Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในระหว่างที่ไปประชุมฯที่เกาหลีใต้ ผมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Korea Herald ฉบับประจำวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ด้วยความอิจฉาถึงการมีวิสัยทัศน์ของคนเกาหลีใต้และความเป็นอิสระในการจัดการตนเองของการปกครองท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เกาหลีใต้ในอดีตนั้นล้าหลังกว่าเรามาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชนบทหรือการปกครองที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่าไทยเรา ข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็คือ กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้โรงเรียนประถมและมัธยมพิจารณาตั้งกฎระเบียบของตนเองได้อย่างเป็นอิสระเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพของนักเรียนโดยไม่ต้องถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การแต่งกาย ทรงผม การพกพาโทรศัพท์มือถือในโรงเรียน และเรื่องอื่นๆที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งโรงเรียนในเขต Gwangju,Seoul และ Gyeonggi ได้ออกระเบียบที่ว่าเหล่านี้แล้วโดยอิสระ ซึ่งก็มีเสียงบ่นบ้างเล็กน้อยจากผู้ปกครองหัวอนุรักษ์นิยม แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย แต่เมื่อหันกลับมามองพี่ไทยเรายังงมโข่งอยู่กับผมบนหัวของนักเรียนชายที่ให้ตัดสั้นแล้วสั้นอีกราวกับจะไปเป็นทหารเกณฑ์หรือนักโทษซะปานนั้น หรือในส่วนของนักเรียนหญิงก็ยังมัวไปยุ่งอยู่ว่าจะถักเปียไม่ถักเปีย ติดกิ๊ปไม่ติดกิ๊ป จะรวบผมไม่รวบผม ฯลฯ ซึ่งยังไม่รวมถึงการเกณฑ์ให้นักเรียนใส่ชุดพื้นเมืองในวันศุกร์ในบางจังหวัดนะครับ ประเด็นที่ผมนำมาเสนอนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองการปกครองของประเทศที่ให้ความเป็นอิสระในการจัดการตนเองของท้องถิ่นยิ่งมากเท่าใด ยิ่งทำให้ประเทศเจริญรุดหน้ามากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับไทยเรา แต่เกาหลีใต้มีการแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นเพียง 2 ระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องท้องถิ่นเท่านั้น โดยไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคดังเช่นของไทยเราแต่อย่างใด แต่ประเทศเกาหลีได้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ทั้งที่อาจกล่าวได้ว่าการปกครองท้องถิ่นในเกาหลีใต้เพิ่งจะมีการปฏิรูปกันอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีบทบัญญัติรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเกาหลีใต้แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามเกาหลีทีทำให้การปกครองท้องถิ่นของเกาหลีใต้ต้องหยุดชะงักลง หรือจะเป็นการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการของปัก จูง ฮี หรือ ชุน ดู วาน ที่ยังอยู่ในคุกเพราะส่งทหารไปปราบประชาชนที่กวางจูจนผู้คนล้มตายนับพันคน เกาหลีใต้มีกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2492 (Local Autonomy Act in 1949 ) และได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุงเมื่อปี ๒๕๓๘ โดยมีเนื้อหาสาระเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด กล่าวคือให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ปัจจุบันเกาหลีใต้มีทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ Kyonggi, Kangwon, Chungchogbuk, Chollabuk, Chollanam, Kyongsangkuk, Kyonsangnam และ Cheju และ ๖ มหานคร ได้แก่ Pusan, Taegu, Inchon, Kwangju, Taejon, และ Ulsan นอกจากนี้กรุงโซล (Seoul Special Metropolitan) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ก็ถูกจัดให้เป็นการปกครองท้องถิ่นเขตพิเศษ เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของเกาหลี เป็นศูนย์รวมทางการค้าและธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกด้วย ในจังหวัดทั้ง 9 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับบน (Upper Tier) คือตัวจังหวัดเอง ระดับล่าง (Lower Tier) คือ เมือง (City) หรือ Kun (Country) แล้วแต่กรณี โดยเขตเมือง จะมี Dong เป็นสาขาที่ช่วยในการบริหารงาน ยกเว้นแต่ว่าถ้าเมืองใดมีประชากรเกิน 500,000 คน จะมีเขต (Ku) ขึ้นมาอีกทำหน้าที่เป็นองค์กรระหว่างกลางอีกชั้นหนึ่ง ในปัจจุบันจังหวัดทั้ง 9 ของเกาหลีใต้ มีเมือง (City) และ Kun รวมกันทั้งสิ้น 158 แห่ง โดยหัวหน้าฝ่ายบริหาร (The Chief Executive) มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ถ้าเป็นจังหวัด หัวหน้าฝ่ายบริหารจะเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) หรือถ้าเป็นในระดับเมืองจะเรียกว่านายกเทศมนตรี (Mayor) เป็นต้น ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ การบริหารราชการส่วนกลาง จะทำหน้าที่ในส่วนของการดำรงอยู่และรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ การวางแผน การกำหนดนโยบายและการควบคุมนโยบายในระดับชาติ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จะทำหน้าที่ในส่วนของการพัฒนาและปรับปรุงบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการปกครองท้องถิ่นระดับบนจะดูแลกิจการในภาพกว้างของพื้นที่ กิจการที่สร้างความเป็นเอกภาพในพื้นที่ ทำหน้าที่ประสานงานและการตัดสินชี้ขาดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่ และ หน้าที่อื่นตามที่รัฐบาลกลางมอบหมาย ส่วนการปกครองท้องถิ่นระดับล่างจะดูแลให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งรูปแบบการแบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็น 2 ระดับนี้เทียบเคียงใด้กับการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่เคยได้เขียนถึงไว้แล้ว(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/chamnan/20110420/386964)ซึ่งผมได้นำไปเป็นต้นแบบในการร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯในปัจจุบัน(http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1621) การไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารราชการบ้านเมืองของเขาแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้ว่าแม้ในขณะนี้เกาหลีใต้จะอยู่ในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนืออยู่ก็ตาม ในทางตรงข้ามกับทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาภัยพิบัติ แม้แต่ปัญหาเรื่องความมั่นคงในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือดังที่กล่าวมาแล้ว โลกต้องหมุนไปข้างหน้า ยังคงเหลือไม่กี่ประเทศในโลกหรอกครับที่ยังมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่ จังหวัดเชียงใหม่ในฐานะจังหวัดนำร่องโดยภาคประชาชนจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯในกลางปีนี้ โดยยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ดังตัวอย่างของประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเกาหลีใต้ที่ได้นำมายกเป็นเป็นตัวอย่างอันดีในการนำมาประยุกต์ใช้ ครับ --------------------- หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 มีนาคม 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net