รายงานเสวนา 3 ประสาน “4 ทศวรรษ บทเรียนและประสบการณ์ขบวนการชาวนา กรรมกร นักศึกษา”

มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชนจัด "สามประสานกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม” ถกบทเรียน 4 ทศวรรษ ของการเคลื่อนไหว นักศึกษาร่วมแจมชี้ความคิดแบบปัจเจคนิยม ทำลายพลังนักศึกษา

13 ต.ค.56 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชน “4 ทศวรรษ บทเรียนและประสบการณ์ขบวนการชาวนา กรรมกร นักศึกษา” โดยมีผู้ร่วมสวนาประกอบด้วย จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สมปอง เวียงจันทร์ ผู้นาชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล แตงอ่อน เกาฏีระ อดีตผู้นาสหภาพแรงงานอ้อมน้อย บำรุง คะโยธา อดีตเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนวพล อินทรสุวรรณ กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แตงอ่อน เกาฏีระ

รัฐประหารทำลายอำนาจกรรมกร

แตงอ่อน เกาฏีระ อดีตผู้นาสหภาพแรงงานอ้อมน้อย เล่าว่าตนทำงานตั้งแต่ 2497 และปี 2499 นั้นคนงานมีการชุมนุมที่บ้านมนังคศิลาจนได้ กฏหมายแรงงานขึ้นมา แต่ใช้ได้เพียงปีเดียว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กฏทำการรัฐประหาร รวมทั้งยกเลิก กฏหมายแรงงาน ส่งผลให้นายทุนเลิกจ้าง ไม่มีการขึ้นค่าแรง ได้อย่างสะดวกนอกจากยกเลิกกฏหมายแรงงานแล้ว ก็มีมาตรา 17 และกฏหมายคอมมิวนิสต์ ในการจัดการกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง

แตงอ่อน เล่าว่าตนได้มีโอกาสพบกับคุณประสิทธิ์ ไชโย ที่เข้ามาเป็นช่างในโรงงาน พบกับการกดขี่ไม่ขึ้นค่าแรงจึงอาสาเป็นตัวแทนเจรจากับนายจ้าง ซึ่งขณะนั้นตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเจรจาเพราะจากบทเรียนของตนที่ผ่านมาหากใครเสนอหน้าเจรจากับนายจ้างมักจะถูกเลิกจ้างและตั้งข้อหาต่างๆมากมาย แต่คุณประสิทธิ์ไม่กลัว โดยในปี 15 โรงงานที่ตนอยู่คนงานทำการสไตร์คเพียงแค่วันเดียวก็ได้ข้อเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ เนื่องจากคนงานทุกคนพร้อมกันออกมา

บทบาทนักศึกษาช่างกลพระราม 6 และธรรมศาสตร์

แตงอ่อน เล่าต่อว่า หลังจากนั้นประสิทธิ์ ไชโย ก็จดทะเบียนเป็นสมาคมลูกจ้าง จึงเริ่มกระบวนการจัดตั้ง และจดทะเบียนเป็นกิจการทอผ้าในลักษณะประเภทอุตสาหกรรมทำให้คนงานโรงงานอื่นสามารถร่วมกันได้มาก จนถึงปี 17 มีการหยุดงาน จากวิกฤติเศรษฐกิจโรงงานสั่งพักงานคนงานจำนวนมาก ทำให้คุณประสิทธิ์ปรึกษากับผู้นำคนงานอื่น จึงตัดสินใจ เดินขบวนจาก อ้อมน้อย ไปพระประแดง เมื่อเดือน มิ.ย. และเดินขบวนจากพระประแดงมาที่ กรมแรงงาน กทม. ส่งผลให้มีคนอื่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และคนเยอะมากจึงย้ายออกมาที่สนามหลวง มีการจัดกลุ่มดูแลความปลอดภัย มีนักศึกษาช่างกลพระราม 6 มาช่วยดูแลเป็นหน่วยฟันเฟืองให้ นักศึกษาและอาจารย์ที่นี้เห็นใจคนจน และได้ใช้ที่ธรรมศาสตร์ในการทำอาหาร

ครั้งนั้นเราเจรจา 8 วัน  7 คืน โดยมีประสิทธิ์ ไชโย และเทิดภูมิ ในดี ผู้นำกรรมกรขณะนั้นเป็นตัวแทนเจรจากับนายกฯ จึงค่าแรงขั้นต่ำ 20 บาทต่อวัน และหลังจากนั้น ม.ค.18 รัฐบาลประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำ 25 บาทต่อวัน จนกระทั้งปี 18 เรามีการชุมนุมกันมา และตอน 17 เรามาก็อาศัยนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในการหุงข้าว

จากสไตร์คถึงการชุมนุมอย่างมีการจัดตั้ง

แตงอ่อน กล่าว่ากรรมกรขณะนั้นพึ่งเริ่มต้นเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างมีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันในปี 17 แต่ก่อนมีจะเป็นเพียงการสไตร์ค จนกระทั่งปี 18 มีการจัดงานวันกรรมกร กรรมกรจึงได้พบกับขบวนการชาวนา นำโดยนายใช่ วังตระกูล ที่มาร่วมจัดงานกับนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ จะเห็นได้ว่ากรรมกร ชาวนา และนักศึกษา มีการรวมกันตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง จนปี 19 ฝ่ายนายทุนเข้มแข็งมาก มีการจัดตั้ง กอ.รมน. เข้ามาสืบข่าวความเคลือนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีการก่อตัวเป็นองค์กร 3 ประสานที่มีประสิทธิ ไชโย เป็นรองประธาน และมีเทิดภูมิ ใจดี เป็นประธานองค์กร โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเลขาธิการ

กรรมกรใช้กลไกทางกฏหมายมากกว่ากาเคลื่อนไหว

สำหรับการเคลื่อนไหวของกรรมกรในปัจจุบันนั้น แตงอ่อน มองว่า กรรมกรรุ่นใหม่เก่งขึ้น สามารถจัดตั้งเข้มแข็งได้มากกว่ารุ่นตน อย่างไรก็ตามตอนนี้มีการสู้เป็นรายบุคคล ใครโดนข้อหาอะไรก็สู้ทางในทางกฏหมายเป็นปีๆ ไม่เน่นการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็ไม่มีการจับกุมคุมขังเหมือนสมัยก่อน

จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร

ศนท.กับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ

จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลัง 14 ตุลา  16 นั้นองค์กรนำของนักศึกษามี 2 องค์กรใหญ่ คือ

1. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา และต่อเนื่องหลังจากนั้นโดย ปี 17 เลขาชื่อ คำนูณ สิทธิสมาน ปี 18 มีเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาฯ ในปีนี้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้จำนวนมาก ปี 19 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย มีเลขาฯ คือคุณสุธรรม แสงประทุม ที่ไปอยู่พรรคเพื่อไทย และตนอยู่ช่วงสุดท้ายในช่วงปี 19 เป็นรองเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ

2. สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ค่อนข้างมีความเห็นไม่ตรงกับ ศนท. ในปี 17 และมีเครือข่ายนักศึกษาเสรี ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เคลื่อนร่วมกับ กรรมกร ชาวนา ประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นปัญหาของแต่ละกลุ่ม กรรมกรมีปัญหาเรื่องค่าแรง นักศึกษาก็เข้าไปช่วย เวลาชุมนุม จะมี นักศึกษาเข้าไปในที่ชุมนุมด้วย ช่วยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ

จตุรงค์ กล่าว่า กรรมกร ชาวนา นักศึกษา 3 กลุ่ม เชื่อมกันได้ในช่วงที่ชาวนาขึ้นมาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ และชนชั้นกลางก็คิดว่าการขึ้นมาของชาวนาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในกรุงเทพ แต่ได้นักศึกษาที่ไปสร้างความเข้าใจให้กับคนเหล่านั้น อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวนารุนแรงไปจนถึงถูกสังหาร เช่น พ่ออินถา ศรีบุญเรื่อง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชิวิตปี 18 และ น้าจำรัส ม่วงยา ถูกจับไปหลัง 6 ตุลา 19 และวันที่ 21 ก.ค. 22 ก็ถูกฆ่า และมีอีกมากที่ถูกลอบสังหีร ดังนั้นการต่อสู้ของชาวนาเข้มข้น เพราะขัดกับกลุ่มนายทุนที่หนุน รัฐบาลอยู่

บทเรียน 3 ประสาน

อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทเรียน 3 ประสาน ในช่วง 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุล 19 ประกอบด้วย

1. การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไม่สามารถสู้แบบโดดเดี่ยวเฉพาะกลุ่มได้ หลัง 14 ตุลา เรียกว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ดังนั้นชนชั้นที่ถูกกดขี่คือกรรมกรชาวนา นักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งก็ถูดกดด้วย เพื่อให้เกิดพลังก็ต้องรวมพลังกันต่อสู้ เพราะลำพังการต่อสู้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะส่วนนั้น ไม่สามารถมีพลังต่อสู้ได้

2. ช่วงนั้นมีแนวรบทางวัฒนธรรม มีวงดนตรีเพื่อชีวิตจำนวนมาก บทเพลงที่ร้อง เช่น คาราวาน วงกรรมาชน ทุกมหาวัทยาลัยมีวงดนตรีเพื่อชีวิตมาช่วย ตรงนี้จะปลุกเร้าจิตใจการชุมนุมต่อสู้ ในบทเพลงสะท้อนอุดมการณ์ ปลุกเร้าจิตใจในการต่อสู้หลอมรวมจิตใจได้

3. ข้อเรียกร้องในการรณรงค์ต่อสู้แต่ละครั้งที่เกิดขึ้น หลัง 14 ตุลา ข้อเรียกร้องบางเรื่องไปในเชิงอุดมการณ์มาก ทำให้ปฏิบัติยาก ดังนั้นเวลาเคลื่อนไหวเรียกร้องโดยชูข้อเรียกร้องในเชิงอุดมการณ์มากกว่าเชิงปฏิบัติจึงทำให้หาทางลงยาก ทั้งที่สภานการณ์การต่อสู้ของเรานั้นมีความอ่อนแรงในบางช่วงได้ การลงยากก็มีผลต่อความรู้สึกพ้ายแพ้หากต้องลงในบางช่วง

บำรุง คะโยธา

บำรุง คะโยธา อดีตเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหามันไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ขณะนี้ปัญหามันซับซ้อนและรุนแรงกว่าเก่า สมัยนายกคึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 18 มีโครงการเรียกว่า “เงินผัน” ลงไปตามหมู่บ้าน แต่คนก็เอาไปลงเหล้า มายุคเจ็ดหมื่นล้านนี้ คนก็เอาไปซื้อโทรศัพท์ ดังนั้นปัญหามันซับซ้อนขึ้น คิดว่าอนาคตเราจะลำบาก

สมปอง เวียงจันทร์ 

สมปอง เวียงจันทร์ ผู้นาชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล เล่าว่ารเคลื่อนไหวของตนมีนักศึกษาลงไปสู้เคียงบ่าเคียงไหลอย่างเช่น คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และนันทโชติ ชัยรัตน์ ปี 34 คุณวนิดาก็เอาพวกตนมาเชื่อมกับพี่น้องแรงงานที่ชุมนุมหน้าทำเนียบ

ไม่อาจมีชีวิตที่ดีได้หากไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตั้งข้อสังเกตุว่าสิ่งที่ได้เห็นภาพความร่วมมือกันของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ในอดีตมีสูง แต่ปัจจุบันทั้งที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี่ แต่การเคลื่อนไหวยังลำบาก สำหรับกรรมกรในรถไฟ มีความเชื่อว่ากรรมกรไม่มีชีวิตที่ดีได้ถ้าไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ในอดีตกรรมกรรถไฟจึงมีส่วนร่วมเคลื่อไหวทางการเมืองด้วย

เหตารณ์เมื่อ 23 ก.พ. 34 ขบวนการกรรมกรถูกชนชั้นปกครองทำลาย หลังรัฐประหาร จาก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (รองหัวหน้า คณะรสช.) ออกกฏหมายการแยกคนงานรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ กรรมกร แต่กตัว อ่อนแอมาก

สาวิทย์ แก้วหวาน 

ปัญหาอุปสรรคของการเคลื่อนไหว

ปัญหาอุปสรรคของการเคลื่อนไหว สววิทย์มองว่า ด้านหนึ่ง ทัศนะชนชั้นนำยังไม่เปลี่ยน มีการพยายามทำร้าย ประชาชน ซึ่งรุนแรงและซับซ้อนขึ้น สอง โครงครอบทางวัฒนธรรม ที่ครอบผ่านทางภาษา สุภาษิต เรื่องเวรเรื่องกรรม เป็นต้น ทำหน้าที่ผลิตซ้ำความคิดของชนชั้นนำ สาม ด้านเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก

กำลังของฝ่ายเราไม่เพียงพอ

สาวิทย์ มองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้รักความเป็นธรรมนั้นยังไม่เรียบสนิทสำหรับวิธีคิดและการทำงานปัจจุบันกำลังของฝ่ายเรานั้นไม่เพียงพอ ความคิดในเชิงแยกส่วนยังมีอยู่ ไม่รวมศูนย์กัน สำหรับคนงานวันนี้งานมันกระจายไปสู่ห้องแถว ไม่มีการรวมศูนย์ ดังนั้นการรวมตัวก็เป็นไปได้ยาก เพราะรูปแบบการจ้างงานของนายทุนมีการพัฒนาไปมาก ทำให้ขบวนการแรงงานที่ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ

ความเป็นปัจเจคบุคลภายใต้ความคิดเสรีนิยมใหม่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ

ทัศนความคิดทางการเมืองของกรรมกรปัจจุบันยังไม่ลงรากลึกไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราจะหาอุมกการณ์ร่วมกันอย่างไร คิดว่าความเป็นปัจเจคบุคลภายใต้ความคิดเสรีนิยมใหม่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ความคิดเราเห็นแต่ปัญหา เล็กๆ ความคิดอิสระรุกเข้าไปถึงจิตวิญญาณ วันนี้เราถูกกระทำโดยไม่รู้ตัวและส่งออกด้วยทัศนะและการกระทำที่ม่าสนใจส่วนรวมมากนัก

สาวิทย์ มองว่าในอดีตอาจมีการต่อสู้ทางการเมืองที่ดีเนื่องจากมีลักษณะรวมศูนย์ และชนชั้นปกครองก็ชัดว่าเป็นเผด็จการ แต่ปัจจุบันมันกระจายออกจากศูนย์กลาง มีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การกดทับทับที่สบับซับซ้อน ในแง่การเปลี่ยนแปลงนั้นจึงย่งยาก

สาวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เรายังขาดการคุยกันแบบรวมศูนย์ระหว่าง กรรมกร ชาวนา นักศึกษา และดังนั้นวันนี้เราต้องสร้างกองกำลังของภาคประชาชนขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปล้มล้างรัฐบาล อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลไม่ดีก็เป็นไปได้ที่จะชาชนจะถอดถอนเพราะสิทธิ

 

ความคิดแบบปัจเจคนิยม เป็นศูนย์กลางจักรวาลของนักศึกษาเสรีนิยมใหม่

นวพล อินทรสุวรรณ กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเรื่อง 3 ประสานนั้นมีความจำเป็นที่ต้องสอดรับอยู่ เนื่องจากมันไม่ได้ง่ายเลยที่คนที่อยู่ในยุคเสรีนิยมใหม่ เพราะปัจจุบันนักศึกษาทุกคนลึกๆแล้วคิดว่าตนเองเป็นศุนย์กลางของจักรวาล

“จริงๆแล้วพลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน แต่ว่ามันไปอยู่ตรงไหนต่างหาก” นวพล กล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่าเราจะเห็นภาพที่เชียร์หรีดเดอร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะต่างๆ สามารถซ้อมได้ถึงตี 1 ตี 2 พลังของนักศึกษาได้กระจายไปตามแผนกของตนเอง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ภายใต้รูปแบบของการเอาตัวรอดตรงนี้ ศตรูของเราคืออะไรกันแน่ ในขณะที่อำนาจรัฐเริ่มลดลง แต่ความเป็นปัจเจคบุคคล เสรีนิยมเริ่มมีอำนาจมากขึ้น นักศึกษาถูกทำให้เห็นภาพว่าตนเองมีความเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทั้งๆที่ไม่จริงเลย

พลังของนักศึกษาอยู่ที่การออกไปร่วมชุมนุม?

ลักษณะของการเชื่อม 3 ประสาน นวพล มองว่า จริงๆแล้วมีอยู่บ้าง แต่เบาบาง เนื่อจากมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่าพลังนักศึกษาต้องไปแสดงออกด้วยการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งภาวะการณ์ของนักศึกษาอย่างนี้ คิดว่า เราต่างหากที่ควรจะปรับให้มีความสอดคล้องต้องกันกัน เช่นการนำเสนอเชิงโครงสร้าง หากทำให้นักศึกษามีความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วออกมาสัมผัสปัญหา เห็นอกเห็นใจกันบ้าง คิดว่าถ้าพลังนี้เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย ไปองค์กรเอกชนนั้นก็จะมีความเห็นอกเห็นใจให้ความเป็นธรรมกับคนงานและสังคมบ้าง

อย่างไรก็ตามนักศึกษาก็มีภาพที่มองว่ากรรมกร ชาวนา ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่รวมตัวอยู่ ทั้งที่พนักงานออฟฟิสที่จบจากมหาวิทยาลัยก็เป็นแรงงานเหมือนกัน แต่กลับไม่เห็นอกเห็นใจคนงานอื่น ซึ่งจริงๆแล้วนักศึกษาเองก็มีปัญหาในตัวเอง เป็นความขัดแย้งเชิงจิตใจและจิตวิญญาณ เหมือนตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก แต่ความเป็นจริงแล้วว่างเปล่า ทุกอย่างเป็นเพื่อถมให้จิตใจให้ตัวเองให้เต็ม ซึ่งตนไม่รู้ว่านักศึกษารุ่นอื่นเป็นหรือไม่ แต่รุ่นนี้การถมจิตใจตัวเองก็เพื่อความเพลิดเพลิน แต่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราที่เคลื่อนไหวนั้นคือจะทำอย่างมีโอกาสค่อยๆเชื่อมต่อตรงนั้นมาสู่ปัญหาสังคมได้ เพราะในคามเป็นจริงแล้วนักศึกษาเหล่านั้นก็เป็นผู้ถูกกดขี่ในสังคมเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท