รายงาน:เวทีวิชาการ "คน"ในกระแสการเปลี่ยนแปลง(ภาคเช้า)

16 กันยายน 2556  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch-TSMW) และ"ประชาไท"ได้จัดงาน"สัมมนาวิชาการประจำปี 2556 เรื่อง "คน"ในกระแสการเปลี่ยนแปลงขึ้น ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หมายเหตุ:รายงานการสัมมนาที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เก็บความจากเวทีนำเสนอผลงานการวิจัย จากนักวิชาการ นักวิจัยและนักศึกษาที่ได้นำเสนอผลงานการศึกษาในช่วงเช้า และสำหรับรายงานการนำเสนอในช่วงบ่ายของเวทีนี้ประชาไทจะได้นำเสนอในวันถัดไป

ช่วงแรกของการสัมมนาวิชาการ “คน”ในวิถีการเปลี่ยนแปลง เป็นการนำเสนองานวิจัย 4 ประเด็น ในประเด็น คนกับทรัพยากรธรรมชาติ: จุดบรรจบของการจัดการส่วนรวมและการจัดการส่วนตัว

สุรินทร์ อ้นพรม นำเสนอประเด็นความมั่นคงในที่ดินและการดำรงชีพของเกษตรกรในเขตป่า กรณีสิทธิที่ทำกิน (สกท.) ซึ่งเขาชี้ว่า การให้สิทธิ สกท. นั้นอาจเป็นการแก้ปัญหาการเข้าถึงที่ทำกิน แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นนโยบายที่แสดงความไม่ไว้วางใจของรัฐที่ต่อประเด็นสิทธิที่ดินทำกินของประชาชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและสิทธิของคนในเขตป่า ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการทำมาหากินไม่มากนัก เพราะรัฐยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือที่ดินที่จัดสรรให้กับเกษตรกร ในขณะที่ เกษตรกรผู้ได้รับมอบหนังสือสิทธิทำกินนั้นเป็นเสมือนผู้เช่าที่ดินของรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและขาดอำนาจในการควบคุมและจัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ในขณะที่การให้สิทธิทำกินเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอแล้วสำหรับเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องการเข้าถึง “ทุน” ในการทำการเกษตรด้วย การมีเพียงสิทธิที่กินจึงเป็นการจำกัดโอกาสในการพัฒนาของเกษตรกร

วิทยา อาภรณ์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอหัวข้อวิจัยหัวข้อโฉนดชุมชน ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อชุมชนที่เข้าไม่ถึงที่ดินทำกิน คือ ทำให้เกิดการปรับการจัดการที่ดินในชุมชน เกิดการปรับตัวของคนในชุมชน มีการขยายตัวของการแก้ปัญหาของชาวบ้าน เป็นเครื่องมือให้คนที่ด้อยโอกาสตั้งหลักได้ท่ามกลางสังคมทีเหลื่อมล้ำ ป้องกันการคุกคามของรัฐ

แต่ในขณะเดียวกัน โฉนดชุมชนก็ยังขาดความชัดเจนที่ต้องพัฒนาให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจกับสาธารณะว่าไม่ใช่การทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โฉนดชุมชนควรเป็นทางเลือกไม่ใช่การวางเป็นเป้าหมายสุดท้าย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการสร้างโจทย์ใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับภาวะสังคมปัจจุบัน ซึ่งสำหรับวิทยาเองมองว่า  ทั้งป่าขุมชนหรือโฉนดชุมชนเหมือนกับสนามเพลาะที่ขุดให้ชาวบ้านที่ไม่มีทางเลือกมาใช้ประโยชน์ แต่นโยบายโฉนดชุมชนควรเป็นทางเลือก ไม่ใช่เพราะไม่มีทางอื่นให้เลือก และเห็นว่าโฉนดชุมชนนั้นโดยตัวของมันเองไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประเทศได้ เพราะถึงที่สุดแล้วต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

ชลิตา บัณฑุวงศ์ นำเสนอในหัวข้อการปรับโครงสร้างชนบท กรณีชุมชนชายฝังทะเลอันดามัน ซึ่งชลิตาระบุว่า ชนบทของไทยนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมและทิศทางที่สำคัญมากก็คือภาคเกษตรลดความสำคัญลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ที่ดินทำเกษตรมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามรุ่นคน สำหรับกรณีของชุมชนชายฝั่งที่เป็นภาคเกษตรที่มีการประมงเป็นฐาน ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวม ไม่สามารถจับจองเป็นเจ้าของและแบ่งย่อยจนเล็กลงเหมือนที่ดินในภาคเกษตรแบบเพาะปลูก

นอกจากนี้ ในขณะที่ทรัพยากรที่ดินเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ แต่ทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ศึกษากลับฟื้นตัวขึ้นมากอันเป็นผลจากการทำงานของของกลุ่ม/ชมรมชาวประมงในท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบันไม่มีอวนลากอวนรุนในอ่าวพังงานที่เป็นพื้นที่ศึกษาอีกแล้ว จึงน่าสนใจศึกษาว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลผ่านมาของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกนั้น  ทรัพยากรและการประมงชายฝั่งมีบทบาทอย่างไรในการสร้างคุณภาพที่ดีของผู้คนในชุมชนชายฝั่งทะเล งานศึกษานี้พบรูปแบบที่เปลี่ยนไปของการประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการปรับตัวจากการทำประมงมาเป็นลูกจ้างในบ่อกุ้ง หรือไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่ก็มีกรณีทีกลับมาทำประมงแต่ใช้เรือลำเล็กลง ทำประมงใกล้ๆ ดัดแปลงเป็นเรือท่องเที่ยวบ้างก็มี ทำยางพารามากขึ้น

ชลิตากล่าวสรุปว่า แม้การทำประมงไม่ใช่รายได้หลักหรือไม่สามารถทำแล้วรวย เพราะไม่สามารถเพิ่มขนาดให้มีความเข้มข้นได้ เนื่องจากระบบนิเวศชายฝั่งมีข้อจำกัด ถ้าทำเชิงเข้มข้นมากเกินไปจะทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมและไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ประมงก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมีสถานะเป็นกลยุทธในการสร้างความหลากหลายในการดำรงชีพ จึงเป็นความท้าทายของชาวบ้านและคนที่ทำงานในพื้นที่จะต้องรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรให้คงอยู่อย่างน้อยก็ในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ท่ามกลางเงื่อนไขที่ยุ่งยากขึ้น เช่น ไม่ว่าจะเป็นทุนโลกาภิวัตน์ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว นโยบายรัฐในการพัฒนาชายฝั่งทะเลอันดามันให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลกที่ต้องมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่าวพังงาโดยรวม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ศึกษายังไม่เอื้อมากนักต่อการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง

ศักรินทร์ ณ น่าน นำกรณีสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งการจัดการทรัพยากรเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป เนื่องจากการปรับระบบเมล็ดพันธุ์ในฐานะสินค้าในตลาดโลก ทำให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตในชนบท อีกทั้งรัฐก็ให้การรับรองระบบดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ของการค้าเมล็ดพันธุ์ อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ โดยขององค์กรพัฒนาเอกชน เขาชี้ว่าประเด็นหลักของเรื่องเมล็ดพันธุ์ยังอยู่ที่ความคลุมเครือในเชิงกฎหมาย ปัญหาการยึดติดกับสิทธิเชิงเดี่ยว และชี้ว่าเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมยังคงมีบทบาทในการต่อรองกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ต่อไป

ข้อวิจารณ์ โดย ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ บทความทั้ง 4 มีจุดร่วมกันคือ ประการแรก เลิกพูดในเรื่องที่น่าเบื่อ ดีเบตที่ตกไปแล้ว คือการมุ่งประณามก่นด่าโลกาภิวัตน์และทุนสามานย์ แม้ว่าจะไม่ใช่การเฉลิมฉลองโลกาภิวัตน์ แต่พยายามเข้าใจว่าเมื่อมีปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้น ผู้คนจัดการและผชิญหน้าไปอย่างไร ประการที่สอง บทความก้าวข้ามการแบ่ง การพยายามอธิบายแบบแบ่งขั้วของโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นขั้วส่วนตัว เอกชน-รัฐ และพยายามทำความเข้าใจว่าสองส่วนนี้เข้ามาเกี่ยวโยงกันอย่างไร ประการที่สาม การอธิบายวิถีชีวิตของชาวนาและเกษตรกรว่าเป็นเหยื่อแบบเบ็ดเสร็จของทุนนิยม หวนหาอดีตที่สวยงาม แบบเดิมๆ ไม่ถูกนำมาใช้อธิบาย ประการสุดท้าย การไม่พร่ำบ่นถึงการล่มสลายของชุมชน เพราะที่ผ่านมชุมชนก็ไม่ได้ดีเด่นเป็นแก่นสารมาแต่โบร่ำโบราณ คอนเซ็ปท์ของชุมชนได้มีการทบทวนในงานเหล่านี้ โดยชวนให้ข้ามไปจากการอธิบายเรื่องคนกับการเปลี่ยนแปลงแบบเดิมๆ โดยยกรูปธรรมมาบอกว่าความเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว

 

 

ช่วงที่ 2 ของงานสัมมนาวิชาการ "คน" ในกระแสความเปลี่ยนแปลง คนกับการเกษตรที่เปลี่ยนแปลง : ศักยภาพ หรือ การยอมจำนน ?

เนตรดาว เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอบทความเรื่อง “ปฏิบัติการต่อรองของชาวนาไทย ภายใต้ระบบการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อป้อนตลาดโลก”

พื้นที่ศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนหน้านี้ได้เขียนบทความไปชิ้นหนึ่งเรื่อง “การสร้างมาตรฐานในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์” เพื่อชี้ว่าระบบทุนเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวในภาคอีสาน ให้กลายเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ผลผลิตข้าวสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศที่มีมูลค่าสูง ซึ่งต้องการสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดีต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ผลิต แต่กระบวนการการสร้างมาตรฐานในการผลิตสินค้าเกษตรเกษตรอินทรีย์ ทำให้เราเห็นว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ระบบการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นวิถีธรรมชาติ หรือมีความเรียบง่าย แล้วแต่ความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ผลิต อันที่จริงแล้ว เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรสมัยใหม่รูปแบบหนึ่ง ที่พึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ใช้อำนาจกับผู้เชี่ยวชาญ ที่จะจัดระเบียบภูมิศาสตร์กายภาพ ควบคุมระบบการผลิตและควบคุมชีวิตเกษตรกร เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลที่ยอมรับในสังคมตะวันตก

ในบทความนี้จะต่อจากบทความที่แล้วว่า เมื่อชาวนาถูกจัดระเบียบแรงงาน ถูกควบคุมการผลิต ควบคุมทางอุดมการณ์ ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ชาวนาทำอะไรบ้าง ชาวนามีการต่อรองหรือไม่ อย่างไร

ในประเทศไทยมีระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย แต่หากจะส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ เราต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลของ IFOAM และยังต้องผ่านการรับรองมาตรฐานในระบบเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศที่มีมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของตนโดยเฉพาะ ดังนั้นเกษตรกรอีสานที่ผลิตในระบบอินทรีย์จึงต้องผ่านมาตรฐานสากลเกษตรอินทรีย์หลายระบบ แต่ละระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีกฎระเบียบยิบย่อยและแตกต่างกัน และจะมีระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานซึ่งทำโดยเจ้าหน้าที่ภายในกลุ่มองค์กรที่สนับสนุนการผลิตของเกษตรกร และจะมีการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นตัวแทนจากองค์กรต่างชาติ ซึ่งจะมาตรวจสอบซ้ำว่าระบบเกษตรอินทรีย์ได้มาตรฐานจริงตามที่รายงานพูดไว้หรือไม่

การเปลี่ยนจากระบบข้าวเคมีเป็นข้าวอินทรีย์ ใช้เวลา 3 ปี ตามข้อกำหนดในมาตรฐานสากล ซึ่งมีการควบคุม 2 ระบบ คือ ควบคุมระบบการผลิต และควบคุมระบบตรวจสอบรับรองมาตรฐานภายในองค์กรว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

ในการพยายามให้ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสากล เราจะเห็นความพยายามของหลายฝ่าย ในการจัดระเบียบภูมิศาสตร์ทางกายภาพ การเปลี่ยนระบบการทำนา การสร้างชาวนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นคนที่มีความสามารถในการคิดคำนวณต้นทุน-กำไร จดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการทำนาและการทำบัญชีฟาร์ม เหมือนเป็นนักวิจัย ชาวนาอินทรีย์ยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและควบคุมการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามหลักเหตุผลแบบสมัยใหม่ ตอบสนองตลาดและความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นชาวนาทุกคนไม่ว่าจะทำนามานานแค่ไหน เมื่อหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องเข้ารับการอบรมการทำนาอินทรีย์ และเรียนรู้การทำนาใหม่ทุกขั้นตอน เพื่อฝึกให้เป็นชาวนาที่รู้กฎระเบียบและปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างไม่ผิดพลาด และต้องมีการอบรมใหม่ทุกปีเพื่อให้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานใหม่ทุกปี และการอบรมก็ไม่ได้สอนให้ทำนาอินทรีย์เป็นเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังความคิดในเรื่องตลาดเสรี การค้ายุติธรรม และการเป็นผู้ประกอบการ

สมมติฐานที่ต้องการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์และผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล คือต้องการให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และต้องการฟื้นฟูดิน รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการค้ายุติธรรม หรือ Fair Trade ดังนั้นชาวนาก็จะต้องเหมือนนักเรียน ที่ถูกสอนให้เก่งแบบเข้มข้น และต้องสอบให้ผ่านทุกมาตรฐาน และต้องสอบใหม่ทุกปี หากใครสอบไม่ผ่าน หรือทำผิดกฎข้อบังคับเกษตรอินทรีย์ ก็จะต้องถูกลงโทษ ทั้งค่าปรับหรือให้ออกจากโครงการ ถูกริบเงินสะสมที่หักเอาไว้ ระบบนี้จึงมีความตึงเครียดในตัวเอง

กฎข้อบังคับเกษตรอินทรีย์ในแต่ละมาตรฐานมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดต่างกัน องค์กรฯ ที่ส่งเสริมการผลิตจึงได้พยายามทำให้กฎข้อบังคับเป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวนา ด้วยการแปลงกฎระเบียบตามมาตรฐานสากล ให้กลายเป็นกฎข้อบังคับเพียง 20 ข้อ ที่ชาวนาต้องจำและทำให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าครอบคลุมมาตรฐานสากล 7-8 มาตรฐาน เช่น เกษตรกรต้องทำเกษตรอินทรีย์ในทุกแปลงที่ผลิต รวมถึงการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือนหรือจำหน่ายด้วย การเลี้ยงสัตว์ต้องไม่มีการทรมาน ต้องไม่มีการเลี้ยงสัตว์ในกรงขัง ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์จากโครงการใหม่ทุกปี ต้องไม่ใช้สารเคมีทุกอย่างในการผลิต ต้องไม่ใช้พืช GMO ต้องปลูกพืชที่ปุ๋ยบำรุงดิน และต้องขายข้าวให้โครงการเท่านั้น เป็นต้น

งานศึกษานี้ใช้แนวคิดปฏิบัติการทางการเมือง (practices of politics) ที่เสนอโดย  Tania Murray Li เพื่อพิจารณาการแสดงออกของชาวนา ในการตอบสนองและต่อรองต่อการนำกฎมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อควบคุมชาวนา พบว่าชาวนาอีสานได้ใช้วิธีการหลายอย่างในการต่อรองกับระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น การตั้งคำถามกับมาตรฐานการผลิตว่ามีมาตรฐานที่คงเส้นคงวาและเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น มาตรฐานในเรื่องความสะอาดและปลอดภัย เช่น การตั้งคำถามกับกฎที่บอกให้ชาวนาลงทุนเพื่อยกคันนาให้สูง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางน้ำ จากการที่น้ำจากแปลงนาเคมีจะไหลลงสู่แปลงนาอินทรีย์ แต่ในหน้าฝน เมื่อน้ำหลากมักทำให้คันนาขาด และน้ำจากนาเคมีไหลลงสู่นาอินทรีย์อยู่ดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่การรับรองว่าไม่มีสารเคมีในระบบการผลิต แต่เป็นการยืนยันว่าได้มีการทำมาตรการบางอย่าง เพื่อป้องกันให้มีสารเคมีน้อยที่สุด และเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่การทำแบบเรียบง่าย แต่ทำยากมาก หรือการที่ชาวนาตั้งคำถามกับกฎข้อบังคับให้ชาวนาอินทรีย์ปลูกต้นไม้เป็นแนวกั้นเขตแดนระหว่างนาเคมีกับนาอินทรีย์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางอากาศว่าได้ผลจริงเพียงใด เพราะมันสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวนาอินทรีย์กับเพื่อนบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกต้นไม้ตามคันนา เพราะกลัวบังแสงแดด หรือกลัวว่าจะล่อแมลงมาลงนา

นอกจากนี้ชาวนายังแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ เช่น วิธีการประเมินความเสี่ยงของการปนเปื้อน และวิธีการคำนวณผลผลิต ซึ่งในหลายกรณี ทำให้ชาวนาเสียเปรียบมากขึ้น เพราะไม่สามารถขายผลผลิตทั้งหมดในราคาอินทรีย์ การตั้งคำถามเหล่านี้ เท่ากับชาวนาไม่ได้เชื่อถือในความรู้ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และการคิดคำนวณของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการที่ชาวนาเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับบางเรื่อง เช่น การไม่ทำปุ๋ยหมัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลามาก แต่นิยมใช้ปุ๋ยคอกแทน หรือการไม่ปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดินเต็มแปลง เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และการปลูกถั่วในหน้าแล้งภารอีสาน ถั่วมักจะตาย ก็ รวมถึงการที่ชาวนาเลือกใช้ประโยชน์จากกฎระเบียบของการผลิตข้าวอินทรีย์ในบางเรื่อง เช่น ขายข้าวอินทรีย์บางส่วนให้โครงการ แต่บางคนอาจแอบนำไปขายนอกโครงการบางส่วน หากราคาข้าวในตลาดสูง การแบ่งที่ดินออกเป็นส่วนๆ เพื่อปลูกพืชหลายอย่าง การทำนาคู่ขนาน ซึ่งทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงการทำนาอินทรีย์เพียงอย่างเดียว เป็นต้น  วิธีการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ชาวนาอีสานใช้ความรู้เรื่องการคำนวณต้นทุนกำไรที่ได้เรียนมา เพื่อคำนวณผลได้หรือผลเสียจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่นำเข้ามาจากภายนอก

ทั้งนี้การต่อรองของชาวนาดังกล่าว ได้ช่วยเปิดพื้นที่ในการต่อรองให้แก่ชาวนาได้มากพอสมควร ชาวนาไม่ได้ตอบคำถามแบบเชื่องๆ แต่มีการโต้เถียง ตั้งข้อสงสัยต่อความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ กระทั่งไม่ปฏิบัติตามกฎ หากมีค่าใช้จ่ายสูง หรือทำให้เสียเปรียบมากขึ้น กล่าวได้ว่าปฏิบัติการต่อรองของชาวนาในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นการสู้ในระบบทุน เพื่อสร้างความยุติธรรมให้มากขึ้น ลดความเสียเปรียบต่างๆ และลดความตึงเครียดในระบบ ให้พอหายใจได้บ้าง และอยู่รอดได้ เพราะอย่างไรก็ดี การต่อรองของชาวนาไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องการปฏิเสธระบบทุน เนื่องจากมีชาวนาส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือกจะลาออกจากโครงการเมื่อไม่พอใจกับกฎระเบียบของการทำนาอินทรีย์

โดยสรุป การสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทำโดยการสร้างวินัยให้เกษตรกรให้ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล เป็นผู้ประกอบการ และใช้อุดมการณ์ครอบงำด้วย ที่สำคัญต้องเชื่อฟังผู้เชี่ยวชาญ แต่ชาวนาอีสานก็ตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความปลอดภัย ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญไม่ได้มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปได้ เสมอไป ความแฟร์ของระบบเกษตรพันธสัญญามีมากน้อยเพียงใด และตั้งคำถามกับความเป็นธรรมชาติ ความสะอาด ตั้งคำถามหมดกับคอนเซ็ปท์เหล่านั้นที่นำเข้าจากต่างประเทศ นำสู่การสร้างพื้นที่การต่อรองในระบบ certificate มากขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือ ชาวนาเลือกปลูกข้าวหลายระบบ ไม่พึ่งพิงเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว

พุฒิพงศ์ นวกิจบำรุง นักวิจัยอิสระ นำเสนอ เกษตรพันธะ (ไร้) สัญญา : กรณีศึกษาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีประเด็นเกษตรพันธสัญญาในหน้าข่าวเยอะขึ้น เอ็นจีโอจับประเด็นนี้มากขึ้น ผู้คนมักมองเกษตรพันธสัญญาว่าทุนผูกขาดเอาเปรียบเกษตรกรและพยายามให้เกษตรกรหลุดออกจากวงจรนี้ไปสู่เกษตรทางเลือก แต่อาจารย์บางท่านก็เสนอว่าเกษตรพันธสัญญามีหลายรูปแบบไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด แล้วเราจะมองอย่างไรต่อ

งานศึกษานี้มีสมมติฐานอีกแบบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับเกษตรกรนั้นซับซ้อน ทุนไม่ได้ชั่วร้ายเสมอไปและโจทย์คือเราจะรับมือ อยู่กับมันอย่างไร

เป้าหมายนำเสนอมี 2 ประเด็นหลักคือจะทำความเข้าใจเกษตรพันธสัญญาอย่างไร และเกษตรกรจะปฏิสัมพันธ์กับตลาดอย่างไร เพื่อชี้ว่าเกษตรพันธสัญญานั้น แม้เราไม่อยู่ในวงจรก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นอิสระ และเกษตรไม่ใช่ฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว

งานศึกษานี้ดูในพื้นที่หมู่บ้านปะกากญอที่แม่แจ่ม ซึ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กัน 80% ของพื้นที่และยังเป็นพื้นที่ป่าสงวน ที่เป็นไร่หมุนเวียนมาก่อน ปัจจุบันมีราว 80 ครัวเรือน เฉลี่ยแล้วปลูกข้าวโพดกัน 19 ไร่ต่อครัวเรือน

ข้าวโพดในที่สูง มีทั้งที่เป็นพันธสัญญาและไม่ใช่ ส่วนที่เป็นพันธสัญญาจะเป็นข้าวโพดเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ แต่ถ้าเป็นข้าวโพดอาหารสัตว์นั้น ไม่เป็นพันธสัญญา แต่เอาเข้าจริงแล้วปัจจัยการผลิตและการขายสินค้าแม้ชาวบ้านไม่ทำพันธสัญญา แต่ที่มาเหล่านี้ก็ยังมาจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ หรือไปสู่บริษัทใหญ่ๆ ไม่แตกต่างกัน  โดยมีผู้ประกอบการท้องถิ่นคั่นกลาง เหมือนเป็นหน่วยการผลิตหน่วยหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ จึงเกิดข้อสงสัยว่าเราจะมองว่ามันเป็นพันธสัญญาได้ไหม

พื้นที่ปลูกก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งหลายส่วนก็เป็นข้อพิพาทกับรัฐ กรณีนี้อาจมองได้ว่าเป็นกระบวนการที่ชาวบ้านแสดงสิทธิของการใช้พื้นที่จากไร่หมุนเวียนเป็นไร่ถาวร เหมือนเป็นการอ้างการใช้พื้นที่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ จะเห็นว่าการใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดของชาวบ้านนั้นซับซ้อน ซ้อนทับกับการต่อสู้ทางการเมืองเพี่อความมั่นคงทางที่ดินด้วย เป็นการโดดจากแนวคิดแบบจารีตมาเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่ต้องการทรัพย์สินส่วนบุคคล

เกษตรพันธสัญญาแบบเดิม ทำให้มุมมองแคบเห็นแต่บริษัทกับชาวบ้าน แต่เกษตรพันธสัญญาแบบไม่เป็นทางการถูกใช้กันตลอดเวลาแต่คนกลับมองไม่เห็น กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีวิธีการจัดการ ควบคุมตลาด ชาวบ้านได้โดยที่เรามองไม่เห็น

 

อิทธิพล โคตะมี นักศึกษาปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอเรื่อง"หนึ่งทศวรรษสังคมอีสานผ่านมุมมองบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

ที่ผ่านมามีงานศึกษาสังคมอีสานหลายชิ้นที่มองว่าชาวบ้านมีอำนาจและเปลี่ยนไปแล้ว งานชิ้นนี้สนับสนุนและเพิ่มเติมแง่มุมบางอย่าง

ขอเริ่มต้นจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่มที่ 13 ซึ่งให้ภาพลักษณ์ชนบทว่า คนชนบทยากจน ทำนาโดยพึ่งน้ำฝน ปลูกข้าวได้พอเหลือขายเพียงเล็กน้อย ขาดแคลนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ คนชนบทจะมีโอกาสกินปลาเฉพาะฤดูฝนและฤดูน้ำ เป็นอัตราการกินปลาที่ค่อนข้างต่ำคือ 10 กก.เมื่อเทียบกับอัตรามาตรฐานที่มนุษย์แต่ละคนกินปลา ต่อปี จาก 40 กก.ต่อปี  สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างแตกต่าง กับ สังคมยุคหลังชาวนา ที่ศึกษาในงานชิ้นนี้

ข้อสรุปจากการศึกษา พบว่า สิบปีมาที่ผ่านมาสังคมอีสานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปใน 2 ทาง คือ  1. ใกล้ชิดกับเมืองมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและความคิดสมัยใหม่  มีระบบตลาดที่ใช้ทุนอย่างเข้มข้นมากขึ้น มีการบริโภคคล้ายและเหมือนกับคนเมือง และมีลักษณะเป็นปัจเจกชนมากขึ้น 2. มีความพยายามรักษา “ความเป็นชนบท” ด้วย เกิดจากอุตสาหกรรมข้ามชาติที่มาทำให้ชาวนาได้มาตรฐานสากล แต่อธิบายว่าเป็นวิถีการผลิตที่มีลักษณะของชาวนาดั้งเดิม นอกจากนี้การรักษาอัตลักษณ์ "ความเป็นชนบท" บางอย่างก็สามารถทำให้ชาวบ้านต่อรองได้ด้วย

องค์ประกอบของคอนเซ็ปท์สังคมหลังชาวนา แบ่งเป็น 4 ด้าน

1.วิถีการผลิต ชาวบ้านที่ทำนาเป็นลูกค้าชั้นดีของ ธกส. ต้นทุนที่หมดไปกับค่าจ้างแรงงาน และเครื่องมือทางการเกษตร รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานวัยทำงานเข้าสู่เมือง ทำให้แรงงานลดน้อยลงในหมู่บ้าน ในบางพื้นที่เราจะพบว่าชาวบ้านทำเศรษฐกิจปลาที่มีรายได้สูงมาก ลักษณะชุมชนแบบนี้ ทำให้เห็นว่า เป็นการผลิตในขั้นปฐมภูมิเพื่อส่งขายให้ตลาดนำไปแปรรูป ขณะเดียวกันก็เป็นความสัมพันธ์เชิงตลาด ที่ผลผลิตจำนวนมากถูกขายป้อนระบบตลาด

2.ความคิด เราจะพบคนในสังคมยุคหลังชาวนา ว่าไม่ใช่ชาวนาบริสุทธิ์ ที่มีความคาดหวังแบบเก่าๆ อยู่อย่างพอเพียง หาอยู่หากิน เขามีความคาดหวังใหม่ๆ เป็นปัจเจกชนที่คำนวณอยู่ตลอดเวลา

3.มิติทางอัตลักษณ์ มีชาวนารุ่นใหม่ที่บริโภคสูงมาก จากการศึกษาพบว่าการบริโภคในที่นี้ เป็นการบริโภคเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของแรงงานในการผลิต เช่น การซื้อสุรามาเลี้ยงเพื่อรักษาแรงงานไว้ การปลูกบ้านและใช้รถยนต์ที่มีมูลค่าเพื่อปรับความสมดุลทางอำนาจ

4.ลักษณะข้ามชาติ ชาวอีสานปฏิสัมพันธ์กับคนเยอะมาก ในหลายบริบท หลายพื้นที่ มีลักษณะข้ามท้องถิ่น ข้ามรัฐ กระทั่งข้ามชาติ เช่น ตัวอย่าง การศึกษา รูปแบบการแต่งงานของคนต่างชาติกับสาวอีสาน

การเปลี่ยนแปลงในสังคมหลังชาวนานี้จึงแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นที่ฉับพลัน หรือรุนแรง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

========================= 

วิจารณ์โดย วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI

วิโรจน์เล่าว่ามีเรื่องเล่าในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ว่า ถ้าทำงานเศรษฐศาสตร์ไม่ดี ชาติหน้าจะถูกสาปเป็นนักสังคมวิทยามานุษยวิทยา ไม่ใช่เพราะดูแคลนแต่เพราะอ่านงานด้านนี้แล้วยากที่จะทำความเข้าใจ

จริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกมักง่าย เพราะอ้างว่าคนมีเหตุผลในการตัดสินใจด้วยตัวเองเสมอ เวลาดูพฤติกรรมคนจะไม่ดูว่าคนทำอะไร แต่ดูว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างไร แต่พอมาอ่านบทความชุดนี้จะเห็น ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ ผู้แสดง ผู้ตอบโต้  มีวาทกรรมต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมยุคสุดท้าย เกษตรพันธสัญญาที่ไม่ต้องมีสัญญา บางครั้งจึงรู้สึกเหมือนอยู่ใน wonder land เพราะตีความปรากฏการณ์ต่างกับนักเศรษฐศาสตร์  ยกตัวอย่าง ถ้านักเศรษฐศาสตร์มองกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีการซื้อที่ดินเกิดขึ้น อาจตีความว่า ระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นอยู่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง ถ้าใครจะซื้อที่ดินแล้วพรุ่งนี้ถูกยึดไปง่ายๆ คงไม่ซื้อ คนที่พร้อมซื้อที่ดินในป่าสงวนเพราะเขาคิดว่าเขามั่นคงในระดับหนึ่งที่จะใช้กรรมาสิทธิมากกว่าคนทั่วไป เช่น นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล จึงมองว่าเป็นผลมากกว่าที่จะตีความว่า เรามีการไปซื้อที่ดินเพื่อจะใช้มันเป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อความมั่นคงในที่ดินท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน

เรื่องคอนแทกฟาร์มมิ่งถูกยกมาเป็นระบบความสัมพันธ์ในการผลิต แต่หลายอย่างกลับเห็นว่าเป็นพฤติกรรมปกติในระบบ  อาจจะไม่ใช่เรื่องสูงส่งมากมาย แต่เป็น reaction ธรรมดาของมนุษย์

“เราพยายามตีความพฤติกรรมคนมากไปกว่าที่เขาทำหรือเปล่า” วิโรจน์กล่าว

 

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดของงานพร้อมบทคัดย่อของงานวิจัยแต่ละชิ้นได้ที่ http://socanth.tu.ac.th/news/academic-events-updates/ccscs-seminar-2013/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท