ศาลต้องเข้าใจความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม บทเรียนจากคดีแม่อมกิ

เสวนา “ป่ากับคน : ในมุมมองของศาล บทเรียนจากคำพิพากษาคดีแม่อมกิ”  นักวิชาการชี้ศาลต้องพยายามทำความเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมมากขึ้น
 
เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2555 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ป่ากับคน : ในมุมมองของศาล บทเรียนจากคำพิพากษาคดีแม่อมกิ”  ณ.ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ  ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานว่า  การจัดการป่าไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยรัฐนั้น เน้นที่การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในเชิงเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับระบบทรัพย์สินส่วนบุคคลมากเกินไป   ทำให้ขาดมุมมองทางด้านสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ  รัฐจึงควรให้น้ำหนักกับการจัดการทรัพย์สินส่วนร่วมให้มากขึ้น
 
ส่วน นางนภาพร สงค์ปรางค์ ทนายประจำศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้กล่าวถึงสถานการณ์ชาวชาติพันธุ์กับป่าในพื้นที่ภาคเหนือว่า คดีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมาและยังคงต้องต่อสู้กับทัศนคติต่อชาวชาติพันธุ์ในด้านลบที่ยังคงฝังลึก
 
ทั้งนิ้ตัวแทนทนายความในคดีแม่อมกิ  นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญและนาย เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ถึงเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย เช่น เรื่องการประกันตัวและเรื่องล่ามในคดี ว่ายังมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิอยู่สูง โดยเฉพาะต่อชาวชาติพันธุ์  และได้ให้ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาในคดีแม่อมกิว่า ศาลยังคงติดอยู่กับกรอบของกฎหมาย และยังไปไม่ถึงเรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  อย่างไรก็ตามคดีแม่อมกินี้ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกต่อไป
 
นักวิชาการจากมหาวิทยลัย เชียงใหม่ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า สังคมนั้นมีความหลากหลาย ศาลจึงต้องพยายามทำความเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมมากขึ้น  เพราะถ้าศาลไม่เข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมแล้วแทนที่กระบวนการยุติธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม กลับจะทำให้สังคมนั้นเกิดความขัดแย้งมากขึ้น และได้เสนอให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้กฎในการอยู่ร่วมกัน  สะท้อนความเป็นจริงในแต่ละสังคมนั้นๆ
 
ด้าน ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่  ได้เสนอให้ศาลมีแผนกคดีชุมชน และเสนอว่ากระบวนการพิจารณาแบบไต่สวนอาจจะทำให้เกิดผลดี มากกว่าระบบกล่าวหาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ได้กล่าวว่า “ ศาลจะต้องส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น”  เป็นการปิดเสวนาดังกล่าว
 
ทั้งนี้ นาง หน่อ เฮ หมุย เวียงวิชา ในฐานะที่ตกเป็นจำเลยในคดีได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนว่า   “ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือข้าว ถ้าไม่ให้เรา ทำไร่ปลูกข้าวแล้วเราจะทำอย่างไร” และบอกว่าในขณะถูกจับ ตนรู้สึก “กลัวจนตัวสั่น”
 
ในคดีแม่อมกินั้น นาง หน่อ เฮ หมุย เวียงวิชา และนายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) ชาวบ้านในหมู่บ้านแม่อมกิซึ่งได้มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งคู่ถูกจับในความผิดตาม พรบ.ป่าไม้และพรบ.ป่าสงวน ในขณะที่เตรียมการทำไร่หมุนเวียน เบื้องต้นนั้นศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุกบุลคลทั้งสอง แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความและล่ามไม่ได้ทำการสาบานตัว  ศาลจึงมีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยทนายในคดีนี้ได้ยกหลักการเรื่องสิทธิชุมชนขึ้นต่อสู้ และพยานคือนักวิชาการได้เสนองานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์ต่อศาล ที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายติแป๊ะโพและนางหน่อเฮหมุยไม่มีความผิดเนื่องจากขาดเจตนา ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้นายติแป๊ะโพ มีความผิด ลงโทษจำคุกสองปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ก่อน 1ปี ส่วนนางหน่อเฮหมุยศาลพิพากษาให้ไม่มีความผิดด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น ทั้งนี้ข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันแต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ในทั้งสองคดีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารต้องออกจากที่พิพาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท