Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การประชุมคณะกรรม​การค่าจ้างกลาง ​เมื่อวันที่ 20 ​เมษายน 2543 ที่ประชุม​ได้พิจารณา​เห็นว่า ​ในปี 2543 ข้อมูลทาง​เศรษฐกิจปรับตัว​เล็กน้อย อัตรา​การ​เจริญ​เติบ​โตจะขยายตัว​ในกิจ​การบางประ​เภท อัตรา​เงิน​เฟ้อจะ​เพิ่มขึ้น​ ไม่สนับสนุน​ให้มี​การปรับอัตราค่าจ้าง​ในขณะนี้ . . . เห็นว่า ภาวะ​เศรษฐกิจ​และ​แรงงาน​ในปี 2542 ​ไม่อยู่​ใน​เกณฑ์ดี ​แต่ลูกจ้างสามารถครองชีพอยู่​ได้ ​และคาดว่า​ในปี 2543 ยังคงอยู่​ใน​เกณฑ์​เดียวกันกับปี 2542” (มติคณะรัฐมนตรี — อังคารที่ 1 สิงหาคม 2543) ทุกครั้งที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ มันจะถูกใช้เป็นเหตุข้ออ้างของรัฐบาลในการไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ส่งผลให้ค่าจ้างถูกดองเป็นเวลาถึงสี่ปี (ในขณะที่อินโดนีเซีย ปรับค่าแรงขึ้นร่วมสองเท่า หลังวิกฤติ 2540 เพราะค่าเงินแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงมาก) แต่ในเมืองไทย วิกฤติ 2540 ถูกนายทุน โดยเฉพาะ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ(เครื่องจักรล้าสมัย) และตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก (ไนกี้ รีบอค อดีดาส ลีวายห์ ฯลฯ) หาเหตุเลิกจ้างลูกจ้างหลายหมื่นคน แล้วย้ายฐานการผลิตไปลาว เวียดนามและจีน เพียงเพื่อว่าจะประกาศรับลูกจ้างใหม่ กับเครื่องจักรใหม่ (มือสองจากต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า) ในอีกสองสามปีต่อมา ด้วยเครื่องจักรให้ทันสมัยขึ้น การใช้แรงงานต่อเครื่องจักรน้อยลง จากที่เคยใช้คนงานอาจจะ 3- 4 คน ต่อ 1 เครื่อง มาสู่การให้คนงาน 1 คน คุมเครื่องจักร 1 หรือ 2 เครื่อง และเป็นคนงานหนุ่มสาวชุดใหม่ ที่มีพละกำลัง กับค่าแรงถูกกว่าลูกจ้างเก่าที่ถูกเลิกจ้างเพราะค่าแรงแพงขึ้นและพละกำลังก็ด้อยถอยลง องค์กรนายจ้างในประเทศไทยรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งกว่าองค์กรลูกจ้างมาโดยตลอด พวกเขาต่างผลักดันให้การตัดสินใจขึ้นค่าแรงลอยตัวจาก 3 ระดับ (ที่เป็นโครงสร้างค่าจ้างที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2515 อย่างสวนกระแสข้อเรียกร้องขององค์กรแรงงานที่ให้มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเดียวทั้งประเทศ) มาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ในปี 2545 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ช่องว่างค่าแรงขั้นต่ำเมืองไทยก็ห่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีเพียง 6-7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภูเก็ต เท่านั้น ที่อยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราสูงสุด ในขณะที่จังหวัดส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มค่าแรงในอัตราต่ำสุดมากขึ้นเรื่อยๆ (แม้แต่อยุธยาและสมุทรสาครที่อยู่ห่างกรุงเทพเพียง 1 ชั่วโมง ก็มีค่าแรงต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก) พอมาถึงในปี 2554 ค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีมากมายถึง 32 ระดับ นโยบายพรรคเพื่อไทย: 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศทันที! ทั้งนี้ ในสมัยการเลือกตั้ง 2554 พรรคที่ชนะการเลือกตั้งประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศโดยทันทีเมื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ผลก็คือไม่สามารถทำตามนโยบายได้อย่างทันทีตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ (ซึ่งก็ไม่เหนือการคาดเดา) โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน 2555 (8 เดือนหลังชนะการเลือกตั้ง) ในอัตรา 300 บาทใน 7 จังหวัด และที่เหลืออีกกว่า 70 จังหวัด ยังลอยตัวเป็นการตัดสินใจระดับจังหวัดและมีมากถึง 30 ระดับเหมือนเดิม กระนั้นรัฐบาลประกาศว่าค่าจ้างขั้นต่ำอัตรา 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 – 2558 ค่าแรงขั้นต่ำ “ค่าแรงขั้นต่ำ” คือ ค่าแรงระดับต่ำสุดที่ขบวนการแรงงานและผู้บริโภคทั่วโลกทำใจยอมรับ แต่ค่าจ้างที่เหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพของคนงานและครอบครัว อยู่ในคำนิยาม “ค่าแรงเพื่อการครองชีพ” ซึ่งมีการประเมินมูลค่าที่ยอมรับได้ไว้ที่ “ค่าจ้างหนึ่งคน” สามารถดูแลผู้อยู่ในอุปการะ “ได้อีก 2 คน” ในปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีค่าจ้าง 1 คน ในประเทศโลกใต้ประเทศใดเลย รวมทั้งประเทศไทย (ยกเว้นค่่าจ้างผู้บริหาร) ที่สามารถดูแลคนทำงานและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคนได้โดยไม่ต้องอยู่อย่างอดยาก ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเมืองไทย ยามนี้ แม้จะขึ้นมาอยู่ในระดับ 300 บาทต่อวัน ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในมาตรฐานค่าแรงเพื่อการครองชีพ โดยเฉพาะเมื่อค่าแรงมีการต่างระดับกันถึงกว่า 30 ระดับ จาก 159 – 221 บาท (2554 – มีนาคม 2555) และจะขึ้นมาอยู่ที่ตั้งแต่วันละ 222 ถึง 300 บาท(ใน 7 จังหวัด) ต้ั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไปก็ตาม เพราะ เมื่อคำนวณเป็นค่าแรงรายเดือนบนฐานคำนวณที่ใช้กันคือ ค่าจ้างรายวัน x 26 วัน รายได้ที่คนงานได้รับก็จะตกอยู่ที่เพียงเดือนละ 5,772 บาท ถึง 7,800 บาท เท่านั้น มิหนำซ้ำรัฐบาลแม้ว่าจะประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ 300 บาท เป็นเวลาสามปี (2556-2558) แต่ก้ระบุเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงสามปีนี้ กระนั้น การประกาศว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเท่ากันทั้งประเทศที่ 300 บาทนับตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ก็ยังน่ากริ่งเกรงว่าจะทำได้จริงหรือไม่? เมื่อระบบการขึ้นค่าจ้างเมืองไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปล่อยให้ลอยตัวในปี 2545 ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่คุมโดยสมาคมนายจ้าง ที่บีบให้ค่าจ้างลอยตัวต่ำลงเรื่อยๆ และเพิ่มระดับจากที่เคยเป็นแค่ 3 ระดับมาสู่สูงสุดถึง 32 ระดับ ในปี 2554 และ 30 ระดับในปี 2555 และก็น่าห่วงใยจริงๆ นั่นแหล่ะ เพราะท่าทีของบรรดานายจ้างต่อเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขบวนการนายจ้างก็เตรียมเล่นแง่ตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการจะรวมค่าทำงาน ล่วงเวลา ค่าสิทธิประโยชน์และสวัสดิการพื้นฐานที่เคยจ่ายให้ลูกจ้างมาอยู่ในอัตรา 300 บาทต่อวัน คนงานและสหภาพแรงงานเริ่มกังวลถึงกลโกงต่างๆ ของนายจ้างที่จะล้มโครงสร้างค่าจ้างที่เคยมีอยู่เดิม เฉลี่ยฐานมาอยู่ที่ 300 บาทหมด อันจะทำให้คนงานมีประสบการณ์ คนงานเก่าแก่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างนี้ และอาจจะเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยมีมาแต่เดิมด้วย ค่าใช้จ่ายพื้นฐานของคนงานไทย ขอยกตัวอย่างการศึกษาโรงงานญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าส่งออกแห่งหนึ่ง ที่ฝ่ายบริหารต้านสหภาพอย่างรุนแรง แกนนำรวมทั้งประธานสหภาพถูกเลิกจ้างหมดทุกคน และสหภาพก็ล้มไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ข้อมูลสวัสดิการเป็นข้อมูลเป็นสวัสดิการที่สหภาพต่อรองให้ได้มาก่อนสหภาพจะถูกทำลายโดยฝ่ายบริหารสำเร็จ (ปี 2549) แต่คนงานส่วนใหญ่ยังได้รับเงินค่าจ้างตามฐานค่าแรงรายวันตามอัตราขั้นต่ำ สวัสดิการ สมทบค่าเดินทาง 10 บาท/วัน เบี้ยขยัน (ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย) 300-400 บาท/เดือน พักร้อนปีละ 6 วัน ลากิจปีละ 4 วันโดยได้รับค่าจ้าง ลาป่วย 4 วันโดยได้รับค่าจ้าง โบนัส 2.5 เดือน ชุดทำงานฟรีปีละ 2 ชุด ค่าใช้จ่ายต่อ 1 คน ด้านอาหารประจำวันข้อมูลจากการพูดคุยและใช้ชีวิตอยู่กับแกนนำสหภาพสองสามวัน เช้า นม 1 กล่อง 10 บาท หรือ ข้าวราดแกง 1 จาน 15-20 บาท หรือหมูปิ้ง 2 ชิ้น ข้าวเหนียว 1 ห่อ 15 บาท และกาแฟ 1 แก้ว 10 บาท = 20 – 35 บาท กลางวัน ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม 20 บาท เย็น ส้มตำ 15 บาท + กับข้าวถุง 1 ถุง (15 บาท) + ข้าวเปล่า (5 บาท) + ส้ม 1 กก. (30 บาท) = 65 บาท รวมค่าอาหาร 1 วัน = 110 ถึง 120 บาท (เดือนละ 3,300 ถึง 3,600 บาท) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าเช่าที่พัก (แชร์กับเพื่อน 5 คน จ่ายคนๆ ละ ) 700 บาท/เดือน ค่าน้ำ/ค่าไฟคนละ 150 บาท/เดือน ค่าเดินทางไปทำงาน (วันละ 30 บาท) 780 บาท/เดือน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 1,000 บาท/เดือน ส่งเงินกลับบ้าน 1,500 บาท/เดือน รวม 4,130 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3,300 – 3,600 + 4,130 = 7,430 ถึง 7,730 บาท เพียงแค่ค่าใช้จ่ายต่ำสุด ทานอาหารคุณภาพต่ำสุด พักอาศัยอยู่แบบแออัด (ตั้งแต่วัยสาวจนกลางคนก่อนที่จะถูกโล๊ะทิ้งจากโรงงานก่อนวัย 50 โดยไม่จ่ายค่าชดเชย) คนงานแต่ละคนก็ต้องการรายได้อย่างต่ำเดือนละ 8,000 บาท และนี่เป็นตัวเลขในปี 2549 ค่าจ้าง 300 บาท ก็ไม่เพียงพอเสียแล้วกับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับคนงานเพียงคนเดียวในตอนนั้น ไม่นับว่าค่าจ้างเหล่านี้ ไม่สามารถทำให้คนงานสามารถเก็บออมเพื่อการสร้างชีวิตได้เลย ถ้าพวกเธอมีลูก มีครอบครัวต้องดูแล หนทางเดียวที่จะเอาตัวรอดได้คือการทำล่วงเวลาให้มากที่สุด เพื่อรายได้เพิ่มอีกอย่างน้อยเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท มายาภาพเรื่องค่าแรง มายาภาพของค่าจ้างในวิถีการกดค่าแรงขั้นต่ำให้ต่ำสุด ไม่ว่าจะด้วยการสมัครใจ หรือถูกบังคับ คือการทำล่วงเวลา(โอที) ให้มากที่สุด หรือการทำงานพิเศษอื่นๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการทำงานสามกะ หรือสองกะที่นิยมมากในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิค (กะละ 12 ชั่วโมง – 8 ชั่วโมงทำงานปกติ + 4 ชั่วโมงล่วงเวลา) และบางครั้ง คนงานจะควบกะหรือควงกะ คือทำงาน 24 ชั่วโมงรวด โดยไม่ได้พัก ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะตัดเย็บเสื้อผ้า อาหาร อัญมณี ที่การทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงต่อวันก็ยังมีรายได้ไม่พอสำหรับการดำเนินชีวิต คนงานจึงเร่งทำงานล่วงเวลากันอย่างหนัก บางทีข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว กรณีโรงงานเบดแอนด์บาธที่ผลิตสินค้าให้ไนกี้และยี้ห้อดังทั่วโลกนั้นถึงขนาดเอายาบ้าใส่น้ำดื่มให้คนงานดื่มเพื่อให้ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน (ปิดตัวและไม่จ่ายค่าชดเชยให้คนงาน 900 กว่าคน เมื่อเดือนตุลาคม 2545) สาเหตุหนึ่งที่คนงานไทยยังไม่ถึงกับเป็นกับตายเพราะค่าจ้างขั้นต่ำ ก็เพราะว่าวิถีการจ้างงานอุตสาหกรรมมันบีบให้พวกเขาหยุดคิดไม่ได้ ดึงดูดให้พวกเขาต้องทำงานกันมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อรายได้ที่พอเพียง คนงานส่วนใหญ่เมืองไทยต้องทำงานกันสัปดาห์ละ 6 ถึง 7 วัน วันละ 12-16 ชั่วโมง เพื่อเงินค่าโอที และเพื่อแลกกับรายได้ที่ต้องการจริงๆ คือประมาณเดือนละ 8,000 – 10,000 บาท มายาภาพเรื่องการอยู่รอดของคนงานไทยภายใต้ค่าจ้างขั้นต่ำสุด จึงถูกชดเชยด้วยเงินค่าล่วงเวลา และสิทธิประโยชน์นิดหน่อยจากบริษัท อาทิ สมทบค่าเดินทางหรือจัดรถรับส่ง + ข้าวสวยฟรีกับข้าวซื้อ และการทำงานพิเศษอื่นๆ เสริม ในโรงงานแต่ละโรงงานจะเต็มไปด้วยนายทุนเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน (ส่วนมากพวกหัวหน้างานและคนงานที่มีสายป่านดีหน่อย) มีการนำสินค้ามาเงินผ่อนขายกันสนั่นช่วงพักกลางวันให้กับผู้ร่วมงาน มีหมด ทั้งเครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า อาหารแห้ง อาหารสด และอีกมากมายจิปาถะ ฯลฯ ผู้ที่คลุกคลีกับปัญหาแรงงานจะรับรู้กันเป็นอย่างดีว่า การเลือกงานของคนงานในเมืองไทยนั้นจะดูกันที่ว่าโรงงานนั้น มีสหภาพแรงงานไหม มีงานล่วงเวลาเยอะไหม หรือมีสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมบ้าง แต่การทำงานล่วงเวลามาก และอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งปีทั้งชาติ ก็ส่งผลกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนงานเหล่านี้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนงานที่อยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ พวกเขาและพวกเธอ(ผู้หญิงเยอะมาก) จะเซื่องซึมเพราะพักผ่อนน้อย หน้าซีดเหลือง ไม่มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะคนงานหญิงจะไม่มีเวลาสร้างชีวิตคู่ ไม่มีเวลาดูแลลูกของตัวเอง ต้องส่งไปให้ยายย่าเลี้ยงตามมีตามเกิดที่ต่างจังหวัด พบลูกเพียงปีละหนหรือสองหน เพราะเวลาที่มีทั้งหมดอยู่กับโรงงาน และถ้าจะมีเวลาบ้างในวันหยุด มันก็จะถูกใช้ไปกับการนอนตื่นเที่ยง แล้วลุกมาซักเสื้อผ้า หรือไปจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นนิดหน่อยในตอนค่ำ ปัญหาคุณภาพชีวิต การเปลี่ยนคู่ หย่าร้าง และคนงานหญิงถูกทิ้งให้รับภาระดูแลลูกตามลำพัง เป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่ไม่ได้รับการใส่ใจแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้คือมายาภาพและปัญหาที่เกิดจากประเทศที่ไม่ได้สนใจในคุณภาพชีวิตของคนชั้นล่าง เรื่องการย้ายฐาน การปิดตัวหนี เป็นข้ออ้างที่ถูกใช้มาตลอดอยู่แล้ว ปรากฏการณ์นี้สะท้อนจากโรงงานรองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ที่ใช้แรงงานเป็นหลักต้องทยอยปิด แม้แต่ไนกี้ อดิดาส ย้ายฐานผลิตไปหาแรงงานราคาถูกในเวียดนาม เขมร พม่า บางธุรกิจลดจ้างแรงงาน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทน บางกลุ่มใช้วิธีจ้างรายวันแทนจ้างเป็นเงินเดือน (ข่าวสด, 1 มีนาคม 2555) ข้อความที่ยกมาข้างบน คือข้ออ้างที่มีมาทุกยุคทุกสมัยในยามที่มีการเรียกร้องเรื่องการ ปรับค่าจ้าง คือการขู่ว่าทุนจะย้ายหนีไปประเทศอื่นๆ ขู่มาตั้งแต่ปี 2515 ขู่มาตั้งแต่ปี 2530 ขู่มาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ขู่ในทุกครั้งและก็ขู่กับคนงานทุกประเทศ ขู่คนงานไทยว่าจะย้ายไปเวียดนาม . . ขู่คนงานเวียดนามว่าจะย้ายไปจีน . . และขู่คนงานจีนว่าจะย้ายไปอินเดีย . . ถ้ามัวแต่กลัวคำขู่ของทุนซึ่งมีเสรีภาพมากมายนักที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ ก็อย่าส่งเสริมการลงทุนเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่สามารถต่อรองกับทุนได้ ก็ไม่สามารถคุ้มครองคนในประเทศได้ รัฐบาลก็ทำหน้าที่เพียงส่งคนในประเทศตัวเองเข้าไปเป็นแรงงานทาสให้กับทุนไทยและทุนต่างชาติอยู่เช่นนี้ต่อไป เพียงเพื่อดำรงชนชั้นอภิสิทธิชนที่ใช้ชีวิตหรูหรา ขับรถเบนซ์ ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมใบละ 3 แสน ที่สามารถเปลี่ยนถือได้วันละใบ ผูกนาฬิกาโรเล็กซ์เรือนละสามสี่แสน วันละเรือน กันต่อไป แล้วปล่อยให้คนงานกินเพียงหมูปิ้งกับข้าวเหนียวนึ่งเป็นอาหารทุกเช้าอยู่ต่อไป กินเพียงเพื่อให้มีกำลังอยู่บ้างในวัยยังหนุ่มยังสาวเพื่อทำงานให้ทุน และเตรียมถูกโล๊ะทิ้งอย่างไม่ใยดี เมื่อปอดเธอหายไปข้างหนึ่ง สายตาเธอไม่เห็นเพชรเม็ดเล็กอีกต่อไป และเธอเริ่มเป็นโรคจากสารตะกั่ว สารแคชเมี่ยม และฝุ่นสี ฝุ่นโลหะจากโรงงาน ที่แพทย์ไทยยังไม่ยอมรับว่าเป็นโรคจากการทำงานอยู่จนบัดนี้ ช่องว่างรายได้ในเมืองไทยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ช่องว่างทางรายได้นี้ เกิดจากการรวบรวมอัตราค่าจ้างจาก 3 แหล่ง คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน, จากบทความ “ค่าตอบแทน” ของ “คน” ในประเทศนี้,” ในมติชนออนไลน์ เมื่อ 4 เมษายน 2554, และจากเอกสารการสัมมนา “รายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2552/2553″ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้เขียนได้ลองเอามาทำแผนผังเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเดือนของข้าราชการระดับสูง สส. และผู้บริหารธุรกิจ พบว่า อัตราเงินเดือนสูงสุดของข้าราชการและนักการเมืองสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึง 22-24 เท่า และอัตราเงินเดือนผู้บริหารกิจการร่วมทุนสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถึง 111 เท่า อันเป็นตัวเลขที่น่าตระหนกยิ่งนัก Hay Group เผยแพร่รายงานค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกในปี 2551 ปรากฎว่าผู้บริหารไทยมีค่าตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 10 ของโลก และอันดับสองในเอเชีย เป็นรองเพียงฮ่องกง ในขณะที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวย มีเศรษฐกิจมั่นคง และมีระบบสวัสดิการดีเยี่ยมในโลก อยู่ในอันดับท้ายๆ ทั้งนั้น โดยสองอันดับสุดท้ายคือ ฟินแลนด์ (ลำดับที่ 50) และสวีเดน (ลำดับที่ 51) ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศสวัสดิการประชาชนดีเยี่ยมที่สุดในโลก และเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในโลก The Economist, April 20th, 2011 ตามมาด้วย The Economist ที่ได้รายงานว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของประเทศไทยทิ้งช่วงห่างเป็นอันดับสองของโลก เป็นสองรองจากประเทศค้ายาเสพติดโคลัมเบียเท่านั้น “ในประเทศไทย ประเทศที่ไม่เท่าเทียมมากที่สุดในเอเชีย มีอัตราส่วน 15 ต่อ 1​( In Thailand, one of Asia’s most unequal countries, the ratio is 15:1.)” การต่อต้านสหภาพแรงงานและไม่ยอมเจรจาต่อรองกับลูกจ้างคือหนึ่งในต้นตอปัญหาช่องว่างทางชนชั้นในเมืองไทย การต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพและการเจรจาต่อรองของบรรดานายจ้างในเมืองไทย คือ สาเหตุหลักที่ช่องวางทางชนชั้นของไทยทิ้งห่างอย่างน่าตกใจ และส่งผลต่อเรื่องการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ค่าจ้างตามจริงต่ำกว่าค่าจ้างที่ควรจะเป็น เป็นอย่างมาก ทั้งนี้นายจ้างและผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ต่างก็็ขัดขวางลูกจ้างในเมืองไทยไม่ให้ตั้งสหภาพแรงงานทุกช่องทาง นายจ้างนั่นชัดอยู่แล้วว่าทำไมต้องต่อต้าน แต่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่ลูกจ้างเรียกว่า “กระทรวงนายทุน” นั่นก็เพราะเชื่อผิดๆ ว่า เพราะนักลงทุนไม่ชอบสหภาพ จึงจะต้องช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยการป้องกันไม่ให้คนงานรวมตัวเป็นสหภาพและต่อรองกับนายทุนตามวิถีสหภาพแรงงาน ความคืบหน้าการชุมนุมของคนงานบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ และบริษัท ซิลเวอร์ ไอซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับส่งออกต่างประเทศ ย่านประเวศ รวมกว่า 1,000 คน ที่ชุมนุมเรียกร้องให้ ก.แรงงานเร่งหาทางช่วยเหลือเพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท . . นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงมารับหนังสือร้องเรียน โดยระหว่างการเจรจา นายเผดิมชัยได้ตำหนิการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง เพราะมองว่าทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน (27 กุมภาพันธ์ 2555, Sanook.com) เมื่อคนงานในโรงงานใดพยายามตั้งสหภาพแรงงาน ฝ่ายบริหารจะจัดการแกนนำทันทีด้วยไม้อ่อนและไม้แข็ง เมื่อไม้อ่อนไม่สำเร็จก็ด้วยไม้แข็งทันที่โดยเฉพาะต่อแกนนำและสมาชิกที่เข้มแข็ง ด้วยการหาเหตุเลิกจ้าง ไล่ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่งคนทำร้ายร่างกายแกนนำ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีจำนวนแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการเอกชน ที่ฝ่าดงตีนของรปภ. และแรงต้านทุกรูปแบบของนายจ้างและฝ่ายบริหารมาได้เพียง 0.95% (เพียง 378,813 คน) เมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งประเทศ 39.5 ล้านคน น้อยติดอันดับโลกอีกเช่นกัน ในขณะที่กำลังแรงงานทั้งประเทศร่วมสี่สิบล้านคน มีคนงานอยู่ในระบบประกันสังคมที่จ่ายสมทบโดยนายจ้างและลูกจ้างเพียง 9 ล้านคน (และคุ้มครองเพียง 6 เดือนหลังถูกเลิกจ้าง) รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนประกันตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ จะสรุปได้ว่าประชาชนในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมในระดับใดระดับหนึ่งมีเพียง 15% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน หมายความว่ามีประชาชนอีกถึง 85% ที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ดูแลพวกเขาทั้งชีวิต ในขณะที่จำนวนสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร่วม 4 แสนแห่ง แต่ศักยภาพการตรวจสถานประกอบการว่าปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ของกระทรวงแรงงาน ทำได้เพียงปีละประมาณ 20,000 กว่าแห่ง คนงานส่วนใหญ่ในประเทศจึงอยู่ในสภาพการทำงานและการใช้ชีวิตที่น่าเป็นห่วงยิ่ง ปี พ.ศ. รวม จำนวนผู้ประกันตน (คน) จำนวนสถานประกอบการ (แห่ง) ตามมาตรา 33 ตามมาตรา 39 ตามมาตรา 40 2537 4,970,805 4,970,805 65,181 2538 5,184,441 5,184,441 73,604 2539 5,589,855 5,589,855 82,582 2540 6,108,534 6,084,822 23,712 90,656 2541 5,465,405 5,418,182 47,223 93,093 2542 5,749,921 5,679,567 70,354 100,360 2543 5,899,519 5,810,140 89,379 107,228 2544 5,983,441 5,865,208 118,231 2 110,814 2545 7,047,642 6,900,223 147,415 4 301,518 2546 7,609,378 7,434,237 175,131 10 324,079 2547 8,031,768 7,831,463 200,298 7 346,936 2548 8,467,410 8,225,477 241,929 4 362,559 2549 8,860,183 8,537,801 322,379 3 375,705 2550 9,182,170 8,781,262 400,905 3 381,506 2551 9,293,600 8,779,131 514,422 47 382,170 2552 9,424,555 8,744,795 679,700 60 389,953 2553 9,702,833 8,955,744 747,005 84 395,924 ที่มา : กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม อ้างต่อจาก: สำนักงานวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หมายเหตุ: 1. มาตรา 33 ผู้ประกันตนภาคบังคับ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป 2. มาตรา 39 ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้ลาออกหรือสิ้นสุดการจ้าง และมีความประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อและมีความประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อ 3. มาตรา 40 ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 ที่สมัครใจเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พรบ.ประกันสังคม (ไม่คุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาล) ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ทั้งนี้ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การกำหนดลักษณะสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ที่ได้กำหนดลักษณะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหลักเกณฑ์ตามตารางข้างล่าง ลักษณะวิสาหกิจ จำนวนการจ้างงาน(คน) จำนวนสินทรัพย์ถาวร(ล้านบาท) ขนาดย่อม ขนาดกลาง ขนาดย่อม ขนาดกลาง กิจการผลิตสินค้า ไม่เกิน 50 51-200 ไม่เกิน 50 51-200 กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก ไม่เกิน 25 ไม่เกิน 15 26-50 16-30 ไม่เกิน 50 ไม่เกิน 30 51-100 31-600 กิจการให้บริการ ไม่เกิน 50 51-200 ไม่เกิน 50 51-200 ซึ่งการส่งเสริม SMEs ทำให้ตัวเลขสถานประกอบการพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2545 และประสิทธิภาพของรัฐในการตรวจสอบก็ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และคนงานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกเอาเปรียบและทำงานโดยไร้สวัสดิการอื่นใด นอกจากเพียงค่าจ้างเท่านั้น ก็มีจำนวนมากจนยากที่จะประเมิน ไม่นับรวมการเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานต่างชาติในประเทศไทยร่วม 3 ล้านคน โดยเฉพาะจากพม่า เขมร และลาว ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีด ถูกโกงค่าแรงและที่มีสภาพการทำงาน และการอยู่การกินที่ย่ำแย่กว่าแรงงานไทยมากมายนัก คนงานอยู่ดี – ทุนอยู่ได้ เมื่อดูกร๊าฟข้างบน จะเห็นว่านับตั้งแต่ 2538 ถ้าการขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามขั้นต่ำที่ควรจะขึ้นทุกปี โดยไม่ถูกดองเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ถึง 4 ปี และถูกทำให้ลอยตัวนับตั้งแต่ปี 2545 ตามการกดดันของสมาคมนายจ้าง และตามความเชื่อผิดๆ ของรัฐบาลว่าต้องกดค่าจ้างขั้นต่ำให้ต่ำเพื่อดึงดูดนักลงทุน นำมาซึ่งปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อและความจำเป็นด้านรายได้ที่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ผู้เขียนได้ทดลองทำกร๊าฟเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างจริงกับการขึ้นค่าจ้างที่ควรจะเป็นขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันจำเป็นจะต้องขึ้นค่าแรง ทั้งนี้ผู้เขียนได้อิงฐานการขึ้นค่าจ้างแค่ปีละ 6% ตามอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีของข้าราชการ ผลที่ได้คือ ถ้าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทำทุกปีต่อเนื่องและมั่นคง ค่าจ้างขั้นต่ำสุดของไทยในปี 2554 จะอยู่ที่ 307 บาท/วัน และค่าจ้างขั้นต่ำอัตราสูงสุดแห่งปี 2554 จะอยู่ที่ 377 บาท/วัน และในปี 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงสุดจะตกอยู่ที่ 400 บาทพอดี ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 300 บาท จึงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว และไม่ใช่เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดดังที่สมาคมนายจ้าง หรือบรรดาผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจพากันเล่นละครบีบน้ำว่ามากเกินไป และพวกเขาจะ “อยู่ไม่ได้อีกครั้งแล้ว” ทั้งนี้ ประเทศจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งไม่ได้แน่นอน ถ้าความต่างทางรายได้ระหว่างคนงานกับผู้บริหารสูงถึง 66 – 111 เท่าเช่นนี้ และค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินเดือนข้าราชการสูงสูด และสส. ต่างกันถึง 22-24 เท่าเช่นนี้ การคงช่องว่างทางชนชั้นและความรวย-จนที่ต่างกันจนสุดกู่นี้ไว้ คนจนก็มีแต่ความทุกข์ยากและอดยาก และปัญหาสังคมทั้งเรื่องยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว การค้าหญิงและเด็กเพื่อการบริการทางเพศ การคอรัปชั่น ก็ไม่มีทางยุติ และจะรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจะดิ้นรนทำทุกทางมากขึ้นเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกนี้ ที่ดูแลประชาชนและเอาประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนา จะปล่อยให้ช่องว่างรายได้ และช่องวางทางชนชั้นติดอันดับโลกทุกการจัดอันดับเช่นนี้ มันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแม้แต่น้อย แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่ตบหน้านักการเมืองไทยที่อ้างว่าเข้ามาบริหารบ้านเมือง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนจน และมันแสดงให้เห็นถึงการขาดวิสัยทัศน์ของนักการเมือง ขาดความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงแห่งการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนชั้นล่าง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่พากันเทคะแนนเสียงให้รัฐบาล ปรับค่าจ้างเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แม้แต่นายทุนเองอย่างเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็ยังพูดว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่วันละ 500 บาท ไม่ใช่ 300 บาท โดยดูจาก 25 เท่า ตามสัดส่วนของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต” มันถึงเวลาที่บรรดานายจ้างเมืองไทยที่ถูกตามใจและโอบอุ้ม ให้กดขี่ขูดรีดแรงงานได้ตามสะดวก จะต้องปรับตัว ลดความละโมบและจัดสรรปันส่วนผลกำไรให้กับลูกจ้างอย่างเท่าเทียมตามประเทศอารยะทั้งหลาย ปัญหาค่าแรงเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต้องดองเอาไว้ เดี๋ยวทุนจะหนีหมด แต่เป็นปัญหาที่กลไกรัฐ และกลไกการเมืองตกอยู่ในการกำกับของทุนมาอย่างยาวนาน และทุนก็สั่งสมความมั่งคั่งและเก็บเกี่ยวผลกำไรอย่างบ้าคลั่งและตะกละตะกลามมายาวนาน มากเกินพอแล้ว! ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะต้องแสดงความกล้าหาญ และมีวิสัยทัศน์ จะต้องประกาศขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศโดยทันที โดยไม่มีเงื่อนไขห้ามขึ้นค่าจ้าง 3 ปีเช่นที่เป็นอยู่นี้ และรัฐบาลต้องให้สัตยาบัน ILO 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันว่าลูกจ้างสามารถรวมตัวและต่อรองกับนายจ้างได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ และการเล่นสกปรกจากบรรดานายจ้าง กาประกาศว่าจะขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท จะถูกตอบโต้จากฝ่ายนายจ้างที่เห็นแก่การรักษาผลกำไรไว้เหมือนเดิมแน่นอน การหาเหตุเลิกจ้างคนงานก็จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่รัฐบาลไม่ควรยอมสมาคมนายจ้างอีกต่อไป และต้องเตรียมมาตรการรองรับคนตกงานไว้แต่เนิ่นๆ ทั้งมาตรการเรื่องสร้างหลักประกันว่านายจ้างจะไม่หนีจ่ายค่าชดเชย เตรียมเงินประกันว่างงานไว้รองรับผู้ตกงาน พร้อมเปิดให้คนตกงานได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือและส่งเสริมการสร้างอาชีพและการผลิตใหม่ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ที่เคารพคุณค่าของแรงงาน ถ้ารัฐเตรียมมาตรการเหล่านี้ สร้างโครงสร้างประกันสังคมพื้นฐานที่ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศ เศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางล่มสลาย และช่องว่างความรวย-จนจะแคบลงเรื่อยๆ และคนในประเทศจะมีหลักประกันแห่งความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ สันติสุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาการขายบริการทางเพศก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ประเทศก็จะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและมั่นคง - – - – - - ท้ายนี้ขอนำเสนอรายชื่อและทรัพย์สินของ 40 นักธุรกิจที่รวยที่สุดในไทยปี 2554 ที่จัดทำโดยนิตยสาร “ฟอร์บส์” ที่มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นถึง 65% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2554 รายชื่อ ดอลลาร์สรอ. ล้านบาท (x 30 บาท) 1. ธนินท์ เจียรวนนท์ 7,400 222,000 2. เฉลียว อยู่วิทยา 5,000 150,000 3. เจริญ สิริวัฒนภักดี 4,800 144,000 4. ตระกูลจิราธิวัฒน์ 4,300 129,000 5. กฤตย์ รัตนรักษ์ และครอบครัว 2,500 75,000 6. อาลก โลเฮีย 2,100 63,000 7. จำนงค์ ภิรมย์ภักดี 2,000 60,000 8. วิชัย มาลีนนท์ 1,500 45,000 9. อิสระ ว่องกุศลกิจ 1,400 42,000 10. คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และครอบครัว 1,050 31,500 11. ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ 1,000 30,000 12. วานิช ไชยวรรณ 930 27,900 13. ประยุทธ มหากิจศิริ 900 27,000 14. สุรางค์ เปรมปรีดิ์ 790 23.700 15. อนันต์ อัศวโภคิน 750 22,500 16. คีรี กาญจนพาสน์ 625 18,750 17. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 620 18,600 18. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 610 18,300 19. ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว 600 18,000 20. บุญชัย เบญจรงคกุล 550 16,500 21. ไกรสร จันศิริ 460 13,800 22. จำรูญ ชินธรรมมิตร์ 440 13,200 23. วิลเลียม อี. ไฮเนคกี 425 12,750 24. สรรเสริญ จุฬางกูร 420 12,600 25. วิทย์ วิริยะประไพกิจ 380 11,400 26. วรวิทย์ วีรบวรพงศ์ 360 10,800 27. นิชิต้า ชาห์ เฟเดอร์บุช 340 10,200 28. พงษ์ศักดิ์ วิทยากร 310 9,300 29. ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 300 9,000 30. วิชา พูลวรลักษณ์ 265 7,950 31. นิจพร จรณะจิตต์ 260 7,800 32. นิธิ โอสถานุเคราะห์ 255 7,650 33. รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา 250 7,500 34. พิชญ์ โพธารามิก 245 7,350 35. เปรมชัย กรรณสูต 240 7,200 36. ประทีป ตั้งมติธรรม 230 6,900 37. เฉลิม อยู่วิทยา 225 6,750 38. วิชัย รักศรีอักษร 210 6,300 39. พรดี ลี้อิสระนุกูล 200 6,000 40. วิโรจน์ ธนาลงกรณ์ 195 5,850 รวม 43,910 1,317,300 งบประมาณแผ่นดิน 2554 อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ สรอ.) - – - – - – - อ้างอิง กรมคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมสรรพากร, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises = SMEs), 13 มกราคม 2552 กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม http://www.sso.go.th/, 2554 ข่าวราชการ, การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะรัฐมนตรี, 1 สิงหาคม 2543 ข่าวสด, วิกฤต ‘แรงงาน’ ตั้งเค้า, 2 มีนาคม 2555 มติชนออนไลน์, ว่าด้วย “ค่าตอบแทน” ของ “คน” ในประเทศนี้”, 3 เมษายน 2554 มหาวิทยาลัยศรีปทุม, เอกสารการสัมมนา “รายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2552/2553″ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2552 Isarapost, นิตยสาร“ฟอร์บส์”เผย 40 อันดับเศรษฐีเมืองไทย, 1 กันยายน 2554 MThai, ธนินท์ เจ้าสัวซีพี ชี้ค่าแรงขั้นต่ำต้อง 500 บาท, 3 ตุลาคม 2554 Sanook, รมว.แรงงาน หวิดโดนม็อบรุม หลังตำหนิคนงานชุมนุม, 27 กุมภาพันธ์ 2555 The Economist, April 20th, 2011 Hay Group, report reveals global managers spending power and pay gaps, December 8, 2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net