Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมชอบอ่านงานวิพากษ์ประวัติศาสตร์ความคิด สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมตะวันตกของธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่นอกจากจะไม่ทิ้งประเด็นศาสนาแล้ว ยังถือว่า “ศาสนาคริสต์” เป็นประเด็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในการทำความเข้าใจวิถีโลกตะวันตก สอดคล้องกับมุมมองของไมเคิล ไรท์ที่ว่า เราเข้าใจสังคมตะวันตกไม่ได้หรอกถ้าเราไม่รู้เรื่องคริสต์ศาสนา แต่คริสต์ศาสนาในโลกตะวันตก ก็เป็นศาสนาที่ปะทะกับปรัชญาและวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น ทั้งสามอย่างต่างมีอิทธิพลทั้งในแง่บวกและลบต่อกันและกัน 

จอห์น เกรย์ (John Gray) ก็เป็นอีกคน (ในบรรดานักคิดตะวันตกจำนวนมาก) ที่มองว่าโลกทัศน์ใหญ่ๆ ของตะวันตกล้วนมีรากฐานมาจากศาสนาคริสต์ เช่นแนวคิดสังคมยูโทเปียก็อาจสืบย้อนไปถึงไบเบิลที่ว่ามนุษย์ตกสวรรค์ เพราะทำผิดกฎของพระเจ้า แต่โลกสวรรค์คือความสุขอันเป็นนิรันดร์ การหวนคืนสู่สวรรค์ของพระเจ้าจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดในอุดมคติ สังคมยูโทเปียก็เหมือนกับการสร้างสวรรค์ขึ้นบนโลก สอดรับกับคำของเยซูที่ว่า “สวรรค์ของพระเจ้าจะมาสู่โลกนี้ในไม่ช้า” แต่สวรรค์ของพระเจ้าที่มีแต่ความรัก การไม่แบ่งแยก ความเป็นธรรม และความสุข จะเกิดขึ้นในโลกนี้ที่มากด้วยการแบ่งแยก ความเกลียดชัง ความอยุติธรรม และความทุกข์จากการกดขี่สารพัดได้อย่างไร นั่นก็คือที่มาของการต่อสู้ในยุคพระศาสดา ที่จบลงด้วยการที่เยซูถูกตรึงกางเขน ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตที่ใช้กับคนชั้นต่ำในยุคนั้น  

ความเชื่อเรื่อง “วันสิ้นโลก” แบบคริสต์ก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสร้างความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้สักวันหนึ่งจะถูกทำลายลงด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ และความเชื่อที่ว่าประวัติศาสตร์ของการกดขี่จะต้องมีวันจบสิ้นลง เช่น มุมมองทางประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์เชื่อว่า สังคมบรรพกาลเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีชนชั้นผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ แต่มนุษย์ได้ตกสวรรค์ด้วยการสร้างระบบชนชั้นนายทาสกับทาส ชนชั้นศักดินากับไพร่ ทาส และชนชั้นนายทุนกับกรรมาชีพขึ้นมา แต่สุดท้ายประวัติศาสตร์สังคมทุนนิยมจะสิ้นสุดลง เมื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ที่ไม่มีชนชั้นผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ในรูปแบบใดๆ อีกต่อไป 

โลกทัศน์ใหญ่อีกอันหนึ่งคือ ศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์จาก “จินตภาพ” (image) ของพระองค์ และสร้างสัตว์ต่างๆ พืชพันธุ์ธัญญาหารและสรรพสิ่งในธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ ทัศนะเช่นนี้คือรากฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการเป็นนายเหนือธรรมชาติ หรือมองธรรมชาติเป็น “ทรัพยากร” ที่จะนำมาใช้สอยประโยชน์ในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและอื่นๆ แก่สังคมมนุษย์ 

อีกโลกทัศนะหนึ่งคือ “การปลดปล่อย” (liberate) ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) สกุลอับราฮัม ต้องการปลดปล่อยชาวยิวจากความงมงายของศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism) การบูชาเทพต่างๆ (gods) เป็นสิ่งที่ผิด เพราะที่จริงมี “พระเจ้า” (God) เพียงองค์เดียวเท่านั้น และความศรัทธาภักดีใน God เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นจึงถูกต้อง การเอ่ยนาม gods อื่นๆ หรือบูชาเทพต่างๆ รวมทั้งความเชื่อทางโหราศาสตร์เป็นสิ่งที่ผิด สมควรปาหินให้ตาย 

ความเชื่อเรื่องการปลดปล่อยจากศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาที่แท้ จึงสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่อง “พระเจ้าที่แท้จริงเพียงพระองค์เดียว” และโมเสสก็ปลดปล่อยชาวยิวจากการตกเป็นทาสแรงงานของชาวอียิปต์ด้วยความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว โดยถือว่าชาวยิวเป็นชนชาติที่ถูกพระเจ้าทรงเลือก 

เยซูคือเมสสิอาห์ (Messiah) หรือผู้ปลดปล่อยมนุษย์จากบาป เพราะมนุษย์ทุกคนมีบาปกำเนิด (original sin) อันเป็นผลจากบรรพบุรุษของมนุษย์ทั้งมวล คืออาดัมกับอีฟทำผิดกฎของพระเจ้า ความเชื่อเช่นนี้คือการสร้างโลกทัศน์ยอมรับอำนาจสูงสุดของพระเจ้า ยอมรับกฎอันศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้ซึ่งเป็นเทวบัญชา ยอมรับการสำนึกผิด และการให้อภัย ซึ่งเป็นโลกทัศน์พื้นฐานที่นำไปสู่การอุทิศตนรับใช้พระเจ้าและรับใช้เพื่อนมนุษย์ บนความคิดที่ว่า “รักพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ” และ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง” เมื่อพอลหรือเปาโลนำคำสอนเยซูคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในกรุงโรม ความคิดดังกล่าว คือรากฐานของการสร้าง “Church” (ขึ้นต้นด้วย C ตัวใหญ่) เช่น “Christian Church” หมายถึง กลุ่มคนผู้ถือพระคริสต์ และ “church” (ขึ้นต้นด้วย c ตัวเล็ก) หมายถึง โบสถ์หรือสถานที่ชุมนุมของชาวคริสต์ 

การก่อตั้งกลุ่มชาวคริสต์และสถานที่ชุมนุมของชาวคริสต์ จึงเป็นลักษณะของการสร้างมวลชนผู้มุ่งอุทิศตนรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คริสต์ศาสนาต่างจากศาสนาพหุเทวนิยมของชาวโรมัน ขณะที่ศาสนาพหุเทวนิยมเป็นศาสนาของชนเผ่าในท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่มีความคิดแบบสากลนิยม (universalism) แต่ศาสนาคริสต์ที่เข้ามาสู่ยุโรปมีความคิดแบบสากลนิยมอย่างแรงกล้า บนความเชื่อที่ว่า มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวที่เป็นพระเจ้าของมนุษย์ทั้งมวล จึงต้องเผยแพร่คำสอนของพระองค์ไปสู่มนุษย์ทั่วโลก ในสายตาชาวคริสต์ (ยุคนั้น) ศาสนาอื่นๆ ไม่ใช่ศาสนาที่แท้ ในช่วง 3 ศตวรรษแรกชาวคริสต์ถูกกดปราบจากจักรพรรดิแห่งโรม เพราะความเชื่อและแนวทางของคริสต์แปลกแยกจากสังคมชาวโรมันที่ยอมรับความหลากหลายทางศาสนา แนวทางของชาวคริสต์จึงถูกมองเป็นภัยคุกคามที่ต้องขจัดออกไป

แต่เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินเปลี่ยนมาถือคริสต์ และใช้ “ธงรบสัญลักษณ์ไม้กางเขน” ได้ชัยชนะเหนือกษัตริย์ต่างๆ จึงสนับสนุนศาสนาคริสต์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดคริสต์ศาสนจักรที่ยิ่งใหญ่เหนือสังคมการเมืองยุโรปตลอดยุคกลางราวพันปี ว่ากันว่าช่วงเวลากว่า 3 ศตวรรษที่ชาวคริสต์ถูกฆ่าโดยจักรพรรดิแห่งโรม ก็ถูกฆ่าไปจริงๆ ประมาณหลักพันเท่านั้น แต่ในยุคกลางศาสนจักรคริสต์ฆ่า “พวกนอกรีต” หลายแสนคน และฆ่ากันเองในสงครามระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์หลายสิบล้านคน เหตุผลหลักๆ เพียงเพราะความเชื่อที่ว่า พระเจ้าของพวกข้าเท่านั้นคือพระเจ้าที่แท้จริง ศาสนาของพวกข้าเท่านั้นคือศาสนาที่แท้จริง พวกที่ไม่แท้ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนมาถือศาสนาหรือพระเจ้าของพวกข้า ก็สมควรตาย

การยึดมั่นในความจริงสูงสุดหนึ่งเดียว และการพยายามทำให้ความจริงสูงสุดหนึ่งเดียวนั้นเป็นสากล หรือเป็นของคนทั้งโลก คือความคิดพื้นฐานแบบคริสต์ แม้การปฏิรูปศาสนา (Reformation) ที่นำมาสู่สงครามระหว่างนิกายศาสนา 30 ปี และทำให้เกิดข้อตกลงที่ว่า รัฐไหนผู้ปกครองนับถือคริสต์ศาสนานิกายอะไร ประชาชนใต้ปกครองต้องนับถือตาม เสรีภาพทางศาสนาจึงมีความหมายแคบๆ แค่ประชาชนเลือกนับถือนิกายศาสนาตามผู้ปกครองของตนได้ โดยไม่ถูกบังคับจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกเท่านั้น

ต่อเมื่อความคิดเสรีนิยม (liberalism) งอกงามขึ้น จึงเน้นความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (sovereign) เหนือชีวิตจิตใจและร่างกายของตนเอง ในเชิงอุดมคติเราแต่ละคนจึงมีอำนาจและสิทธิ เสรีภาพเป็นของตนเอง ซึ่งอุดมคติดังกล่าวถูกนำมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกอำนาจเทวสิทธิ์ของระบบกษัตริย์และศาสนจักร และแยกศาสนาจากรัฐหรือการเมือง

แต่จุดเปลี่ยนทางความคิดก็ต้องจัดการความเชื่อทางศาสนาใหม่ เช่นจอห์น ล็อก (John 
Locke) ต่อต้านการอ้างว่าพระเจ้ามอบอำนาจเทวสิทธิ์แก่กษัตริย์ และเสนอว่าพระ
เจ้ามอบ “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) แก่มนุษย์และมอบหมายให้มนุษย์
มีหน้าที่ปกป้องรักษาสิทธิตามธรรมชาตินั้น ตามไอเดียนี้พระเจ้าไม่ได้แทรกแซงสิทธิ
ของมนุษย์ทั้งในทางให้คุณและให้โทษ จึงไม่จำเป็นต้องมีอำนาจเทวสิทธิ์จากพระเจ้า
ในการปกครอง แต่การปกครองเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลทั้งหลายจะทำข้อตกลงร่วมกัน
ในรูปของ “สัญญาประชาคม” (social contract) ว่าจะยินยอมให้รัฐบาลมาใช้อำนาจ
แทนตนในการปกครองประเทศตามวาระ หากรัฐบาลทำผิดสัญญา โดยหันปากกระบอก
ปืนมาปล้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิชอบธรรมที่จะล้มล้างรัฐบาล
เช่นนั้น เพื่อตกลงกันตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิตามธรรมชาติของ
ประชาชน ไอเดียนี้ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพอเมริกา 

ความคิดที่ว่าพระเจ้าไม่แทรกแซงสิทธิตามธรรมชาติของเรา ที่จริงก็น่าจะปรับมามาจากไอเดียแบบมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ผู้นำปฏิรูปโปรเตสแตนท์ ที่ยืนยัน “freedom of conscience” หรือเสรีภาพแห่งมโนธรรม/ความคิดเห็นในการที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถเข้าใจคำสอนของพระเจ้าได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคำสอนหรือคำวินิจฉัยของนักบวชหรือศาสนจักร และถือว่า “ทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า” ดังนั้น ไม่ว่านักบวชหรือฆราวาสจึงเสมอภาคกันในการตีความคำสอนในไบเบิล และดังนั้นแต่ละคนจึงเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรง การอภัยบาปไม่เกี่ยวกับโป๊ป ศาสนจักร หรือนักบวช แต่เป็นเรื่องของพระเจ้ากับแต่ละคนที่ทำบาปเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้วิถีชีวิตแบบนักบวชและฆราวาสจึงมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ใช่วิถีชีวิตแบบนักบวชสูงส่งกว่าฆราวาสอย่างที่พวกคาทอลิกยืนยัน ไอเดียแบบนี้ก็เป็นที่มาของการยกระดับ “ฆราวาส” ให้เท่าเทียมกับ “นักบวช” เป็นจุดเริ่มของ “secularism” ที่บ้านเราแปลกันว่า “ฆราวาสนิยม” ซึ่งก็คงถูกในความหมายว่าเน้นความสำคัญของฆราวาสเท่าเทียมกับนักบวช

แต่ไอเดีย secularism ที่แปลกอีกอย่างว่า “โลกวิสัย” ก็พัฒนาไปไกลกว่าการยืนยันความเท่าเทียมระหว่าง “นักบวชกับฆราวาส” มาก เพราะในยุคสมัยใหม่ secularism ยืนยันการแยกระหว่าง “ทางโลก” กับ “ทางศาสนา” จนนำมาสู่การแยกศาสนาจากการเมือง และถือว่าเรื่องทางศาสนาควรอยู่ในปริมณฑลของ “ความเชื่อส่วนบุคคล” หรืออยู่ในวิถีชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลแต่ละคน และชุมชนทางศาสนาต่างๆ ส่วนเรื่องทางโลก (secular) อยู่ในปริมณฑลของ “พื้นที่สาธารณะ” เช่นการวางระบบการเมืองการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย บทบาทของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและอื่นๆ (ที่นอกเหนือจากเรื่องทางศาสนา) เป็นเรื่องสาธารณะที่อยู่ภายใต้กฎกติกาแบบทางโลก จะใช้หลักความเชื่อหรือกฎทางศาสนามาบังคับ หรือก้าวก่ายแทรกแซงไม่ได้ 

แม้ศาสนาเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือระเบียบทางโลก เช่น อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพทางศาสนา หรือหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น ดังนั้น การเผยแพร่ศาสนาจึงต้องเคารพหลักเสรีภาพทางศาสนา ไม่ละเมิดสิทธิทางการเมือง และสิทธิพลเมือง 

พูดอีกอย่างคือ จากไอเดีย “เสรีภาพภายใต้กฎของพระเจ้า” พัฒนามาเป็น “เสรีภาพภายใต้กฎของมนุษย์” คริสต์ศาสนาเชื่อว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มี “เจตจำนงเสรี” (free will) ที่จะเลือกยอมรับหรือปฏิเสธพระองค์ก็ได้ แต่เขาอยู่ภายใต้กฎของพระเจ้าในความหมายว่า การใช้เจตจำนงเสรีในการเลือกกระทำดีหรือชั่วของเขา ก็ย่อมเป็นไปตามกฎของพระเจ้า นั่นคือ หากเขาเลือกศรัทธาและทำตามวจนะของพระเจ้า เขาย่อมได้คืนสู่สวรรค์ หากเลือกไม่ศรัทธาและทำชั่ว เขาย่อมตกนรกชั่วนิรันดร์ นี่คือสาระสำคัญของไอเดียเสรีภาพภายใต้กฎของพระเจ้า

แต่ไอเดียเสรีภาพภายใต้กฎของมนุษย์ เริ่มจากการปฏิเสธกฎของพระเจ้า เช่น อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เห็นว่าพระเจ้ามีอยู่ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ และพระเจ้าก็ไม่มีอำนาจมาแทรกแซงเสรีภาพของมนุษย์ได้ ในความคิดคานท์ การทำตามกฎของพระเจ้า เช่นบัญญัติ 10 ประการและอื่นๆ ไม่ใช่การมีเสรีภาพ เพราะเราเป็นเพียง “object” ที่ถูกกำหนดให้ทำตามกฎเท่านั้น แต่การมีเสรีภาพ คือการที่เราเป็น “subject” ที่สามารถบัญญัติกฎขึ้นมาใช้กับตัวเองและเพื่อนมนุษย์ทุกคนได้ เช่น บัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมาเอง แต่เป็นกฎศีลธรรมที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อมนุษย์ทุกคนบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของกันและกัน นี่คือเสรีภาพทางศีลธรรม และเสรีภาพทางการเมือง ก็คือการที่เรามีส่วนร่วมในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใช้ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย ไอเดียแบบคานท์คือรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

แต่ในมุมมองแบบเกรย์ นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนความคิดสากลนิยมแบบคริสต์มาเป็นความคิดสากลแบบมนุษยนิยมในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนศรัทธาในพระเจ้ามาเป็นศรัทธาในมนุษยชาติ อันที่จริงความรู้และภูมิปัญญาตะวันตกสมัยใหม่ยืนยันความเป็นสากลนิยมทั้งนั้น ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ แนวคิดแบบเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ เรื่องเล่า (narrative) ทางวิทยาศาสตร์ ก็อ้างว่าเพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากความงมงายไร้เหตุผล มาสู่ความจริงที่มีเหตุผล เรื่องเล่าแบบเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ก็อ้างการปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการกดขี่สู่การมีเสรีภาพ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าแบบคริสต์ก็เป็นเรื่องเล่าของการปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากบาปและการกดขี่แบบอื่นๆ เช่นกัน 

พวกโพสต์โมเดินวิพากษ์ความคิดแบบสากลนิยมทั้งปวงว่าเป็น “วาทกรรมอำนาจ” แต่วิพากษ์เพื่ออะไร ก็เพื่อ “liberate” จากอำนาจครอบงำของเรื่องเล่าเหล่านั้น ดังนั้น การปลดปล่อยที่เป็นความคิดพื้นฐาน หรือเป็นโลกทัศน์ใหญ่แบบคริสต์จึงถูกส่งต่อมาสู่ภูมิปัญญาสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ที่หลากหลาย มีทั้งความคิดที่ยอมรับและปฏิเสธพระเจ้า 

อย่างที่ว่ากันว่า “ถ้าไม่มีพระเจ้าก็ไม่มีเอธีสต์” นี่อาจดูเหมือนพูดติดตลก แต่ความจริงก็คือ ความคิด ความรู้อะไรต่างๆ ที่อ้างถึง “การปลดปล่อย” ในโลกตะวันตกต่างปะทะถกเถียง ขัดแย้ง หรือแชร์ไอเดียจากคริสต์ศาสนาในแง่ใดแง่หนึ่ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net