กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย (1): สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คำอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุลที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” และ “ประชาธิปไตย” ในมิติที่กว้างกว่าความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยสมชายยังอธิบายเรื่องเพดานความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย “รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ” ของสังคม-การเมืองไทย และส่งท้ายด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่จะยิ่งทวีความสำคัญ บรรยากาศการอภิปรายสาธารณะ \กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย\" 10 มี.ค. 55 ห้องประชุมชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ที่มา: Book Re:public/facebook.com) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Book Re: public จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ \"กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย\" ที่ห้องประชุมชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิทยากรประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการในคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 หรือ ครก.112 ดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.สมชาย เป็นผู้อภิปรายคนแรก มีรายละเอียดดังนี้ 000 สมชาย ปรีชาศิลปกุล \"ทำไมข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำรู้สึกถูกกระทบ เพราะข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่พยายามจะยกเลิก หรือทำให้ผลของการรัฐประหารมันสิ้นไป มันกำลังกระเทือนสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร มันกำลังทำให้จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหารที่เคยเป็นมา มันเดินต่อไม่ได้ สิ่งนี่ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะฉะนั้นข้อเสนอนี้จึงถูกโต้ตอบ\" หัวข้อที่จะคุยวันนี้ คือ \"กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย\" มีเรื่องที่ตั้งใจจะพูดในวันนี้ 4 เรื่องด้วยกัน ในแง่หนึ่งจะลองพยายามพยายามอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า \"รัฐธรรมนูญ\" กับ \"ประชาธิปไตย\" ในมิติที่มันกว้างขึ้นกว่าความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าในเบื้องต้นถ้าเราเข้าใจปัญหาของเรื่องที่เรากำลังเป็นข้อขัดแย้งของเรา รวมถึงเข้าใจถึงข้อจำกัดต่างๆ ผมคิดน่าจะทำให้เราสามารถมองเห็นทางที่เราจะไปได้กว้างขึ้น เรื่องที่ผมจะพูดมี 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก ความเป็นการเมืองของสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย สอง เพดานความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย เพดานความคิดหมายความว่า เมื่อเราคุยเรื่องนี้แล้ว มีอะไรบ้างที่เป็นกรอบความคิดภายใต้เรื่องนี้ สาม รัฐธรรมนูญสามฉบับของไทย เมืองไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็จริง แต่ผมคิดว่าทั้งหมดเราแบ่งได้ประมาณ 3 เรื่อง สี่ สถานการณ์เฉพาะหน้าจะทำความเข้าใจอย่างไร เรื่องแรก ความเป็นการเมืองของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย คำว่ารัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตย ในแง่หนึ่งเป็นคำที่เป็นภาษาทางการเมือง แม้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่หมายความว่ามันมีความหมายที่ลื่นไหล มันเปลี่ยนแปลงได้ ผมคิดว่าลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ ในความขัดแย้งในทางการเมืองไทยที่ผ่านมา พันธมิตรฯ หรือ นปช. เราเห็นคำว่า \"ประชาธิปไตย\" ก็อยู่ด้วยกับทั้งคู่ ใครเป็นผู้ที่อยู่ในความหมายนี้ถูกต้อง ผมก็ไม่รู้นะครับ มันเป็นคำซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนไปได้ อย่างเช่น เวลาเราพูดว่า \"ประชาธิปไตย\" คืออะไร ในอดีตก่อน พ.ศ. 2475 เวลาพูดถึงประชาธิปไตยมันหมายถึง \"Republic\" ที่ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน คือคำพวกนี้ต่างๆ เหล่านี้มีความหมายที่มันเปลี่ยนได้ ลื่นไหลได้ แต่ในแง่นี้มันไม่ได้หมายความว่าขึ้นอยู่กับใครว่าจะนิยามว่าอะไร เวลาเราบอกว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครอยากนิยามอะไรก็นิยาม ไม่ใช่นะครับ ในแง่หนึ่งมันขึ้นกับการช่วงชิงต่อสู้ทางการเมือง ว่าใครจะสามารถทำให้คำนั้นมีความหมายขึ้น ทำให้ความหมายนั้นยอมรับกันได้ นี่เป็นคุณลักษณะเบื้องต้น เวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า \"รัฐธรรมนูญ\" หรือ \"ประชาธิปไตย\" ก็ตาม มันลื่น มันเปลี่ยนได้ แต่ไม่ได้เปลี่ยนตามใจชอบ แต่เปลี่ยนโดยเป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงทางเมือง ในช่วงเวลาหนึ่งอาจมีความหมายแบบหนึ่ง อีกช่วงเวลาหนึ่งอาจมีความเป็นอีกแบบหนึ่ง ความหมายนี้ในแง่หนึ่งเป็นการต่อสู้ทางแนวคิด เราจะอธิบายว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไรเป็นเรื่องของแนวคิด การรับรู้ของคนในสังคม และสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากคือปฏิบัติการทางสังคม ปฏิบัติการทางสังคมมีความสำคัญมาก นี่เป็นสิ่งเริ่มต้น ที่เวลาเราคิดถึงรัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตย นี่เป็นคุณลักษณะพื้นฐานบางอย่าง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะอธิบายมันว่าอย่างไรก็ได้ มันมีคุณลักษณะบางอย่างที่เป็นหลักการพื้นฐานอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า \"รัฐธรรมนูญ\" หรือ \"ประชาธิปไตย\" ก็ตาม เช่น ถ้าเป็นประชาธิปไตยอย่างน้อยคงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า การเมืองที่สัมพันธ์กับประชาชน การเลือกตั้ง เรื่องที่สอง เรื่องรัฐธรรมนูญ เวลาเราเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทยปัจจุบัน ผมคิดว่ามันมีบางอย่างที่เป็นเพดานความคิดที่สำคัญ หมายความว่า เราเขียนอยู่ภายใต้กรอบประมาณนี้ มันมีกรอบบางอย่างกำหนดให้เราเถียง ถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้กรอบนี้ ผมคิดว่ามีสามเรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน เวลาเราคิดถึงรัฐธรรมนูญในสังคมไทย ในเบื้องต้นนี่เป็นภาพที่เราน่าจะคุ้นเคยกัน เป็นภาพที่เราจะเรียกว่าภาพพระราชทานรัฐธรรมนูญ ใช่ไหมครับ [หมายเหตุ: แสดงภาพพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476] เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดถึง \"รัฐธรรมนูญ\" มันจึงมีความหมายอะไรบางอย่างกำกับอยู่ นอกจากภาพ ถ้อยคำที่ตามมา ซึ่งถ้อยคำจริงๆ ต่างกรรม ต่างวาระนะครับ แต่ตอนหลังถูกนำมาผนวกเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งถ้อยคำนี้ผมคิดว่าคนในสังคมไทยก็ค่อนข้างจะคุ้นเคยนะครับ [หมายเหตุ: หมายถึงพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับแบบปฏิทินสากล หรือ พ.ศ. 2477 ตามปฏิทินเก่า) \"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร\"] รัฐธรรมนูญไทยมีอะไรที่เป็นเพดานความคิดอยู่บ้าง ผมคิดว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง หนึ่ง เรามักอธิบายว่ารูปแบบการปกครองของเราเป็นระบบรัฐสภา โดยมีรูปแบบการปกครองของอังกฤษเป็นต้นแบบ ผมคิดว่านี่คือเป็นกรอบความคิดอันแรกที่สำคัญมากในสังคมไทยและในแวดวงวิชาการ เวลาเราอธิบายระบบรัฐสภาในบ้านเรา เรามักจะตั้งต้นอธิบายว่า อังกฤษเป็นต้นแบบ และพยายามจะเอารูปแบบอังกฤษมาใช้กับเมืองไทย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นแบบนี้ครับ ผมคิดว่าเรามีความอ่อนแอในเรื่องความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาอังกฤษมาก รวมถึงแวดวงวิชาการไทยมีความรู้ไม่มากเกี่ยวกับรัฐสภาอังกฤษ หรือการถกเถียงเรื่องระบบรัฐสภาอังกฤษ พูดแบบนี้ได้อย่างไร อันนี้เอามาจากที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระได้พูด ที่กล่าวว่า เวลานักวิชาการไทยถกเถียงมักจะยกแต่ วอลเตอร์ เบกช็อต (Walter Bagehot) ซึ่งพูดถึงประเด็น พระมหากษัตริย์สามารถมีบทบาททางการเมืองได้ เช่น สนับสนุน ให้กำลังใจกับฝ่ายบริหาร นี่เป็นคำที่ถูกพูดมาตั้งแต่สมัยผมเรียน หรืออย่างน้อย 3-4 ทศวรรษของการเมืองไทย เวลาพูดถึงรัฐสภาอังกฤษมักจะเอางานของวอลเตอร์ เบกช็อตมาอ้างอิง แต่เวลาอ้างอิงนำมาอ้างอิงเป็นส่วนๆ เช่น ข้อถกเถียงของสังคมไทย เรื่องวุฒิสมาชิกควรจะมาจากการเลือกตั้ง บางคนก็บอกว่า \"ไม่จำเป็น ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของเรา วุฒิสภาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง\" ถูกไหม ก็ถูกครับ ถามว่าถูกไหมวุฒิสภาอังกฤษมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไหม ไม่ใช่ครับ มาจากการสืบทอดตำแหน่ง มาจากพระ มาจากนักกฎหมาย มาจากประธานศาลฎีกา เต็มไปหมดเลย แต่ว่าสิ่งที่เวลาเถียงเรื่องระบบรัฐสภา แต่ทั้งหมดนี้ไม่ยอมตอบกรอบใหญ่ที่สำคัญมากที่ว่า รัฐสภาเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับสภา แล้วจบลงด้วยชัยชนะของรัฐสภา พระมหากษัตริย์ค่อยๆ ถอยห่างไปจากระบบการเมือง หรือหลักการที่นักกฎหมายไทยชอบเรียกนะครับ \"Supremacy of Parliament\" หรือ หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา อ้นนี้ ผมคิดว่าเวลาเราอธิบายว่าอังกฤษเป็นต้นแบบ มันเลยกลายเป็นต้นแบบเป็นส่วนๆ แต่ละกลุ่มดึงเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนเองมาอธิบาย แต่ตรงไหนไม่เป็นประโยชน์ ไม่อธิบาย ในแง่หนึ่งเป็นความอ่อนแอของนักวิชาการไทยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ในแง่หนึ่งเราอธิบายเรื่องนี้อย่างเป็นการเมืองมากๆ [แสดงภาพปกหนังสือ \"The English Constitution\" ของวอลเตอร์ เบกช็อต พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1867] ภาพปกหนังสือ The English Constitution โดยวอลเตอร์ เบกช็อต ผมเดาว่าคนอ่านวอลเตอร์ เบกช็อตให้จบในเมืองไทยมีไม่มาก แต่ถูกอ้างเป็นตุเป็นตะ ที่สำคัญคือแบบนี้ ถ้าในทางวิชาการ เวลาเราพูดถึงรัฐสภาอังกฤษ รัฐธรรมนูญอังกฤษ นี่คืองานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดในงานภาษาไทย แต่ถ้าไปอ่านรัฐธรรมนูญอังกฤษ คนที่เขียนงานวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอังกฤษ ตาคนนี้กลายเป็นคนเล็กๆ ในปัจจุบัน คนนี้ไม่ได้เป็นคนที่ใหญ่มากในการอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษ แต่ในสังคมไทยนี่กลายเป็นคนที่กุมการอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษ ในแง่นี้จึงเป็นความไร้พลังของงานวิชาการในเมืองไทย ที่ไม่สามารถพูดถึงเรื่องพวกนี้กันได้เท่าไหร่ อันที่สอง เวลาเมืองไทยพูดถึงรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า เรามักจะเพ่งความสำคัญ หรือให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรมากกว่าการสนใจในสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เวลาที่เราให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ เราให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นเรื่องๆ มีข้อความอะไร แล้วเถียงกันเรื่องนั้น ถามว่าสำคัญไหมก็สำคัญ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราละเลยก็คือเราไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมากเท่าไหร่ ถ้าเราสนใจรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ผมคิดว่าอาจจะทำให้เรามองเห็นภาพอะไรที่ชัดขึ้น เช่น ในเมืองไทย มันมีสิ่งที่เรียกว่า \"รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี\" ในที่นี้ หมายถึงการปฏิบัติ การกระทำใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย ตัวอย่างของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ผมคิดว่าเห็นชัดที่สุดเช่น \"รัฐธรรมนูญจารีตว่าด้วยการฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่\" จารีตประเพณีว่าด้วยการฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร เวลาฉีก คณะรัฐประหารฉีกได้ แต่เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะรัฐประหารร่างไหม จะประกาศใช้ด้วยตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ต้องกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย นี่คือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีซึ่งสืบเนื่องมานับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 จนกระทั่งถึง 2550 ... 50 ปี ครึ่งทศวรรษนะครับ นี่คือรัฐธรรมนูญที่เขียนไหม ไม่เขียน แต่เป็นที่รู้กันว่าถ้ารัฐประหารปุ๊บ ฉีกได้ไหม ... ได้ เขียนใหม่ได้ไหม เขียนได้ แต่ต้องกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย นี่แหละสำคัญมาก คือถ้าถามผม ทำไมข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำรู้สึกถูกกระทบ เพราะข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่พยายามจะยกเลิก หรือทำให้ผลของการรัฐประหารมันสิ้นไป มันกำลังกระเทือนสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร มันกำลังทำให้จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหารที่เคยเป็นมา มันเดินต่อไม่ได้ สิ่งนี่ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะฉะนั้นข้อเสนอนี้จึงถูกโต้ตอบ ถ้าเราสังเกตนะครับ ถูกโต้ตอบจากใคร ... จากคนที่ช่วยกันธำรงจารีตประเพณีอันนี้เอาไว้ ใครบ้าง ... ทหาร เนติบริกร ก็ว่าได้นะครับ กลุ่มชนชั้นนำต่างๆ ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจแบบนี้ เราจะเห็นว่า ทำไมข้อเสนอนี้มันจึงถูกมองว่าแรง แต่ว่าในขณะเดียวกันแบบนี้นะครับ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีในด้านหนึ่งมันไม่ได้หมายความเฉพาะแค่การเพิ่มอำนาจของกลุ่มที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยม ในอีกด้านหนึ่งมันเปิดช่องให้สังคมสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจารีตประเพณีบางอย่างได้ เช่น จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะยอมรับกันก็คือว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวร งุบงิบเขียนกันสามสี่คนทำไม่ได้แล้ว จนถึงวันนี้การเขียนรัฐธรรมนูญมันต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่จะทำต่อไป หรือฉบับหลังจากนี้ก็ตาม ประเภทไปนั่งเขียนกันแล้วเชิญสี่ห้ามาเขียนๆ แล้วประกาศใช้ ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากมากขึ้น ในแง่นี้ ถ้าเราคิดถึงรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีในแง่นี้ ผมคิดว่า มันทำให้เราเห็นว่า อำนาจของสังคมสามารถเข้าไปกำกับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในแง่นี้ผมคิดว่า เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ คือถ้าเราสนใจสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี สาม ที่เป็นเพดานความคิด เวลาเราอธิบายรัฐธรรมนูญ คำอธิบายรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มักจะเป็นคำอธิบายในเชิงนิติสถาบัน หมายความว่า เป็นการมุ่งที่จะอธิบายหลักการหรือโครงสร้างในแบบที่อารยะประเทศทำกัน อย่างเช่น เวลาประมุขของรัฐดำรงตำแหน่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องสาบานว่าจะพิทักษ์ปกปักรัฐธรรมนูญ หรืออธิบายว่าหน้าที่ของรัฐสภาทำอะไร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารคืออะไร ผมคิดว่าอันนี้ในแง่หนึ่ง เรามักจะอธิบายรัฐธรรมนูญในเชิง \"นิติสถาบัน\" ซึ่งถามว่าจุดแข็งมีไหม ผมคิดว่าจุดแข็งมีครับ ในแง่หนึ่งนี่เป็นการอ้างอิงหลักการสากล แต่ในแง่ที่ถูกโต้ตอบอย่างมาก และผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญคือ หลักการที่เป็นสากลต่างๆ เหล่านี้มักจะถูกโต้ตอบด้วย \"คุณลักษณะของความเป็นไทย\" หรือ \"ลักษณะเฉพาะบางอย่างที่เป็นไทยๆ\" คือ \"อ้างหลักการสากลได้ไหม?\" ... ได้\" แต่ว่าเมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นไทย มันต้องหยุดน่ะ มันต้องหยุด ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ หลายๆ เรื่องที่เราพูดถึงโดยใช้หลักการที่เป็นสากล เวลาถูกโต้ตอบมันจะถูกโต้ตอบด้วยคุณลักษณะไทยๆ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรืออะไรแบบไทยๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ ความเป็นสากล หลักการที่เป็นการทั่วไป ที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง พอมาในสังคมไทย มันมีบางอย่างที่ \"ลื้อมาได้ แต่ห้ามข้ามเข้ามาเยอะ โว้ย\" เพราะฉะนั้นในแง่นี้เป็นเพดานความคิดที่สำคัญไม่น้อย เป็น 3 เรื่องที่เวลาเราอธิบายรัฐธรรมนูญเราคงต้องระวัง หรือหมายความว่า เราจะต้องแหวกกรอบเพดานความคิดนี้ไปให้ได้ ด้วยวิธีอย่างไร เดี๋ยวค่อยว่ากันนะครับ เรื่องที่สาม จากข้อมูลที่รู้กันทั่วไปจาก พ.ศ. 2475 จนถึง 2555 80 ปี เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับโดยเฉลี่ยรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งมีอายุ 4 ปี 4 เดือน ในแง่หนึ่งน่ามหัศจรรย์นะครับ พูดแบบง่ายๆ คือวาระของรัฐธรรมนูญเท่าๆ กับวาระของ ส.ส. หรือวาระของรัฐบาลน่ะ 4 ปีเลิก 18 ฉบับในแง่นี้ ถ้าใครเป็นนักเรียนกฎหมาย แล้วอ่านรัฐธรรมนูญไทยแล้วปวดหัวมาก 18 ฉบับ แต่ถ้าถามผมถ้าจะจัดแบ่งรัฐธรรมนูญ เราพบว่ามี 3 ฉบับเท่านั้นแหละ มันมีฉบับแบบที่เรียกว่า รัฐสภานิยม อำนาจนิยม และฉบับที่เรียกว่า กึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย ฉบับรัฐสภานิยม เป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับอังกฤษ ทำให้สภามีอำนาจสูงสุด ระบบราชการถูกกันออกไป หมายความว่า นักการเมืองที่มาจากระบบราชการ ตัวแทนระบบราชการถูกกันออกไป พระมหากษัตริย์อยู่นอกเหนือการเมือง Out of Politics รัฐธรรมนูญฉบับรัฐสภานิยมให้ความสำคัญกับตัวรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ถ้าพิจารณาโดยกรอบนี้ นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับรัฐสภานิยม ในเมืองไทยเคยมีไหม ในเมืองไทยผมคิดว่าเคยมี อย่างน้อยผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 คือตัวอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับรัฐสภานิยม ฉบับอำนาจนิยม เป็นระบบที่ตัวโครงสร้างทางการปกครองไม่สัมพันธ์กับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญที่มาภายหลังการรัฐประหาร \"มีสภานิติบัญญัติไหม?\" \"มี\" \"มีมาจากไหน?\" \"อั๊วเลือกเอา\" ... สมัยก่อนเขาเลือกเอานะครับ ช่วงหลังๆ เขารู้สึกว่าเลือกเองมันน่าเกลียด แทนที่จะเลือกเองน่าเกลียด ก็เลยให้พวกลื้อไปเลือกกันเองก่อน ส่วนพวกลื้อจะมาจากไหนก็ให้พวกอั๊วเลือกก่อน ในแง่หนึ่งก็เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น สิ่งที่เรามองเห็นก็คือมันไม่สัมพันธ์กับประชาชน แล้วระบบราชการสามารถเข้ามาสัมพันธ์กับโครงสร้างทางการเมืองได้ นี่เป็นแบบที่สอง แบบที่สาม ผมคิดว่าเป็นแบบที่มันจะอยู่กับเราน่ะ เป็นแบบกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย หมายความอย่างไร สังคมไทยในโลกปัจจุบันปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ได้ ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงจะรัฐประหารก็ตาม แต่ก็ต้องรีบกลับมามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ว่ารัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ระบบราชการสามารถเข้ามากำกับได้ สามารถเข้ามากำกับการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ถ้าในอดีต รัฐธรรมนูญสมัย 2521 ฝ่ายบริหารสามารถตั้งวุฒิสมาชิกมาเป็นฐานค้ำตัวเอง แต่ปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นคือองค์กรอิสระนั่นแหละ \"มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งได้ไหม?\" \"มีครับ\" \"มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งไหม?\" \"มี แต่เรามีศาลรัฐธรรมนูญ มี กกต. มีศาลปกครอง\" มีอะไรต่ออะไรมากมายเต็มไปหมด เพื่อมากำกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกที คืออาจมีการรัฐประหาร แต่ทั้งหมดต้องเดินกลับเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระบบเลือกตั้ง พร้อมกับมีอำนาจราชการคุมการเลือกตั้งอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย ในห้วงเวลาปัจจุบันเราจะอยู่กับอันนี้ไประยะเวลาหนึ่ง ถ้านับรัฐประหารมาตั้งแต่ 2549 ปีนี้ก็ 2555 ก็ 6 ปีนะครับ อีกไม่นานก็ครบ 10 ปีแล้วนะครับ ผมคิดว่าถึงทุกวันนี้รัฐประหารไม่ใช่คำตอบของความขัดแย้งของการเมืองไทย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหารนะครับ คือการรัฐประหารอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าเกิดมีนายทหารโง่ๆ คือ \"เรากำลังอยู่ในคืนวันอันยาวนานของความขัดแย้งทางเมืองไทย\" ผมคิดว่าที่สำคัญคือว่า เรากำลังต่อสู้หรือเรากำลังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าระเบียบทางการเมือง ซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับกันนะครับ ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ใจกลางหลักของความขัดแย้งโดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเผชิญหน้ากันอยู่แบบนี้ คือรัฐธรรมนูญฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยนี่แหละ เป็นข้อต่อสู้ที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่ามันจะเป็นแบบไหน ผมคิดว่ามันจะออกเป็นกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยแบบเข้มหรือแบบอ่อน แบบเข้ม เป็นอย่างไร คือ มีระบบเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีรัฐบาลจากคะแนนเสียงประชาชน แต่ถูกกำกับไว้ด้วยพลังของอำมาตยาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นทหาร องค์กรอิสระ องคมนตรี วุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ในแต่ละด้านแตกต่างกันไป คือปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้ มีรัฐบาลอยู่ แต่ปล่อยให้มีการควบคุมแบบเข้มข้น ผมคิดว่านี่คือสภาพที่เป็นอยู่ ทีนี้สิ่งที่มีการผลักดันก็ตาม พบคิดว่าถึงตอนนี้ ข้อเสนอหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ผมคิดว่านี่คือความพยายามที่จะผลักให้ระบบรัฐสภามันไปเป็นแบบกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยแบบอ่อน แบบอ่อน คือทำให้สถาบันทางการเมืองจากระบบการเลือกตั้งมีอำนาจมากกว่าโดยสัมพัทธ์เมื่อเปรียบเทียบกับพลังของอำมาตยาธิปไตย ข้อเสนอหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนี้จึงอยู่ในร่มของกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย เพียงแต่ไปทางไหนล่ะ คนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2550 อาจจะอยากได้แบบเข้ม แต่ในขณะที่คนอีกหลายกลุ่มในสังคมไทยพยายามผลักให้เป็นแบบอ่อน คือทำให้สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่มอำนาจมากขึ้น ผมคิดว่านี่คือการเผชิญหน้ากันอยู่ ผมพยายามลองแบ่งดู สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญแบบกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย ผมคิดว่าถ้าแบบอ่อนเราเคยเห็นมาแล้วปี 2517 ปี 2540 ถ้าปี 2550 ก็เป็นแบบเข้มหน่อย เรื่องสุดท้าย ผมมีข้อพิจารณา 3-4 เรื่องด้วยกัน อันแรก รัฐธรรมนูญไทยอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์ คือหมายความว่า ฉีกกัน พร้อมที่จะฉีก พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ โดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ วิถีทางที่ไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญไม่ศักดิ์สิทธิ์ใช่ไหม ใช่ แต่รัฐธรรมนูญไทยสำคัญมากขึ้น หมายความว่า รัฐธรรมนูญเป็นตัวให้ความชอบธรรมแก่ระบอบการปกครอง เป็นตัวที่ให้ความชอบธรรมกับสิทธิต่างๆ มันมีความสำคัญมากขึ้น เพราะในแต่ละช่วงเวลารัฐธรรมนูญจะเป็นตัวบอกว่าใครทำอะไรได้บ้าง มันอาจจะถูกฉีกเมื่อคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย แต่ว่ามันมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นการทวีความสำคัญของมันมากขึ้น มันจึงทำให้รัฐธรรมนูญมีคนโดดเข้ามาต่อสู้ช่วงชิงมากขึ้น นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไป คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า \"นั่น ... มันทำให้คนบางคนถูกตัดสิทธิ์ได้\" เพราะฉะนั้นผมคิดว่าข้อโต้แย้งและข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญจะมีมากขึ้น เพราะมันมีความสำคัญ สิ่งที่เราต้องคบคิดเป็นแบบนี้ครับ คือ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยก็ตาม มันไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยลำพัง มันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแนวคิด การรับรู้ และรวมถึงการปฏิบัติการทางสังคม ผมคิดว่า ถ้ามองตัวอย่างใกล้บ้านเราไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือเกาหลีใต้ก็ตาม ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างทางการปกครอง มันไม่ใช่การเปลี่ยนที่เป็นเพียงแต่การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แต่ทำให้คนในสังคมตระหนักถึงอำนาจมากขึ้น เช่น ในเกาหลีใต้ หรือินโดนีเซียก็ตาม ในเกาหลีใต้ มีการเคลื่อนไหวหลังจากที่เผด็จการล้มลง มีการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้เกิดพลังของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น องค์กรที่จับตาคอรัปชั่นในเกาหลีใต้เป็นองค์กรภาคประชาสังคม แล้วมีผลอย่างจริงจังที่ทำให้การคอรัปชั่นในเกาหลีใต้ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในเมืองไทย อะไรเกิดขึ้น ในเมืองไทยพอเราปฏิรูป หรือเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องคอรัปชั่น เราไปฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ แล้วอะไรเกิดขึ้น อัตราการคอรัปชั่นในเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าการปฏิรูปที่ฝากความหวังไว้กับเทวดาคือมันไม่เวิร์ค มันไม่ทำงาน ผมคิดว่าสิ่งที่ในเกาหลีใต้ทำคือ ทำให้สังคมมันใหญ่ขึ้น ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญ ในอินโดนีเซีย หลังจากเผด็จการทหารลงจากอำนาจ สิ่งที่เขาทำ คือ เคลื่อนไหวและวางแผนกันเลยว่า จะเอาทหารออกไปจากการเมืองอย่างไร ค่อยๆ ไล่ไปทีละขั้นตอน 1-2-3-4-5 ทหารต้องออกจากบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทหารต้องไม่พูดเรื่องทางการเมือง เป็นขั้นๆ ค่อยๆ ทำให้มันเกิดขึ้น แล้วในที่สุดกองทัพเล็กลง แต่ในเมืองไทย ผมคิดว่าน่าเสียดาย ในเมืองไทยเคยมีโอกาสหลังพฤษภา 35 ในแง่หนึ่งเป็นการปะทะระหว่างฝ่ายรัฐสภา กับฝ่ายทหาร ทหารแพ้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเขียนเพียงว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีการคิดถึงมิติอื่นๆ ที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย เช่น จะทำอย่างไรให้ทหารอยู่ภายใต้อำนาจของสังคมมากขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้กองทัพมีอิสระมาก พอมันไม่มีการขยับต่อปุ๊บ สิ่งเราคือเราเห็นคือ คือ คิดแล้วน่าตกใจ จากพฤษภา 35 มาปีนี้จะ 20 ปีพฤษภา เราได้เห็นกองทัพกลับมามีบทบาททางการเมือง ผมคิดว่าอยู่ในระดับที่ไม่สู้จะแตกต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่าไหร่ อันนี้ผมคิดว่าสำคัญ เวลาเราพูดถึงเรื่องการปฏิรูป หรือผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญก็ตาม ต้องคิดถึงอะไรต่อมิอะไรให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะวิธีการที่จะทำให้สังคมมีอำนาจมากขึ้น ในทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่าฝากความหวังการตรวจสอบหรือการสร้างประชาธิปไตยไว้กับองค์กรที่เป็นทางการแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะพรรคการเมือง องค์กรอิสระ หรืออะไรก็ตาม การจัดตั้งองค์กรของคนในสังคมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สถานการณ์เฉพาะหน้าที่เราเผชิญอยู่ เราไม่ได้เผชิญสถานการณ์เรื่องการช่วงชิงด้วยกำลังทางอาวุธหรือจำนวนมือแต่เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าเรายังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องการเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจ ซึ่งการเปลี่ยนการรับรู้ต่างๆ ในแง่หนึ่ง มันต้องมีปฏิบัติการทางสังคม ผมคิดว่านี่สำคัญ และอันหนึ่งที่อยากฝากคือ การผลักดันไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย หรือการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนทางสังคม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่มีสงครามครั้งสุดท้ายนะครับ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นได้แบบชั่วข้ามวัน ผมคิดว่าใครที่ประกาศว่า \"นี่แหละนี่คือสงคราม ที่จะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน พาพวกเราไปสู่สังคมที่ดีงาม ชั่วข้ามวันข้ามคืน\" ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนไปสู่สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น เสมอภาคมากขึ้น และประชาธิปไตยมากขึ้น ผมคิดว่าเราต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะฉะถ้าใครชักชวนให้ไปเข้าร่วมสงครามครั้งสุดท้ายนะครับ ก็ระวังตัวไว้ด้วยนะครับ คือผมไม่แก่มากนะครับ แต่ผมเห็นสงครามครั้งสุดท้ายมาหลายครั้งแล้วครับ และพบว่ามันไม่สุดท้ายสักทีว่ะ เพราะฉะนั้นนี่เป็นภาพรวมที่ผมลองเสนอให้เห็นนะครับว่าสถานการณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของเรานั้นเป็นอย่างไร"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท