เหตุผลสำคัญ 3ข้อ ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มนับ 1 แล้วหลังจากที่รัฐสภามีมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี ยังมีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่า ไม่ควรจะแก้ หรือถ้าแก้ก็ห้ามไปแตะเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายที่คัดค้านไม่เคยตอบคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งในแง่ที่มา เนื้อหา และกระบวนการรับรอง

เอาแต่โฆษณาป่าวร้องท่าเดียวว่า ไม่ควรจะแก้

ความขัดแย้งทางความคิดว่าด้วยเรื่อง กฎกติกาสูงสุดตามระบอบประชาธิปไตย มิพักจะโต้แย้งกันในหมู่ชนชั้นนำทางการเมือง แต่ประชาชนในสังคมก็ยังโต้แย้งกันด้วย ฉะนั้น รัฐบาลในฐานะ "หัวหอก" ในการริเริ่มการแก้ไข ต้องชี้แจงเหตุผลให้สาธารณะได้เข้าใจร่วมกัน

การชี้แจงแต่เพียงว่ากระทำไปตามที่พรรคตนเองได้เคยหาเสียงเอาไว้นั้นคงจะไม่เพียงพอ เพราะเราต้องการการยอมรับร่วมกันด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นจริงๆ

สำหรับผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมควรจะต้องแก้ไขด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

1.รัฐธรรมนูญ ในฐานะของปัจจัยหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม 
รัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกในการลดทอนความขัดแย้งในสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ "ยาวิเศษ" ที่เมื่อร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้แล้วจะขจัดปัดเป่าความขัดแย้งใน สังคมไทยที่มีอยู่มานานให้หมดไปได้ในทันที หากแต่จะต้องไปพิจารณาและแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆ ประกอบด้วย เช่น การตรา หรือแก้ไขกฎหมายลูกฉบับอื่นๆ การปรับปรุงโครงสร้างทางการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

แต่เราก็มิอาจที่จะปฏิเสธได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมเลย ทั้งนี้ เห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมากของต่างประเทศ หากพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยตรงกับการกำหนดโครงสร้างของสังคมผ่านมิติทาง การเมืองการปกครองดังนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Design) จึงมีความสำคัญยิ่ง

กล่าวคือ สังคมจะเป็นเช่นไร จะมีความขัดแย้งมากหรือน้อยเท่าใด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางโครงสร้างของสังคมผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ

พูดให้ชัดคือ ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยเกิดความขัดแย้งขึ้น ณ ขณะนี้ (และอาจกล่าวได้ว่า ที่ผ่านๆ มาด้วย) อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน (และบางฉบับในอดีต) ที่ได้ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญบนหลักการที่ผิดพลาด

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานี้เหมาะสมและสามารถกระทำได้
ที่ผ่านมา หลายท่านมักโต้แย้งว่า "ปัญหาปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่า แก้ไขไปแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้อะไร" ผู้เขียนเห็นว่า ข้อโต้แย้งแบบนี้ "ง่ายเกินไป" เพราะปัญหาทางการเมืองตลอดช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเกิดจาก "ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง" รวมถึงความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำรายงานสรุปจากที่ได้ทำงานในฐานะของประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มาแล้วนั่นเอง

"วาทกรรมว่าด้วยเรื่องปากท้อง" เพียงอย่างเดียว จึงไม่ค่อยมีน้ำหนักในทางกลับกัน กลับเป็นแนวทางที่มิได้เข้าไปมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ปัจจุบันอย่างจริงจังเสียด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนด รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง หากเราไม่เข้าไปสำรวจตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดของตัวบทกฎหมายดังกล่าวไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ แล้ว ความฝันในเรื่องของการทำให้สังคมไทยปรองดองกันได้ก็คงจะเป็นการยาก

นอกจากนี้ ในแง่ "เงื่อนเวลา" ยังเหมาะสมเพราะประเทศอยู่ในสภาวะปกติ มิได้อยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบเผด็จการ หรือการปกครองโดยทหาร เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย จึงเหมาะสมและไม่ขัดแย้งต่อหลักการแต่อย่างใดในการดำเนินกระบวนการแก้ไข เพิ่มเติมกติกาสูงสุดของสังคม

3.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเชิงหลักการว่าด้วยความเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริง
ปัญหาในเชิงหลักการที่สำคัญมากประการหนึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญไทย (ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับก่อนๆ) ซึ่งไม่ค่อยที่จะมีการพูดถึงมากนักก็คือ รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรมในการเป็นรัฐธรรมนูญ (Illegitimate Constitution) อันส่งผลให้ไม่ได้รับการยอมรับนับถือ ปฏิบัติตาม หวงแหน

ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับการดำรงคงอยู่และความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในสังคมด้วย

หากกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะสถาปนากลไกที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตามที แต่หากยังคงขาดความชอบธรรมอยู่ ท้ายที่สุดจะถูกผู้คนในสังคมปฏิเสธการบังคับใช้อยู่ดี

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพึงต้องตระหนัก

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความชอบธรรมตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมี 3 ประการ คือ

1) ต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง มาตรฐานนี้รู้จักกันในนาม "องค์ประกอบทางด้านรูปแบบของรัฐธรรมนูญ" เป็นองค์ประกอบขั้นต้นที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องมี โดยเรียกร้องให้การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญต้องไม่เกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจนิยม (การรัฐประหาร) แต่จำต้องเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยโดยมีจุดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

ความเชื่อมโยงดังกล่าวจะมีขึ้นก่อนระหว่างหรือหลัง จากการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การร่างโดยรัฐสภา หรือผ่านความเห็นชอบรัฐสภา การร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรือ ทางอ้อม การทำประชามติก่อนหรือหลังการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

2) ต้องมีเนื้อหาที่ถูกต้อง มาตรฐานนี้รู้จักกันในนามของ "องค์ประกอบทางด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ" โดยเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่วางโครง สร้างในการปกครองประเทศพร้อมกับรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้ เนื้อหาที่ว่าด้วยการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าว หาใช่เพียงแค่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติทำนองนี้ก็เป็นอันต้ององค์ประกอบแล้ว ไม่ หากแต่ต้องพิจารณาด้วยว่า สิทธิเสรีภาพที่อยู่ในรัฐธรรมนูญสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเข้ามาพิทักษ์รักษา "สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริง"

อนึ่ง หากรัฐธรรมนูญไทยมีคุณสมบัติในเชิงเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการนี้แล้วผู้ เขียนเห็นว่าจะเป็นการสถาปนาให้สังคมไทยมีความเป็นนิติธรรม (Rule of Law) ขึ้นมาโดยอัตโนมัติด้วยไม่มากก็น้อย

3) ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมาตรฐานนี้ถือได้ว่าสำคัญมากสำหรับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หากรัฐธรรมนูญขาดไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ กรณีจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐธรรมนูญ (Security of the Constitution) หรืออายุของการบังคับใช้ พร้อมทั้งส่งผลต่อการทำหน้าที่ในฐานะของกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในการเข้าไปกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

ทั้งนี้ ความศักดิ์สิทธิ์นี้จะปรากฏขึ้นต่อเมื่อรัฐธรรมนูญสามารถลงหลักปักฐาน (Embeddedness) ในสังคมได้ การลงหลักปักฐานดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อ

3.1) รัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากสาธารณชน กล่าวคือ ประชาชนต้องมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศที่ผ่านกระบวนการการ ตราที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่วางโครงสร้างการเมืองการปกครอง พร้อมทั้งกำกับการใช้อำนาจรัฐ เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอันเป็นเจตจำนงของตนโดยแท้จริง เมื่อกรณีปรากฏเช่นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญก็จะมีความมั่นคงในสังคม

3.2) ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้นำของประเทศ นักการเมือง ฯลฯ ต้องเคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อันเป็นการสร้างบรรทัดในทางสังคมว่าไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายท่านตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรได้ เมื่อเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คำตอบก็คือ ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องร่วมกันกดดันให้พวกเขาต้องปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด อันเป็นการส่งผลต่อการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แก่รัฐธรรมนูญอีกด้วย

3.3) ต้องมีองค์กรในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ ต้องมีองค์กรที่ "ทำหน้าที่ที่ถูกต้องและเหมาะสม" คอยควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ใช้อำนาจรัฐละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอัน เป็นการส่งผลให้เป็นการกระทบต่อการปกครองประเทศในองค์รวม และเป็นการเข้าไปก้าวล่วงแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินกว่าเหตุ โดยหลักการแล้ว องค์กรดังกล่าวก็คือ องค์กรตุลาการนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากศาลทำหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีด้วยว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อกฎเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือไม่

3.4) รัฐธรรมนูญต้องได้รับความเคารพนับถือมาอย่างยาวนาน กรณีนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากทั้ง 3 ข้อข้างต้น หากทำได้จริงก็จะส่งผลต่อให้เกิดข้อนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นแสนเข็ญ สังคมใดให้ความสำคัญต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยการปฏิบัติตามอย่างเป็นนิตย์แล้วไซร้ ถือได้ว่าสังคมนั้นได้สถาปนาการลงหลักปักฐานของรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนี้จึงส่งผลให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามกันจนกระทั่งเป็นจารีตประเพณี (Tradition) ไป

หากเราพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 3 ว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ (Constitutional Legitimacy) ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็น "สัญญาประชาคม"  

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงพึงระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็น "กติการ่วมกันของประชาชน" ให้ได้ 

หากสามารถกระทำได้ กรณีจึงนำไปสู่การยกสถานะของรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริงใน เชิงเนื้อหา หาใช่มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงเพราะมีบทบัญญัติกำหนดให้เป็นในเชิงรูป แบบเท่านั้นเหมือนกับที่ผ่านมา

จากที่ได้อรรถาธิบายถึงหลักการของ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันทั้งหมดข้างต้น หากพิจารณาและพูดคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลทั้งในแง่การบรรเทาปัญหาความขัด แย้งในสังคมได้ไม่มากก็น้อย ในแง่ของเงื่อนเวลาหรือในแง่ของความชอบธรรมของตัวรัฐธรรมนูญเอง

ผู้เขียนเห็นควรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการ ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยในองค์รวม สังคมจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นนิติธรรมมากขึ้น และมีความสงบสุขมากขึ้น 

ส่วนในประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยในแง่เนื้อหา สาระของรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขกันอย่างไรนั้นคงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะ ต้องมาพูดคุยกันต่อไป

 

...............................
หมายเหตุ   บทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2555 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท