Skip to main content
sharethis

อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้แพทย์ชนบทขาดแคลนหนัก ไหลเข้าโรงพยาบาลเอกชนและบริการเสริมความงาม แถม P4P ยังซ้ำเติมปัญหา ถาม รมว.สาธารณสุข มีนโยบายแก้ปัญหาหรือไม่

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขจะตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในโรงพยาบาลชุมชน และจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance- P4P) ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด (19 พ.ค.56) นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนชุมพวง โคราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลน์แพทย์ในชนบทว่า หากเข้าไปหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จะพบว่า ธุรกิจความงามนั้นขยายตัวอย่างมาก และเป็นธุรกิจที่กฎหมายบังคับที่ต้องมีแพทย์อยู่ประจำในการสั่งจ่ายยา  ซึ่งทำให้เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดูดแพทย์ไปจากทั้งชนบทและเมือง วุฒิศักดิ์คลินิกมีกว่า 140 สาขา นิติพลคลินิกก็ขยายตัวจนมีกว่า 150 สาขา  เงินเดือนแพทย์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 150,000 บาท  ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีการขยายตัวอย่างมาก เฉพาะโรงพยาบาลกรุงเทพมีแพทย์กว่าเต็มเวลาและแพทย์พาร์ทไทม์ กว่า 7,000 คนใน 32 สาขา อีกทั้ง รพ.กรุงเทพยังมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 50 สาขาในปี 2558 ซึ่งต้องการแพทย์รวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 คน แม้ว่าปัจจุบันผลิตแพทย์เพิ่มได้ปีละเกือบ 2,000 คน

นพ.วชิระกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ 40,000 คน มีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนราว 750 อำเภอทั่วประเทศเพียง 3,000 คน ดูแลประชาชนในชนบทกว่า 40 ล้านคน โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งรวมกันยังมีแพทย์ไม่ถึงครึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพเสียอีก นับเป็นเรื่องเศร้าของสังคมไทย ที่ละเลยการดูแลสุขภาพคนชนบท ยิ่งกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่หนุนนโยบายเมดิคัลฮับอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ก็จะยิ่งสร้างการเติบโตแก่ภาคเอกชน ดูดแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งนโยบาย P4P เองสิ่งซ้ำเติมคนทำงานในชนบท เพราะจะเก็บแต้มที่โรงพยาบาลอำเภอไกลๆ กันดารหรือโรงพยาบาลจังหวัดในเมืองใหญ่ก็ได้แต้มแลกเงินเหมือนกัน เผลอๆ แต้มของโรงพยาบาลใหญ่มีมากกว่าด้วย อีกทั้งงานในโรงพยาบาลชุมชนมีความหลากหลายยากต่อการเก็บแต้มอย่างเป็นธรรม เช่นนี้แล้วใครจะอยู่ทำงานในชนบทในระยะยาว

“ผมขอถาม รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และปลัดกระทรวง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย รวมทั้งเป้าหมายในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในชนบทหรือไม่ หากมีจะใช้แนวทางใด แต่จากปัจจุบันเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในสมองของ รมต.และปลัดกระทรวง แบบนี้จะเรียกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสนับสนุนแพทย์พาณิชย์กันแน่ เมื่อรัฐมนตรีไม่เคยใส่ใจการปกป้องสุขภาพคนจน การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน จึงสมควรไล่ออกไปให้คนอื่นที่มีความสามารถและมีสติปัญญามาทำหน้าที่เป็น รมต.สาธารณสุขแทน” นพ.วชิระกล่าว

นพ.ปองพล วรปาณิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นหน่วยบริการที่สำคัญยิ่ง แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ดูแล เสมือนลูกเมียน้อย ขาดแคลนเรื้อรังทั้งบุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์การแพทย์ แต่นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ที่มีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและวิชาชีพสุขภาพที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน  ทำให้มีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 1,289 คน หรือเพิ่ม 46.6%  แต่ผู้บริหารกระทรวงในวันนี้กลับคิดแต่จะยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและใช้ P4P แทน ซึ่งเป็นค่าตอบแทนคนละส่วนกันแทนกันไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากประกาศฉบับ 4, 6 เหมือนเดิม  และให้เป็นความสมัครใจของโรงพยาบาลชุมชนในการทำ P4P หาก P4P ดีจริงก็จะมีคนทำโดยสมัครใจ หากไม่ดีไม่เหสมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่มีคนสมัครใจทำ กระทรวงก็ต้องทำใจ อย่ายัดเยียด อย่ามาบังคับให้ต้องยอมรับนโยบายที่ไม่เหมาะสมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net