Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราร้องฝ่ายค้านเบรกรัฐเปิดเหมืองทองอัครารอบใหม่เหตุทำสุขภาพ วิถีชีวิต ประชาชนพัง ไร้การดูแลเยียวยาจากภาครัฐ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เปิดข้อมูลเครือข่ายผู้ป่วยฯเตรียมฟ้องอธิบดี กพร.ตาม  ม.157 เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

11 มี.ค. 2565 วันนี้ (11 มี.ค.)ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชนว่า พรีมสินี สินทรธรรมทัช ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร - เพชรบูรณ์ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ ยื่นหนังสือต่อนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรับหนังสือและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

พรีมสินี กล่าวว่า ต้องการให้พรรคร่วมฝ่ายค้านนำผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำคิงส์เกตไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบกับการกระทำที่ใช้อำนาจพิเศษปิดเหมืองทองแล้วไม่ยอมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่กลับยินยอมอย่างง่ายดายให้กลับมาเปิดเหมืองใหม่เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจะไม่เสียค่าโง่ โดยไม่มีการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจของคนในพื้นที่ โดยพบว่าหลังจากผู้เชี่ยวชาญเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เลือด น้ำและดิน ในช่วงปี 2557 พบว่า ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในพื้นที่รอบเหมือง 401 คนมีโลหะหนักในร่างกายเกินค่าปกติ และเมื่อตรวจเลือดหลายครั้งก็ยังพบโลหะหนักค่าเกินกว่าปกติเช่นเดิม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการชดใช้หรือเยียวยาความเสียหาย และหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองแต่อย่างใด

พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเพิกถอนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองและใบประกอบโลหะกรรม รวมถึงระงับการเปิดพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน เพราะไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยขอให้ดำเนินการดังนี้

1. จัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA)

2. ตรวจสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเพื่อประเมินสารพิษและโลหะหนักที่สัมพันธ์กับเหมืองทองก่อนจะอนุญาตให้กลับมาเปิดเหมืองทองใหม่

3. จัดทำพื้นที่แนวกันชนจากผลกระทบต่างๆ โดยเหมืองจะต้อง อยู่ห่างจากชุมชนในรัศมีไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร

4. สอบวินัยและดำเนินคดีกับ นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และข้าราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 และฐานความผิดอื่นๆ ก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตรและอื่นๆ

 5.  นำข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นตามที่ได้กล่าวมานี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้  เพื่อที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนที่ใช้อำนาจพิเศษไปสั่งปิดเหมืองแล้วไม่ยอมต่อสู้ให้ถึงที่สุดในชั้นอนุญาโตตุลาการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในบ้านเมืองของตนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการปลอดเหมืองแร่ทองคำ  แต่กลับยินยอมอย่างง่ายดายให้บริษัทฯกลับมาเปิดเหมืองใหม่เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลชุดนี้จะไม่เสียค่าโง่โดยไม่มีการปรึกษาหารือ/รับฟังความคิดเห็น/ร่วมตัดสินใจ  ตรวจสารพิษและโลหะหนักในคน  ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม  และชดใช้/เยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองมาก่อนหน้านี้กับประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด

นายแพทย์ชลน่าน พร้อมด้วยผู้แทนฝ่ายค้านได้รับปากที่จะนำข้อมูลที่เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ เป็นเนื้อหาหลักที่จะนำเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะดำเนินการในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทยังรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.อ.ทวี กล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากเครือข่ายผู้ป่วยฯว่า ตนฟังแล้วเข้าใจและเห็นใจปัญหาที่ชาวบ้านต้องพบเจอ ความสำคัญของชีวิตคนมันมีค่ามากกว่ากฎหมาย ชีวิตของชาวบ้านที่ต้องแลกกับอุตสาหกรรม คำสุดท้ายของอุตสาหกรรมมันคือการรับกรรมขของชาวบ้าน เราได้ผลประโยชน์ตอบแทนมาเพียงเล็กน้อยแต่ชาวบ้านต้องพบเจอกับทุกข์มหาศาล  ในประเทศของเขาเขายังไม่ทำเหมืองแบบนี้เลย แต่เขามาทำที่ประเทศเรา มาใช้ทรัพยากรในประเทศเรา หลังจากนี้พรรคประชาชาติพร้อมที่จะสนับสนุนและพร้อมที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้เป็นปกติสุข และเราจะลงพื้นที่พร้อมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน

ธีรัจชัย พรรคก้าวไกลกล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเข้าไปร่วมอภิปรายและตามติดในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และตนจะเป็นผู้รับผิดชอบ และช่วยดำเนินการในส่วนของข้อมูลและจะลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะนำข้อเท็จจริงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบขึ้นมาต่อสู้ เราจะร่วมยืนหยัดร่วมกันและเดินหน้าต่อสู้ในประเด็นนี้อย่างเต็มที่

ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เปิดข้อมูลเครือข่ายผู้ป่วยฯเตรียมฟ้องอธิบดี กพร.ตาม  ม.157 เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้ติดตามการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอดเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่ทองคำ เราคิดว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่ยังหายไปจากการอภิปรายคือเรื่องรูปธรรมของผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ก็เลยอยากให้พรรคฝ่ายค้านได้หยิบยกเรื่องผลกระทบของประชาชนไปอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมในการเปิดเหมืองทองนอกจากคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามนิติรัฐและนิติธรรมแล้ว ยังมีเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านด้วยที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ไม่เปิดเหมือง ไม่อยากให้พรรคฝ่ายค้านละเลยส่วนนี้ไปเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อชีวิตจิตใจของผู้คนในพื้นที่

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนเจ้าของแร่กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีการนำเสอข่าวก่อนหน้านี้ว่ามีชาวบ้าน 99 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้มีการเปิดเหมืองทองขึ้นใหม่ ข้อเท็จจริงของสัดส่วน 99 เปอร์เซ็นต์เป็นของตัวอย่างชาวบ้านที่สนับสนุนเหมืองหรือถูกบังคับให้สนับสนุนเหมืองซึ่งเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นลูกจ้างในเหมืองและส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ด้วยซ้ำที่มาเป็นตัวอย่างในการทำโพลแสดงความคิดเห็นและสื่อสารออกไปให้สังคมได้เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่เองไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำโพลเลยแม้สักตัวอย่างเดียว

เลิศศักดิ์กล่าวว่า ตนมองว่าข้อเสนอทุกข้อของเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ที่ยื่นให้พรรคฝ่ายค้านในวันนี้ รัฐจะต้องทำให้กระจ่างชัดก่อน ก่อนที่จะทำการเปิดเหมือง จะต้องทำก่อนที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  จะอนุญาตให้ประทานบัตรในการทำเหมือง 4 แปลงที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุชัดเจนว่าจะต้องมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไรบ้างในพื้นที่ ต้องทำเงื่อนไขอะไรบ้างเช่นต้องแจกแจงเกี่ยวกับเรื่องเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองให้ชัดเจนก่อนจะได้ไม่ทับกับเขตสงวนหวงห้ามอื่น แต่อธิบดีกพร.ก็ไม่ทำ มีการลัดขั้นตอนและเร่งรีบในการให้ใบประทานบัตร  ซึ่งกฎหมายการทำเหมืองแร่ ถือว่ามีความผิด

“การมายื่นให้พรรคฝ่ายค้านเป็นเนื้องานที่ทางเครือข่ายฯต้องการทำเพื่อที่จะให้พรรคฝ่ายค้านนำปัญหาผลกระทบไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ทางเครือข่ายก็จะทำหลายอย่างไปด้วยไม่ว่าจะเป็นการเตรียมฟ้องอธิบดี กพร.ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด นอกจากเครือข่ายยังได้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือ Class Action แล้ว 2-3 คดีเพื่อที่จะเรียกร้องค่าเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท เป้าหมายสูงสุดของเครือข่ายผู้ป่วยที่เป็นตัวจริงเสียงจริงไม่ใช่ประชากรแฝงนอกพื้นที่ ไม่อยากให้เหมืองเปิดขึ้นมาเลย แต่หากไม่สามารถผลักดันประเด็นในตรงจุดนั้นได้รัฐบาลและบริษัทต้องชดเชยและชดใช้ค่าเสียหายให้สอดคล้องเหมาะสมกับความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นไว้ก่อน ถึงจะทำการเปิดเหมืองอีกรอบได้” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษา เครือข่ายประชาชนกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net