Skip to main content
sharethis

กรณี "ปลอดประสพ สุรัสวดี" แถลงข่าวเรียกผู้ชุมนุมเป็น "ขยะ" และขู่ว่าจะจับกุมหากมาชุมนุมในช่วงประชุมน้ำเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้น ล่าสุดสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ขอโทษ และยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่เสรีภาพประชาชน  ด้าน "ยิ่งลักษณ" ระบุจะรับฟังความคิดเห็นผู้ชุมนุม และจะไปสอบถาม "ปลอดประสพ" ว่าเจตนาอะไร

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง "ปลอดประสพ" ขอโทษ
และยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่เสรีภาพประชาชน

วันนี้ (14 พ.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ศูนย์ข้อมูลชุมนุม (CRC) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) เครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการชุมนุม กรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี" โดยมีเนื้อหาดังนี้

"จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 12  พฤษภาคม 2556 ระหว่างการเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ระหว่าง 14-20 พ.ค. 2556 นี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการที่อาจจะมีกลุ่มมวลชนที่ทำงานด้านทรัพยากรน้ำมาเคลื่อนไหวชุมนุมและแสดงความเห็นระหว่างการประชุมในครั้งนี้ว่า“มาก็จับ ทำผิดกฎหมายก็จับ มันไม่ใช่ที่ที่จะมาประท้วง ฝากบอกไปด้วย มาประชุม เพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างหน้าสร้างตาให้ประชาชน ไม่มีที่ไหนใครเขาไปทำร้ายใคร บรูไนเขามาพูดเรื่องบรูไน อิหร่านเขาก็มาพูดเรื่องอิหร่าน เกาหลีเขาก็มาพูดเรื่องเกาหลี คุณจะมาประท้วงอะไร อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ คุณเขียนอย่างผมพูดเลย กล้าเขียนหรือไม่” [1] นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) [2] มีความเห็นว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาฉบับนี้โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540” การภาคยานุวัติดังกล่าวผูกพันต่อประเทศไทย ทั้งรัฐบาล รัฐสภาและศาล ต้องมีหน้าที่ในการดำเนินการให้สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในกติกาฯได้รับการปฏิบัติจริง (fulfill)โดยรัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิ (respect) กล่าวคือ ไม่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง คุ้มครอง (protect) กล่าวคือ ป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการการละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือมีการละเมิดสิทธิระหว่างประชาชนด้วยกัน แต่รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้ หากเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก[3] รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ [4] โดยต้องไม่เป็นผู้กระตุ้นหรือริเริ่มให้มีการละเมิดเสรีภาพดังกล่าวเสียเอง  ดังเช่นที่นายปลอดประสพ  ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

2. คำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “มา(ชุมนุม)ก็จับ” และ “อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย “เป็นการริเริ่มหรือกระตุ้นให้มีการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลอย่างชัดเจนและหากมีการปฏิบัติการตามที่กล่าวจริง ย่อมเป็นการปฏิเสธสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐบาลจึงเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจ [5] และหากมีการจับผู้ชุมนุมซึ่งชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ก็เป็นการจับโดยมิชอบ เพราะเจ้าพนักงานจะจับผู้อื่นได้เพียงเท่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจไว้เท่านั้น [6] ประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมวลชนด้านทรัพยากรน้ำหรือกลุ่มอื่นใดย่อมสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้เท่าเทียมกัน ตราบเท่าที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและขอให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ  

3. การที่รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “คนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ” นั้นถ้อยคำดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นการลดคุณค่าของมนุษย์เป็นเพียงวัตถุ สิ่งของ และเป็นการหมิ่นเกียรติของความเป็นมนุษย์“เกียรติ” เป็นคุณค่าที่สำคัญของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนต่างมีเกียรติเท่ากันโดยสมบูรณ์ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกลบหลู่ การลบหลู่ทำให้คุณค่าของมนุษย์ลดน้อยถอยลง มนุษย์แต่ละคนแม้จะมีความแตกต่างกันในทางสังคม แต่มนุษย์ก็มีเกียรติเท่ากัน ความเป็นมนุษย์ของบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการรับรองไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม [7] ถ้อยคำดังกล่าวนอกจากเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทผู้ชุมนุม [8] ด้วย และยังเป็นการแสดงทัศนคติที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม  อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย

จากเหตุผลดังกล่าวสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ สุรัสวดีและรัฐบาล

1. ให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย กล่าวขอโทษประชาชนในการใช้ถ้อยคำดังกล่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง

2. ให้ยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่ คุกคามและไม่เอื้อต่อการสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3. ให้ยุติการการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

4. ให้ยุติการให้ความเห็นที่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

5. ให้ปฏิบัติต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด"

 

หมายเหตุท้ายแถลงการณ์

[1] http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk9ETTJOVFl5TXc9PQ

[2] สนส.ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2551 โดย ทนายความและนักกฎหมายที่มุ่งมั่นทำงานด้านสิทธิมนุษยชน  มีวัตถุประสงค์ ในการเป็นสถาบันที่มีภารกิจ เพื่อ ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน  โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาและเผยแพร่สิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63 วรรค 2

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 81 (2)

[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

[6] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 16

[8] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

 

ด้าน "ยิ่งลักษณ์" ระบุยินดีรับฟังความเห็นจากผู้ชุนุม-และจะประสานปลอดประสพว่ามีเจตนาอะไร

ขณะที่ มติชน รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศห้ามม็อบชุมนุมบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่จัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า เรื่องของผู้ชุมนุมนั้นยินดีรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ การปะชุมเอเชีย วอเตอร์ ซัมมิต เป็นของสหประชาชาติที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2

เมื่อถามว่า การพูดของนายปลอดประสพเหมือนเป็นการเรียกแขกที่กลายเป็นว่าต่อไปรัฐบาลจะไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "เดี๋ยวต้องประสานกับท่านว่าหมายความเจตนาอย่างไร เพราะว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นการพูด แต่จริงๆ แล้วเจตนาก็เชื่อว่าเราทุกคนยินดีรับฟังค่ะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net