บีบีซี: อะไรอยู่เบื้องหลังความรุนแรงทางศาสนาในพม่า?

จากกรณีเหตุรุนแรงสะเทือนขวัญที่ชาวพุทธในเมืองเมกติลาของพม่าไล่รื้อทำลายทรัพย์สินชุมชนมุสลิม และมีการสังหารคนอีกจำนวนหนึ่ง BBC ได้นำเสนอรายงานมุ่งเสาะหาสาเหตุของความโกรธแค้นในครั้งนี้ และสำรวจปมความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่มีมากกว่าความเชื่อที่ไม่ตรงกัน

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เมืองเมกติลาจากการที่กลุ่มชาวพุทธไล่รื้อถอน ทำลายข้าวของ ที่พักอาศัยและร้านค้าของชาวมุสลิม รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงต่อตัวบุคคลจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้สื่อข่าว BBC โจนาธาน เฮด ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุถึงสาเหตุความเป็นมาของเหตุรุนแรงดังกล่าว

โจนาธาน เฮด กล่าวถึงสภาพเหตุการณ์ว่า สภาพของเมกติลาดูคล้ายเมืองที่เพิ่งประสบกับภัยธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้างในหลายย่านถูกทำลายลงเหลือเพียงซากอิฐซากปูน

"เมื่อคุณสังเกตเห็นรูบนกำแพงที่ยังตั้งอยู่ คุณก็จะรู้ว่ามันเป็นฝีมือของคน เป็นความโกรธที่ทำลายสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ฝืมือของธรรมชาติ" โจนาธานกล่าว

โจนาธานกล่าวอีกว่า ย่านนี้เป็นย่านชุมชนมุสลิมที่อยู่อาศัยมาหลายรุ่นแล้ว แต่หลังจากเหตุการณ์รุนแรง บ่านดังกล่าวถูกทำลายลง ครอบครัวและเจ้าของร้านซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่หายไป มีเพียงคนที่คอยหาเก็บของมีค่าจากซากที่เหลืออยู่

ในรายงานของ BBC ยังมีการพูดถึงเหตุการณ์สังหารเด็กชาวมุสลิม 20 คนที่นอกศาลากลางเมือง โดยที่เด็กทั้ง 20 คน ถูกนำตัวออกมาจากโรงเรียนมุสลิมและถูกฟันจนเสียชีวิตทั้ง 20 คน จากนั้นจึงมีการราดน้ำมันและจุดไฟเผา โดยที่โจนาธานบอกว่ายังคงมีเศษกระดูกไหม้เกรียมอยู่ตามขี้เถ้าบนพื้น และมีรองเท้าที่ถูกทิ้งไว้

หลังจากเหตุการณ์รุนแรง ทหารที่ไม่ปรากฏตัวให้เห็นมากนักในพม่ายุคใหม่ก็กลับมาบนท้องถนน มีการประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน และแม้แต่ส.ส. ในเมืองเมกติลาที่เคยเห็นเหตุการณ์รุนแรงมาก่อนหน้านี้ ยังรู้สึกสะเทือนขวัญกับเหตุการณ์รุนแรงในเดือน มี.ค.

วิน เถ่ง เป็นคนที่เคยถูกจับเข้าคุกเป็นเวลา 20 ปี เนื่องจากอยู่ฝ่ายเดียวกับออง ซาน ซูจีแ ละพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า เขาเคยเป็นผู้นำทหารที่เห็นความรุนแรงมามาก แต่ก็ยังรู้สึกไม่เชื่อตัวเองเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมกติลา

"ผมเห็นเด็ก 8 คน ถูกสังหารต่อหน้า ผมพยายามจะหยุดฝูงชน ผมบอกให้พวกเขากลับบ้าน แต่พวกเขาก็ขู่ผม และตำรวจก็พาตัวผมออกไป" Win กล่าว "ตำรวจไม่ได้ทำอะไรเลย ผมไม่รู้ว่าทำไม อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาขาดประสบการณ์ หรือเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะออกคำสั่งอย่างไร"

วิน เล่าอีกว่า มีกลุ่มคนออกมาตะโกนส่งเสียงเชียร์เมื่อมีการสังหารเกิดขึ้น ซึ่งในกลุ่มคนมีทั้งผู้หญิง,พระ และเด็ก พวกเขาตะโกนว่า "พวกมันฆ่าพระเราไปเมื่อวาน พวกเราถึงต้องฆ่าพวกมัน" วินบอกว่าเขารู้สึกขยะแขยงและอับอาย

ประชากรราวร้อยละ 30 ในเมกติลาเป็นชาวมุสลิม เป็นกลุ่มประชากรที่มีโดดเด่นในเรื่องการค้า มีจำนวนมากเป็นเจ้าของกิจการ แต่ในตอนนี้ประชากรส่วนใหญ่ถูกย้ายไปอยู่ที่ค่ายอพยพและมีตำรวจติดอาวุธคอยเฝ้าระวังอย่างหนาแน่น

โจนาธานกล่าวว่า กลุ่มนักข่าว BBC พยายามเข้าไปในค่ายเพื่อพูดคุยกับประชาชนผู้อพยพ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไป เขาเห็นว่ามีการนำสิ่งของช่วยเหลือเข้าไปในค่ายและมีตัวแทนจากต่างชาติเข้าเยี่ยมเยียน แต่สภาพในค่ายยังแร้นแค้น แทบจะปราศจากสุขอนามัย

 

ต้นเหตุของความขัดแย้ง

ความโกรธแค้นชิงชังในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไร?

โจนาธาน กล่าวในรายงานว่า มันเริ่มมาจากเหตุการณ์วิวาทในร้านทองชาวมุสลิมที่ย่านใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีคนบอกว่าคู่สามีภรรยาชาวพุทธคู่หนึ่งไปขายเครื่องเพชรให้กับร้านดังกล่าว มีการถกเถียงกันเรื่องราคาจนลามไปถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน

หลังจากนั้นก็มีพระรูปหนึ่งถูกทำร้าย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ข่าวเรื่องนี้เป็นการจุดขนวนให้เกิดกลุ่มม็อบออกโจมตีพื้นที่ของชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามมีการมองในอีกแง่ว่าเหตุความรุนแรงอาจจะมาจากจากชักใยจากคนภายนอก

"แต่สิ่งที่แน่นอนคือความกลัวและความเกลียดชังชาวมุสลิมที่ฝังอยู่ภายใน และในทุกวันนี้ก็มีการเปิดเผยความรู้สึกแบบนี้ให้เห็นอยู่ทั่วประเทศพม่า พวกเขาเรียกชาวมุสลิมด้วยคำในเชิงเหยียดหยามอย่างคำว่า 'กะหล่า' " โจนาธานกล่าว

โจนาธาน ยกตัวอย่างพระอะชิน วิระธุ พระสงฆ์อายุ 45 ปี ในภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งเคยถูกจับเข้าคุกในปี 2003 ในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิม เขาถูกปล่อยตัวเมื่อปีที่แล้ว (2012) จากการนิรโทษกรรมนักโทษในวงกว้าง

พระอะชิน วิระธุ เคยจัดการประท้วงสนับสนุนชาวพุทธในรัฐอาระกันซึ่งเคยมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. ปีที่ผ่านมา และเผยแพร่คำปราศรัยที่ถูกแจกจ่ายไปทั่ว พระอะชิน วิระธุ พูดถึงประเทศพม่าด้วยทัศนคติหวาดกลัวต่างชาติไว้อย่างน่าตื่นตระหนก

โจนาธานเปิดเผยว่า เขาได้นัดพบกับพระอะชิน วิระธุ ที่วัดมะ ซอ เหย่ง ในมัณฑะเลย์ พระอะชิน วิระธุ เป็นคนที่พูดจานุ่มนวล สงบเสงี่ยม มีบารมีดึงดูดผู้คน ผู้ติดตามรู้สึกว่าเขาเป็นคนน่าเกรงขาม พระอะชิน วิระธุ เพิ่งกลับมาจากย่างกุ้งซึ่งเขาถูกเรียกตัวจากรัฐบาลให้ไปประชุมเหล่าผู้นำศาสนาเพื่อลดความตึงเครียดในชุมชน

พระอะชิน วิระธุ บอกว่า เขายอมลดน้ำเสียงในคำปราศรัยของเขาให้อ่อนลง แต่ความรู้สึกของเขาต่อกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่มีอยู่ราวร้อยละ 8-9 ของประชากรทั้งหมดยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

'สติกเกอร์ 969'

พระอะชิน วิระธุ บอกว่าชาวพุทธอ่อนข้อเกินไปและไม่มีความภาคภูมิใจในชาติของตน

"พวกเขา ชาวมุสลิม ทำธุรกิจเก่ง พวกเขาควบคุมการขนส่ง การก่อสร้าง ตอนนี้พวกเขากำลังยึดกุมพรรคการเมืองของพวกเรา หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเราจะกลายเป็นเหมือนอัฟกานิสถานหรืออินโดนีเซีย" พระอะชิน วิระธุ กล่าว

พระอะชิน วิระธุ อ้างว่าเขาได้รวบรวม 'หลักฐานความชั่ว' ของกลุ่มชาวมุสลิมไว้ เขากล่าวหาว่าชาวมุสลิม 'ข่มขืน' ผู้หญิงชาวพุทธอยู่เป็นประจำ โดยการใช้เงินล่อลวงให้ผู้หญิงชาวพุทธไปแต่งงานด้วย แล้วกักตัวพวกเธอไว้แต่ในบ้าน พระอะชิน วิระธุ บอกอีกว่าประชากรชาวมุสลิมเติบโตเร็วมากจนกลัวว่าจะกลายเป็นการยึดครอง

พระอะชิน วิระธุ ให้นำหนังสือที่มีหน้าปกเป็นรูปหญิงชาวพุทธหมอบตัวด้วยความหวาดกลัวต่อหมาป่ายักษ์น้ำลายไหลมาให้ผู้สื่อข่าว BBC ดู จากนั้น พระอะชิน วิระธุ ก็ได้กล่าวเปรียบเปรยฟังดูน่าขนลุก บอกว่า "หากมีเมล็ดพันธุ์ไม้มาเติบโตในวัด มันอาจจะดูยังเล็กในตอนแรก แต่ควรจะตัดมันทิ้ง เพื่อไม่ให้มันเติบโตจนทำลายสิ่งก่อสร้าง"

อย่างไรก็ตาม พระอะชิน วิระธุ กล่าวว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในเมกติลา แม้ว่าเขาจะอยู่ที่นั่น พระอะชิน วิระธุได้ทำการรณรงค์เรียกร้องให้ทั่วประเทศคว่ำบาตรธุรกิจของมุสลิม ผู้ติดตามของเขาได้แจกจ่ายสติกเกอร์ที่มีตัวเลข '969' ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธศาสนาให้แก่เจ้าของกิจการทั่วมัณฑะเลย์

โจนาธานกล่าวถึงนายหน้าค้าที่ดิน จิ จิ มะ ซึ่งเดินไปในตลาดและกล่าวอย่างภาคภูมิในว่ามีร้านค้าจำนวนมากติดสติกเกอร์แสดงตัวว่าเป็นชาวพุทธ

ขณะที่ร้านค้าของชาวมุสลิมซึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวมีเจ้าของร้านสวมผ้าคลุมหัว ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เจ้าของร้านชาวมุสลิมกล่าวต่อนักข่าว BBC ด้วยเสียงกระซิบอย่างระมัดระวังว่า หลังเกิดเหตุความวุ่นวายที่เมกติลา ลูกค้าร้านเธอน้อยลงมาก

"ฉันเป็นคนทำธุรกิจ ฉันไม่ได้อยากมีส่วนกับอะไรแบบนี้" เจ้าของร้านค้าชาวมุสลิมกล่าว "บางที พวกเขาอาจจะไม่ชอบวิธีการแต่งตัวของฉัน"

โจนาธาน ระบุว่า พม่าเป็นประเทศที่มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนต่างชุมชนมายาวนาน ซึ่งทำให้ถูกกระตุ้นเร้าและถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่ยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร

"แต่ในตอนนี้ประเทศพม่าเปิดแล้ว และบรรยากาศของเสรีภาพก็แพร่ไปทั่วอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดีงามกว่า" โจนาธานกล่าว

 
 
เรียบเรียงจาก What is behind Burma's wave of religious violence?, BBC, 04-04-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-22023830

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท