Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจปีที่ผ่านมาเรียกว่าสาหัสต่อเนื่องจากปี 2563 ต้องยอมรับว่ามาตรการเยียวยาต่างๆ ของรัฐช่วยพยุงไม่ให้คนจนเพิ่มจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่เพดานเงินกู้กำลังถึงขีดจำกัด โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลเฉพาะหน้า แต่การฟื้นตัวของคนรายได้น้อยยากลำบากกว่าคนฐานะดี หากไม่มีนโยบายเพื่อการนี้ เราจะเข้าสู่ภาวะ Long Inequality

  • มาตรการเยียวยาของรัฐช่วยลดผลกระทบระยะสั้นได้และพยุงไม่ให้จำนวนคนจนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายกว้างขึ้น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร หนี้สินเพิ่ม แต่เงินออมลด สวนทางกับกลุ่มที่มีรายได้สูง
  • โควิด-19 ทำให้เด็กกว่า 4 หมื่นคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา เกือบ 3 แสนคนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนจากการขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับเรียนออนไลน์
  • โควิด-19 จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ลากยาวออกไป เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง
  • รัฐบาลต้องออกนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จัดสรรและจัดลำดับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาในระยะยาว

 

ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นห้วงยามยากลำบากของปากท้องคนไทย การระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาคที่ทำเงินให้แก่ประเทศเป็นกอบเป็นกำ

เมื่อกำลังซื้อลด ภารกิจของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงหนักไปทางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านนโยบายหลากรูปแบบ ซึ่งอีกสักครู่เราจะไปดูกันว่าส่งผลอย่างไร

ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

‘ประชาไท’ ชวน ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจสภาพเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาและต่อจากนี้ ซึ่งข้อใหญ่ใจความยังคงอยู่ที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่ถูกแก้ไข

มาตรการรัฐทำให้คนจนไม่เพิ่มขึ้นมาก

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่านโยบายเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการใส่เงินเข้าสู่ระบบผ่านนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน และอื่นๆ เพื่อช่วยกลุ่มคนด้อยโอกาสหรือยากจน รวมทั้งผู้ที่ตกงานจากพิษโควิด-19 ซึ่งในระยะสั้นสามารถพยุงไว้ได้ในระดับหนึ่ง

“ถ้าไปดูการสำรวจคนจนของสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) จะเห็นว่าตัวเลขคนจนปี 2563 ไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะเนื่องจากมีมาตรการพวกนี้เข้าไป สัดส่วนคนจนถ้าเทียบปี 2562  กับปี 2563 ซึ่งเป็นผลการสำรวจที่มีการเก็บสถิติในปีล่าสุด พบว่าถ้าดูสัดส่วนคนจนในปี 2562 มีอยู่ร้อยละ 6.24 แต่ใน 2563 มีอยู่ร้อยละ 6.84 คือเพิ่มขึ้นแค่นิดหน่อย จาก 4.3 ล้านคนเป็น 4.8 ล้านคน ทั้งที่ในปี 2563 มีเรื่องโควิดเข้ามาแล้ว เพราะตลอดทั้งปีนโยบายที่เข้ามาเยียวยาจะลงไปต่อคนประมาณ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน”

หากไม่มีมาตรการต่างๆ ข้างต้นจะทำให้จำนวนคนจนในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาถึง 6 ล้านคนเป็น 11.02 คน แม้ว่าจำนวนคนที่เข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะยังตกหล่นถึงร้อยละ 50 ของคนจน ซึ่งอาจเกิดจากที่คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ลงทะเบียน

ดังนั้น ถ้าพูดโดยวางอคติลงก่อนแล้วดูจากตัวเลขต้องถือว่านโยบายอัดฉีดเงินของรัฐบาลสามารถประคับประคองผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง

ภาพรวมเศรษฐกิจ

ในเชิงมหภาค เศรษฐกิจไทยโตประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น เพราะเราพึ่งพาเม็ดเงินจากการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เมื่อเครื่องจักร 2 ตัวนี้มีปัญหาจึงกระทบต่อการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2563 การส่งออกก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ทั้งจากการที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมูลค่าการส่งออกจึงสูงขึ้นตามบวกกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มดีขึ้น

“ที่โดนเยอะคือการท่องเที่ยว แล้วรายได้ของเราขึ้นกับการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ในประเทศรัฐบาลก็พยายามจะใช้เราเที่ยวด้วยกันอะไรพวกนี้เข้ามา แต่มันก็ยังไม่สามารถกระตุ้นได้เท่าที่ควร และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การเปิดประเทศ นโยบายเทสต์แอนด์โกต่างๆ ตอนปลายปีก็ต้องระงับไปพอมีโอมิครอนระบาดเข้ามาอีก คือนโยบายพวกนี้มันก็มีปัจจัยด้านการระบาดของโควิดเข้ามาค่อนข้างเยอะ ทำให้นโยบายที่ใช้มันอาจจะยังไม่ Effective แต่เรื่องการส่งออก คือมันก็มีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“แต่ในเรื่องการบริโภค ถ้าดูของภาคเอกชนก็ยังขยายตัวได้ไม่เยอะ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ดีขึ้นจากปี 2563 ที่ติดลบ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ สถานการณ์โควิดมันทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดไป ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน รายได้ของผู้ใช้แรงงานก็ลดลง และมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชน แม้ว่ารัฐบาลจะเข้าหนุนด้วยมาตรการเยียวยา แต่มันก็ยังไม่ได้ทำให้การบริโภคในประเทศเติบโตได้ดีเท่าไหร่ คือเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

“เรื่องการลงทุน ถ้าดูตามสถิติมีการปรับตัวดีขึ้นบ้าง คือการลงทุนก็เชื่อมโยงกับการส่งออก ถ้าส่งออกได้ การลงทุนของภาคเอกชนก็จะมีมากขึ้น แต่ว่าการลงทุนบางประเภทอาจยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว เช่น เรื่องการก่อสร้าง มีเรื่องการขาดแคลนแรงงาน  มีการระบาดของโควิดในแคมป์คนงาน มันเลยทำให้ธุรกิจ บางภาคเช่นธุรกิจก่อสร้างมีปัญหา เพราะฉะนั้นการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมก็มีการปรับตัวดีขึ้นบ้างและเชื่อมโยงเรื่องของการส่งออก แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม บางภาคมันยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก”

คนจนหนี้เพิ่ม เงินออมลด

เศรษฐกิจชะงักย่อมกระทบกับความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่แล้วอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันตัวเลขของปี 2564 ยังไม่ออก ดวงมณีจึงนำตัวเลขของปี 2563 มาอธิบาย แม้ว่าจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ลงไปดูเนื้อในผลที่ได้ไม่ดีนัก เนื่องจากพบว่าในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหนี้สินครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับเงินออมที่ลดลง

เมื่อดูจากบัญชีเงินฝากที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 แสนบาท พบว่ามียอดเงินฝากลดลง ในทางตรงกันข้ามบัญชีเงินฝากที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทกลับมียอดเงินฝากเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 13.49 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 14.24 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปี 2564 คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของ GDP และยังมีหนี้นอกระบบอีก 8.5 หมื่นล้านในช่วงครึ่งปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากปี 2562

ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายก็มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 20 จากข้างล่างเทียบกับร้อยละ 80 ที่เหลือถือครองทรัพย์สินต่างกันถึง 6.7 เท่า ขณะที่กลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ล่างรายจ่ายเพื่อการบริโภคลดลง แต่ 80 เปอร์เซ็นต์บนกลับเพิ่มขึ้น

“ถ้าดูรายจ่ายเพื่อการบริโภคมันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่ 3 ถึง 10 เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ในชีวิตประจำวันสูงขึ้น แต่ว่ากลุ่ม 1 กับ 2 จากข้างล่างมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคลดลง เนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะเขาสูญเสียรายได้ เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินมากที่สุด ถ้าดูรายจ่ายเพื่อการบริโภคของกลุ่มที่ 10 ต่อกลุ่มที่ 1 จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างสูง คือห่างกันประมาณ  8.5 เท่า ถ้าเทียบระหว่างกลุ่มรวยสุดกับกลุ่มจนสุด

“ถ้าดูการบริโภคครัวเรือนจะเห็นว่าโควิดมันกระทบการบริโภคครัวเรือนค่อนข้างชัดเจน โดยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกลุ่ม 1 และ 2 ล่างสุดมีการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แต่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าจะมีรายจ่ายค่าอาหารสูงขึ้น อาจมาจากช่วงที่ผ่านมากลุ่มที่อาจจะมีฐานะหน่อยซื้ออาหารมากักตุนสำรองเอาไว้ อาจจะมีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น”

ไม่ใช่เพียงรายจ่ายครัวเรือนที่ลดลง ในกลุ่ม 1 และ 2 จากข้างล่าง การชำระหนี้ก็ลดลง ส่วนกลุ่มที่ 10 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดมียอดการชำระหนี้เพิ่มขึ้น

“ถ้าเรามาดูไส้ในของการชำระหนี้ กลุ่มล่างสุดประมาณร้อยละ 42 เป็นการชำระหนี้เพื่อการบริโภค ร้อยละ 43 เป็นการชำระหนี้เพื่อการเกษตร และการชำระหนี้เพื่อซื้อบ้าน เช่าบ้าน มีเพียงร้อยละ 3 แต่การชำระหนี้ของกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่สุดประมาณร้อยละ 55 จะเพื่อการบริโภค อีกประมาณร้อยละ 30 เป็นเรื่องการซื้อบ้าน เช่าบ้าน ซื้อที่ดิน และอีกร้อยละ 11 เป็นการชำระหนี้เพื่อการทำธุรกิจ เราจะเห็นว่ารูปแบบ จะต่างกัน”

เด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 4 หมื่นคน

ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลอีก 2 ประการคือด้านการศึกษาและสาธารณสุข การวิเคราะห์ของสภาพัฒน์ในปี 2563 พบว่าโอกาสเข้าถึงการศึกษามีทิศทางดีขึ้นในทุกระดับชั้น แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มกล่าวคือ กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงจะมีอัตราการเข้าศึกษาต่อมากกว่ากลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ โดยกลุ่มที่ 10 แตกต่างจากกลุ่มที่ 1 ประมาณ 1.8 เท่าในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 9 เท่าในระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังคาดว่ามีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของเทอม 1 ในปี 2564 หลายหมื่นคน เช่น ระดับ ม.3 ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน และยังพบว่ามีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณแสนกว่าคน

“ถ้าดูทั้งหมดเขารวบรวมข้อมูลมาว่า 4 หมื่นกว่าคนไม่ได้เรียนต่อและนักเรียนประมาณเกือบ 3 แสนคน ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในช่วงโควิด มีปัญหาเรื่องไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์การเรียน คือนักเรียนที่ไม่มีโทรทัศน์ประมาณ  2 แสน  6 หมื่นกว่าคน ไม่มีคอมพิวเตอร์  2 แสน  7 หมื่นกว่าคน  นักเรียนที่บ้านไม่มีไฟฟ้าอีกประมาณเกือบ 3 พันคน พวกนี้ก็เป็นบาดแผลที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลกกระทบต่อเรื่องการศึกษา”

ดวงมณีเพิ่มเติมข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ว่า กลุ่มเด็กในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุดกลุ่มที่ 1 ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและไม่ได้ทำงานมีอยู่ประมาณร้อยละ 22 ของประชากรวัยเรียนในกลุ่มนี้ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 120,000  คน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กในระยะยาว

ในด้านสาธารณสุข ในแง่การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเรียกว่าครอบคลุม ประชากรเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์สามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเป็นมิติเรื่องคุณภาพการบริการและความแตกต่างระหว่างสวัสดิการแต่ละระบบที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงจำนวนแพทย์ต่อผู้ป่วยที่ในตัวเมืองจะมีอัตราส่วนสูงกว่าในชนบท

“โควิดทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจะสามารถเข้าถึงบริการการรักษาของโรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชนได้ดีกว่ากลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า อันนี้มันสะท้อนว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพในกลุ่มที่มีฐานะเศรษฐกิจดีค่อนข้างสูง และถ้าคุณฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีการเข้าถึงบริการต่างๆ ก็เข้าถึงได้ยาก โควิดมันสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงบริการมันต่างกันระหว่างสองกลุ่มนี้ ฐานะดีก็เข้าโรงพยาบาลเอกชนได้”

Long Inequality

ผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะสั้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น กลุ่มที่มีฐานะดียังสามารถสะสมทุนได้โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ ดวงมณีอธิบายว่า

“ผลของโควิดไม่ได้หยุดอยู่แค่ปีเดียว มันมีผลในระยะยาว ในแง่ของความเหลื่อมล้ำมันก็จะ Long Inequality ด้วย เพราะคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีต้องอาศัยระยะเวลาปรับตัวเข้าสู่ฐานะเดิมของตนเองซึ่งไม่ดีอยู่แล้วนานกว่ากลุ่มที่มีทุนที่จะสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ความเหลื่อมล้ำตรงนี้จะมีมากขึ้นและคงอยู่ค่อนข้างนาน”

ดวงมณีเสนอว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ออกมาแม้จะช่วยได้แต่ก็กำลังเผชิญข้อจำกัดเรื่องเพดานเงินกู้ และถ้าจะกู้ เงินที่ได้ก็ต้องนำมาสร้างให้เกิดการเติบโตในระยะยาว ที่ขาดไม่ได้คือการกระจายทรัพย์สินจากข้างบนลงมาข้างล่าง

“มันไม่สามารถขึ้นไปโดยที่ข้างบนก็ขึ้นไปอีก มันจะยิ่งห่างกันไปมากขึ้น คือต้องกระจายจากข้างบนลงมาให้ได้ด้วย เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีทรัพย์สินทางการเงินเยอะ มีมูลค่าของทรัพย์สินสูง ถ้าวิเคราะห์ด้านทรัพย์สิน มันมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าทางด้านรายได้ รายจ่ายเยอะอยู่แล้ว รัฐบาลต้องมีนโยบายกระจายการถือครองทรัพย์สินผ่านภาษีทรัพย์สิน เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินที่จะอุดหนุนให้กับคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี

“แต่นโยบายพวกนี้ขับเคลื่อนยากเพราะกระทบกับกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม รัฐบาลอาจไม่มีความกล้าที่จะทำ ต้องไม่ให้กลุ่มทุนต่างๆ ผูกขาด สนับสนุนการแข่งขัน ตอนนี้รัฐบาลพยายามเอาเงินลงไปข้างล่าง แต่รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาอุดหนุนได้ตลอด จะต้องมีแนวทางหารายได้เพื่อนำมากระจายด้วย อีกเรื่องคือการใช้จ่ายของรัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพ มีการลำดับความสำคัญว่าอะไรที่เป็น Priority แรก เพราะงบประมาณของรัฐบาลมีไม่น้อย ถ้าใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพและไม่ลำดับความสำคัญ  มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ได้”

ต้องลดความเหลื่อมล้ำ

ดวงมณีแจกแจงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้

1. รัฐต้องลดการผูกขาดทางธุรกิจ ส่งเสริมการแข่งขัน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กโดยการเพิ่มผลิตภาพให้กับกลุ่มนี้

3. ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

4. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่มีอยู่แล้วให้เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก

5. ควรขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน

6. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ

7. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่งหรือกลุ่มทุน และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลในระยะสั้นมากเกินไป

8. ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. รัฐควรจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ โดยเน้นทางด้านสวัสดิการและบริการสาธารณะที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ระบบสวัสดิการ เป็นต้น

10. รัฐต้องทำให้ข้อมูลทางด้านรายได้และทรัพย์สินของประชาชนเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้

อันที่จริงแล้ว นโยบายลดความเหลื่อมล้ำมีการศึกษาและเสนอแนะกันมามากและนาน ปัญหามิได้อยู่ที่ว่ารู้หรือไม่รู้

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำและกล้าทำหรือไม่ เพราะเครือข่ายชนชั้นนำและกลุ่มทุนย่อมไม่ต้องการปล่อยให้อำนาจและผลประโยชน์หลุดจากมือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net