ปิดกั้นชาวบ้าน! ความล้มเหลวของ Public Scoping เหมืองทอง

เหตุการณ์ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ความล้มเหลวของ Public Scoping จุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
จากเหตุการณ์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อเข้าร่วมเวที Public Scoping หรือการประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ของบริษัททุ่งคำ จำกัด แต่กลับถูกปิดกั้นจากตำรวจกว่า 600 นายไม่ให้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา
 
สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ในวันนั้นคือ การจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสันติท่ามกลางสายฝนรวมเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยให้ข้อมูลกับชาวบ้านตำบลนาโป่งถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึง
 
 

ลำดับเหตุการณ์วันที่ 8 กันยายน 2556

 
6.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จาก 6 หมู่บ้าน จำนวน 800 คน ออกเดินทางด้วยรถกระบะกว่า 50 คัน ไปยังเวที Public Scoping การขอขายเหมืองทองคำแปลงที่ 76/2539 ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย
 
7.35 น. หลังจากถูกสกัดด้วยด่านตรวจจำนวนมากมาตลอดทาง ประมาณ 5 กิโลเมตรก่อนถึงจุดหมาย ขบวนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดพบรถขนาดใหญ่คว่ำกีดขวางเกือบเต็มถนน โดยยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าเส้นทางดังกล่าวจะเป็นทางผ่านของกลุ่มฯ ทำให้นักศึกษาและชาวบ้านต้องช่วยกันผลักรถที่คว่ำอยู่เพื่อเปิดช่องทางจราจร
 
8.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เดินทางมาถึงบริเวณวัดโพนทอง ต.นาโป่ง และเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังหน้าวัด พบเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นายปิดกั้นประตูทางเข้าอยู่
 
8.30 น. ฝนเริ่มตก นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามช่วยในการเจรจาและวิงวอนขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมเวทีฯ และชาวบ้านร่วมกิจกรรมอย่างสงบท่ามกลางฝนที่ตกหนักอยู่ราวหนึ่งชั่วโมง
 
9.30 น. เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดส่งสาสน์ถึงผู้จัดงานผ่านทางเครื่องบินกระดาษให้รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง และเปลี่ยนมาปราศรัยรณรงค์อยู่ด้านหน้าวัดโพนทองซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านนาโป่งถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึงและความไม่ชอบธรรมของเวทีที่จัดขึ้น โดยมีชาวบ้านนาโป่งให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งร่วมปราศรัยถึงความกังวลต่อผลกระทบจากการทำเหมืองด้วย
 
11.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางกลับตำบลเขาหลวง
 
 

ความล้มเหลวของ Public Scoping

 
1)
เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในจังหวัดเลยเริ่มต้นดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2549 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีโรงประกอบโลหะกรรมซึ่งมีบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า และหากมีการขยายการทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ ในจังหวัดเลยหรือใกล้เคียง (เช่นแปลง 76/2539 ในตำบลนาโป่ง) ก็จะนำสินแร่มาเข้าโรงประกอบโลหะกรรมที่ภูทับฟ้า ซึ่งจะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวเขาหลวงแย่ขึ้นไปอีก เพราะนอกจากกิจกรรมการทำเหมืองแล้ว คาดว่าบ่อดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่มาการปนเปื้อนของสารพิษในเลือด สิ่งแวดล้อม และแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมืองซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและรวมตัวกันเป็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ
 
2)
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ยังไม่เคยได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเลือดของชาวบ้านโดยหลายหน่วยงานนับตั้งแต่เหมืองเริ่มดำเนินการ ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ระบุชัดว่าต้องหาเหตุการณ์ปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าวและประเมินความคุ้มค่าของการทำเหมืองเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมก่อน จึงจะสามารถพิจารณาขยายเหมืองเพิ่มเติมได้
 
แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามจากการทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำต่อพื้นที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างแท้จริง แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้รัฐปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวกลับไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง
 
ในทางกลับกัน กระบวนการจัดทำ EHIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) เพื่อขออนุญาตขยายเหมืองของบริษัททุ่งคำในพื้นที่จังหวัดเลยกลับดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ราวกับว่าการหาเหตุที่มาของมลพิษที่ทำร้ายสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการอนุญาตให้ก่อมลพิษเพิ่ม ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการปิดกั้นเพื่อไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวที Public Scoping เพื่อเริ่มต้นขอประทานบัตรการขยายเหมืองทองไปยังแปลงที่ 104/2538 หรือภูเหล็กเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 นาย
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ในวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาซึ่งมีการปิดกั้นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตำบลเขาหลวงไม่ให้เข้าร่วมเวที Public Scoping การขยายเหมืองทองไปยังพื้นที่ตำบลนาโป่ง ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครของเหมืองจำนวนมาก เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐยังคงเข้าข้างอุตสาหกรรมเหมืองแร่
 
3)
การอ้างว่าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งที่ปิดกั้นการเข้าร่วมของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการดำเนินการอย่างไม่ตรงไปตรงมาในการจัดเวที Public Scoping ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขออนุญาตทำเหมือง แสดงถึงการขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของบริษัททุ่งคำจำกัด โดยมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนเสมือนให้ตราประทับส่งเสริมอุตสาหกรรมสกปรก 
 
เฉพาะในแง่กระบวนการ การจัดเวที Public Scoping ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเข้าร่วมและแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ โดยอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ  แต่เหตุเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 กลับเป็นในทางตรงข้าม ตัวอย่างเช่น
 
ปิดกั้นความเห็นต่าง
การเข้าร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการ ถูกสกัดตลอดทางด้วยด่านตรวจหลายด่านและรถปิ๊กอัพเก่าๆ ขนาดใหญ่ที่ทำทีเสมือนประสบอุบัติเหตุคว่ำกีดขวางช่องถนนประมาณ 5 กิโลเมตรก่อนไปถึงสถานที่จัดเวที จนชาวบ้านและนักศึกษาต้องลงไปเข็นรถเพื่อเปิดช่องทางจราจรเอง และเมื่อไปถึงหน้าวัดโพนทองอันเป็นสถานที่จัดงาน ทางเข้าวัดทุกทางถูกปิดด้วยกรงเหล็กมีเจ้าหน้าที่เฝ้า
 
ทางเข้าวัดด้านหน้าซึ่งเป็นทางเข้าหลักถูกปิดกั้นด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นาย ในขณะที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตั้งขบวนเพื่อเจรจาขอเข้าร่วมเวที แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากผู้จัดงานยื่นเงื่อนไขให้ต้องลงทะเบียน ซึ่งทางกลุ่มประเมินว่าเป็นการถ่วงเวลาให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมได้ครบมากกว่าเนื่องจากคนจำนวน 800 คนไม่สามารถลงทะเบียนให้เสร็จทันได้
 
การมีส่วนร่วมแบบเลือกมาแล้ว
ในขณะเดียวกัน เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ว่าผู้สามารถผ่านด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจทางประตูหลังของวัดเพื่อเข้าร่วมเวที จะต้องมีใบผ่านทางสีชมพูซึ่งได้มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วกับผู้นำชุมชนบางส่วนในพื้นที่ตำบลนาโป่งและบริเวณใกล้เคียง  ในขณะที่ชาวบ้านตำบลนาโป่งเองซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเวทีและอยู่ทางด้านหน้าให้ความสนใจกับข้อมูลและประสบการณ์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และร่วมปราศรัยแสดงความกังวลต่อการทำเหมืองในชุมชน
 
การให้ข้อมูลไม่ครบไม่ตรงไปตรงมา
ในเอกสารประกอบการประชุม 57 หน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีการให้ข้อมูลกระบวนการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการทำเหมือง ข้อมูลในส่วนที่ระบุว่า “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” เริ่มต้นที่หน้า 47 และให้ข้อมูลเพียงแค่วิธีการและขั้นตอนการจัดทำรายงานเท่านั้น
 
ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าแปลงที่ 76/2539 เป็นเพียงแปลงเดียวในพื้นที่ 10,000 ไร่ในตำบลนาโป่งซึ่งบริษัททุ่งคำได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว แต่กลับชี้แจงด้วยวาจาในเวทีว่าจะทำเหมืองแปลงดังกล่าวเพียงแปลงเดียว แต่หากบริษัทต้องการขยายต่อไปก็จะต้องทำเวที Public Scoping อีก การให้ข้อมูลกำกวมเช่นนี้ แสดงถึงความไม่ตรงไปตรงมาในการชี้แจงข้อมูลและเพิ่มความสับสนให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องได้
 
4)
การจัดเวที Public Scoping ที่จัดขึ้นในช่วงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามขยายพื้นที่การทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำในจังหวัดเลย และแม้เวทีจะผ่านไปแล้วก็มิใช่การยืนยันว่าบริษัทมีความชอบธรรมที่จะทำเหมืองต่อไป ในทางกลับกัน ชุมชนสามารถแสดงสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของชุมชนผ่านอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในแง่ความไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาได้
 
การต่อสู้ด้วยสันติวิธีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตำบลเขาหลวงที่ผ่านมา จนถึงการคัดค้านเวที Pubic Scoping การขยายเหมืองทองในครั้งนี้ รวมทั้งการประกาศใช้ “ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก” ใน 6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวงผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตันและการขนสารเคมีอันตรายในถนนชุมชน
 
นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเจตจำนงที่จะปกป้องแผ่นดินเกิด ด้วยสิทธิและอำนาจหน้าที่ของชุมชน เพราะหมดหวังกับการพึ่งพาอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายของส่วนกลางเพื่อปกป้องชุมชนจากการคุกคามของเอกชน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท