Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้อ่านพบข่าวนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแถลงการณ์โจมตีรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร(1) ว่ากำลังนำรัฐไทยไปสู่การเป็น "รัฐตำรวจ " (Police State) ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธหรือจะมาแก้ตัวแทนรัฐบาลเพียงแต่ต้องการแสดงความสงสัยว่าการที่คนเหล่านั้นอ้างว่า รัฐไทย"กำลังก้าวสู่"ความเป็นรัฐตำรวจนั้นมันจริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่อยากจะวิเคราะห์เป็นเชิงดูถูกว่าพวกเขาเห็นว่ายุคก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2) รัฐไทยไม่เคยเป็นรัฐตำรวจเลยเพราะพิจารณาดูจากทั้งภูมิหลังและการศึกษาของคนเหล่านั้น  ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลชุดก่อนหน้านี้เป็นรัฐตำรวจอยู่บ้าง แต่ไม่กล่าวถึงเพราะต้องการเน้นให้การโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีพลังยิ่งขึ้น  แต่ที่ผู้เขียนมั่นใจที่สุดว่าพวกเขาต้องเห็นว่ารัฐบาลทหารอย่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะไม่มีสภาพเป็นรัฐตำรวจเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าต้องค้นหาว่ามุมมองเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ 
 
ก่อนอื่นเราจะต้องให้คำนิยามของรัฐตำรวจเสียก่อนว่าหมายความว่า รัฐซึ่งรัฐบาลเผด็จการเข้ามาควบคุมประชาชนทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมักโดยการใช้อำนาจตามอำเภอใจของตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจลับโดยผ่านองค์กรยุติธรรมและบริหารของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนกระบวนการทางกฏหมายอันเป็นที่ประจักษ์ชัด (3)
 
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่ารัฐตำรวจคือเฉพาะยุค "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" หรือยุคที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (2491-2500) เป็นยุคที่ตำรวจมีความยิ่งใหญ่มาก มีองค์กรที่หลากหลายเหมือนกับทหารเช่นตำรวจรถถัง ตำรวจพลร่ม ตำรวจน้ำ ตำรวจม้า  สามารถคะคานอำนาจกับทหารบกซึ่งนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ได้อย่างดี  สาเหตุประการหนึ่งที่ชีวประวัติของเผ่ามีความเด่นขึ้นมาในปัจจุบันก็เพราะมีคนต้องการยกมาโจมตีทักษิณซึ่งเคยเป็นตำรวจเหมือนกัน
 
อย่างไรก็ตามผู้เขียนกลับเห็นว่าในยุคช่วงระหว่างหลังเผ่าและก่อนทักษิณ รัฐไทยก็ยังมีความเป็นรัฐตำรวจอยู่แม้ว่าการทำรัฐประหารปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ จะส่งผลให้ทั้งจอมพล ป.และเผ่าต้องลี้ภัยไปยังญี่ปุ่นและสวิสเซอร์แลนด์ตามลำดับและกรมตำรวจจะถูกลดทอนอำนาจไปมาก (4)แต่จอมพลสฤษดิ์เองก็ยังต้องการใช้ตำรวจในการค้ำจุนอำนาจของรัฐไว้ เพราะตำรวจเป็นองค์กรของรัฐที่รักษาความสงบภายในซึ่งใกล้ชิดและแทรกซึมเข้าไปในมวลชนมากกว่าทหาร โดยเฉพาะตำรวจลับ ภายใต้ชื่อว่าตำรวจสันติบาล (5)  อันสะท้อนว่ารัฐตำรวจเป็นภาวะที่ดำรงอยู่ต่อมาอย่างยาวนานแม้ยุคของเผ่าจะจบสิ้นไป เพราะจากคำนิยามแบบกว้าง ๆ ดังกล่าวสามารถตีความได้ว่าถึงแม้ตำรวจจะมีอำนาจด้อยกว่าทหาร แต่รัฐไทยก็ยังสามารถเป็นได้ทั้งรัฐทหาร (ทหารมีอำนาจปกครองประเทศ) และรัฐตำรวจไปในตัว ตราบใดที่ทั้ง 2 องค์กรยังคงสามารถประสานงานเพื่อทำประโยชน์ใหักับผู้นำรัฐ  โดยตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่เกสตาโปของเยอรมันนาซี สตาซีของเยอรมันตะวันออก เอนเควีดีของโซเวียต และตำรวจยังทำหน้าที่คานอำนาจกับกองทัพได้ด้วยเช่นหน่วยเกสตาโปได้ทำการจับกุมบรรดานายทหารที่พยายามทำรัฐประหารฮิตเลอร์ในวันที่   20 กรกฎาคม  1944
 
ในเวลาที่การเมืองไทยกลายเป็นเผด็จอันยาวนานในยุคของสฤษดิ์ จนไปถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐไทยกำลังพบกับภัยคุกคามกับคอมมิวนิสต์ ตำรวจได้ร่วมประสานกับกองทัพในการเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับควบคุมพฤติกรรมของพลเมืองไม่ว่าผ่านกระบวนการทางกฏหมาย ซึ่งแน่นอนว่าถูกร่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองเรื่องความมั่นคงเป็นหลักหรือวิธีการนอกกฏหมาย เช่นการวิสามัญฆาตกรรมอย่างอุ้มไปฆ่า หรือเผานั่งยาง ซึ่งเหยื่ออาจจะเป็นทั้งอาชญากรตัวจริงหรือชาวบ้านตาดำๆ  หรือผู้นำขบวนการประชาสังคมก็ได้ เหตุการณ์หนึ่งซึ่งสามารถบอกได้ชัดเจนคือจอมพลประภาส จารุเสถียรผู้มีอำนาจหมายเลข  2 ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจควบคู่ไปกับตำแหน่งอื่นของกองทัพ  เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 6  ตุลาคม 2519 ซึ่งตำรวจตระเวนชายแดนมีส่วนร่วมกับกลุ่มพลเรือนติดอาวุธซึ่งได้รับสนับสนุนจากทหาร (Militia) เข้าเข่นฆ่านักศึกษาผู้บริสุทธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นที่น่าสนใจว่าสำหรับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ชนชั้นนำซึ่งหลายคนส่งเสียงต่อว่ารัฐบาลปัจจุบันกลับเคยนิ่งเฉย เพราะตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาโรคประสาท และความหวาดผวาต่อผีคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาเชื่อว่ากำลังแทรกซึมเข้ามาในสังคม 
 
อย่างไรก็ตามนิยามของรัฐตำรวจไม่น่าจำกัดอยู่ที่ตำรวจเพียงประการเดียวแต่น่าจะรวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมสิทธิการแสดงออกของพลเมืองในลักษณะเช่นเดียวกับตำรวจเช่นกระทรวงวัฒนธรรมดังเช่นกลุ่มนักการเมืองที่ยังประนามรัฐบาลโดยยกกรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายโดยกระทรวงวัฒนธรรม และละครโทรทัศน์เรื่องเหนือเมฆเป็นตัวอย่างสนับสนุนความเป็นรัฐตำรวจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงรัฐบาลเดียว ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ได้จัดการภาพยนตร์ซึ่งรัฐถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดีงามอย่างเช่นภาพยนตร์แสงศตวรรษของอภิชาตพงษ์  วีระเศรษฐกุลก็ถูกสั่งตัดฉากสำคัญออกไป 4 ฉากโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในยุคพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์หรือแม้แต่ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เองก็ได้สั่งห้ามภาพยนตร์นอกกระแสอย่างเช่น   Insects in the Backyard ออกฉาย
 
นอกจากนี้เรายังรวมไปถึงตัวกฎหมายซึ่งริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังเช่น กฎหมายอาญามาตรา 112  พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  รวมไปถึง พรก.ฉุกเฉินทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่ทักษิณเป็นต้นมาเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม  ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยเล่นงานนายอภิสิทธิ์ตามที่กลุ่มนักการเมืองดังกล่าวโจมตีตั้งแต่ต้นก็ไม่ต่างกับการที่รัฐบาลสุรยุทธ์กับอภิสิทธิ์เล่นงานฝ่ายปรปักษ์หลังรัฐประหาร
 
รัฐไทยจึงเป็นรัฐตำรวจมายาวนานจนถึงปัจจุบันไม่ว่าผู้นำรัฐบาลเป็นพลเรือนหรือทหาร มาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งจนกลายเป็นความเคยชิน สังคมไทยเป็นสังคมที่หมกมุ่นกับความมั่นคงและ ยกย่องอำนาจเผด็จการมากกว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจว่าในยุค พตท.ทักษิณ ชินวัตรที่มีการฆ่าตัดตอนกว่า 3,000 ศพภายใต้นโยบายสงครามต้านยาเสพติด สังคมไทยอยู่ในภาวะที่เงียบงันเสียเป็นส่วนใหญ่  จวบจนเมื่อทักษิณพ้นจากอำนาจ จึงได้มีการกล่าวอ้างโดยคมช.เเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร 
 
ทั้งหมดนี้สามารถสะท้อนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์  ไม่ได้ "กำลังนำ"ประเทศสู่การเป็นรัฐตำรวจเลย เพียงแต่รัฐไทย "ได้เป็นรัฐตำรวจ"อยู่นานแล้วโดยที่ตัวรัฐบาลเองก็ไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะได้ประโยชน์จากมรดกนี้อยู่แล้ว (แถมยังส่งเสริมอีกด้วย)ข้อกล่าวหาของบรรดานักการเมืองตั้งแต่ต้นล้วนขึ้นอยู่กับอคติเสียเป็นส่วนใหญ่
 
 
 
 

(1) อ่านคำประนามได้ที่่ http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/331188/thailand-edges-closer-toward-a-police-state
 
(2) แน่นอนว่ายังพาดพิงไปยัง รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร  สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ สมัคร สุนทรเวช โดยอัตโนมัติ  จึงขอเรียกรวมๆ ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์
 
(3)อ้างอิงมาจาก  http://www.merriam-webster.com/dictionary/police%20state
 
A political unit characterized by repressive governmental control of political, economic, and social life usually by an arbitrary 
exercise of power by police and especially secret police in place of regular operation of administrative and judicial organs of the government according to publicly known legal procedures
 
(4) นอกจากนี้ใน ปี 2500  มีการรื้อฟื้นคดีฆ่า 4 รัฐมนตรีซึ่งเกิดขึ้นในปี  2492 ว่าเป็นฝีมือของตำรวจ 5 นายซึ่งมีความใกล้ชิดกับพลตำรวจเอกเผ่า  สาเหตุหนึ่งก็เพราะรัฐบาลต้องการให้เป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงของเผ่าอดีตเพื่อนและคู่แข่งของสฤษดิ์ 
 
(5) กองบัญชาการตำรวจสันติบาลถูกก่อตั้งในปี 2473 สมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถ้าใครสนใจประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะรู้ว่าสมาชิกคณะราษฎรต้องวางแผนแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะความหวาดกลัวว่าจะถูกตำรวจสันติ
บาลจับกุม  อันสะท้อนถึงเครือข่ายและการแทรกซึมของตำรวจลับได้ดี ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสยามยุครัชกาลที่ 7 เป็นรัฐตำรวจครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ส่วนความเป็นรัฐตำรวจในยุคนี้จะมีความเข้มข้นขนาดไหนก็ต้องมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์โดยเปรียบเทียบกับรัฐสมบูร
ณาสิทธิราชอื่นเช่นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย  พระเจ้าชาร์ปาลาวีของอิหร่าน ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net