัฐให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากการทรมานหรือไม่

26 ต.ค.2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับแจ้งเรื่องถึงกรณีแรงงานประมงสัญชาติเมียนมา 1 คน ชื่อ นายตาน ซิน อู (Mr.Thant Zin Oo) หรือ ปุต้ะ เสียชีวิตขณะระหว่างการถูกควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปากน้ำระนอง โดยถูกจับกุมและกล่าวหาว่ามีสารเสพติดหลังการตรวจปัสสาวะโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมที่บ้านพักนายปุต้ะเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นายปุต้ะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในวันเดียวกันและต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ก่อนหน้าที่ผู้ตายเสียชีวิตมีพยาน ได้แก่ มารดาผู้ตาย ภรรยาผู้ตาย และนายจ้างของมารดาผู้ตาย เห็นนายตาน ซิน อู มีอาการปวดหัวขั้นรุนแรง จนถึงขั้นหมดสติลง ขณะที่ถูกควบคุมตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนั้นภรรยาของผู้ตายให้การว่า ได้ยินเสียงเหมือนคนทุบตีในอาคารที่นายปุต้ะถูกควบคุมตัวด้วย

จากกรณีดังกล่าวร่วมถึงพยานบุคคล และผลชันสูตรศพ ครอบครัวร้องเรียนว่าผู้ตายอาจถูกทำร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาสี่วันหลังถูกจับและส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง

คดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรเมืองระนองเพื่อส่งสำนวนชันสูตรศพให้อัยการไต่สวนการตายและได้มีการจัดส่งร่างของผู้ตายให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ผ่าศพหาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว

 ทางทนายความกำลังเร่งดำเนินการทำหนังสือขอผลชันสูตรในฐานะทนายความมารดาของผู้เสียชีวิต แต่ ณ ขณะนี้ยังคงพบปัญหาที่ญาติยังไม่สามารถนำศพออกมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สถาบันฯ กระทรวงยุติธรรมอ้างว่าต้องมีหนังสือรับรอบขอให้สถานทูตพม่ามาดำเนินการเสียก่อน ซึ่งทางมูลนิธิฯ เห็นว่า ณ ขณะนี้การประสานงานกับทางสถานทูตจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบภายในประเทศ เป็นอุปสรรคในการติดต่อประสานงานสำหรับเรื่องเร่งด่วน และในคดีนี้เป็นการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลระนองกับทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์โดยตรง จึงควรมีการส่งกลับไปยังโรงพยาบาลต้นทางเพื่อให้ญาติผู้เสียหายรับศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

มูลนิธิฯ ทั้งสองขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและนำความจริงให้ปรากฏต่อญาติและสาธารณะว่าการเสียชีวิตของนายปุต้ะ เกิดจากการกระทำการทรมานจนเสียชีวิตหรือไม่ และมีเจ้าหน้าที่หน่วยใดฝ่ายใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่อย่างไรต่อแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมารายนี้

อนึ่งในวันที่ 24 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมานี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยพระราชบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการของคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นในการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสำคัญฉบับนี้ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานดำเนินงานภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การประสานงานทางคดีรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในชั้นศาลเพื่อสนับสนุนให้บุคคลดังกล่าวรวมถึงทายาทผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนตามกฎหมายผ่านการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

 

*แก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมตามใบแจ้งข่าว (ฉบับแก้ไขล่าสุด) ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 เวลา 14.26 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท