Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

mso-bidi-language:TH">

ในช่วงของเดือนกุมภา-มีนา-เมษาของทุกๆปีในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนจะเกิดปรากฎการณ์

หมอกควันปกคลุมอยู่ประมาณ 4 ถึง 5 สัปดาห์ แล้วจะมี "ลมหลวง" หรือที่เรียกกันว่าพายุฤดูร้อนพัดหมอกควันออกไป โดยจะมีฝนตกชะล้างหมอกควัน ซึ่งเมฆฝนจะเริ่มเคลื่อนเข้ามาในฤดูมรสุม มนุษย์ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่เข้าใจธรรมชาติและอย่าทำอะไรฝืนธรรมชาติเท่านั้นเอง โดยไม่เคยปรากฏในพงศาวดารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดใดว่า เจ้าผู้ครองนครของหัวเมืองฝ่ายเหนือจะพากันอพยพผู้คนหนีหมอกควันหรือทำพิธีอ้อนวอนเทวดาทั้งหลายให้หมอกควันบรรเทาลง

แต่ปรากฎการณ์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนของภาครัฐนั้นเป็นที่น่าผิดหวังมาก มีการระดมกันพ่นน้ำไปทั่วเมืองเหมือนกับการถมน้ำปิงด้วยก้อนหินสัก 2-3 คันรถกระบะ และน้ำที่พ่นๆ กันนั้นก็มักจะไปพ่นกันบริเวณหน้าเครื่องวัดฝุ่นละอองเสียด้วยสิ อาจจะเป็นเพราะเครื่องมันโกงไม่เป็น แต่คนโกงเป็น เพื่อแสดงให้เห็นว่าแก้ปัญหาได้บ้างแล้วนะ

นอกจากนั้นมีการระดมทำฝนเทียมซึ่งก็ตกมาอย่างเทียมๆ ก็คือ ไม่ตก นั่นเอง โดยอ้างเหตุผลสารพัดว่าเหตุใดถึงไม่ตก แต่ไม่มีเหตุผลหรือคำอธิบายว่า ทำอย่างไรจะให้ฝนเทียมกลายเป็นฝนจริงขึ้นมาได้

การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจะมีปรากฏการณ์หมอกควันเกิดขึ้นอยู่ทุกปี ไม่มีการประสานงานในพื้นที่เพราะเจ้าของเงินหรือผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงทางผ่านของความต้องการ ซึ่งบางทีก็ส่งผ่าน บางทีก็ไม่ผ่าน เมื่อมี “ลมหลวง” มาพัดหมอกควันให้เบาบางลง ก็ค่อยหายใจหายคอโล่งกันไปทีหนึ่ง

รัฐบาลก็ทำได้แต่เพียงออกมารณรงค์เดินต่อต้านการเผา แล้วคาดโทษผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการว่าจะถูกลงโทษหรือถูกย้ายหากแก้ปัญหาหมอกควันไม่ได้ ทั้งๆที่เขาเหล่านั้นไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยเพราะเป็นคนมาจากที่อื่นทั้งนั้น มาแล้วก็ไป แต่ละคนต้องมาศึกษาปัญหาในพื้นที่ใหม่ทั้งนั้น พอจะรู้เรื่องก็ย้ายไปเสียแล้ว

ที่ร้ายที่สุดก็คือการระดมกันประณามผู้ที่เผาขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทั้งหลาย มีการขู่ว่าจะจับกุมคุมขังเอาคนเผาขยะเข้าคุกเข้าตาราง ทั้งๆ ที่เป็นวิถีชีวิตของคนล้านนามานับพันปี ทำให้พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทั้งหลายต้องลุกมาเผาขยะตั้งแต่ตีสามตีสี่ เพราะกลัวโดนจับ ซึ่งเขารู้ว่าหากไปหยุดไม่ให้มีการเผาในปีนี้ ปีหน้าหรือปีถัดๆไปจะสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะหนักกว่าเดิมไปหลายเท่าตัว

ประเด็นหมอกควันได้ถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นปัญหาสุขภาพและการท่องเที่ยวโดยคนในเมือง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงและกลุ่มประชากรแฝงที่มีผลประโยชน์จากความเป็นเชียงใหม่เท่านั้น แต่กิจกรรมกลางแจ้งที่เป็นวิถีชีวิิตของชาวล้านนายังคงดำเนินไปตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บผักหวาน หา  ไข่มดแดง หาปลาในห้วย แผ้วถางนาไร่ ปีนเขา ล่องแก่ง ฯลฯ

เราต้องไม่ปฏิเสธว่าปรากฏการณ์หมอกควันเชียงใหม่และภาคเหนือนั้นเกิดจากไฟป่าเพราะในภาคเหนือนั้นเกิดขึ้นง่ายและเกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากป่าในภาคเหนือนั้นเป็นเป็นป่าดิบแล้งไม่เหมือนป่าดิบในภาคอื่น การเผาขยะก็มีส่วนบ้างแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะปัญหาหมอกควัน ไม่ใช่ชาวบ้านเผาขยะ แต่เป็นปรากฏการณ์ไฟป่าตามธรรมชาติ กับการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่าเพื่อทำไร่ทั้งที่เป็นของตนเอง และทั้งที่ถูกหนุนหลังโดยบริษัทการเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่

ฉะนั้น หากจะจับกุมคุมขังผู้คน แทนที่จะไปจับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยซึ่งเผาขยะอยู่ตลอดทั้งปีโดยไม่มีปัญหาหมอกควันแต่อย่างใด แต่ควรที่จะไปจับพวกที่บุกรุกแผ้วถางและเผาป่าหรือพวกโรงแรม ร้านอาหารที่เผาน้ำมันปล่อยโคมลอยเป็นร้อยๆพันๆลูกโดยไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับโอกาสสำคัญทางประเพณีหรือศาสนาแต่อย่างใด

การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจที่อยู่ที่ส่วนกลางและผ่านราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นร่างทรงที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่แท้จริงของท้องถิ่นคือตัวการหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ในปัจจุบัน

ถึงเวลาแล้วที่จะมีการเปลี่ยนแปลง คนเชียงใหม่ควรที่จะมีส่วนในการจัดการตนเอง ฉะนั้น ในกลางปี 2555 นี้ จึงจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯโดยภาคประชาชนเข้าสู่สภา โดยมีหลักการที่สำคัญคือ การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่

ถึงเวลาแล้วที่คนเชียงใหม่จะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เพราะคนเชียงใหม่มีศักยภาพ มีศักดิ์ศรี     มีภูมิปัญญา มีบุคลากรที่เข้าใจปัญหาของตนเอง และวางแผนอนาคตของตนเองได้ อีกทั้งการทำเช่นนี้จะทำให้ประเทศของเรามีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะ “รัฐชาติจะเข้มแข็งได้ก็เพราะการมีท้องถิ่นทีเข้มแข็ง”

เชียงใหม่พร้อมแล้วในการที่จะเป็นจังหวัดจัดการตนเอง เพราะเชียงใหม่มีต้นทุนในเรื่องความเข้มแข็งของประชาชน มีภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการป่าชุมชน การจัดการสุขภาพ การเกษตรกรรมแบบยั่งยืน การจัดการเหมืองฝาย ฯลฯ mso-bidi-language:TH">  TH">

การจัดการตนเองของเชียงใหม่จะส่งผลดีในด้านเกษตรกรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจนเพราะท้องถิ่น ชุมชนเกษตรและผู้ผลิตจะมีการวางแผนของตัวเองได้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้มีระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน กอปรกับเชียงใหม่มีทั้งป่า เขา และสายน้ำมากมาย ซึ่งคนเชียงใหม่รู้จักภูมิประเทศของตนเองดี รู้จักธรรมชาติของป่า รู้อารมณ์ของสายน้ำและขุนเขา ที่สำคัญรู้ว่าคนเชียงใหม่จะอยู่ร่วมและสามารถจัดการดูแลธรรมชาติได้อย่างไร เช่น กรณีหมอกควัน เป็นต้น อีกทั้งในด้านการศึกษาก็จะสามารถวางระบบให้สอดคล้องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาจารีตฮีตฮอยของเชียงใหม่  เรียนเพื่อรู้จริง ใช้ในชีวิตจริงได้ ที่สำคัญคือเรียนแล้วสามารถพึ่งตนเองได้

ดังนั้น การการเปิดโอกาสให้เชียงใหม่จัดการตนเอง จึงเป็นการพัฒนาประเทศจากรากฐานหรือจากต้นทุนของชุมชนที่แท้จริง สู่การพัฒนาประเทศที่เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการปรับโครงสร้างอำนาจให้สอดคล้องกับยุคสมัยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐไทยเราอยู่รอดตลอดมา TH">

โลกหมุนไปข้างหน้า ใครที่หยุดอยู่กับที่ก็ถือว่าเป็นการถอยหลัง ส่วนผู้ที่ถอยหลังเพิ่มอำนาจของส่วนภูมิภาคและส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือผู้ที่ตายแล้วนั่นเอง

 

 

------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21 มีนาคม 2555 TH">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net