Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อมีการพูดคุยเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กับบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ ประเด็นลิขสิทธิ์สุดท้ายที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะยอมเอ่ยออกมาในกรณีที่จำเป็นจริงๆ คือประเด็นเรื่องการใช้อย่างชอบธรรม (fair use) เพราะการใช้อย่างชอบธรรมของสาธารณะชนนั้นอยู่เหนือสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาส่วนบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

อะไรคือการใช้อย่างชอบธรรม? โดยทั่วไปแล้วการใช้อย่างชอบธรรมคือกิจกรรมที่กฏหมายลิขสิทธิ์บัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เราอาจไม่คุ้นกับการใช้อย่างชอบธรรมเท่าใดนัก แต่จริงๆ แล้วกิจกรรมจำนวนมากที่เราทำอยู่บ่อยๆ ก็ล้วนจัดอยู่ในการใช้อย่างชอบธรรม เช่น งานเขียนทุกชิ้นต้องมีผู้เขียน และผู้เขียนก็จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานเขียนโดยธรรมชาติ แต่การกระจายลิงค์หรือข้อความต่างๆ นั้นไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ก็เพราะถือว่าเป็นการนำเสนอข่าว หรือการอ้างอิงข้อความหรือการ “โควต” ในขนบการทำงานวิชาการนั้นก็ถูกคุ้มครองว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะเป็นกิจกรรมทางวิชาการ การทำสำเนาเอกสารต่างๆ ที่ผู้บรรยายแจกนักศึกษาในห้องเรียนก็ถือว่าเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ซึ่งข้อยกเว้นพวกนี้ก็มีละเอียดยิบย่อยตั้งแต่การกำหนดว่าการนำงานอันลิขสิทธิ์มานำแสดงในศาลเป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการบูรณะปฏิสังขรตึกรามบ้านช่องต่างๆ นั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการทำซ้ำอันเป็นการการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้วงานเขียนจะเป็นสิ่งที่มีพื้นที่การใช้อย่างชอบธรรมกว้างที่สุด อย่างน้อยที่สุดเท่าที่ทราบก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่นักวิชาการจะต้องไปขออนุญาติในการโควตงานเขียนของคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับงานบันทึกภาพและเสียง เพราะการมีเพียงคลิปภาพยนตร์เล็กๆ ไปปรากฏบนจอทีวีในฉากของภาพยนตร์อีกเรื่องก็อาจนำมาสู่การฟ้องร้องที่ผู้ถูกฟ้องต้องลงเอยด้วยการเสียเงินเป็นล้านดอลลาร์สหรัฐ และก็เช่นเดียวกันการ “โควต” เสียงในดนตรีฮิปฮอปหรือการแซมปลิงก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้อย่างชอบธรรม ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในคดีต่างๆ ในตอนที่แล้ว

โลกของงานดนตรีพื้นที่ของการใช้อย่างชอบธรรมดูจะมีน้อยกว่าโลกอื่นๆ มาก หากดูในทางประวัติศาสตร์มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับดนตรีก็เป็นอริกับการใช้อย่างชอบธรรมมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 แล้ว การริเริ่มขยายสิทธิที่มีเหนือบทเพลงจากแต่การทำซ้ำโน้ตเพลงมายังสิทธิในการนำบทเพลงไปเล่นในที่สาธารณะในฝรั่งเศส และสิทธิในการดัดแปลงบทเพลงในเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

มาถึง ณ ตอนนี้ตอนต้นศตวรรษที่ 21 สิทธิในการใช้งานดนตรีอย่างชอบธรรมมันก็มีน้อยมากๆ เพราะการซื้องานดนตรีชิ้นหนึ่งมาบางครั้งมันก็เอาไปทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากฟังอยู่กับบ้าน แค่การจะแปลงไฟล์จากไฟล์เสียงของ CD มาเป็น mp3 ก็ยังถูกล็อคไว้ และการล็อคที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายเสียด้วยในหลายๆ ประเทศ [1]

แล้วเรายังจะเหลือสิทธิในการใช้อันชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้งานดนตรีอย่างไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ขออนุญาตอีก?

ดูเหมือนจะยังมีแสงสว่างอยู่บ้างในการคุ้มครองลิขสิทธิ์อันบ้าคลั่งทั้งหมดนี้ ในโลกของเสรีนิยมใหม่ที่ความคิดถูกแปลงให้เป็นสินค้าโดยสมบูรณ์ ในอเมริกาสิ่งที่พอจะมีพลังพอจะนำมางัดข้อกับพลังในการทำให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของระบบทุนนิยมก็คือ หลักการพื้นๆ อันเป็นคุณค่าแกนกลางของเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกาอย่าง หลักเสรีภาพในการพูดหรือหลัก Free Speech

หลักเสรีภาพในการพูดเป็นหลักรัฐธรรมนูญอเมริกันที่บรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพโปรดปรานมาก เพราะมันสามารถนำมาใช้สู้คดีได้จริง ไม่ใช่หลักการลอยๆ ที่ใส่ไปในรัฐธรรมนูญให้ดูสวยๆ การต่อสู้เพื่อต้านการเซ็นเซอร์ส่วนใหญ่ก็อ้างหลักการนี้ และหลักการอันทรงพลังในสังคมอเมริกันนี้เองก็ถูกนำมาใช้งัดกับระบอบลิขสิทธิ์ที่สถาปนาตัวขึ้นมา

ณ ตอนนี้ผู้อ่านอาจสงสัยว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์มันไปเกี่ยวอะไรกับเสรีภาพในการพูด? คำอธิบายที่น่าจะสั้นและได้ใจความในระดับหลักการก็คือ หลักเสรีภาพในการพูดนั้นในทางปฏิบัติมันรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกโดยทั่วไปด้วย และเสรีภาพในการสร้างศิลปวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ในแง่นี้การใช้หลักกฏหมายลิขสิทธิ์มาเพื่อทำการระงับการสร้างศิลปวัฒนธรรมบางรูปแบบจึงเป็นการขัดกับหลัก Free Speech อันทรงคุณค่าของสังคมอเมริกัน

แน่นอนว่าศาลก็ไม่ได้ซี้ซั้วตัดสินว่าการปราบการสร้างงานดนตรีบนฐานของละเมิดลิขสิทธิ์ (เช่นการแซมปลิงในดนตรีฮิปฮอป) ทั้งหมดเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูดของผู้สร้างงาน การอ้างหลักเสรีภาพในการพูดเป็นไปได้เฉพาะในเงื่อนไขเฉพาะอันเหมาะสมเท่านั้น และเงื่อนไขอันเหมาะสมหนึ่งก็คือ การล้อเลียน (parody)

การล้อเลียนเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูดของยุคสมัยใหม่มานมนานกว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะบ้าคลั่งดังทุกวันนี้ มันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิจารณ์อำนาจซึ่งนำมาสูโลกเสรีประชาธิปไตยทุกวันนี้ ในทางหลักการแล้ว การล้อเลียนเป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ ซึ่งการวิจารณ์ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองอันหนึ่งของเสรีภาพในการพูด

ในแง่นี้หากต้องการจะต่อสู้กับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหลักเสรีภาพในการพูด เราก็ต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นการล้อเลียนซึ่งเป็นการวิจารณ์รูปแบบหนึ่งให้ได้ ในทางปฏิบัติแล้วสำหรับงานดนตรีเราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีความจำเป็นต่องานเราในการสื่อสารชนิดที่งานชนิดที่เราหางานชิ้นอื่นมาใส่แทนหรือประพันธ์ดนตรีเองใส่ลงไปจะทำให้สารในการ “วิจารณ์” ของเราสูญเสียไปได้ และเงื่อนไขอันซับซ้อนวุ่นวายนี้เองที่จะทำให้หลักเสรีภาพทางการพูดสามารถถูกนำมาใช้ในการงัดข้อกับหลักทรัพย์สินส่วนบุคคลของกฏหมายลิขสิทธิ์ได้ [2]

คดีที่ทำให้เกิดหลักการนี้คือคดี Campbell v. Acuff-Rose Music [3] เรื่องมีอยู่ว่าวงดนตรีฮิปฮอป 2 Live Crew ได้นำเอา Oh Pretty Woman เพลงเก่าของ Roy Orbison จากปี 1964 [4] มาทำใหม่ในแบบฮิปฮอบในอัลบั้ม As Clean As They Wanna Be ในปี 1989 ของทางวง [5] ทั้งนี้ ในตอนแรกทางวงก็ได้พยายามจะขอสัญญาอนุญาตในการใช้เพลงจากทาง Acuff-Rose Music ที่ถือลิขสิทธิ์เพลง Pretty Woman ของ Orbison แล้ว แต่ทางสังกัดไม่ยอมให้ อย่างไรก็ดีทางวงก็ยังทำบทเพลงนี้ออกมาใส่ในอัลบั้ม ภายหลังอัลบั้มนี้ขายได้กว่า 2 แสนชุด ทาง Acuff-Rose Music ก็ได้ยื่นฟ้องต้นสังกัดของ 2 Live Crew ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 1993

คดีนี้เป็นคดีลิขสิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่มากๆ เพราะมีการสู้กันไปถึงขั้นศาลสูงเลยทีเดียว เริ่มแรกการสู้ในระดับศาลชั้นต้นในระดับเขตศาลได้ตัดสินว่าสิ่งที่ 2 Live Crew ทำถือว่าเป็นการล้อเลียน (Parody) และการล้อเลียนนั้นถือว่าเป็นการใช้อย่างชอบธรรมเพราะมันได้รับการปกป้องภายใต้หลักเสรีภาพในการพูด อย่างไรก็ดีการสู้ในระดับศาลอุทธรณ์ ทางศาลกลับชี้ว่ากรณีนี้ข้ออ้างการใช้อย่างชอบธรรมนั้นใช้ไม่ได้ เพราะงานชิ้นใหม่เป็นงานเพื่อการค้างานชิ้นใหม่ได้นำ “แกนกลาง” (heart) ของงานชิ้นเก่ามาสร้างเป็นงาน

ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินให้ทางต้นสังกัด 2 Live Crew ชนะอีกครั้งด้วยรายละเอียดคำตัดสินที่น่าสนใจมาก ศาลบอกว่าเกณฑ์ในการพิจารณาการใช้อย่างชอบธรรมมีดังนี้

  1. ธรรมชาติของการใช้ (เช่นการใช้ในเชิงการค้าหรือการใช้แบบไม่แสวงกำไร)
  2. ธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์
  3. ปริมาณของอัตราส่วนของงานดั้งเดิมที่ถูกใช้ในงานชิ้นใหม่
  4. ผลที่งานชิ้นใหม่ส่งต่อคุณค่าทางเศรษฐกิจและตลาดที่เป็นไปได้ของงานชิ้นเก่า

ศาลให้ความเห็นว่าลำพังเหตุผลว่าการใช้นั้นเป็นการใช้ในเชิงการค้าเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานชิ้นใหม่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลักการใช้อย่างชอบธรรมและชี้ว่านี่เป็นเพียง 1 ใน 4 ประเด็นทีต้องพิจารณาเท่านั้นพร้อมกล่าวกว่ายิ่งงานชิ้นใหม่ฉีกออกมาจากงานชิ้นเก่าเท่าไร (ภาษาอังกฤษใช้คำว่างานมีลักษณะ transformative) ปัจจัยอื่นๆ ก็ยิ่งมีน้ำหนักน้อยลงเท่านั้น ทางด้านเหตุผลของศาลอุทธรณ์ที่ว่างานของ 2 Live Crew นั้นใช้แกนกลางของบทเพลงต้นฉบับมันจึงละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ทางศาลสูงตีกลับโดยสิ้นเชิงเพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติของการล้อเลียนอยู่แล้วที่จะต้องนำแกนกลางของงานต้นฉบับมาใช้และแกนกลางที่ว่านั่นเองที่เป็นเป้าที่การล้อเลียนมุ่งจะทำการล้อเลียน สุดท้ายศาลก็ได้ชี้เสริมว่างานล้อเลียนไม่ถือว่าเป็นการลดทอนมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเป็นการแย่งตลาดของงานต้นฉบับ เพราะงานทั้งสองชิ้นถือว่าอยู่คนละตลาดกัน

จะเห็นได้ว่าความเห็นของศาลสูงนั้นค่อนข้างจะเป็นการปกป้องการล้อเลียนอย่างแน่นหนามากๆ คดีนี้จึงถือว่าเป็นคดีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นภาคปฏิบัติของการงัดข้อระหว่างหลักเสรีภาพในการพูดและกฏหมายลิขสิทธิ์ หรือให้เห็นว่าการล้อเลียนนั้นถูกนับเป็นการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างชอบธรรมได้อย่างไร แต่แน่นอนนี่ก็ไม่ได้หมายความว่างานชิ้นต่างๆ จะสามารถอ้างลอยๆ ว่าเป็นการล้อเลียนแล้วจะหลุดรอดไปจากการละเมิดลิขสิทธิ์ได้หมด เพราะอย่างน้อยในกฎหมายอเมริกันก็มีการแยกระหว่าง Parody กับ Satire ออกจากกัน เพราะถ้าการ “ล้อเลียน” มันมุ่งไปที่สังคมโดยรวมๆ มันจะถูกนับเป็น Satire และก็จะไม่ได้รับการปกป้องจากหลักการใช้อย่างชอบธรรม การ “ล้อเลียน” ที่มุ่งไปที่สิ่งที่ถูกล้อเลียนโดยตรงเท่านั้นที่จะได้รับการคุ้มครองในฐานะ Parody

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักป่วนทางศิลปวัฒนธรรม (cultural jammers) ต้องตระหนักก่อนที่จะ “Parodize At Their Own Risk” เพราะถึงการฟ้องพวกนี้จะไม่น่าทำให้ติดคุกติดตารางแต่ก็เล่นเอาล้มละลายทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

 

อ้างอิง:

  1. นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Digital Right Management หรือ DRM ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอเมริกา
  2. น่าสนใจว่าในกฏหมายลิขสิทธิ์ โดยทั่วไปก็จะมีการระบุว่าการวิจารณ์งานนั้นไม่จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้โดยชอบธรรมอยู่ แต่การอ้างหลักนี้อย่างเดียวก็ดูจะอ่อนไปในการสู้ข้อกล่าวหาว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ อย่างไรก็ดีเมื่อหลักการใช้โดยชอบธรรมนี้ถูกใช้ประสานกับหลักเสรีภาพในการพูดมันก็ดูจะทรงพลังขึ้นมากในการใช้สู้คดี อย่างน้อยก็ในกรณีของสหรัฐ
  3. อ่านข้อมูลคดีเต็มๆ ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Campbell_v._Acuff-Rose_Music,_Inc.
  4. ฟังได้ที่ http://youtu.be/mHPgco6GQk8
  5. ฟังได้ที่ http://youtu.be/65GQ70Rf_8Y
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net