Skip to main content
sharethis

‘เกษียร’ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย เมื่อพระราชอำนาจนำและฉันทามติภูมิพลเกิดการเปลี่ยนแปลงคลี่คลาย สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่แฝงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไทยๆ จึงเริ่มถูกร้องทัก

  • สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไทยๆ แต่ที่ผ่านมาถูกกลบปิดด้วยพระราชอำนาจนำและฉันทามติภูมิพล
  • Walter Bagehot เสนอแนวคิดว่าระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมี 2 ส่วนคือส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์หมายถึงสถาบันกษัตริย์และส่วนที่ทรงประสิทธิภาพหมายถึงนักการเมือง โดยผู้ที่ใช้อำนาจจริงคือฝ่ายหลัง
  • การ ‘ร้องทัก’ ต่อสาธารณรัฐจำแลงและเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์เคยเกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่อดีต
  • เกษียรเสนอว่ามีเงื่อนไขอยู่ 3 ประการที่จะทำให้เกิดเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์คือผู้ที่แสดงบทบาทเป็น Political Subject หรือ Political Object, กลุ่ม Hyper-royalism และบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี
  • แนวโน้มของการเมืองไทยจะขยับไปสู่สาธารณรัฐจำแลงหรือเสมือนสาธารณรัฐขึ้นอยู่กับเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง Monarchy Military และ USA หรือ China

งาน Direk Talk ในหัวข้อ ‘วิกฤตโลก-อาเซียน-ไทย: ความเปราะบาง ความย้อนแย้ง และความเสื่อมถอย’ เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถานำเรื่อง ‘สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์: สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญไทย’

เป็นการวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการเมืองไทยผ่านแนวคิดสาธารณรัฐจำแลง (Disguised Republic) และเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ (Virtual Absolutism) ว่าส่วนไหนจะขึ้นมานำขึ้นอยู่กับสมการของเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่ประกอบด้วย Monarchy Military และปัจจัยภายนอกอย่าง USA หรือ China

เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทศวรรษครึ่งแห่งความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ผมอยากจะพูดถึงแนวโน้ม 2 อย่างซึ่งผมเชื่อว่าดำรงอยู่ในตัวระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญไทยแล้วมันมีความขัดแย้งกันและมันแสดงออกในช่วงการเมืองที่ผ่านมาอย่างชัดเจนขึ้นประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา

สรุปเลย แล้วเดี๋ยวค่อยขยายความอีกที หลังสิ้นสุดสงครามประชาชนในประเทศที่รบกับคอมมิวนิสต์ปี 2528 หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นระดับภูมิภาคและโลกก็คือสิ้นสุดสงครามอินโดจีนในเขมรและค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายเสรีประชาธิปไตยยุติสงครามเย็นกันก็ประมาณปี 2531 ถึง 2534 และผ่านเหตุการณ์พฤษภามหาโหดปี 2535 พอผ่านคลื่นความเปลี่ยนแปลงขัดแย้งเหล่านี้ดูเหมือนว่าระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยหรือที่เราเรียกกันแบบไทยๆ ของเราว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบนี้ดูจะมีความมั่นคงลงตัวพอสมควรตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

ในความหมายที่ปลอดจากการคัดค้านทางการเมืองต่อระบบทั้งระบบ หรือมีฝ่ายค้านแต่ไม่ได้ค้านระบบทั้งระบบ และไม่มีฝ่ายค้านที่อยู่ข้างนอกระบบและตั้งใจจะล้มระบบอย่างเช่นที่เคยมีมาแต่ก่อนคือขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย เป็นต้น ดังนั้น ถึงจะมีความขัดแย้ง มีการคัดค้าน ต่อสู้ทางการเมืองยังไงก็อยู่ภายในระบบนี้ อย่างไรก็แล้วแต่ ในช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมาจากตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันคือ 2564 การเมืองการปกครองไทยก็ประสบความไร้เสถียรภาพยิ่งอย่างต่อเนื่อง ผมสรุปข้อมูลมาให้ดูว่า 15 ปีที่ผ่านมามันยุ่งขนาดไหน

15 ปีที่ผ่านมาเรามีนายกฯ 6 คน มีรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีม็อบใหญ่ก่อตัวกันต้านรัฐบาล 9 รอบ และมีการปะทะ ปราบปราม สลายการชุมนุม 5 ยก ในท่ามกลางความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนี้เองระบอบที่ดูเหมือนมั่นคงลงตัวมันปรากฏกระแสคัดค้าน ที่เป็นทางเลือกในความเห็นผม เชิงระบบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งมีผู้ระบุออกมา คนที่ระบุออกมามีทั้งคนในวงการกฎหมาย คนในวงการการเมือง คนในวงการประวัติศาสตร์ต่างกรรมต่างวาระกันเป็น 2 กระแส ที่น่าสลดใจก็คือในช่วง 15 ปีนี้ผมคิดว่าเรามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมืองเชิงระบบครั้งนี้หลายร้อย บาดเจ็บเรือนพัน และเสียหายทางเศรษฐกิจผมคิดว่าน่าจะถึงแสนล้านบาท

หลังจากนี้ผมจะรวบยอดความคิดให้เห็นก่อนว่าตัวระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นอย่างไร รวบยอดความคิดที่ปรากฏให้เห็นก่อนว่าความรู้สึกหวั่นวิตกต่อระบอบสาธารณรัฐจำแลงถูกร้องทักออกมาอย่างไร และความรู้สึกวิตกต่อระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ถูกร้องทักออกมาอย่างไร ผ่านความคิดเห็นของคนในวงการต่างๆ

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

สาธารณรัฐจำแลง

เราเริ่มที่อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ของเรา อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปัจจุบันท่านเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านได้สรุปรวบยอดซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนออกซึ่งแก่นที่น่าสนใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ในคำนำของหนังสือที่ท่านเขียนเมื่อปี 2549 กรณี ร. 7 ทรงสละราชสมบัติ

‘ทั้งนี้ควรตระหนักและเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า Monarchy กับ Democracy นั้นเป็นแนวความคิดที่อยู่ในคู่ตรงข้ามกันและเป็นปฏิปักษ์กันมานับตั้งแต่สมัยโบราณ (เนื่องด้วย Monarchy หมายถึงระบอบของการปกครองของบุคคลเพียงคนเดียว ตรงกันข้ามกับ Democracy ที่หมายถึงการปกครองของคนส่วนใหญ่เสมอ ฉะนั้นหากจะกล่าวเป็นหลักการแล้ว การปกครองโดยบุคคลคนเดียวจะนำมาผสมจนกระทั่งกลายเป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่คงจะไม่ได้) และเราก็มิอาจจะนำคำทั้งสองมาผูกสัมพันธ์กันจนกลายเป็นแนวความคิด (Concept) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างง่ายๆ ดังที่เกิดขึ้นและปรากฏในสังคมการเมืองไทยในห้วงเวลานี้’

ท่านรองทักว่าของที่ดูเหมือนโดยหลักการไม่น่าจะเข้ากันได้ มันผสมและเข้ากันได้ออกมาเป็นสูตรที่น่าสนใจหรือเป็นสูตรผสมแบบไทยๆ

‘ดังนั้น การที่แนวความคิดทั้งสองซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันสามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างกลมกลืนจึงควรนับว่าเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและทางปัญญาหรืออุดมการณ์ของโลกสมัยใหม่โดยแท้’

อันนี้คือแก่นที่สะท้อนถึงระเบียบอำนาจก่อนหน้าที่เรามีมาก่อนที่จะเกิดวิกฤตในรอบ 15 ปีนี้ แล้วการท้าทายก็เกิดขึ้น เป็นคำกล่าวของอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตอนที่ท่านกล่าวคำกล่าวนี้ท่านเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหาร 2549 คือท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านร้องทักระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อพรรคตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเราเรียกกันว่าระบอบทักษิณว่า มันเป็นปัญหา มันเหมือนระบอบประธานาธิบดี คำพูดของท่านซึ่งกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550

‘ระบบของปี 2540 พลาดที่มีบัญชีเดียวทั้งประเทศ ทำให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในประเทศ แกนึกว่าพรรคแกมีคะแนนเสียงประชาชนสนับสนุน 14 ล้าน 19 ล้าน อหังการ มมังการ จะคิดเทียบชั้นเป็นเจ้าแผ่นดิน มันไม่ถูกหลักของระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบบรัฐสภา มันไม่ใช่ประธานาธิบดี’

เป็นเสียงร้องทักว่าดูเหมือนมีความเอนเอียงออกไปจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกไปในทางระบบประธานาธิบดีหรือที่ผมอยากจะเรียกว่าสาธารณรัฐจำแลง

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

ในทางกลับกันเมื่อปี 2562 ก็มีการร้องทักอีกแบบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไปในอีกทาง เป็นบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อ หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ ท่านเสนอว่าระบอบตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในทางปฏิบัติได้เปลี่ยนไปจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ก็ไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตยล้วนๆ ท่านอธิบายว่า

‘หน้าใหม่นั้นคือเราได้เปลี่ยนระบอบปกครองจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว โดยไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ต้องผ่านประชามติ และโดยไม่มีการยึดอำนาจด้วยกำลังของฝ่ายใดเลย’

ในตอนท้ายบทความท่านสรุปอีกทีหนึ่ง

‘แต่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาซึ่งส่วนหนึ่งคือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจาก สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ฝ่ายบริหารต้องได้รับพระบรมราชานุญาตและความไว้วางใจจากพระมหากษัตริย์ เหตุดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับการบริหารของนายกรัฐมนตรีเพราะไม่ได้ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หลักการ The King Can Do No Wrong ก็ยังอยู่ จึงไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตย’

คือท่านสรุปโดยการยกลักษณะต่างๆ ที่ท่านเห็นและมันขัดแย้งย้อนแย้งกัน มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รู้จักและมันก็ไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตยล้วนๆ มันเป็นระบบอะไร

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนคือ 24 มีนาคมต้นปีนี้ครบรอบ 2 ปีของการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคก้าวไกลซึ่งก็คือส่วนที่สืบเนื่องมาจากพรรคอนาคตใหม่ได้จัดแถลงข่าว แล้วก็ขึ้นเป็นโลโก้ขึ้นมาสรุปปัญหาที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลมองว่าเป็นปัญหาการเมืองไทย

พรรคก้าวไกลระบุเรียกระบอบการเมืองปัจจุบันเมื่อปลายมีนาคม 2564 ว่า ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutist authoritarian dictatorship) ซึ่งผมสรุปว่าสิ่งที่ท่านทักน้ำเสียงคล้อยไปกลับความเห็นของอาจารย์นิธิ มันคือตัวอย่างหรือการเห็นถึงระบบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

ระบอบที่ฝังแฝงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นั่นคือตัวอย่างของการเห็นและร้องทักระเบียบการเมืองเดิมและระเบียบการเมืองที่แยกแย้งออกไป 2 ทางข้อเสนอหลักของผมคืออะไร เกี่ยวกับสาธารณรัฐจำแลงหรือ Disguised Republic กับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์หรือ Virtual Absolutism ผมเสนอว่า

สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์เป็นระบอบการเมืองทางเลือกต่างหากที่แปลกต่างออกไปจากระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเดิม มันฉีกออก ด้านหนึ่งออกไปเป็นสาธารณรัฐจำแลง ด้านหนึ่งออกเป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปรากฏขึ้นของระบอบทางเลือกทั้งสองในรอบทศวรรษครึ่งที่ผ่านมาสะท้อนสภาพที่เงื่อนไขซึ่งเคยรองรับ ค้ำจุน ผลักดันระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่เดิมได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป

เงื่อนไขเหล่านั้นได้แก่สิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าพระราชอำนาจนำหรือ Royal hegemony และฉันทามติภูมิพล The Bhumibol consensus เงื่อนไขเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปทำให้ระเบียบอำนาจเดิมเสื่อมถอยลงและเปิดช่องให้ระบอบสาธารณรัฐจำแลงกับสัมบูรณาญาสิทธิราชย์ปรากฏขึ้นจนผู้คนพากันร้องทัก

ต่างจากระบอบทางเลือกอื่นของไทยก่อนหน้านี้ซึ่งมีที่มาต่างหากจากนอกระบบ เช่น การปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ สังคมไทยเคยเผชิญกับความท้าทายเชิงระบบมาก่อนคือระบอบคอมมิวนิสต์ ความต่างคือระบอบคอมมิวนิสต์มันอยู่ข้างนอกจริงๆ มันไม่เกี่ยวเลยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในรอบนี้ทั้งระบอบสาธารณรัฐจำแลงและเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ไม่เหมือนระบอบคอมมิวนิสต์แต่เก่าเพราะมันเป็นแนวโน้มที่ฝังแฝงหรืออยู่ข้างในตัวระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป มันจึงโผล่ ระบอบทางเลือกทั้งสองเป็นแนวโน้มแตกต่างขัดแย้งที่ฝังอยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยเองมาแต่ต้น

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

เริ่มที่ Walter Bagehot

มันเริ่มที่หนังสือเล่มนี้ มันเป็นหนังสือที่แปลกๆ เพราะว่ามันเขียนตั้งแต่ปี 1867 คนเขียนเป็นคนอังกฤษ Walter Bagehot ชื่อ The English Constitution มันคือคัมภีร์หลักเวลานักวิชาการที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หรือแม้แต่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เหล่านี้เป็นนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อ เป็นนักรัฐศาสตร์และก็มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อสถาบันกษัตริย์ในแง่ความจงรักภักดี เวลาต้องอธิบายบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจะวิ่งกลับไปที่หนังสือเล่มนี้และจะอ้างอิงข้อคิดของ  Walter Bagehot โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าอะไรคือสิทธิบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยดูอังกฤษเป็นตัวแบบก็จะบอกว่ามี 3 ประการ

สิทธิทางการเมือง 3 ประการของสถาบันกษัตริย์ในความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ ได้แก่ สิทธิที่จะทรงได้รับการปรึกษาหารือ (the right to be consulted) สิทธิที่จะทรงส่งเสริมกำลังใจ (the right to encourage) และสิทธิที่จะทรงตักเตือน (the right to warn) ก็จะวนอยู่ที่ 3 ประเด็นนี้ ที่แปลกก็คือประเด็นที่อ้างกันเรื่องนี้เป็นย่อหน้าเดียวอยู่ที่หน้า 111 ในการอภิปรายเรื่องนี้ยาว 4 หน้าครึ่งของบทเดียวคือบทที่ 2 ว่าด้วย The monarchy ซึ่งมีจำนวน 40 กว่าหน้าในหนังสือ 8 บทที่ยาว 208 หน้า คำถามคือแล้วทั้งเล่มพูดอะไร

พอผมไปดูทั้งเล่มและดูประวัติคนเขียนก็ตะลึง คนเขียนเป็นใคร เนื้อหาโดยรวมของหนังสือนี้ที่เป็นแม่บทหลักของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษจะบอกว่าอะไรบ้าง

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

Walter Bagehot เกิด 1826 ถึง 1877 เป็นปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์มีชื่อของอังกฤษ เป็นผู้บริหารตัวกลั่นที่เข้าบริหารนิตยสาร The economist สืบต่อจากพ่อตา แล้วแกปลุกปั้นมันจนกลายเป็นนิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของโลกในสมัยนั้นต่อมาจนถึงปัจจุบัน แกคิดยังไง แกมองยังไง

ทัศนะของ Walter Bagehot พูดรวบรัดให้ถึงที่สุดเป็นจุดยืนนักวิเคราะห์การเมืองชนชั้นกระฎุมพีที่เลือดเย็น เขาไม่ใช่ Royalist ไม่ใช่ Sentimental เขาไม่ได้ปลาบปลื้มดื่มด่ำกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษแบบตาเชื่อมตารื้นหรือหลับหูหลับตา ไปอ่านดูจะไม่ได้อารมณ์ความรู้สึกแบบนั้นเลย แกวิเคราะห์แบบเลือดเย็นตรงไปตรงมา แกมองสถาบันกษัตริย์แบบ Realist, Instrumentalist คือแบบสมจริงมองว่าเป็นอุปกรณ์อันหนึ่งของระบอบการเมือง เช่น Walter Bagehot เสนอว่าเหตุผลสำคัญที่สุดที่ควรคงสถาบันกษัตริย์อังกฤษไว้สืบต่อไปภายใต้ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญที่อำนาจเปลี่ยนไปแล้ว คำตอบของ Bagehot เพราะประชาชนอังกฤษส่วนใหญ่ยังโง่อยู่จึงควรมีสถาบันกษัตริย์อังกฤษไว้ต่อไป แล้วแกยังมีเชิงอรรถด้วยว่าถ้าไม่เชื่อว่าประชาชนอังกฤษโง่ลองเข้าไปคุยกับคนใช้ในครัวหลังบ้าน

ดังนั้น สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะช่วยให้ชาวอังกฤษยอมรับระเบียบอำนาจใหม่ ที่เอาเข้าจริงอำนาจการเมืองที่แท้ไม่ได้อยู่กับสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป หากอยู่กับนักการเมือง รัฐบาล รัฐสภาได้ง่ายขึ้น ดังเขาบรรยายเปรียบเทียบด้วยอุปมาอุปไมยถึงขบวนแถวราชพาหนะรถม้าของกษัตริย์อังกฤษ เข้าใช้ฉากขบวนเสด็จโดยรถม้าของกษัตริย์อังกฤษ แล้วจะมีรถม้าของนายกฯ ตาม

ส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์และส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ

Bagehot เขียนว่า รัฐธรรมนูญอังกฤษในรูปแบบที่สัมผัสจับต้องได้เป็นฉะนี้คือมวลประชามหาชนยอมสยบเชื่อฟังเฉพาะคนไม่กี่คน และเมื่อคุณเห็นคนเหล่านี้ คุณก็จะสังเกตรู้ว่าแม้พวกเขาไม่ใช่ชนชั้นต่ำสุด และก็ไม่ใช่ชนชั้นไม่น่านับหน้าถือตา แต่กระนั้นก็จัดเป็นชนชั้นตีนติดดินที่หยาบกร้าน อันเป็นคนจำพวกสุดท้ายในโลกที่หากต่อแถวกันมาเป็นขบวนแล้ว ชาติที่ใหญ่มหึมาจะนิยมชนชื่นเฉพาะคนพวกนี้ลงคอ

‘เอาเข้าจริงมวลประชามหาชนอังกฤษยอมเคารพนบนอบสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ผู้ปกครองของตนต่างหาก พวกเขาเคารพนบนอบสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่าการแสดงละครทางสังคม... ผู้ที่ดูเหมือนปกครองชาติอังกฤษนั้นก็ดุจเดียวกับบรรดาบุคคลที่สง่าน่าเกรงขามที่สุดในขบวนแห่ พวกนี้นี่แหละที่ส่งอิทธิพลต่อม็อบ พวกนี้นี่แหละที่คนดูแซ่ซ้องร้องเชียร์ ขณะที่ผู้ปกครองตัวจริงแอบแฝงอยู่ในรถม้าคันรอง ไม่มีใครใส่ใจหรือไต่ถามเรื่องพวกเขา แต่กระนั้นผู้คนก็เชื่อฟังพวกเขาโดยนัยอย่างไร้สำนึกเนื่องจากความวิเศษสุดอลังการของบรรดาผู้บดบังรัศมีและนำหน้าพวกเขาไป’

แกบรรยายฉากรถมาเพื่อจำลองความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์อังกฤษกับกลุ่มนักการเมือง

แกเสนอ 2 แนวคิดในการวิเคราะห์คือสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญอังกฤษไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีเป็นธรรมเนียมกฎหมายที่สั่งสมกันมา แกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เรียกว่าส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์ (The dignify parts) กับส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ (The efficient parts) แกบอกว่าต้องแยกวิเคราะห์ตัวรัฐธรรมนูญอังกฤษออกเป็น 2 ส่วนก่อน

ส่วนที่เรียกว่าทรงเกียรติศักดิ์คือบรรดาส่วนที่กระตุ้นและผดุงไว้ซึ่งความเคารพยำเกรงในหมู่ประชากร ประกอบด้วยสถาบันกษัตริย์ สภาขุนนาง ส่วนที่ทรงประสิทธิภาพคือบรรดาส่วนที่รัฐธรรมนูญอาศัยมันดำเนินงานและปกครองในทางเป็นจริง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สภาสามัญ

แกวิเคราะห์การเมืองอังกฤษเป็นยุคๆ อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์กับส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิมของอังกฤษส่วนที่ทรงประสิทธิภาพกับส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์บวกรวมกันอยู่ในตัวพระมหากษัตริย์ แต่ว่าในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญตอนต้น อํานาจอธิปไตยแบ่งปันกันระหว่างกษัตริย์กับสภาเจ้าที่ดินโดยมีสภาสามัญคอยตรวจสอบบ้างในฐานะตัวแทนประชาชน

แต่ในปัจจุบันตอนที่แกเขียนหนังสือเล่มนี้ซึ่งแกเรียกว่าเป็น Mature constitution monarchy คือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่สุกงอมแล้วนับแต่ปี 1832 เป็นต้นมา ระบอบสาธารณรัฐได้แฝงฝังตัวเองเข้าไปอยู่ใต้อ้อมกอดของสถาบันกษัตริย์โดยแยกส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์กับส่วนที่ทรงประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญออกจากกัน แล้วเชื่อมต่อยึดโยงเข้าด้วยกันอีกที รักษาส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์ไว้เพื่อปิดงำอำพรางและช่วงชิงความจงรักภักดีมาให้แกส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ

ถึงตอนสรุป Bagehot เสนอว่า Mature constitution monarchy หรือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่สุกงอมแล้วคือ A Disguised Republic คือสาธารณรัฐจำแลง Bagehot เรียกระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษที่ซึ่งบรรดาส่วนประกอบที่เคยเป็นเพียงภาคผนวกของสถาบันกษัตริย์กลายเป็นแก่นสารใจกลางของสาธารณรัฐ เพื่อปิดงำอำพรางการเปลี่ยนย้ายอำนาจแบบปฏิวัติที่ได้เกิดขึ้นเอาไว้จากมวลมหาชนภายใต้ฉากบังหน้าของรัฐธรรมนูญ นี่เป็นแนวโน้มหนึ่งที่เป็นไปได้ของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญคือกลายเป็นสาธารณรัฐจำแลง เป็นแนวโน้มหนึ่งที่ Bagehot ร้องทักไว้แต่ต้น โดยอำนาจบริหารที่แท้จริงตกอยู่กับนักการเมืองกระฎุมพี สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงประมุขเชิงสัญลักษณ์ในนามที่ช่วยตกแต่งประดับประดาอำนาจรัฐแบบทุนนิยม ประโยชน์นิยมของกระฎุมพีให้อลังการน่าเคารพ

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

โชกุนกับรูปเทพารักษ์

นี่แหละที่ผมคิดว่าคุณคำนูณ สิทธิสมานก็ดี คุณจรัญ ภักดีธนากุลก็ดีรับไม่ได้ มีสภาพเมืองไทยตอนไหนไหมที่คล้ายกันแบบนี้ เราคิดต่อยังไงได้บ้าง ผมคิดว่าฝันร้ายทำนองสาธารณรัฐจำแลงดูจะหลอนอยู่เบื้องหลังคำกล่าวของ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมานที่ว่าท่านรับหลัก The King Can Do No Wrong ไม่ได้ ถ้ามันเป็น The King Can Do Nothing ท่านอยากให้ The King Can Do Something ท่านพูดไว้ในหนังสือชื่อดังของท่านซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุคต้น ปรากฏการณ์สนธิจากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้าหน้า 70 ถึง 76

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

หรือคำกล่าวของคุณจรัญ ภักดีธนากุลที่อ้างถึงข้างต้น ซึ่งกลายเป็นว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่มีบัญชีเดียวทั้งประเทศจะนำไปสู่ระบอบประธานาธิบดี เอาเข้าจริงในโลกเรานี้มีระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งแบบนี้คือเนเธอร์แลนด์ แล้วมันก็ไม่ได้กลายเป็นระบอบประธานาธิบดีแต่อย่างใด ดังนั้น ผมคิดว่าที่ท่านจรัญวิตกไม่ใช่ Real Republic ท่านวิตก  A Disguised Republic

คราวนี้ผมอยากเสนอว่าเอาเข้าจริงเราผ่านช่วงของระบอบสาธารณรัฐจำแลงมาอยู่ เพียงแต่ผู้ปกครองเป็นนายทหาร ผมอยากพาท่านแวะไปดูงาน 2 ชิ้นที่เขียนต่างกรรมต่างวาระกัน แต่พ้องต้องตรงกันอย่างน่าสนใจ งานชิ้นแรกของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เขียนปี 2516 เพราะ อมธ. หลังเกิดเหตุ 14 ตุลาคม ส่งจดหมายไปหาอาจารย์ปรีดีที่ฝรั่งเศสขอให้เขียนบทความให้ อาจารย์ปรีดีก็เขียนให้ชื่อ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม อาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สันก็เขียนบทความของท่านในปี 2520 ชื่อ บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม ผมเชื่อว่าทั้งสองท่านไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว

ข้อที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าในจังหวะของการวิเคราะห์ระบอบเผด็จการทหารในเมืองไทย ทั้งคู่ใช้ความเปรียบเหมือนกันคือโชกุนกับรูปเทพารักษ์ อาจารย์ปรีดีเขียนเรื่องนี้ว่า เมื่อศตวรรษที่ 11 ในประเทศญี่ปุ่นได้มีผู้แสดงว่าเคารพพระจักรพรรดิเป็นที่ยิ่งแล้ว จึงเทิดทูนพระองค์ท่านเสมือนเทพารักษ์สืบสายจากเทพเจ้าดวงอาทิตย์ ให้พระองค์หมดพระราชอำนาจและภารกิจแผ่นดิน โดยทรงบำเพ็ญกรณีในพิธีศาสนาและประทับพระราชลัญจกรตามที่ผู้เผด็จการระบบโชกุนต้องการเท่านั้น

อาจารย์เบเนดิกเขียนว่า คนที่ช่วยทำให้ยุคแรกของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่เป็นลัทธิทหารมีลักษณะแบบโชกุนและจากนั้นก็เปลี่ยนบรรยากาศทั้งหมดของการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิงได้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

โดยบังเอิญทั้งคู่คิดถึงระบอบเผด็จการทหารโดยคิดถึงโชกุนเหมือนกัน พระจักรพรรดิไม่ได้มีอำนาจจริง

รูปเทพารักษ์อาจารย์ปรีดีเขียนว่า ประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ปัจจุบันของหลายประเทศที่สถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือนเป็นรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้านั้นก็เพื่อบุคคลอื่นมีอำนาจเผด็จการ

ขณะเดียวกันอาจารย์เบนก็พูดถึงว่า พัฒนาการที่สำคัญนี้จึงช่วยให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับรูปเทพารักษ์อันมีค่ายิ่งของชาติ

ภายหลังปี 2475 จึงพบว่าความสนใจในการควบคุมกษัตริย์ที่เป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดจากสภาพการณ์ในประเทศของครอบครัวพระมหากษัตริย์เอง ในปลายพุทธทศวรรษ 2470 และต้นพุทธทศวรรษ 2480 รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ แล้วทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่โรงเรียนในต่างประเทศ ผลก็คือในประเทศเกือบจะไม่มีการดำรงอยู่ในทางกายภาพของสถาบันกษัตริย์ จนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ไม่นานพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทว่า ก็สวรรคตในเวลาต่อมาจากการต้องกระสุนปืนโดยที่ทุกวันนี้รูปคดีก็ยังคงเป็นปริศนา ทำให้พระราชอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันแต่เมื่อครองราชย์แล้วยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ดังนั้น จึงไม่อาจมีบทบาททางการเมืองที่เป็นอิสระได้

กระบวนการทำให้เป็นรูปเทพารักษ์บรรลุระดับไคลแมกซ์ในปี 2514 เมื่อจอมพลถนอมกิตติขจรปรากฏในจอโทรทัศน์ภายหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง และทำพิธีเปิดหนังสือพระบรมราชโองการที่วางมาในถาดทองคำต่อหน้าผู้ชมเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาได้รับความเห็นชอบจากรูปเทพารักษ์นั้น

ข้อวิเคราะห์ของอาจารย์ปรีดีและอาจารย์เบนพูดถึงระบอบเผด็จการทหารภายใต้สฤษดิ์กับถนอม ขณะที่ข้อท้วงติงของคุณจรัญ ภักดีธนากุล ของ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน พูดถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงน่าสนใจว่าอะไรคือความแตกต่าง ผมคิดว่าความแตกต่างระหว่างสฤษดิ์-ถนอมกับทักษิณก็คือประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ฝั่งหนึ่งยึดอำนาจมาอีกฝั่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งและความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์

ความสัมพันธ์ที่กลับตาลปัตร

ผมจะขยับไปเรื่องเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ เรื่องนี้ Bagehot ไม่ได้เขียนไว้ แต่พอผมอ่านไปถึงตอนจบได้ข้อสรุปของ Bagehot ว่าระบอบอังกฤษถึงแม้จะมีสถาบันกษัตริย์เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เอาเข้าจริงเป็น Disguised Republic ถ้าระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถจะกลายเป็น A Disguised Republic ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนดังที่ Bagehot ชี้ไว้ใน The English Constitution แล้ว เป็นไปได้ไหมว่าโดยตรรกะกลับกันมันก็อาจจะเกิดแนวโน้มกลับตาลปัตรกลายเป็น Virtual Absolutism หรือเสมือนระบอบสัมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เหมือนกันภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนอีกแบบหนึ่ง

นั่นแปลว่าถ้ามันกลับตาลปัตรความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์กับส่วนที่ทรงประสิทธิภาพก็จะกลับตาลปัตรกัน โดยส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์กับส่วนที่ทรงประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญเข้ามาเชื่อมต่อสัมพันธ์กันโดยกลับตาลปัตรความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบอบ Disguised Republic ฝ่ายแรกอยู่เหนือฝ่ายหลังและหลอมรวมยึดโยงเข้าด้วยกันในบางระดับ ในบางมิติที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบอบ Virtual Absolutism อันนี้เป็นข้อทดลองเสนอ

ที่น่าสนใจก็คือผมคิดว่ามีคนร้องทักอะไรทำนองนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2475 นั่นคือกลุ่มกบฏคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ที่คิดยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 คณะเก๊กเหม็งเป็นคณะนายทหารผู้น้อยยศสูงสุดก็ประมาณร้อยเอก พันตรี โดยสมาชิกฝ่ายข้างมากมีหัวถอนรากถอนโคนข้อคิดของฝ่ายนี้ต้องการเปลี่ยนจาก Absolute Monarchy เป็น Republic แต่ฝ่ายประนีประนอมต้องการแค่เปลี่ยนเป็น Constitutional Monarchy หรือ Limited Monarchy ทว่า ต่อมาเมื่อขยายสมาชิกออกไป มีทหารเข้ามาร่วมมากขึ้น ฝ่ายถอนรากถอนโคนกลายเป็นเสียงข้างน้อย ฝ่ายประนีประนอมกลายเป็นเสียงข้างมาก ในที่สุดก็เลยตกลงกันว่าคณะเก๊กเหม็งเอาแค่ Constitutional Monarchy วันนี้มาจากการค้นคว้าของอาจารย์ณัฐพลใจจริงในบทความชื่อ สยามบน “ทางสองแพร่ง”: 1 ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. 130 ลงในศิลปะวัฒนธรรมเมื่อปี 2555 ท่านอ้างอิงข้อความบางตอนที่น่าสนใจด้วย

ท่านบอกว่าร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติให้เหตุผลว่าสยามเหมาะกับการปกครองแบบ รีปับบลิ๊ก มากกว่า ลิมิตเต็ด มอนากี้ เนื่องจากหากสยามปกครองแบบลิมิตเต็ด มอนากี้ กษัตริย์อาจกลับไปอยู่เหนือกฎหมายแบบเดิมได้อีก สมาชิกฝ่ายถอนรากถอนโคนท่านอื่นก็แสดงความวิตกกลัวการหมุนกลับ หวนกลับ ว่าอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้ลิมิตเต็ด มอนากี้เช่นกัน

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

Monarchy และ Military

เราย้อนไปดูตัวอย่างที่อาจารย์ปรีดีกับอาจารย์เบเนดิกต์พูดถึงคือสฤษดิ์กับถนอม ผมอยากชวนดูบทความของนักวิชาการ 2 ท่านเป็นนักวิจัยอเมริกันชื่อ Paul Chambers และเป็นอาจารย์ไทยอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร นภิสา ไวฑูรเกียรติ (Napisa Waitoolkiat) ท่านเขียนบทความร่วมกันออกมาเมื่อปี 2016 ชื่อ The resilience of monarchized military in Thailand ท่านเสนอแนวคิด Monarchized military เอาคำว่า Monarchy มาไว้ข้างหน้าแล้วทำให้เป็น verb แบบอเมริกัน Monarchized military ถ้าแปลเป็นไทยแปลว่าทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บทความของท่านเสนอว่าการจะเข้าใจทหารไทยต้องเข้าใจโดยเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ว่าเขาเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและท่านได้ทำตารางขึ้นมาเพราะไม่ใช่ว่าผู้ปกครองที่ขึ้นมาเป็นทหารที่ได้ขึ้นมาเป็นนายกทุกคนจะ Monarchized เท่าๆ กัน ในตารางของท่านมี Less Monarchized กับ More Monarchized ที่ Less Monarchized คือพระยาพหลฯ หรือจอมพลป. ที่ More Monarchized คือเปรม ติณสูลานนทร์ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนสฤษดิ์กับถนอมอยู่บริเวณตรงกลาง

ผมเคยร้องทักแกไปว่าในความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ นี่คือคีย์เลยในการเข้าใจการเมืองไทย และการที่คุณ Pual Chamber คิดแนวคิด Monarchized military ขึ้นมาได้ แต่ไม่คิดกลับกันบ้างล่ะ

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณอาสา คำภา ซึ่งเป็นนักวิจัยที่สถาบันไทยคดีศึกษา ท่านทำเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย 2495 ถึง 2535 โดยจับปมเครือข่ายชนชั้นนำของไทยโดยให้ความสำคัญกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายชนชั้นนำที่แวดล้อม ท่านมีข้อเสนอที่น่าสนใจคือฉันทามติของชนชั้นนำไทยที่สำคัญคือการแบ่งสรรและไม่ควบรวมอำนาจของผู้มีอำนาจคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อปริมณฑลอำนาจของผู้อื่น กลุ่มอื่น หากว่ามีการแบ่งสรรกันลงตัวแล้ว ก็คือแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่ชอบให้ใครผูกขาดรวบอำนาจคนเดียว ถ้าเมื่อไหร่มีใครผูกขาดอำนาจคนเดียวจะมีเรื่อง

ข้อเสนอที่น่าสนใจของคุณอาสาก็คือสิ่งที่ผมใช้คำว่าพระราชอำนาจนำและเครือข่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการสะดุดไปหน่อยหนึ่งหลัง 6 ตุลาคม 2519 แล้วฟื้นฟูขยายตัวไปในทศวรรษที่ 2520 โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนกระทั่งเมื่อสิ้นสุดทศวรรษ 2520 ขึ้นทศวรรษ 2530 บทบาทฐานะทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 มั่นคงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เหตุการณ์คีย์ที่ชี้ให้ดูคือการปราบกบฏยังเติร์ก

กบฏยังเติร์กยึดกรุงเทพฯ รถถังเต็มเลย ได้หน่วยกำลังอาวุธที่สำคัญเอาไว้ ขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระบรมวงศานุวงศ์ไปอยู่ที่โคราช กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งกองกำลังอาวุธหนักสู้พวกยังเติร์กที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ แต่พวกยังเติร์กแพ้ แพ้โดยไม่กล้าแตกเสียงปืนแม้แต่นัดเดียว คุณอาสาชี้ว่านี่เป็นการชี้ชัดว่าระหว่าง Monarchy กับ Military ใครเข้มแข็งกว่า

ในที่สุดหลังปี 2535 แล้วฉันทามติของชนชั้นนำก็กลายเป็นฉันทามติภูมิพลกล่าวคือแบ่งกันกินแบ่งกันใช้แบ่งปันเขตอำนาจกันดูอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

อีกบทความหนึ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังจากนั้นคือบทความของคุณ Eugenie Merieau ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองและกฎหมายไทยเป็นบทความขึ้นชื่อของเธอชื่อ Thailand’s Deep State, royal power and the Constitutional Court (1977-2015) หรือ รัฐพันลึก พระราชอำนาจและศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2016 ข้อเสนอของคุณ Eugenie มีเยอะแต่ผมคัดเฉพาะที่เกี่ยวพันกับประเด็นที่เรากำลังคิดกันอยู่

แกเสนอว่าชนชั้นนำไทยพากันวิตกกังวลและพยายามหาทางเตรียมรับสถานการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงเจริญพระชนมายุสูงและพระสุขภาพพลานามัยร่วงโรย ทำให้อำนาจพันลึกของพวกชนชั้นนำไทยรับมือโดยทำให้อำนาจพันลึกของพวกเขาเป็นทางการมากขึ้นผ่านสถาบันการเมืองใหม่ทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงฐานะบทบาทให้ความชอบธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเสมือนพระราชาอุ้มบุญภายใต้ข้ออ้างตุลาการภิวัฒน์ ศาลรัฐธรรมนูญได้วีโต้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 ตกไป ซึ่งคุณ Eugenie วิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจกว้างขวางยิ่ง เสมือนทรงไว้ซึ่งอำนาจปฐมสถาปนา ก็คืออำนาจก่อตั้งรัฐปกติจะเป็นอำนาจของประชาชนโดยตรงหรือผู้แทนประชาชนก็เป็นสภาผู้แทนราษฎร โดยหลักวิชาแล้วอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจ Absolute อำนาจในการสถาปนารัฐครั้งแรกขึ้นเป็นอำนาจสัมบูรณ์ อันเป็นอำนาจที่มีลักษณะสัมบูรณาญาสิทธิ์

เงื่อนไขที่ทำให้เกิดเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

ผมเสนอแนวคิดเรื่อง Disguised Republic โดยดูตัวอย่าง ผมเสนอแนวคิดกลับตาลปัตรเรื่อง Virtual Absolutism ดูการแสดงออกหรือการร้องทัก คำถามคือมันมีเงื่อนไขอะไรที่ก่อให้เกิดการปรากฏขึ้นของ Virtual Absolutism บ้างผมคิดว่ามีอยู่สองสามอย่าง อันแรกคือเงื่อนไขที่อาจารย์เบนพูดถึงไว้ในบทความลือชื่อของท่านซึ่งเป็นการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับไทยศึกษาครั้งใหญ่เมื่อปี 1979 Study of Thai State and State of Thai Study มีประเด็นหนึ่งซึ่งท่านพูดร้องทักไว้น่าสนใจมาก

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

ท่านเสนอว่าฐานะบทบาททางการเมืองที่เป็นองค์ประธานผู้กระทำการ Subject หรือผู้รับการกระทำ Object จำแนกข้อแตกต่างชี้ขาดระหว่างสถานภาพของจักรพรรดิญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิกับสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เงื่อนไขแรกที่ดูก็คือแสดงบทบาทเป็น Political Subject หรือ Political Object

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

อันที่ 2 ผมคิดว่าเงื่อนไขอีกประการที่เราเห็นได้ชัดคือกระแสสูงของอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวมวลชน Hyper Royalism ไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน ในบทความของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่เขียนที่ ISERS สิงคโปร์ Thailand’s Hyper-royalism It’s Past Success And Present Predicament ในปี 2016 ผมคิดว่านี่เป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้กับ Virtual Absolutism

ภาพบันทึกจากสไลด์ประกอบการนำเสนอของเกษียร

และเงื่อนไขประการสุดท้ายที่ผมนึกขึ้นได้อยู่ในงานเขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของอดีตอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2544 ท่านเขียนไว้ที่หน้า 16 ถึง 17 ว่าท่านเห็นว่านายกสำคัญมาก รัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 ได้ฟื้นฟูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างมากและขอเพียงให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทรงว่ากล่าวได้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่เป็นจริงได้ แน่นอนว่าในขณะที่คนอย่างพระยามโนฯ เป็นนายกฯ พระปกเกล้าฯ ย่อมไม่ทรงต้องกังวล ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ หากแต่คือการตกจากอำนาจไปของพระยามโนฯ ต่างหากที่เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างกระทันหัน… หากพระยามโนฯ ยังอยู่ในอำนาจ ปัญหารัฐธรรมนูญแบบนี้ก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเลย

พูดอีกอย่างคือแกเสนอว่าตำแหน่งนายกฯ มัน Occupied Strategic Position ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบไทย ดังนั้นใครเป็นนายกฯ สำคัญ

สมการของเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจคือตัวตัดสิน

ผมอยากสรุปจบโดยใช้คำกลอนปริศนาของนายผีเรื่องความเปลี่ยนแปลงนายผีเป็นอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นบัณฑิต มธก. รุ่นแรก เป็นลูกขุนนาง สอบเป็นอัยการ แต่ต่อมาก็ตื่นตัวทางการเมือง แล้วก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2495 ก่อนที่แกจะลาออกจากราชการลงใต้ดินแล้วก็ไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ แกเขียนบทกวีอยู่ชุดหนึ่งชื่อความเปลี่ยนแปลง ตีพิมพ์ออกมาหลายครั้ง คนตีความมันไปต่างๆ กัน คำนำของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยตีความว่า ข้อความที่ผมจะอ่านให้ฟังต่อไปนี้ คือประวัติตระกูลของนายผีเองหรือนายอัศนี พลจันทร แกเล่าถึงประวัติต้นตระกูลว่าอยู่ราชบุรี เป็นขุนนางกันมายังไง ผมอ่านต่างกัน ผมไม่คิดว่านี่เป็นประวัติของต้นตระกูลนายผี ผมคิดว่าเป็นประวัติการเมืองไทย 2475

อะไร ที่ไหน ทำไม ฟังซิ, นั่นใคร… ดี ฤา ร้าย!

บูม! บูม! บูม! บูม! ระเบิดตูม! และคนตาย

แต่ตรู่ตราบสางสาย ก็บสิ้นบสุดเสียง

ปืนไฟเป็นสายฝน อันพรูพ่นพะเนียงเพียง

พลิกพื้นไผทเอียง อธึกทั่วไผทไทย

เกิดกาลกุลาหล อลวนอยู่หวาดไหว

ดินฟ้าคือเปลวไฟ อันฟุฟู่ ณ กลางฟอน

เป็นสนามรบ คำถามคือรบกับใคร

ศพเก่านั้นเน่าน่าย ที่ตอมต่ายนั่นตัวหนอน

ตั้งแต่เชิงตะกอน ก็รอปลงมานานปี

กลิ่นคลุ้งให้คลื่นเหียน บ ผิดเพี้ยนบุราณผี

เถ้าแกลบที่กลบมี บ มิดกลิ่นกระจายจร

ลูกหลานที่อาลัย ก็เก็บไว้ด้วยอาวรณ์

โลงลองที่ทำหลอน ก็ล้วนจันทน์แลกฤษณา

กรองมาศสุมาลี ที่รินรสสุคนธา

ท้อกลิ่นอันคลุ้งกล้า กระหลบหลุ้มไปไกลครัน

ชนใดใช่ลูกหลาน บ อาลัยและคิดกัน

ปองปลงไป่เว้นวัน แลยังหวาดระแวงภัย

เพื่อศพจะเผาจี่ คือศพสีหราชัย

ลูกหลานที่อาลัย ยังระแวดระวังวง

บัดสี่ทหารเสือ สุรภาพอาจอง

ผลุนปรี่เข้าไปปลง และจะปราม บ ปราณี

ลูกหนูอันนอนนิ่ง ก็วิ่งผางยังโลงผี

เพลิงท่วมขึ้นทันที แลเทพไท้ก็อันตรธาน

คำถามคือศพใคร แล้วใครมาปลง

เจื้อยปี่ชวาแจ้ว วิเวกแว่วอยู่กังวาน

เพียงพื้นแผ่นดินดาน จะระย่อเพราะเย็นแสยง

เศร้าเสียงพระยาโศรก ยามลาโลกย่อมโรยแรง

เสียงสวดนั้นเสียดแทง หฤทัยอยู่ทรมา

สำเนียงนางร้องไห้ ที่ร่ำไรนั้นหนักหนา

โอ่หนอ คณาทา ระกำนัลจะพลันสูญ

แผ่นดินจะสิ้นแล้ว จะระแด่วดิ้นอาดูร

สิ้นทั้งพระธรรมนูญ แลอำนาจอันยาวนาน

สิ้นวัฒนธรรม ที่สมส่ำแต่โบราณ

สิ้นปรัชญาการ ก็จะสิ้น บ สืบสาย

ถึงกรรมเพราะถึงกาล อะไรทานย่อมทำลาย

เกิดแก่และเจ็บตาย ก็จะต้องทุกตัวตน…

และอีกตอนหนึ่ง

เสียงไพร่กระฎุมพี คือจังหรีดที่ในรู

ใช่เสียงที่เหล่าสู จะสนใจให้ป่วยกาย

บัดพวกกระฎุมพี ก็บอาจจะทนทาน

จึงผลุนขึ้นเผาผลาญ ทุรภาพเป็นผุยผง

คือสี่ทหารเสือ ที่อุกอาจทะนงองค์

ผลุนปรี่เข้าไปปลง เอาทรากศพที่แสนโทรม

พวกทาสกสิกร ก็เป็นกลางบรุกโรม

จึงศักดินาโทม มะนัสท้อฤทัยไท

ขอเอาอังคารมา และบูชาด้วยอาลัย

สร้างศาลขึ้นสมใจ แลจะปองเป็นปรนผี

แล้วสี่ทหารเสือ เอาเจว็ดมาทันที

ไว้ศาลให้สมศรี ก็สำหรับจะเป็นกล

สมยอมแลขัดแย้ง อุส่าห์แสร้งด้วยจำจน

จงล่วงจะลวงคน ให้กลัวเกรงอยู่ชั่วกาล

นี่คือบทสุดท้ายก่อนที่จะจบตอนนี้

ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ

ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง

จะตีความว่ายังไง ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ผมคิดว่านายผีได้พยายามอธิบายโดยใช้กาพย์ยานีที่แกเขียนถึงปมเงื่อนของการเมืองไทยและปมเงื่อนดังกล่าวคือสมการของเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่ก่อตัวและเปลี่ยนแปลงไปนับแต่พุทธทศวรรษที่ 2490 ในเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ประกอบไปด้วย The Monarchy-Military Power Nexus และ USA ความสัมพันธ์นี้อาจจะออกมาได้แบบใดแบบหนึ่ง ออกมาแบบ Monarchized Military ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่คุณ Pual Chamber ทัก หรืออาจจะออกมาอีกแบบกลับตาลปัตรกันเป็น Military-Dominated Monarchy ก็ได้ แล้วในสถานการณ์ของการเมืองภูมิภาคและโลกปัจจุบันมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็น USA อย่างเดียว มันอาจจะเป็น USA ก็ได้หรือจะเป็น China

การคาดคะเนวิเคราะห์ว่าแนวโน้มทั้งสอง Disguised Republic กับ Virtual Absolutism อันไหนจะขึ้นมาเป็นหลักในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ผมคิดว่าอยู่ที่สมการอันนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net