Skip to main content
sharethis
เครือข่ายติดตามผลกระทบฯ ชี้การไม่ให้ความเห็นชอบของ คชก.เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและความมั่นคงทางอาหาร-พลังงานของประเทศ ด้านฝ่ายหนุนให้เหตุผลต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเพราะประเทศต้องมีการพัฒนา
 
 
ที่มาภาพ: Greenpeace Southeast Asia (THAILAND)
 
วันนี้ (17 ต.ค.56) ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านกว่าร้อยคนจากจังหวัดฉะเชิงเทราเดินทางเข้านำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือดับเบิ้ลเอ เพื่อยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ได้
 
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยนำเสนอข้อมูลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่ทำโดยชุมชนต่อคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA จนส่งผลให้การพิจารณา EHIA ในรอบแรก เมื่อเดือน ก.ค.55 ไม่ผ่านความเห็นชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ได้ส่ง EHIA รอบที่ 2 เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาในวันนี้ พร้อมประกาศผ่านสื่อมวลชนอย่างมั่นใจว่าโครงการจะได้รับการอนุมัติ
 
ทั้งนี้ ช่วงเย็นวันนี้ เฟซบุ๊กเพจ Greenpeace Southeast Asia (THAILAND) รายงานผลการพิจารณา EHIA โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ว่า คชก.ไม่อนุมัติ EHIA ดังกล่าว
 
 
 
ที่มาภาพ: Greenpeace Southeast Asia (THAILAND)
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านนัดหมายกันเวลา 10.30 น.ต่อมามีการจัดกิจกรรมหน้า สผ.โดยมีการยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้คัดค้าน EHIA โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนที่มีการรวบรวมรายชื่อในแคมเปญรณรงค์ “หยุด EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ปกป้องพื้นที่อาหารอันอุดมสมบูรณ์” ผ่านเว็บไซต์ Change.org ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา กว่า 6,000 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA ก่อนการประชุมพิจารณาจะมีขึ้น
 
จดหมายถึงประธานและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ Change.org  มีรายละเอียดดังนี้
 
 
ถึง: คุณรวีวรรณ ภูริเดช, รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
ประธานและคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
 
เราทุกคนที่ได้ร่วมลงชื่อครั้งนี้ขอยืนยันว่าลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นพื้นที่อาหารอันอุดมสมบูรณ์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ได้ เราขอเรียกร้องให้ท่านและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

1. ลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นพื้นที่ผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ เลี้ยงปากท้องคนทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตข้าวและผักอินทรีย์หลากหลายที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เป็นแหล่งผลิตมะม่วงของดีเมืองแปดริ้วที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เป็นแหล่งผลิตเห็ดฟางโดยเฉพาะเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกและเป็นอันดับสองของประเทศ พื้นที่นี้จึงมีความอ่อนไหวต่อมลพิษที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
 
2. น้ำในคลองท่าลาดเป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวฉะเชิงเทราและชาวลุ่มน้ำบางปะกง ถูกใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาจ่ายให้คนส่วนใหญ่ใน จ.ฉะเชิงเทรา และบางส่วนใน จ.ชลบุรี และจัดสรรสู่พื้นที่ชลประทานกว่า 300,000 ไร่ เพื่อการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ และเป็นต้นน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันประสบปัญหาทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหินนี้จะยิ่งซ้ำเติมทำให้ปัญหาที่มีอยู่สาหัสเพิ่มขึ้นอีก 

3. ไม่มีถ่านหินใดเป็นถ่านหินสะอาด แม้เทคโนโลยีจะสามารถลดปริมาณซัลเฟอร์ได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อน ปรอท และโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ตลอดจนสารอินทรีย์อันตราย ซึ่งสารเหล่านี้จะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จะมีการสะสมจนเป็นอันตรายต่อคนได้ นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบอีกมากมายจากการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน และเถ้าที่เหลือจากการเผาถ่านหิน 
 
4. ปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ และเรายังมีทางเลือกในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะไปทำลายแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ไม่มากนัก
 
ด้วยความเคารพ 
 เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
 
 
นอกจากนี้ เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนยังมีการอ่านแถลงการณ์ “ถ่านหินคือมายา ข้าวปลาสิของจริง ยกเลิก EHIA ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำไทยจากถ่านหินสกปรกของบริษัทดับเบิลเอ” โดยระบุว่า การใช้อำนาจของ คชก.ในการ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” รายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญสูงสุดเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพราะต้องการยืนยันอีกครั้งว่า "โรงไฟฟ้าถ่านหินคือมายา ข้าวปลาสิของจริง" และไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินใดในโลกนี้ที่รับประกันว่าแหล่งอาหารของคนไทยแห่งนี้จะไม่ถูกคุกคาม
 
แถลงการณ์ให้ข้อมูลว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเชื่อมต่อโดยตรงกับลุ่มน้ำคลองท่าลาด แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำบางปะกงที่หล่อเลี้ยงผู้คนกว่าครึ่งล้าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาแหล่งใหญ่และหัวใจของระบบชลประทานของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมตามลำน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงน้ำที่เป็นวิกฤตเรื้อรังของประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและภาคตะวันออกทวีคุณเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของน้ำเสียที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักในพื้นที่จนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้
 
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้มิเพียงแต่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่รอบโครงการในรัศมี 10 กิโลเมตร ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA แต่ผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรนี้และการปนเปื้อนของสารพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารปรอทในน้ำ ดิน อาหารและการสะสมในร่างกายของประชาชนผ่านระบบห่วงโซ่อาหารและรับโดยตรงสู่ร่างกายคือหายนะของสังคมไทยที่จะมาเยือนหาก คชก.อนุมัติรายงาน EHIA ฉบับแก้ไขนี้
 
อีกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ประมาณ 2-3 เท่า มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่รวมพลังงาน จากแสงอาทิตย์ถึง 4,734 เมกะวัตต์
 
ด้านเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า ในวันเดียวกันนี้มีชาวบ้านตำบลเขาหินซ้อนจำนวนกว่า 300 คน จากหลายภาคส่วนประกอบไปด้วย อบต.เขาหินซ้อน เครือข่ายภาคประชาชนด้านการมีส่วนร่วมฯ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และเทศบาลตำบลเขาหินซ้อน เดินทางมายัง สผ.เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนในพื้นที่ โดยมีนายนพดล ธิยะใจ รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือและดอกไม้ให้กำลังใจ
 
นายธีรวัฒน์ ศรีวิกาญจน์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาหินซ้อน กล่าวถึงกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ไม่ทราบจุดประสงค์ที่แน่ชัดของกลุ่มผู้คัดค้าน แต่ตนเองเป็นคนในพื้นที่ และได้รับรู้รวมและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของโครงการฯ มาโดยตลอด เพราะทางโครงการฯ ได้มีการชี้แจงข้อมูลกับชาวบ้าน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ จึงขอความกรุณากลุ่มผู้คัดค้านช่วยหยุดการชักจูงให้เกิดความหวั่นวิตกหรือสร้างอิทธิพลกดดันต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่ และการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐผู้พิจารณาโครงการฯในครั้งนี้
 
“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพราะประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นทุกวัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม หากไฟฟ้าไม่พอใช้จะเกิดความเดือนร้อนแก่ทุกท่านในประเทศ รวมไปถึงคนที่มาคัดค้านด้วยเช่นกัน หากจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านและทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่าจะมีวิธีการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม และทางโครงการฯควรมั่นรับฟังและดูแลชุมชนที่อยู่รอบๆอย่างใกล้ชิด หากทางโครงการฯสามารถทำแบบนี้ได้ ชาวบ้านอย่างเราก็ยอมรับได้” นายธีรวัฒน์ กล่าว
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net