Skip to main content
sharethis

ศาลชี้จำเลยพูดในภาพรวม วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อนโยบายพลังงานซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ ด้านทนายจำเลยคาดโจทก์ยังอาจยื่นอุทธรณ์ต่อ หวังยืนยันกระบวนการโปร่งใส

 
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน จำเลยในคดีฟ้องหมิ่นประมาท 
และฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท
 
วันนี้ (20 ม.ค.55) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่นางสาววัชรี ให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล โดยมีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสถานการณ์ชาวบ้านบางคล้าชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า โดยได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงาน การวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโจทก์
 
ศาลพิจารณาเห็นว่า การประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ย่อมเป็นที่สนใจ ไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประมูลโรงไฟฟ้าบางคล้า มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยไม่มีการเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และยังไม่มีการทำอีไอเอซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดไว้ ทำให้จำเลยและบุคคลทั่วไปเกิดข้อสงสัยว่าการดำเนินการผิดขั้นตอนและอาจเกิดความไม่โปร่งใส ซึ่งข้อสังเกตนี้ตรงกับของ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าได้กล่าวไว้ แต่โจทก์ไม่ยื่นฟ้อง โดยยอมรับว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของหน่วยงานรัฐ
 
ส่วนการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการขยายระยะเวลาการยื่นอีไอเอออกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า ก่อให้เกิดความสงสัยต่อบุคคลทั่วไปได้ว่ากระบวนการอาจมีความไม่โปร่งใส อีกทั้งการยกเหตุผลที่ว่าพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้มีการขยายเวลาการยื่นอีไอเอ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นที่สงสัยแก่บุคคลทั่วไปว่าทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ จากคำเบิกความของนายบุญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าบิดาของกรรมการของบริษัทโจทก์ท่านหนึ่งเป็นนายพล จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับบุคคลทั่วไปได้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอาจเกิดความเกรงใจในการพิจารณาโครงการได้ สอดคล้องกับข้อมูลของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครพยานจำเลย และเอกสารของคณะกรรมการวุฒิสภาเกี่ยวกับการที่ข้าราชการระดับสูงเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนด้านพลังงานซึ่งทำให้เกิดปัญหาการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ คำพูดของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ ไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะถึงตัวโจทก์ว่าเป็นผู้ทุจริต เป็นการตั้งข้อสังเกตให้ประชาชนได้รับทราบ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงระบบ
 
คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ศาลเห็นว่าคำพูดของจำเลยเป็นการพูดในภาพรวม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยมีเอกสารข้อมูลสนับสนุนและเป็นประเด็นที่มีเหตุชวนให้ประชาชนเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใส ไม่ได้มุ่งเฉพาะบริษัทโจทก์ อีกทั้งจำเลยติชมด้วยความเป็นธรรม สุจริต และต่อมาไม่ปรากฏว่าบริษัทโจทก์ถูกต่อต้านคัดค้าน ยกเลิกสัญญาที่บริษัทโจทก์ได้ทำไป หรือไม่ได้นำไปสู่การยกเลิกการประมูล การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาในวันนี้มีนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าอาทิ โรงไฟฟ้าบางคล้า โรงไฟฟ้าหนองแซง และโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด เข้าฟังการพิจารณาและให้กำลังใจนางสาววัชรีกว่า 30 คน
 
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการของหน่วยงานรัฐในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศาลได้พิพากษาแล้วว่า นางสาววัชรีติชม แสดงความเห็นโดยสุจริตเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐที่กำกับกิจการพลังงานไฟฟ้าว่ากระบวนการประมูลเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีความไม่โปร่งใส มีข้อสงสัย การกระทำของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
 
ส่วนคดีแพ่ง ที่บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้ดำเนินการฟ้องร้องนางสาววัชรี เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท จากเหตุการณ์เดียวกัน นายกฤษฎางค์กล่าวว่า กระบวนการต่อไปในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญา ทั้งนี้ในคดีแพ่ง หากการกระทำไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย อย่างไรก็ตามในคดีอาญาโจทก์มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน ดังนั้นในคดีแพ่งจึงต้องรอต่อไป
 
นายกฤษฎางค์กล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า ส่วนตัวคิดว่าทางบริษัทโจทก์จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อ เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งทางบริษัทฯ คงต้องพยายามยืนยันว่าสิ่งที่ได้มาตามสัญญากับหน่วยงานรัฐนั้นถูกต้องเป็นธรรม และมีความโปร่งใส เนื่องจากปัจจุบันคำพิพากษาของศาลทำให้เห็นได้ว่ากระบวนการถูกตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใส ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net