Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักกิจกรรมเรียกร้องสร้างต้นแบบดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยยึดหลักศาสนาเรื่องความเท่าเทียมและสันติ ย้ำการมีอยู่แรงงานข้ามชาติในประเทศเป็นปรากฏการณ์ปกติของประเทศทั่วโลก

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม  สภาคริสตจักรในประเทศไทย (CCT)  โครงการพันธกิจคริสตจักรลุ่มน้ำโขง (MEPP) สภาคริสเตียนแห่งเอเชีย (CCA) จัดโครงการเสวนาแรงงานข้ามชาติผ่านนิทรรศการภาพถ่าย  ในหัวข้อ “ทำไมคริสตชนต้องห่วงใยแรงงานข้ามชาติ” เพื่อเป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในการนำเสนอความเคลื่อนไหวของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ และการชี้ให้เห็นถึงหลักศาสนาที่เอื้อต่อการดูแลแรงงานข้ามชาติ

โดยนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ตัวแทนคริสตจักร และตัวแทนพี่น้องแรงงานข้ามชาติ เข้าร่วมกว่า 60 คน ภายในงานมีการรวบรวมผลงานภาพถ่ายของ จอห์น ฮิวม์ ช่างภาพถ่ายภาพบุคคลอิสระชาวอังกฤษ กว่า 60 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า เพื่อต้องการสะท้อนให้ผู้เข้าชมได้รับรู้ถึงการทำงานและวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ ของแรงงานข้ามชาติสร้างความตระหนักให้ทุกคนในสังคมได้มีทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติ

เจนจินดา ภาวะดี ผู้ประสานงานโครงการพันธกิจลุ่มน้ำโขง สภาคริสเตียนแห่งเอเชีย ในฐานะผู้จัดงานกล่าวว่า จากหัวข้อเสวนาที่ว่าเพราะเหตุใดคริสต์ชนต้องห่วงใยแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากว่าทุกศาสนาได้สอนให้เราช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยกว่า ทุกศาสนามีบทบาทที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำงานในคริสตจักรตามแนวชายแดนและได้มีการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติ มีโอกาสเดินทางไปร่วมกิจกรรมการบวชลูกแก้วของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในวัดแห่งหนึ่ง พบว่ามีแรงงานข้ามชาติไทยใหญ่ที่ร่วมบวชนับพันคน ถือว่าเป็นวัดตัวอย่างในไทยก็ว่าได้ที่เปิดพื้นที่ให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติได้ทำกิจกรรม และกระทำตามหลักศาสนาที่จะต้องทำให้คนทุกคนบนโลกนี้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและกลมกลืน

“ได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นแรงงานข้ามชาติกับเจ้าหน้าคริสตจักรที่ทำงานในประเด็นแรงงานข้ามชาติในหลายๆประเทศ เช่น เกาหลี ซึ่งเป็นประเทศปลายทางในการอพยพของแรงงานข้ามชาติเหมือนกับประเทศไทย ทุกคริสตจักรได้ให้การช่วยเหลือในการดูแลคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานข้าม ชาติที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยถือว่าคนทุกคนเกิดเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้ความรักกับทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และขอให้ยอมรับกันในความเป็นมนุษย์ และลบอคติที่เคยมีและคิดว่าพี่น้องเหล่านี้มาอยู่ร่วมกันกับเราอย่างสันติ”

ด้าน จอห์น ฮิวม์ ช่างภาพชาวอังกฤษ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 24 ปีก่อนตนได้มีโอกาสมาประเทศไทยและได้มาถ่ายภาพเด็กเร่ร่อนในประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำงานถ่ายภาพด้านผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย หลังจากนั้นได้เดินทางมาทำงานที่ประเทศไทยโดยตลอด จนมีโอกาสไปถ่ายภาพในพื้นที่ชายแดน โดยส่วนตัวมีความสนใจในการถ่ายภาพ ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น และได้มีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ไปเห็นคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในแง่มุมต่างๆ จึงมีความคิดว่าประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะคนเหล่านี้ต้องจากประเทศมาดิ้นรน มาหางานทำ และต้องหลบๆซ่อนๆเพื่อปากท้อง ซึ่งแตกต่างจากการเข้าประเทศไทยของชาวตะวันตกอย่างตนที่มีอภิสิทธิ์อย่างมาก

จอห์นกล่าวอีกว่า เมื่อได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็มีความต้องการที่จะสะท้อนให้สังคมได้ทราบผ่านงานของตน ว่าประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้น งานที่ตนทำถือเป็นเรื่องที่ท้าทายทุกครั้ง มีการตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกครั้งจากความไม่เข้าใจว่าจะถ่ายภาพเหล่านั้นไปทำไม และนอกจากนั้นยังได้รับการปฏิเสธที่จะให้ถ่ายภาพจากตัวแรงงานข้ามชาติเอง เนื่องจากความกลัวในเรื่องความไม่ปลอดภัย เพราะไม่เข้าใจว่าตนจะถ่ายภาพเขาไปทำไม ซึ่งต่อจากนี้ก็คาดหวังว่าประเด็นต่างๆของแรงงานข้ามชาติจะได้รับรู้ไปใน สังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้นจากภาพถ่ายเหล่านี้ ผ่านผู้ชมทั้งประชาชนไทยและประชาชนแรงงานข้ามชาติด้วย

ในการสัมมนาได้เปิดโอกาสให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติ ร่วมพูดคุยบอกเล่าถึงประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างกว้างขวาง และเสียงจากตัวแทนพี่น้องแรงงานข้ามชาติทั้ง 5 ท่าน จากหลายองค์กรเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า แต่ละคนเข้ามาทำงานในประเทศไทยระยะเวลาตั้งแต่ 5 -20 ปี และส่วนใหญ่จะเริ่มต้นทำงานก่อสร้างและไม่เกี่ยงงานหนัก ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานมักจะไม่มีปัญหาเหมือนปัจจุบันเนื่องจากตอนนี้มีเรื่องของการพิสูจน์สัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนมากแล้วแรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็เพื่อมาทำงานและทำประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจให้ประเทศไทย ไม่ต้องการให้สังคมมองว่าตนมาทำในสิ่งที่ไม่ดี และเห็นว่ามีการนำเสนอประเด็นที่ไม่ดีของแรงงานข้ามชาติมากจนเกินไป แต่สำหรับเรื่องที่ดีกลับไม่ค่อยถูกนำเสนอแต่อย่างใด

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติกล่าวอีกว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีค่าแรงที่น้อย ทำงานในความเสี่ยงสูง อันตราย แต่กลับไม่ได้รับการบอกกล่าว อบรมและป้องกันในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้างบางคนให้แรงงานข้ามชาติทำงานโดยปราศจากถุงมือ ผ้าปิดปาก และหมวกนิรภัย จนทำให้แรงงานหลายคนได้รับสารเคมีเข้าร่างกาย และได้รับบาดเจ็บจากการทำงานเมื่อนายจ้างได้นำเงินไปจ่ายเป็นค่ารักษา แรงงานก็ต้องกลับมาทำงานชดเชยโดยไม่ได้ค่าแรงแต่อย่างใด

ในวงเสวนาได้พูดคุยถึงประเด็นที่ทำให้แรงงานข้ามชาติรู้สึกประทับใจในประเทศไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติทุกคนก็กล่าวคล้ายกันว่า ประทับใจในตัวนายจ้างและเจ้าหน้าที่ของไทยหลายเรื่อง ทั้งตำรวจ  ตรวจคนเข้าเมือง ประชาชนคนไทย และรวมถึงนายจ้างที่ดีๆ เป็นมิตรกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานในประเทศไทยและได้อยู่ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net