Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวไว้ในการเสวนาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2556 ที่ Book Re:public เชียงใหม่ อย่างน่าสนใจว่า

ในโครงสร้างของคริสต์ศาสนา พระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่คุณเข้าถึงฟิสิกส์หรือกฎธรรมชาติ ก็คือการเข้าถึงโลกของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่มีทางเข้าถึงพระเจ้า พระเจ้าไม่เคยปรากฏร่างให้คุณเห็น

การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้

ในแง่ปรัชญา เมื่อผนวกกับกรีกเข้าไปแล้ว ซึ่งบ้าคลั่งหลงใหลกับการแสวงหาความจริง ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก

ผมสนใจข้อความว่า “...ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน” คือถ้าคนตะวันออก (ทั้งหมด) คิดอย่างอาจารย์ธเนศว่าจริง พุทธะคงไม่ใช่คนตะวันออกเพราะพุทธะนิยามตันเองว่า “ผู้รู้ความจริง” คือ ความจริงของทุกข์ ความจริงของสาเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงของความดับทุกข์ หรือนิพพาน และความจริงของการดำเนินชีวิตให้ดับทุกข์ได้

ความจริงดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาไม่ได้แยกมองอย่างเป็นอิสระจากโครงสร้างของความจริงในธรรมชาติ หรือระบบ Nature ทั้งหมด แม้ความจริงในอริยสัจสี่จะเป็น Nature ของชีวิต แต่ก็เป็นความจริงซึ่งสัมพันธ์กับระบบของ Nature ทั้งหมด เช่น กฎความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ความขัดแย้งระหว่างภาวะที่พยายามดำรงอยู่กับภาวะที่บีบเค้นให้เสื่อมสลาย (ทุกขัง) ภาวะที่ไม่มีตัวตนเอกเทศที่ดำรงอยู่นอกระบบความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น ซึ่งระบบ Nature มันมีอยู่ของมันเอง ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า

ในทัศนะของพุทธศาสนา คุณจะเข้าถึงนิพพาน (ซึ่งเป็นสัจจะหนึ่งในอริยสัจ) ไม่ได้ ถ้าคุณไม่เข้าถึง Nature ของชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบ Nature ทั้งหมด ฉะนั้น เส้นทางสู่นิพพานจึงเป็นเส้นทางของการแสวงหาความจริง หรือเส้นทางเข้าถึงความจริง (ซึ่งหมายถึงต้องเข้าใจความจริงที่เป็น Social Convention และความจริงในธรรมชาติด้วย)

แต่ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือ ความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีแง่มุมที่ต่างกันอยู่ คือพุทธศาสนานั้นถือว่าเป้าหมายสูงสุดของการเข้าถึงความจริงคือการมีเสรีภาพด้านใน ที่เรียกอีกอย่างว่า “ความพ้นทุกข์” เส้นทางการแสวงหาความจริงคือมรรคมีองค์ 8 หรือไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งแกนหลักของเส้นทางนี้อยู่ที่เข้าถึงความจริง และการจัดการกับความจริงในทางที่ไม่เป็นการเบียดเบียนทำร้าย อย่างใช้สติ และปัญญา

ส่วนที่ว่า “...การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้” ความคิดแบบนี้น่าจะพัฒนาขึ้นในระยะหลัง หากเป็นความคิดที่มีอยู่ในคริสตศาสนายุคแรกเริ่ม ทำไมกาลิเลโอจึงถูกกักบริเวณเพราะเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ตรงข้ามกับความเชื่อในไบเบิล และทำไมชาร์ลส์ ดาร์วิน จึงถูกเย้ยหยันเมื่อเขาเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ และไม่ต้องพูดถึงว่ามีคนถูกล่าแม่มดจากอำนาจศาสนจักรอีกเท่าไร

ฉะนั้น หากพูดโดยรวมๆ แล้วความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ และแนวคิดก้าวหน้าอื่นๆ เช่น Humanism, Existentialism และ Liberalism เป็นต้น ก็พัฒนาขึ้นจากการต่อต้านอำนาจครอบงำของศาสนจักรยุคกลาง (ตรงนี้ อ.ธเนศก็กล่าวถึง) แน่นอนคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์อาจรับความคิดเหล่านี้ไปพัฒนาความเชื่อทางศาสนาให้ก้าวหน้า หรือ “เป็นศาสตร์ขึ้นมาได้” อย่างที่อาจารย์ธเนศว่า

ส่วนตัวอย่างที่ยกมาว่า “ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก” อันนี้ผมคิดว่าจะสรุปว่า “นี่เป็นความคิดแบบตะวันออก” (หรือ “นี่เป็นความคิดแบบพุทธ”) คงไม่สมเหตุสมผล เพราะถ้าคิดแบบพุทธก็ต้อง “รู้ความจริงของปัญหา และสาเหตุของปัญหา จึงจะแก้ปัญหาได้” ความคิดแบบนี้น่าจะเป็น “ความคิดแบบไทยๆ” มากกว่า

แน่นอน “ความคิดแบบไทยๆ” มันก็มีบริบท ไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ บริบทของความคิดแบบนี้ก็คือ “พุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือ พุทธที่ถูกตีความสนับสนุน “อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์” ที่เป็นรากฐานวัฒนธรรมทางความคิดของสยามประเทศมานาน พุทธเช่นนี้ย่อมละเลยหลักการแสวงหาความจริงของปัญหาและสาเหตุของปัญหาอย่างถ่องแท้ตามหลักอริยสัจ และละเลยหลักกาลามสูตร แต่เน้นความเชื่อเรื่อง “กรรม” ที่จัดลำดับชนชั้นทางสังคม เน้นยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ การสยบยอม และการประนีประนอมที่ต้องปกป้องสถานะ อำนาจของชนชั้นปกครอง มากกว่าการแสวงหาความจริงและการเดินตามหลักการที่ถูกต้อง

ฉะนั้น การต่อสู้กับพุทธในความหมายดังกล่าวนี้จึงมีเหตุผล แต่ไม่ใช่ไปเหมารวมว่าพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญกับความจริงของ Nature หรือการเข้าถึงความจริงกับนิพพานเป็นคนละเรื่องกัน

สุดท้ายอาจารย์ธเนศบอกว่า “ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า คนที่คิดที่จะสู้ จะต้องสู้อีกยาว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสู้ ก็คือ สู้กับตัวเราเอง สำหรับผมมันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ” ข้อสรุปนี้ผมว่าพูดคล้ายพุทธศาสนามากเลย เพราะสำหรับพุทธศาสนาแล้ว การที่คุณจะเข้าถึงความจริงคุณต้องสู้กับความเชื่อทางจารีตประเพณี ศาสนา ค่านิยม อำนาจรัฐ หรือความคิดความเชื่อต่างๆ อันเป็นมายาคติที่ถูกปลูกฝังมาแม้กระทั่งความเชื่อว่ามีอัตตาตัวตนอันเป็น Instinct ของคุณ จึงจะค้นพบความจริงและมีเสรีภาพด้านในอย่างแท้จริง เหมือนการต่อสู้กับตัวเองของสิทธัตถะ เป็นต้น

แต่ผมเข้าใจว่า ข้อสรุปนี้ของอาจารย์ธเนศ คงหมายเฉพาะการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในชีวิตทางสังคมการเมือง ซึ่งหมายถึงปัจเจกต้องต่อสู้เพื่อที่จะมี Autonomy ที่จะตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระจากความคิด ความเชื่อ จารีตวัฒนธรรมที่ครอบงำกำกับความคิด การกระทำของเราอยู่ รวมกระทั่งต่อสู้กับความกลัว ความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองเป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ สิ่งเหล่านี้ “มันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ”

แต่เป้าหมายเชิงสังคมการเมืองของเราคืออะไรครับ ถ้าไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อคอำนาจจารีตที่กดทับเราอยู่ เพื่อให้เราสามารถใช้  Autonomy ของตนเองได้โดยไม่ต้องติดคุก เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมันจำกัดการใช้ Autonomy ของเราอยู่อย่างชัดแจ้ง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net