Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อธิป จิตตฤกษ์ อธิบายการขยายตัวของข้าราชการสามัญชนในโลกภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปศาสนาในทศวรรษที่ 16

 

 

การทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมไปทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 นั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตของตัวตั้งตัวตี 3 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ที่ผ่านมาผู้เขียนก็ได้เล่าที่มาที่ไปของการกำเนิดกฎหมายลิขสิทธิ์ในสองประเทศแรกมาแล้ว และนี่ก็คงจะถึงคิวของเยอรมัน ที่เรื่องราวดูจะซับซ้อนและน่าเวียนหัวกว่าทั้ง 2 ประเทศก่อน เพราะในขณะที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นเป็นรัฐที่มีพรมแดนชัดเจนแล้วตั้งแต่ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น สิ่งที่ทุกวันนี้เรียกว่า “ประเทศเยอรมัน” นั้นยังไม่มีด้วยซ้ำตอนที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสมีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว

ตามแผนที่ภูมิศาสตร์ยุคปัจจุบัน พื้นที่ด้านตะวันออกของฝรั่งเศส ทางตอนเหนือของอิตาลี และด้านตะวันตกของโปแลนด์และฮังการี ซึ่งทุกวันนี้เป็นประเทศเยอรมันและออสเตรียนั้น ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้นเป็นอาณาจักรที่เรียกว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากจะอธิบายให้ง่ายๆ แล้ว มันก็คือกลุ่มรัฐน้อยใหญ่ที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลักที่ทั้งหมดนั่นเอง

ช่วงสมัยใหม่ตอนต้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ดูอยู่ที่ภาษาที่แต่ละรัฐใช้ซึ่งก็คือภาษาเยอรมันเท่านั้น เพราะอันที่จริงในแง่การปกครองรัฐเล็กรัฐน้อยเป็นร้อยๆ รัฐในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นล้วนมีอำนาจรัฐของตัวเองในการปกครองตัวเอง นี่ก็หมายรัฐเหล่านี้ถึงมีอำนาจในการออกกฎหมายเอง บังคับใช้กฎหมายเอง มีอำนาจในการเก็บภาษีเอง โดยไม่ต้องทำตามข้อกำหนดใดๆ ของจักรพรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ที่เคยพยายามจะเก็บภาษีจากรัฐต่างๆ ในจักรวรรดิ แต่ก็ไม่สำเร็จ)

แม้ว่ารัฐเล็กรัฐน้อยเหล่านี้จะมีอิสระในการกำหนดตัวเอง แต่อำนาจในการกำหนดก็ไม่ได้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ เพราะอย่างน้อยๆ รัฐเหล่านี้ก็ยังมีความเกรงใจจักรพรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ดังจะเห็นว่าไม่มีรัฐใดที่จะกล้าเรียกผู้ปกครองว่ากษัตริย์ (เช่น พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเลี่ยมที่ 1 แห่งปรัสเซียก็เรียกตนเองเพียงว่า “กษัตริย์ในปรัสเซีย” อันเนื่องมาจากความเกรงใจดังกล่าว) อย่างไรก็ดีอำนาจในการกำหนดตัวเองของรัฐเล็กรัฐน้อยนี้เข้มข้นขึ้นมากหลังการปฏิรูปศาสนาที่เกิดในช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางศตวรรษที่ 17 ที่สุดท้ายส่งผลให้แต่ละรัฐมีอำนาจในการเลือกนิกายทางศาสนาประจำรัฐด้วย และหลังการปฏิรูปก็ทำให้เกิดขั้วของรัฐที่เลือกเป็นโปรเตสแทนท์ทางเหนือ กับรัฐที่ยันยืนยันที่จะเป็นคาธอลิคทางใต้

สิ่งที่ตามอำนาจในการกำหนดตัวเองหลังปฏิรูปศาสนาคือความต้องการของรัฐในการใช้บุคลากรมาเป็นกลไกรัฐในแต่ละรัฐ ที่เป็นแรงผลักดันแต่ละรัฐต้องการผลิตข้าราชการของตนเองเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะพวกรัฐโปรเตสแทนท์ทางเหนือที่ไม่ต้องการพระคาธอลิคมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐอีกหลังปฏิรูปศาสนา ณ ตรงนี้ เราต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของชนชั้นในโลกภาษาเยอรมันด้วย ดั้งเดิม พวกพระคาธอลิคระดับสูงในกลไกรัฐในโลกภาษาเยอรมันนั้นจะมาจากครอบครัวอภิชนทั้งนั้น ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างจากข้าราชการระดับสูงอื่นๆ ในโลกภาษาเยอรมันที่การมีชาติกำเนิดเป็นอภิชนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการได้รับตำแหน่งของรัฐ พูดง่ายๆ คือพวกลูกหลานสามัญชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าหรือช่างต่างๆ นั้นก็ไม่ได้มีสิทธิ์จะมาเป็นข้าราชการชนิดใดๆ ทั้งนั้น และในโลกภาษาเยอรมันการจะเป็นอภิชนได้ก็ต้องมาจากชาติกำเนิดเท่านั้น การแต่งงานข้ามชนชั้นเป็นเรื่องผิดปกติมาก ซึ่งนี่ต่างจากอังกฤษที่ความเป็นอภิชนมีความคลุมเครือกว่ามากๆ และการแต่งงานข้ามชนชั้นก็เป็นเรื่องปกติ [1] และการซื้อขายบรรดาศักดิ์ที่จะทำให้สามัญชนที่เป็นคนรวยได้กลายมาเป็นอภิชนก็ไม่ใช่เรื่องปกติในเยอรมันแบบที่เป็นในฝรั่งเศสช่วงระบอบเก่า [2]

กล่าวคือโลกภาษาเยอรมันมีปราการทางชนชั้นที่แน่นหนามากๆ [3] ปัญหาที่ตามมาคือการไม่ขยายฐานอภิชนทำให้อภิชนที่จะมารับตำแหน่งเป็นข้าราชการมีไม่เพียงพอเมื่อกลไกรัฐแต่ละรัฐโดยเฉพาะรัฐขนาดกลางและขนาดใหญ่ต้องการจะขยายตัวหลังปฏิรูปศาสนา นี่ทำให้รัฐในโลกภาษาเยอรมันต้องสร้างระบบที่จะทำให้สามัญชนมีคุณสมบัติที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งต่างจากพวกอภิชนที่ถือว่าความเหมาะสมมีมาแต่กำเนิด

การสร้างข้าราชการขึ้นมาจากสามัญชนไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันถ้ารัฐในโลกภาษาเยอรมันไม่สร้างสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้น นี่ทำให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมากมายในโลกภาษาเยอรมันช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 17 จนในที่สุดทำให้โลกภาษาเยอรมันมีมหาวิทยาลัยถึง 40 แห่ง ในขณะที่ขณะนั้นอังกฤษมีมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 2 แห่ง ซึ่งนับว่ามีมหาวิทยาลัยมากกว่าถึง 20 เท่า ทั้งๆ ที่ประชากรในโลกภาษาเยอรมันมีมากกว่าอังกฤษเพียงราว 4-5 เท่าเท่านั้น [4] ซึ่งคณะในมหาวิทยาลัยขยายตัวมากที่สุดในมหาวิทยาลัยรัฐโปรเตสแทนท์ทางเหนือได้แก่หลักสูตรเทววิทยาซึ่งเป็นคณะยอดฮิตของลูกหลานของพ่อค้า ช่าง และคนจนในยุคนั้นที่ต้องการจะไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ [5]

การขยายตัวของทั้งมหาวิทยาลัยและข้าราชการหลังการปฏิรูปศาสนาหมายถึงการขยายตัวของตลาดหนังสือชนชั้นกลางในโลกภาษาเยอรมันไปพร้อมๆ กันด้วย กล่าวคือนักคิด นักเขียน และนักอ่านของโลกภาษาเยอรมันแทบทั้งหมดในศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ก็มีภูมิหลังเป็นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและไปจนถึงพวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก และคนเหล่านี้คือ “ชนชั้นกลาง” ของโลกภาษาเยอรมันในศตวรรษที่ 18 นี่ทำให้ตลาดหนังสือของโลกภาษาเยอรมันนั้นมีฐานมาจากผู้มีการศึกษาสูงเป็นหลัก (ดังที่ภายหลังมีคำภาษาเยอรมันว่า Bildungburgertum ที่น่าจะแปลไทยตรงๆ ได้ว่า “ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา” หรือ “คนเมืองผู้มีการศึกษา” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์อันพึงประสงค์ของชนชั้นกลางเยอรมันช่วงปลายศตวรรษที่ 19 [6]) และทำให้ลักษณะของตลาดมันต่างจากฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่นักเขียนและนักอ่านไม่ได้รับการศึกษาสูงขนาดนั้นแบบคนละโลกเนื่องจาก “ชนชั้นกลาง” ฝรั่งเศสในช่วงเดียวกันประกอบไปด้วยพวก “ช่าง” เป็นหลัก [7] (และคนพวกนี้เองที่เป็นประชากรหลักของ “ฐานันดรที่สาม” ซึ่งผลักให้เกิดปฏิวัติฝรั่งเศส) และก็ต่างจากอังกฤษที่ “ชนชั้นกลาง”  ผู้บริโภคหนังสือหลักๆ ในศตวรรษที่ 18 บรรดาคือ “ผู้ดีมีที่ดิน” (landed gentry) ในระดับล่างกับพวกพ่อค้าในอังกฤษ ซึ่งล้วนไม่ใช่ผู้มีการศึกษาในทางวิชาการในทำนองเดียวกับที่โลกภาษาเยอรมันมีเพราะอย่างน้อยๆ คนพวกนี้ก็มีความสนใจในการค้าและเรื่องต่างๆ ที่มีลักษณะเชิงประจักษ์และมีลักษณะปฏิบัตินิยม [8] มากกว่าเหล่าข้าราชการเยอรมันที่ดูจะใส่ใจในการรับใช้ศาสนาและรัฐไปพร้อมๆ กับมิติภายในของมนุษย์ [9]

การปฏิรูปศาสตร์ที่ส่งไปให้เกิดการขยายตัวของมหาวิทยาลัยและข้าราชการนั้นดูจะส่งผลมากต่อตลาดหนังสือในโลกภาษาเยอรมันเพราะถ้าหากลงไปดูในรายละเอียดแล้วก็จะพบว่านักเขียนหลักๆในโลกภาษาเยอรมันหลักๆ 120 คนในช่วงตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 นั้นล้วนแต่เรียนเทววิทยาหรือไม่ก็เป็นลูกของบาทหลวงโปรเตสแทนท์ทั้งสิ้น [10]  และนักเขียนส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพข้าราชการซึ่งทำให้คนเหล่านี้มีรายได้จากอาชีพหลัก และสามารถเขียนหนังสือได้โดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องกลายเป็นนักเขียนไส้แห้ง (ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนักเขียนอาชีพในอังกฤษและฝรั่งเศสช่วงเวลาเดียวกัน) ซึ่งส่งผลให้โลกภาษาเยอรมันในศตวรรษที่ 18 นั้นมีนักเขียน 1 คนต่อประชากร 5,000 คนซึ่งมากกว่าที่ใดในยุโรป [11]

อาจกล่าวได้ว่าโลกของเยอรมันศตวรรษที่ 18 คือยุคทองของข้าราชการที่เป็นนักเขียนโดยแท้ ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นนักอ่านด้วย อย่างไรก็ดีตลาดหนังสือในโลกภาษาเยอรมันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าอังกฤษที่ประชากรน้อยกว่าถึง 4-5 เท่า ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะอัตราการรู้หนังสือในโลกภาษาเยอรมันนั้นมีเพียงราวๆ 15% เท่านั้นในปี 1770 [12]  ส่วนอังกฤษนั้นอัตราการรู้หนังสือน่าจะสูงราวๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว และกลุ่มผู้รู้หนังสือจำนวนมากก็เป็นพ่อค้า เพราะในอังกฤษตอนนั้นปัจจัยที่ผลักดันให้คนระดับสามัญชนรู้หนังสือนั้นไม่ใช่การเรียนหนังสือไปรับใช้รัฐแบบเยอรมันในศตวรรษถัดมา แต่เป็นการเรียนหนังสือเพื่อช่วยในการทำการค้า เพราะทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้จะทำให้ไม่เสียเปรียบเวลาทำสัญญาเป็นต้น [13] และการเติบโตด้านการค้านี่เองที่ดูจะเป็นอีกปัจจัยให้ประเทศประชากรน้อยกว่าโลกภาษาเยอรมันอย่างอังกฤษมีตลาดหนังสือที่แข็งแกร่งกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น มิติเชิงปริมาณของการผลิตหนังสือในอังกฤษที่เหนือกว่าโลกภาษาเยอรมันนั้นก็ดูจะเป็นคนละเรื่องกับการประเมินคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมเพราะอย่างน้อยๆ ในศตวรรษที่ 18 โลกภาษาเยอรมันก็ดูจะผลิตนักคิดเขียนที่มีงานคุณภาพและกลายเป็นงาน “คลาสสิค” ในภายหลังออกมาอย่างไม่น้อยหน้าอังกฤษและฝรั่งเศสแน่ๆ และสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือในศตวรรษที่ 18 นี้โลกภาษาเยอรมันก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีลิขสิทธิ์แบบอังกฤษ (ที่แทบไม่มีใครใช้) หรืออภิสิทธิ์แบบฝรั่งเศส (ช่วงก่อนปฏิวัติ) เพื่อที่จะผลิตงานทางความคิดและวรรณกรรมที่ภายหลังถูกจัดว่ามีคุณค่าสูงและเป็นสมบัติของมนุษยชาติแต่อย่างใด

อ้างอิง:

  1. ต้นเหตุของความคลุมเครือคืออังกฤษมีสิ่งที่ชนชั้นที่เรียกว่า Gentry ซึ่งก็คือพวกเจ้าที่ดินลูกหลานอภิชนที่ตามกฎหมายอังกฤษนั้นไม่นับเป็นอภิชน ซึ่งในกฎหมายอังกฤษจะนับแค่ ขุนนาง (Peer) ที่จะถือว่าเป็นสมาชิกสภาขุนนาง (House of Lord) และตำแหน่งนี้ก็สืบทอดตามสายเลือดได้กับลูกชายคนโต

    แม้ว่า Gentry จะไม่ใช่อภิชนตามกฎหมาย แต่วิถีชีวิตของ Gentry ก็เป็นแบบอภิชน และพวกนี้ก็ไม่ได้ถือว่ามีสถานะที่ต่ำกว่าอภิชนระดับล่างๆ ในยุโรปที่เป็นอภิชนตามกฎหมาย (ซึ่งจะมีอภิสิทธิ์ต่างๆ) พวก Gentry แต่งงานกับพวกลูกหลานพ่อค้าเป็นปกติ และ Gentry จำนวนไม่น้อยก็ทำการค้าอันเป็นกิจกรรมต้องห้ามของอภิชนในยุโรปด้วย (เพราะในขณะที่พวกพ่อค้านั้นพยายามทำตัวแบบอภิชน พวกอภิชนก็ทำตัวต่างจากพ่อค้าไปพร้อมๆ กัน) ทั้งนี้ความคลุมเครือทางชนชั้นของอังกฤษก็ทำให้ชาวยุโรปที่ได้เคยไปเยือนอังกฤษก็ตั้งข้อสังเกตว่าอังกฤษเป็นสังคมที่ไม่มี วรรณะ (caste) หรือเรียกภาษาสังคมศาสตร์ร่วมสมัยก็คือสังคมที่มีความสามารถทางการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) สูงนั่นเอง ดู Paul Langford, Eighteenth-Century Britain: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2000), pp. 50-53
  2. ดู William Doyle, Aristocracy: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2010) และ William Doyle, Officers, Nobles and Revolutionaries: Essays on Eighteenth-Century France, (London: The Hambledon Press, 1995)
  3. ลักษณะของเส้นแบ่งทางชนชั้นที่ชัดเจนระหว่างอภิชนและสามัญชนเป็นเรื่องปกติไม่ใช่แค่ในโลกภาษาเยอรมัน แต่เป็นเรื่องปกติในยุโรปกลางและจะยิ่งหนักข้อขึ้นในยุโรปตะวันออก ซึ่งวิธีการจำง่ายๆ ก็คือความสามารถในการเลื่อนชนชั้นจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราเคลื่อนจากยุโรปตะวันตกไปตะวันออก ดู Jurgen Kocka, "The Middle Classes in Europe", The Journal of Modern History, Vol. 67, No. 4 (Dec., 1995), p. 791
  4. Nicholas Boyle, German Literature: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2008), pp. 7-8
  5. คณะเทววิทยาได้ชื่อว่าเป็นคณะของสามัญชนไปจนถึงคนจนในยุคนั้นของรัฐทางเหนือ พวกอภิชนจะไม่ส่งลูกหลานเรียนเทววิทยาเด็ดขาดเพราะทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูล ผู้เรียนเทววิทยาคือผู้ที่มีโอกาสเป็นพระระดับสูง ดังนั้นผลของค่านิยมนี้คือการที่พระโปรเตสแทนท์ระดับสูงของรัฐทางเหนือนั้นเป็นลูกหลานพ่อค้าและช่างแทบทั้งนั้น ในขณะที่พระคาธอลิคทางใต้จะมาจากตระกูลอภิชนทั้งนั้น ดู W. H. Bruford, Germany in the Eighteenth Century: The Social Background of The Literary Revival, (Cambridge: Cambridge University Press, 1935), pp. 49-50
  6. ภาษาเยอรมันจะเรียกพวกพ่อค้า นายทุน นายธนาคาร ผู้ประกอบการ ไปจนถึงพวกเจ้าที่ดินและครอบครัวของคนเหล่านี้ว่า Wirtschaftsburgertum แปลตรงๆ ว่า "ชนชั้นกลางทางเศรษฐกิจ" และเรียกพวกพวกชนชั้นมืออาชีพทั้งหลายตั้งแต่หมอ ทนาย ปัญญาชน ยันข้าราชการว่า Bildungsburgertum แปลตรงๆ ว่า "ชนชั้นกลางทางการศึกษา ส่วนพวกลูกจ้างระดับล่างถึงกลางภาษาเยอรมันคือ Kleinburgertum ภาษาฝรั่งเศสคือ Petite-Bourgeoisie ซึ่งน่าจะแปลได้ว่า “ชนชั้นกลางล่าง” กลุ่มสุดท้ายโดยทั่วไปจะไม่ถูกนับรวมมาใน “ชนชั้นกลาง” เฉยๆ" ดู Jurgen Kocka, ibid, p. 784
  7. ช่างในที่นี้ในภาษาฝรั่งเศสคือ gens de metier ที่น่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า tradesmen ที่คนอาจมองว่าเป็น “พ่อค้า” ก็ได้ แต่ในฝรั่งเศสช่วงระบอบเก่า “พ่อค้า” กับ “ช่าง” นั้นไม่ได้แยกกัน เพราะคนที่จะมีสิทธิ์ในการทำการค้าบางอย่างในเมืองนั้นโดยทั่วไปก็คือนายช่างใหญ่ (master) ที่เป็นสมาชิกระดับสูงของความคมช่างเท่านั้น และอภิสิทธิ์ในการผูกขาดการค้าหนึ่งๆ ในเมืองหนึ่งๆ นี้ก็จะออกโดยกษัตริย์ นี่ทำให้การแยกช่างออกจากพ่อค้าในฝรั่งเศสระบอบเก่านั้นไม่สมเหตุสมผลนักเนื่องจากพ่อค้าก็คือนายช่างระดับสูงนั่นเอง สถานการณ์ในฝรั่งเศสต่างจากอังกฤษที่ในช่วงเวลาเดียวกันไม่ได้มีระบบออกอภิสิทธิ์ให้สมาคมช่างมีสิทธิ์ผูกขาดการค้าแล้ว และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งให้พ่อค้ากับช่างเป็นกลุ่มคนที่ต่างกันชัดเจนในสังคม อ่านเรื่องราวของช่างในระบอบเก่าฝรั่งเศสและการเปลี่ยนผ่านของช่างหลังปฏิวัติได้ใน William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980)
  8. สิ่งที่น่าสังเกตคือโรงเรียนที่โตมากในอังกฤษศตวรรษที่ 18 เป็นโรงเรียนสอนความรู้ระดับกลางที่เตรียมพร้อมให้ลูกหลานของชนชั้นกลางอังกฤษในเวลานั้นพร้อมกับการเข้าสู่โลกของการค้าและวิชาชีพ ไม่ใช่การศึกษานามธรรมอย่างเทววิทยาที่เป็นวิชายอดฮิตในโลกภาษาเยอรมานช่วงเวลาเดียวกัน ดู Paul Langford, ibid, p. 57
  9. แน่นอนนี่ชวนให้เราวาดภาพชนชั้นกลางพ่อค้าอังกฤษ ชนชั้นกลางช่างฝรั่งเศส และชนชั้นกลางข้าราชการเยอรมัน และชวนให้เราขบคิดต่อไปถึงตลาดหนังสือที่ต่างกันใน 3 ประเทศนี้ในศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ดี นั่นก็คงจะเป็นเนื้อหาที่เกินขอบเขตของชุดบทความนี้
  10. Nicholas Boyle, ibid, p. 10
  11. Nicholas Boyle, ibid, p. 8
  12. Nicholas Boyle, ibid, p. 73
  13. John Feather, A History of British Publishing, Second Edition, (London: Routledge, 2006), pp. 11-12

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net