ภาคประชาชนรุกสร้างโรดแมป นำทางสันติภาพชายแดนใต้

ประชาสังคมชายแดนใต้ รุกสร้างแผนที่นำทางสันติภาพชายแดนใต้ ดร.โนเบอร์ต ชี้เกือบทั่วโลกใช้โรดแมป 6 ปีสันติภาพเกิด แต่ 3 ปีแรกสถานการณ์อาจแรงขึ้น 3 เท่า บีอาร์เอ็น ชี้ไม่มี“เอกราช” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ภาครัฐยืนยันฝ่ายไทยไม่พร้อม แนะประชาสังคมเสนอโรดแมปที่เป็นกลาง สร้าง Safety Net ระดับชาติ

 

 

ชี้กระบวนการสันติภาพใช้เวลา 5-6 ปี

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.56 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดประชุมทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพร่วมกับทีม IPP เพื่อออกแบบและจัดทำกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) กล่าวบรรยายว่า จากการศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกกว่า 20 ปี โดยได้ศึกษากระบวนการสันติภาพกว่า 40 แห่งทั่วโลก ซึ่งพบว่าแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะของแต่ละที่ แต่มีปัจจัยบางอย่างที่คล้ายกันที่สามารถนำมาปรับใช้ในที่อื่นๆ ได้

จุดเริ่มต้นสันติภาพ 3 ปีแรกอาจแรงขึ้น 3 เท่า

ดร.โนเบิรต์ กล่าวว่า จากการศึกษากระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา พบว่าต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 5-6 ปี นับจากเริ่มมีการพูดคุยจนกระทั่งมีข้อตกลงร่วมกัน โดยในช่วงแรกของกระบวนการสันติภาพ มักพบว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วง 3 ปีแรกของกระบวนการสันติภาพ ดังนี้ความคาดหวังว่า เมื่อเริ่มมีการเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพแล้วความรุนแรงในพื้นที่จะลดลงจึงเป็นความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง

“ในช่วงแรกของการพูดคุยและช่วงท้ายๆ ของการเจรจามักจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระบวนการสันติภาพมีความเปราะบางมาก” ดร.โนเบิรต์ กล่าว

เกือบทั่วโลกใช้โรดแมปนำทาง

ดร.โนเบิรต์ ยังได้กล่าวถึงการจัดทำแผนที่นำทางหรือ โรดแมป (road map) สันติภาพด้วยว่า ไม่เฉพาะคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะเป็นฝ่ายเสนอโรดแมปได้เท่านั้น ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็สามารถจัดทำโรดแมปเสนอได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสันติภาพได้

ดร.โนเบิรต์กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีโรดแมป เพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเป้าหมายและมีทิศทาง เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพที่สามารถกำหนดทิศทางได้ ทั้งก่อนจะมีข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งหรือหลังที่มีข้อตกลงแล้ว

ดร.โนเบิรต์กล่าวว่า จากการสำรวจกรณีความขัดแย้งทั่วโลก 104 แห่ง พบว่ามี 41 แห่งที่ยุติลงได้ด้วยข้อตกลงสันติภาพ และครึ่งหนึ่งของ 41 แห่งมีการใช้โรดแมปในกระบวนการสันติภาพ มี 4 ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา มี 9 แห่งที่ยุติโดยชัยชนะด้วยกำลังทหาร และ 50 แห่งที่ยังอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา รวมถึงกรณีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย

แนะบทบาทประชาสังคมชายแดนใต้

ดร.โนเบิรต์ กล่าวว่า ล่าสุดที่ฝ่ายขบวนการ บีอาร์เอ็น ได้มีข้อเสนอ 5 ข้อนั้น หนึ่งนั้นคือการยกระดับการพูดคุยสู่การเจรจาที่ให้มาเลเซียเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งถือเป็นการยื่นข้อเสนอของคู่เจรจาก่อนที่จะมีโรดแมป

ดร.โนเบิรต์ กล่าวว่า ในสภาวะเช่นนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่สามารถเข้ามาหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้ โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนกระบวนการต่อไป ไม่คิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด และต้องหาทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายเดินหน้าพูดคุยต่อไปได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพจะมีอีก 3 กลุ่มที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือกลุ่มที่สนับสนุน กลุ่มที่ลังเล และกลุ่มที่คัดค้าน

ดร.โนเบิร์ต กล่าวอีกว่า เมื่อมีการพูดคุยเจรจาแล้ว โดยธรรมชาติจะเกิดกลุ่มคนอีกกลุ่ม คือที่ปรึกษาของทั้ง 2 ฝ่ายที่อาจจะเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่จะให้การสนับสนุนกับทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งในการเจรจาจะต้องมีคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านวิชาการ ด้านความมั่นคงที่เป็นกลางในการสนับสนุนข้อมูล

แนะตั้งวงสันติภาพหลังบ้าน

ทั้งนี้ เมื่อการเจรจาถึงทางตันจะต้องมีช่องทางอื่นในการเจรจา เช่น ช่องทางหลังบ้านที่มีคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยกันโดยไม่เปิดเผย เป็นต้น

ส่วนบทบาทของภาคประชาสังคมที่จะหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพนั้น ต้องมี 2 ประการ ประการแรก ภาคประชาสังคมจะต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็งก่อน โดยยังไม่ต้องเข้าร่วมกระบวนการเจรจา แต่ทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

อีกประการคือ การขอที่นั่งบนโต๊ะเจรจา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในช่วงแรกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ คู่ขัดแย้งมักจะไม่ให้คนอื่นเข้าไปนั่งโต๊ะเจรจาด้วย แต่ภาคประชาสังคมสามารถขับเคลื่อนกระบวนการโดยเอกเทศได้

สร้างกลไกผ่าทางตัน

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมสามารถจัดกิจกรรมหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้ เช่น การเปิดเวทีสาธารณะทุก 3-4 เดือน โดยเชิญคนจากวงพูดคุย เพื่อกำหนดทิศทางกระบวนการสันติภาพว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือการตั้งศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้กระบวนการสันสันติภาพ หรือการตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อติดตามกระบวนการสันติภาพได้

เมื่อการพูดคุยเกิดทางตัน ภาคประชาสังคมสามารถสร้างกลไกผ่าทางตันได้ เช่น การดึงคน 5-6 คนที่ใกล้ชิดกับคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตั้งวงเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และมีข้อเสนอขึ้นสู่โต๊ะเจรจาที่เป็นทางการได้

ถ้าสันติภาพล่มความรุนแรงจะกลับมา

ตัวแทนนักศึกษาคนหนึ่ง ถามว่า หากการกระบวนการพูดคุยเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ บีอาร์เอ็น ในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ผลจะเป็นอย่างไร และจะมีการกระบวนการเจรจาครั้งใหม่ต่อจากเดิมหรือต้องนับหนึ่งใหม่หรือไม่

นางโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ถามด้วยว่า ถ้าสันติภาพล่มจะทำให้ความรุนแรงกลับมาเพิ่มขึ้นหรือไม่

ดร.โนเบิร์ต ตอบว่า บทเรียนจากความขัดแย้งในต่างประเทศ บอกว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพล่มจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก ความผิดหวังจากการพูดคุย หมายถึงต่างฝ่ายต่างผิดหวังและหงุดหงิดกับสิ่งที่ทำให้กระบวนการสันติภาพล้ม ซึ่งจะให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น ประการที่ 2 คือ มีการกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ที่ทำให้กระบวนการล่ม เพราะฉะนั้น ยิ่งต้องทำให้โรดแมปออกแบบมาอย่างดี ครอบคลุม ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้การเดินแต่ละก้าวมีความรัดกุมและค่อยเป็นค่อยไป

ดร.โนเบิร์ต กล่าวตอบว่า ถ้ากระบวนการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ล้ม กระบวนการเจรจาครั้งที่สอง สามารถต่อยอดจากครั้งแรกได้ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในจุดที่บกพร่อง ไม่ใช่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นลำดับคือ ต้องทำให้เป็นโรดแมปที่ดีและรัดกุมมั่นคงมากที่สุด และต้องทำมันอย่างระมัดระวัง

สังเคราะห์ 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.อ.ปัตตานี ได้ยกประเด็นข้อเสนอ 5 ข้อของ บีอาร์เอ็น ที่สังเคราะห์จากการแถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) และจากเอกสารฉบับเต็มที่มีการแจกในการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมา เพื่อผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นตัวเชื่อมในการสร้างโรดแมปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและวางแผนที่จะเดินไปสู่อนาคตอย่างไร

ทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ความชอบธรรมของการเป็นตัวแทนของขบวนการ บีอาร์เอ็น ต่อประชาชนในพื้นที่ หรือชาวมลายู 2.สิทธิความเป็นเจ้าของ ที่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเอง 3. ความยั่งยืน ต่อเนื่องของการเจรจาพูดคุย 4. การเปลี่ยนจากการพูดคุยสู่การเจรจา 5. การปล่อยตัวนักโทษการเมืองด้านความมั่นคง ซึ่งฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเรียกว่าผู้ปลดปล่อย

ผศ.ศรีสมภพ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ บางข้อมีความสำคัญมากที่ภาคประชาสังคมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เช่น ข้อที่ 3 ที่มีการเรียกร้องให้มีตัวแทนประเทศที่ 3 เข้าเป็นพยาน ซึ่งอาจหมายถึงประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน

ไม่มี“เอกราช” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

นายมะรอนิง สาและ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี ถามผศ.ดร.ศรีสมภพโดยระบุว่าเป็นคำถามจากร้านน้ำว่า ทำไมรัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อ ของบีอาร์เอ็น ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีข้อใดที่พูดถึงเรื่องเอกราช

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวตอบ ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นทั้ง 5 ข้อไม่มีข้อใดที่พูดถึงเอกราช แม้แต่ในเอกสารต้นฉบับภาษามลายูก็ไม่มีข้อใดที่พูดถึงเอกราชเช่นกัน แต่มีคำที่ทำให้ฝ่ายรัฐไทยหวั่นไหว คือคำว่า สิทธิความเป็นเจ้าของ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ซึ่งสามารถตีความได้หลายแง่ อาจจะรวมไปถึงเอกราชก็ได้

ใช้คำกลางๆ เปิดทางให้ต่อรอง

“ผมคิดว่า เป็นความจงใจของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ใช้คำเหล่านี้แทนคำว่าเอกราช เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน ต่อรองกันและเจรจากันได้ เพื่อจะให้เกิดความพอใจกับหลายๆฝ่าย ร่วมไปถึงฝ่ายที่ต้องการเอกราชด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ตนคิดว่า นี่เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อที่จะให้มีการพูดคุยกัน ทั้งระหว่างรัฐกับขบวนการ และระหว่างขบวนการด้วยกันเอง หรือฝ่ายต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อที่จะให้ยอมรับกันว่า ตอนนี้ใช้คำกลางๆไว้ก่อน

“หากเรายอมรับได้ว่า นี่คือแนวทางของกระบวนการสันติภาพ เพื่อที่จะเดินไปสู่การตกลงกันได้ในที่สุด สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกลัว เพราะข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญไทย ที่สำคัญเป็นคำที่ระบุอยู่รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เช่น คำว่า Self Determination (การจัดการตนเอง) Self Governing (การปกครองตนเอง) และ Autonomy (การปกครองตัวเอง) ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ มีคำว่า Internal Self Determination แปลว่า สิทธิในการกำหนดตัวเองของประชาชนในประเทศ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ปัญหาฝ่ายไทยไม่มีเอกภาพ

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวสายความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ขอยืนยันทางรัฐบาลไทยไม่มีความเป็นเอกภาพในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เนื่องจากตนเห็นว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ต้นทางมาจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม การริเริ่มครั้งนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อมีการริเริ่มไปแล้วก็ควรจะต้องปรับให้เหมาะสม

นายเสริมสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่มีเอกภาพนั้น ถ้าดูโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เห็นได้ชัดว่า ช่วงเริ่มต้นก็มีความขัดแย้งในพื้นที่แล้ว เนื่องจากสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีการออกพระราชบัญญัติการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ที่ให้เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการระดับ 11 แต่ฝ่ายความมั่นคงอยากให้ปรับ จึงเสนอโครงสร้างใหม่ จึงเสนอตั้ง ศปก.กปต.โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อำนวยการ

“ถ้าติดตามข่าวเมื่อ 1-2 สัปตาห์ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาพูดว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งหน้า คณะเจรจาอาจจะต้องมารายงานให้ตนทราบด้วย เพราะการพูดคุยเพื่อสันติภาพอยู่ในภายใต้โครงสร้างของศปก.กปต. แต่ผมเข้าใจว่า ที่ผ่านมาคณะเจรจาไม่ได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม ทำให้ร.ต.อ.เฉลิมไม่รับทราบเรื่องการพูดคุย เนื่องจากพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) จะต่อสายตรงถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” นายเสริมสุข กล่าว

โรดแมปฝ่ายไทยยังไม่ได้ทำ

นายเสริมสุข กล่าวว่า นี่คือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนการทำงานที่ผ่านมา หากดูการลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการเพื่อพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ตลอดจนการพูดคุยเพื่อสันติภาพวันที่ 28 มีนาคม และ 29 เมษายน 2556 ตัวแทนฝ่ายไทยเป็นชุดเจ้าหน้าที่ความมั่นคง แสดงให้เห็นว่าไม่มีการเตรียมความพร้อม ส่วนการจัดทำโรดแมปคิดว่าฝ่ายรัฐไทยก็ยังไม่มีในประเด็นนี้เช่นกัน

สะท้อนมุมมองจาก RKK

นายเสริมสุข กล่าวว่า ส่วนฝ่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น ก็มีคำถามอีกเช่นว่ามีความเป็นเอกภาพหรือไม่ เนื่องจากการลงนามในฉันทามติทั่วไปดังกล่าว เป็นการลงนามภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับอดีต RKK (ชุดปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการ) ที่เคยร่วมต่อสู้ เขาบอกว่า ตอนเข้าร่วมขบวนการมีเป้าหมายชัดเจนคือเอกราช แต่เมื่อนายฮัสซัน ตอยิบ ออกมาลงนามฉันทามติทั่วไปดังกล่าวกับรัฐบาลไทย ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย จึงทำให้เกิดคำถามว่า การลงนามครั้งนี้เกิดจากการถูกกดดันหรือไม่

นายเสริมสุข กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันเกิดคำถามในหลายๆมุมว่า เกิดความแตกแยกในขบวนการบีอาร์เอ็นหรือไม่ เพราะกองกำลังของขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในพื้นที่มีเป้าหมายชัดเจนคือเอกราชเท่านั้น แต่เมื่อฮัสซัน ตอยิบ ออกมาลงนามในลักษณะนี้ จึงเกิดคำถามว่า แล้วขบวนการจะว่าอย่างไร ซึ่งสะท้อนออกมาจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น

นายเสริมสุข กล่าวว่า ส่วนอีกมุมหนึ่งเกิดคำถามว่า ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง แต่เป็นการแยกการทำงานของขบวนการที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งมุมนี้ตรงกับความเห็นของแม่ทัพภาคที่ 4 และเกิดคำถามอีกส่วนหนึ่งว่า ฝ่ายที่คุมกองกำลังในพื้นที่ เช่น นายอับดุลเลาะห์ แวมะนอไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

เปิดเบื้องหลังข้อต่อรองมาเลเซีย

นายเสริมสุข กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการลงนามในฉันทามติทั่วไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 มีข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยกับสันติบาลมาเลเซีย เนื่องจากสันติบาลมาเลเซียต้องการผลักดันให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) แต่ฝ่ายไทยไม่ยอม ต้องการให้มาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เท่านั้น ซึ่งตนคิดว่าทางมาเลเซียเองก็ไม่พอใจ แต่ไม่มีข่าวออกมา

นายเสริมสุข กล่าวว่า ก่อนการลงนามในฉันทามติดังกล่าว มีข่าวออกมาว่า จะเป็นการลงนามระหว่างเลขาธิการ สมช.ไทยกับเลขาธิการ สมช.ของมาเลเซีย แต่เมื่อมีการลงนามจริง ปรากฏว่าเป็นการลงนามระหว่างเลขาธิการสมช.กับนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน เพราะทางผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) มองว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

นายเสริมสุข กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการพูดคุยยังไม่มีข้อยุติ พอครั้งที่ 2 มีข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีการพูดคุยอะไรเลยในเรื่องบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ยังไม่ได้เดินหน้าเต็มที่ จนเห็นว่าต้องปรับให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator)

5 ข้อ บีอาร์เอ็น ไม่หลุดกรอบรัฐธรรมนูญไทย

นายเสริมสุข กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ขบวนการบีอาร์เอ็นมีข้อเสนอ 5 ข้อ ทางฝ่ายความมั่นคงมองว่า อาจจะยังไม่ถึงเวลา แต่ก็ไม่ได้อยู่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญไทย และเป็นสิ่งที่สามารถพูดกันได้ ผมคิดว่า หากขบวนการยืนยันว่า รัฐบาลไทยต้องยอมรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ก่อน การพูดคุยเพื่อสันติภาพก็จะจบลง ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะอย่างที่ดร.โนเบิร์ตพูดไว้ว่า การเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ จากนั้นเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน เพื่อที่จะนำไปสู่จุดที่ยากลำบาก

เจ้าหน้าที่รัฐยืนยันฝ่ายไทยไม่เตรียมพร้อม

ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงในพื้นที่คนหนึ่ง กล่าวว่า ข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเป็นการตั้งแง่ของขบวนการให้ฝ่ายรัฐบาลไทยรับข้อเสนอ ก่อนที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยเข้าใจว่า ตอนนี้อยู่ขั้นตอนที่ขบวนการจะเสนออะไรก่อนก็ได้ ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยจะยอมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ทางฝ่ายรัฐไทย จุดนี้ตนคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้แนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพมีปัญหาได้

แนะเสนอโรดแมปที่เป็นกลาง ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวว่า เชื่อว่าขบวนการบีอาร์เอ็นมีแนวทางในการดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่ได้เตรียม แม้แต่โรดแมปสันติภาพก็ไม่มี ดังนั้นภาคประสังคมในพื้นที่ ต้องเสนอโรดแมปต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อไป และต้องเป็นโรดแมปที่เป็นกลางจริงๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนพร้อมๆ กัน จากหลังนั้นจึงนำโรดแมปนี้ไปพูดคุยทุกๆ กลุ่มในพื้นที่

รุกสร้างโรดแมปจากภาคประชาสังคม

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะที่ปรึกษาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า จะมีการนัดประชุมภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งในวันที่ 4 มิถุนายน 2555 เพื่อเริ่มจัดทำโรแมปสันติภาพชายแดนใต้

นายแพทย์พลเดช กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำโรดแมปดังกล่าวนั้น โดยส่วนมีความเห็น 4 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำโรดแมป จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนได้ ซึ่งจากการประมวลความรู้พบว่า มี 4 ขั้นตอนหลัก ขั้นแรกคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ขันตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนการเจรจา ขั้นตอนที่ 3 เป็นการจัดทำข้อตกลง และขั้นตอนที่ 4 คือความยั่งยืน หรือช่วงของการสร้างสันติภาพ

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า อยากเห็นการขยับจากการพูดคุยสันติภาพไปสู่สันติภาพเป็นจริงเป็นจังได้อย่างไร ดังนั้นในการจัดทำโรดแมปครั้งแรก น่าจะต้องมีข้อเสนอที่เป็นการส่งสัญญาณจากภาคประชาสังคมไปยังทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการ รวมทั้งฝ่ายมาเลเซียและข้อเสนอต่อภาคประชาสังคมเองด้วย

กำหนดให้ชัดบทบาทคนบนโต๊ะเจรจา

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า ต้องกำหนดให้ชัดว่าเป็นการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพ ใครบ้างที่จะอยู่บนโต๊ะเจรจา ใครอยู่ฝ่ายไหน เช่น ควรให้ผศ.ดร.ศรีสมภพที่เข้าไปร่วมพูดคุยสันติภาพด้วยนั้นเป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator) คู่กับฝ่ายมาเลเซียหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากเป็นผู้อำนวยความสะดวก ภาคประชาสังคมก็ควรลงขันเพื่อจ่ายค่าเดินทางให้กับผศ.ดร.ศรีสมภพเดินทางไปร่วมวงพูดคุย จะได้เป็นอิสระหากใช้ค่าใช้จ่ายของรัฐจะไม่เหมาะ

นายแพทย์พลเดช กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ทาง บีอาร์เอ็น เสนอ 5 ข้อที่ผ่านมานั้น มีประเด็นที่ 1, 3 และ 4 สามารถรวมเป็นประเด็นเดียวกันได้ ส่วนประเด็นที่มีความต่างกัน ให้พิจารณาเป็นหัวข้อเดียวกัน เช่น ประเด็นที่รัฐไทยอยากให้ลดความรุนแรง ส่วน บีอาร์เอ็น ต้องการให้ปล่อยผู้ถูกคดีความมั่นคง ซึ่งในความหมายของบีอาร์เอ็น คือผู้ปลดปล่อย โดยทั้ง 2 ประเด็น อย่าเพิ่งสรุปดังนั้นจะต้องวางกรอบให้ชัดก่อนว่าต้องการแบบไหน

นายแพทย์พลเดช กล่าวอีกว่า ต้องวางกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า จะเริ่มต้นการเจรจาว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งดร.โนเบิร์ต บอกว่าโดยเฉลี่ยใช้เวลา 5 – 6 ปี ในการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เวลาให้สั้นกว่านั้น

นายแพทย์พลเดช กล่าวอีกว่า ในการเจรจามีกฎที่ใช้บ่อย คือ 1.จะไม่ตกลงอะไรกันก่อนจนกว่าจะตกลงได้ในทุกประเด็น 2.ต้องไม่แทรกแซงการถกเถียงภายในของอีกฝ่ายหนึ่ง และอาจจะต้องมีกฎข้อที่ 3.ต้องมีแนวทางการปฏิบัติของสื่อต่อกระบวนการสันติภาพ หรือเรียกว่า Code of Conduct ทั้ง 3 ข้อนี้ อาจจะต้องตั้งเป็นกฎกติกาในการเจรจาสันติภาพ

ต้องไม่แอบแฝง-สร้าง Safety Netระดับชาติ

นายแพทย์พลเดช กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอที่ภาคประชาสังคมควรมีในกระบวนการสร้างสันติภาพ คือ ภาคประชาสังคมต้องเป็นพลังที่ 3 ห้ามมีการแอบแผงอยู่ในพลังที่ 1 หรือ 2 หมายถึงการแอบแฝงเข้าไปอยู่ในคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และภาคประชาสังคมต้องมีการช่วยกันสร้างเครือข่ายนิรภัยหรือ Safety Net แล้วขยายพื้นที่ปลอดภัยให้กว้างขึ้น กลายเป็นเครือข่ายนิรภัยทางสังคม หรือ Social Safety Net เช่น ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่กับภาคประชาสังคมระดับชาติ เนื่องจากคิดว่าการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างเดียวไม่พอแล้ว

หลากความเห็น-คำถามจากผู้เข้าร่วม

พ.อ.หญิงวันนา ท้าวลา หัวหน้าคณะทำงานภาคประชาสังคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4) กล่าวว่า การที่จะทำงานสันติภาพได้ ต้องมีใจที่จะไปสู่สันติภาพ การพูดคุยในการเปิดพื้นที่ปลอดภัย น่าจะมีการคุยทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การพูดคุยแค่ฝ่ายเดียวแล้วอีกฝ่ายไม่ออกมาชี้แจง ขอฝากในการทำโรดแมปหรือการเปิดพื้นที่เวทีครั้งต่อไป ขอให้เป็นพื้นที่สันติภาพ มีบรรยากาศสันติภาพ

นายพิศิษฐ์ วิริยสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า พื้นที่ปลอดภัยเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ ต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานอิสระและภาคประชาสังคมในพื้นที่เกิดความไว้วางใจต่อภาครัฐในการสร้างความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัยและไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายสมพร สังข์สมบูรณ์ สมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า อยากให้ขบวนการบีอาร์เอ็น ออกมายอมรับว่าเหตุการณ์ใดที่ตนกระทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่สับสนว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีขบวนการอยู่จริง

นายไฟซอล ดาโอ๊ะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการ บีอาร์เอ็น ยังไม่เป็นเอกภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งเรื่องความไม่ชัดเจนในการทำงานหรือการตัดสินใจในบางเรื่อง จนอาจส่งผลร้ายต่อชาวบ้านในพื้นที่

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม FT Media ผู้ผลิตสื่อสารคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เสนอให้มีการขยายความหมายของภาคประชาสังคมว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรียกว่าภาคประชาสังคมได้หรือยัง และมีความจำเป็นหรือไม่ ที่ภาคประชาสังคมต้องเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ

รศ.ดร.ครองชัย หัตถา จากภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มีคนพูดที่ทำให้ตนตกใจว่า คณะที่ไปเจรจาสันติภาพ ถ้าสักวันหนึ่งเกิดความเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา อาจถูกตีความว่าเป็นการไปเจรจากับคนที่ทำผิดกฎหมายเป็นการทำผิดกฎหมายด้วย ตัวแทนที่ไปร่วมเจรจาซึ่งรวมถึงนักวิชาการจาก ม.อ.อาจถูกตัดสินจำคุกได้ ซึ่งเป็นไปได้ในทางกฎหมาย แต่ไม่คิดว่าจะถึงขนาดนั้น เพราะเป็นความปรารถนาดีของทุกฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ปัญหา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท