ทหารพม่ารุกพื้นที่กะเหรี่ยง KNU กองพล 5 รอบใหม่-หวั่นกระทบสันติภาพ

กองทัพพม่ารุกเข้าไปเขตปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU กองพลน้อยที่ 5 ในพื้นที่ จ.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง จนเกิดการปะทะกันล่าสุด ผลทำให้ชาวบ้าน 3 พันคนอพยพ ด้านผู้สังเกตการณ์พลเรือนและองค์กรสันติภาพหวั่นเหตุตึงเครียดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพพม่า

ชาวกะเหรี่ยงที่ จ.ผาปูน ออกมาประท้วงนับหมื่นคนเมื่อ 30 ธ.ค. 63 เรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนทหารออกจากพื้นที่ (ที่มา: Karen Information Center)

การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู (KNU) เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ถึงแม้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจะลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2558 แล้วก็ตาม โดยที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในพม่า

แถลงการณ์จากเครือข่ายเยาวชนกะเหรี่ยง (KYN) ระบุว่าทั้งพรรคการเมืองฝ่ายพลเรือนที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และกองทัพพม่าต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้กระบวนการสันติภาพของประเทศถดถอยลงทั้งสิ้น

ซอว์จอลินอู สมาชิกของคณะเลขาธิการ KYN แถลงว่าถ้าการรัฐบาลยังคงปฏิบัติการรุกรานพวกเขาโดยไม่หยุด จะกลายเป็นการทำร้ายพลเรือนในพื้นที่โดยเฉพาะชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มติดอาวุธ ซอว์จอลินอูแถลงอีกว่าชาวกะเหรี่ยงต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามมาเป็นเวลาเกือบ 80 ปี แล้ว นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ชาวกะเหรี่ยงไม่ต้องการความขัดแย้งจากการสู้รบด้วยอาวุธอีกต่อไป ดังนั้นแล้วพวกเขาจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนไป

กลุ่มให้ความช่วยเหลือผู้อพยพระบุว่าผลจากการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ประชากรเชื้อสายกะเหรี่ยงราว 140,000 คน จาก 6 ล้านคนในพม่าต้องอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับประเทศไทย

กรณีการสู้รบที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้เกิดขึ้นในเขต Mae Wai ในจังหวัดผาปูน หรือที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเรียกว่าจังหวัดมูตรอ ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 ซึ่งขึ้นกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เหตุการณ์เกิดขึ้นเนื่องจากกองทัพพม่าไม่ยอมถอนกำลังออกจากพื้นที่ตามข้อตกลงสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ

ทั้งนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่จังหวัดผาปูน ชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นยังชุมนุมกันในพื้นที่ปกครองของ KNLA กองพลน้อยที่ 5 เรียกร้องให้มีการถอนทัพและปิดฐานทัพพม่า รวมทั้งหยุดการสร้างฐานปฏิบัติการแห่งใหม่ของกองทัพพม่าด้วยด้วย

การสู้รบยังเป็นเหตุให้ประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่หนีออกจากบ้านตัวเองหลายพันคน มีผู้ลี้ภัยรายหนึ่งเล่าว่ามีทหารมากกว่า 100 นายจากหมู่บ้านไตติออกคำสั่งให้เสริมกำลังพลจากที่มีอยู่เดิม ตอนนี้มีผู้ชายในหมู่บ้านหนีออกไปเกือบหมดแล้วเหลือแต่ผู้หญิงและเด็ก

อีกแห่งหนึ่งที่มีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธคือพื้นที่จังหวัดสะเทิม พื้นที่รัฐมอญ ซึ่งกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 1 ปกครองพื้นที่บางส่วน ความตีงเครียดเกิด หลังกองทัพพม่าเสริมกำลัง ชาวบ้านเล่าว่าพวกเขาพยายามซ่อนตัวเพื่อไม่ให้ดึงดูดความสนใจจากทหารในพื้นที่ หลายคนนอนอยู่ด้านล่างของบ้านเพื่อจะได้เข้าไปหลบในหลุมหลบภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และบางส่วนที่หนีออกจากบ้านไปแล้ว

ทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเปิดเผยว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจากันอยู่ แต่ก็เตรียมความพร้อมกองทัพตลอดเวลา เพราะถ้าหากการเจรจาล้มเหลวก็อาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีก พวกเขายังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าถอนกำลังทัพออกไปจากพื้นที่ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงกว่าเดิม

โฆษกของกองทัพพม่าแถลงข่าวในเรื่องนี้ว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายควรจะเจรจาหารือกันผ่านทางกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่าง "เป็นไปตามแบบแผน"

องค์กรด้านสันติภาพม่าสององค์กรก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่าการปะทะในผาปูนส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ โดยที่มินซออู ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของพม่าบอกว่าเหตุปะทะที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งสองฝ่ายไว้เนื้อเชื่อใจกันน้อยลง การปะทะกันจะมีแต่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียจากทั้งสองฝ่ายและส่งผลให้พลเรือนทั่วไปในพื้นที่ขัดแย้งหนีตายออกจากบ้านตัวเอง อีกทั้งยังจะส่งผลให้ประชาชนพลอยไม่เชื่อใจในกระบวนการสันติภาพไปด้วย

นาง เซ อวา  สมาชิกพลเรือนของคณะกรรมการเฝ้าติดตามด้านกระบวนการหยุดยิง (JMC) แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน และขอให้ทั้งสองฝ่ายตกลงเจรจารอมชอมกัน

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่ลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ ส่งผลให้ยุติความขัดแย้งที่ขัดขวางพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจของพม่ามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปี 2563 เริ่มต้นมาจากฝ่ายทหารของรัฐบาลที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเพื่อตัดถนน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนประท้วงหน้าฐานทัพทหารพม่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน 2 คนที่เสียชีวิตจากการถูกยิงโดยนายทหารที่เมาเหล้า และเรียกร้องให้ทหารพม่าถอนทัพจากพื้นที่

เรียบเรียงจาก

Renewed Clashes as Karen Chafe at Stepped-Up Myanmar Military Presence in Kayin State, Radio Free Asia, 31-12-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท