รัฐไทย:รัฐศาสนาหรือรัฐฆราวาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ได้อ่านบทความ "กรณีสังฆราชสิ้นพระชนม์ และรัฐศาสนาอำพราง?" ของคุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ของกลุ่ม พุทธศาสน์ของราษฎรแล้วรู้สึกซาบซึ้งเป็นพระคุณยิ่งเพราะได้รับทราบข้อมูลใหม่มากมายเกี่ยวกับการเมืองภายในคณะสงฆ์และมีความเห็นด้วยในหลายประเด็น ของบทความแต่อย่างไรก็ตามในประเด็นตอนท้าย ผู้เขียนกลับมีความคิดเห็นไม่เหมือนกับคุณภิญญพันธุ์ อยู่ 2 ประการ ดังต่อไปนี้

1.คุณภิญญพันธุ์เขียนถึงประโยคหนึ่งว่าสังคมไทยเป็น "สังคมที่คนนับถือพุทธศาสนาน้อยลงทุกที"  สำหรับตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นการเขียนอ้างโดยลอยๆ ไม่ได้มีหลักฐานในการยืนยัน (1) อาจจะจริงที่ว่าเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่กล้าประกาศว่าตัวเองในโลกไซเบอร์ว่าเป็นคนไร้ศาสนา  สำหรับผู้เขียนเองซึ่งกล้าประกาศตนเองว่าเป็นคนไร้ศาสนา (อย่างน้อยก็กับคนรอบข้างๆ) ก็ยังเห็นว่าสัดส่วนในการประกาศตัวเช่นนี้ของคนไทยยังน้อยมากและอยู่ในพื้นที่จำกัดเช่นมักอยู่ในโลกไซเบอร์และอยู่ในเว็บไซต์ที่ไม่หัวอนุรักษ์นิยมเกินไปนัก  ถึงแม้สังคมไทยจะไม่อนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้วเหมือนตะวันออกกลางที่ผู้ประกาศตนว่าไม่นับถือศาสนาอะไรหรือล้อเลียนศาสนาต้องถูกลงโทษทางกฏหมายอย่างรุนแรง แต่สังคมไทยก็ไม่อิสระในด้านการแสดงตนเช่นนี้เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสหรัฐฯ หรือยุโรปหลายประเทศซึ่งทำให้มีการสำรวจและแสดงจำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาได้อย่างสะดวก (อันนี้หาดูได้ในเว็บไซต์ทั่วไปแม้แต่วิกีพีเดีย)  ยิ่งรัฐไทยพยายามโยงศาสนาเข้ากับสถาบันสำคัญดังเช่นวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ยิ่งทำให้ศาสนาดูทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่ประกาศตนว่าไม่มีศาสนาก็ยิ่งเหมือนยักษ์เหมือนมารเช่นเดียวกับพวกคอมมิวนิสต์ แม้ว่าจะไม่มีกฏหมายแต่ก็มีกฏสังคมที่มีพลังในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนเช่นการดูถูกเหยียดหยามหรือการประนาม เราจึงไม่ทราบว่ามีผู้เลิกนับถือศาสนาพุทธที่ไม่ประกาศตัวเองเป็นจำนวนเท่าไร มีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่

ส่วนพฤติกรรมหรือความคิดของคนจำนวนมหาศาลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านว่าพุทธแต่กลับเป็น "อพุทธ"(un-Buddhistic) เช่นมีพฤติกรรมผิดศีล คดโกง ฉ้อราษฎรบังหลวง นอกใจคู่สมรสฯลฯ  อันเป็นเหตุให้เรามองว่าชาวพุทธลดจำนวนลง แต่ในความจริงคนเหล่านั้นก็ยังเข้าร่วมพิธีกรรมทางพุทธ (ผสมกับพราหมณ์และไสยศาสตร์)อยู่เนืองๆ  นอกจากนี้การที่ผู้มีอำนาจหลายท่านประกาศตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนหรือใกล้ชิดกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเองไปพร้อมๆ กับอำพรางความชั่วของตนนั้นเอง ผู้เขียนเคยเห็นภาพของผู้บริหารหน่วยงานหนึ่งซึ่งเป็นเอกทัตคะในด้านโกงกิน ฉ้อราษฎรบังหลวงนั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่ข้างๆ พระชื่อดังรูปหนึ่งเพื่อถ่ายรูปในการออกสื่อ ดูมลังเมลืองเป็นยิ่งนัก

ใยไม่นับคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมหรือปฏิบัติตามหลักคำสอนเท่าใดนักแต่ก็หวังใช้พิธีกรรมและหลักคำสอนของพุทธทางด้านจิตวิทยาจากหนังสือของพระชื่อดัง (แทนที่จะเป็นพระไตรปีฏก) เพื่อปลอบใจตัวเองในหลายครั้งที่ต้องพบกับปัญหาชีวิตหรือการพลัดพรากจากคนที่รักซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้คิดจะประกาศตนว่าไม่ได้นับถือพุทธแต่ประการใด แต่น่าจะจัดว่าคนเหล่านั้นเป็นพุทธแบบเฉพาะกิจ (Occasional Buddhists)  หรือพฤติกรรมของชาวพุทธแบบเปลือก(2)  มากกว่าจะนิยามว่าเป็นคนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

2.คุณภิญญพันธุ์ยังกล่าวว่า "รัฐไทยอาจเป็นรัฐศาสนาอำพรางที่แฝงตัวอยู่" ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยเพราะจริงๆ แล้วรัฐไทยคือรัฐแห่งการผสมผสานอย่างสับสนมั่วซั่วระหว่างรัฐฆราวาสและรัฐศาสนา(ใช้ภาษาอังกฤษคือ confusing hybrid) อย่างเปิดเผยมานานแล้ว เป็นความจริงที่ว่าเราไม่ได้ใช้กฏหมายของศาสนามาเป็นกฏหมายหรือองค์กรทางสงฆ์ไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองชัดเจนเหมือนประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศ  แต่เราก็ได้ถูกศาสนาพุทธเข้ามามีอิทธิเหนือความคิดและวิถีชีวิตอย่างมากมายมหาศาล อันเป็นการเสริมสร้างอำนาจของรัฐผ่านศาสนาและองค์กรสงฆ์ นับตั้งแต่เราเกิด (ก็ถูกแจ้งในทะเบียนบ้านว่านับถือพุทธไปแล้ว)  จนไปเข้าเรียนที่โรงเรียนซึ่งบังคับให้นักเรียนต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิ ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ  (ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่งเพราะถ้าเราบอกกับครูว่าเราจะไม่นั่งสวดมนต์หรือเรียนวิชาเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพราะเราไม่ศรัทธาในศาสนาพุทธ เราก็จะถูกครูลงโทษ) ส่วนผู้ชายไทยซึ่งมีอายุมากหน่อยก็มักจะถูกถามว่าเคยบวชแล้วหรือยัง (ซึ่งคนถามบางทีก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าคนที่บวชแล้วจะดีกว่าคนยังไม่ได้บวชหรือไม่ แต่มักจะมีความเชื่อเรื่องบารมีหรือบุญตอบแทนพ่อแม่มาอธิบายแทน)

ในวันพระหรือวันหยุดทางศาสนาก็จะมีคนถามว่าเราไปทำบุญหรือยัง ถ้าตอบแบบขวานผ่าซากว่าไม่เคยทำบุญหรือไม่เคยคิดไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นอันขาดก็จะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ (อันนี้ผู้เขียนโดนเข้ากับตัวเอง) เช่นเดียวกับรายการโทรทัศน์ที่เวลาผู้ดำเนินรายการเสนอข่าวเกี่ยวกับโพลที่สำรวจการทำบุญที่วัด สังเกตให้ดีหากมีจำนวนคนตอบว่าไม่ทำบุญที่วัดมีมาก ผู้ดำเนินรายการก็มักทำสีหน้าและน้ำเสียงไม่สู้จะสบายใจนักราวกับจะมองว่าการทำบุญหรือการทำสมาธิที่วัดคือศีลธรรมขั้นสูงสุด   หรือแม้แต่ตอนท้ายสุดของชีวิตมนุษย์  ผู้เขียนคิดว่าคงมีคนจำนวนมากที่นึกไม่ออกถึงภาพการฝังศพที่ผู้ตายถูกระบุว่าเป็นชาวพุทธจะไม่มีเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาพุทธมาเกี่ยวเป็นอย่างไร  เช่นเอาไปฝังหรือเผาและมีการกล่าวไว้อาลัยเฉยๆ  ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะแยกย้ายกันไป

นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังว่าพระเป็นบุคคลที่เราต้องพินอบพิเทา ให้ความเคารพ การด่าว่าพระจะต้องเป็นบาป ตกนรก   ฆราวาสผู้หยาบช้าต้องปรนนิบัติรับใช้พระผู้ประเสริฐทุกอย่าง ทั้งที่ความจริงแล้วพระก็เป็นบุคคลหนึ่งไม่ควรถูกอุปโลกน์ให้เป็นอีกชนชั้นหนึ่งตามความคิดแบบศักดินา เพราะตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย พระก็มีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับฆราวาสทั้งหลาย ที่แตกต่างก็เพียงเพราะเป็นนักบวชในศาสนาหนึ่งเท่านั้นที่พยายามผูกขาดวาทกรรมความดีไว้กับตัวเอง  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีพระจำนวนมากที่มีพฤติกรรมชั่วช้าก็ถูกสังคมก่นด่าประนาม แต่ก็คงมีชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่งนอกจากในสังคมโลกไซเบอร์ที่ยังคงคาดหวังต่อพระดีๆ อยู่และยังคงยึดมั่นในแนวคิด "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" อยู่มาก โดยไม่เข้าใจว่าพระก็เป็นบุคคลสาธารณะที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผู้เขียนคิดว่าชาวพุทธแบบสลิ่ม (passive) เช่นนี้น่าจะมีเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าก็จะเกิดปรากฏการณ์พระเซเลปเจ้าของวลี "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน"  พระใส่แว่นตาดำนั่งเครื่องบินเจตต์ อดีตพระที่เขียนหนังสือออกมาสารภาพว่าตัวเองเสียความบริสุทธิ์ตอนอายุ 60 กว่า ฯลฯ ออกมาเรื่อยๆ ในอนาคต   

ที่สำคัญที่สุด รัฐไทยได้ผูกอัตลักษณ์ของความเป็นคนไทย หรือความเป็นคนดี ไว้กับศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งพิธีกรรมของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนที่ขาดไม่ได้  รัฐไทยยังกำหนดให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันหยุดและจัดให้มีการถ่ายทอดสดพิธีกรรมทางพุทธในโทรทัศน์ทุกช่อง ทำให้คนหันไปดูเคเบิลทีวีกันเป็นทิวแถว ที่น่าเศร้าคือพิธีกรรมพุทธที่เราศรัทธา (และภูมิใจเพราะมักโยงเข้ากับลัทธิชาตินิยม) มักมาร่วมกับพราหมณ์และไสยศาสตร์ได้อย่างเนียนๆ บนความเชื่อที่ว่าทั้ง 2 ลัทธินี้จะต้องอยู่เชื่อง ๆอยู่ภายใต้อำนาจของวาทกรรมพุทธเหมือนตัว Minions ในเรื่อง Despicable Me  โดยหารู้ความจริงไม่ว่าชาวพุทธจำนวนมากแม้แต่ชนชั้นสูงยังแยกไม่ออกระหว่างพุทธ พราหมณ์ หรือไสยศาสตร์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ผู้เขียนคิดว่าเรากลายเป็นรัฐพุทธแบบจำลอง  (Virtual Buddhist state) มากกว่าจะเป็นรัฐศาสนาแบบแฝงตัว สาเหตุสำคัญเพราะะชาวไทยจำนวนมากก็แยกไม่ออกระหว่างคำว่ารัฐฆราวาสกับรัฐศาสนา และไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าหรือความสำคัญของความเป็นรัฐฆราวาส (secular state)  ดังเช่นตอนเที่ยงวันหนึ่งก่อนจะอ่านบทความของคุณภิญญพันธุ์  ผู้เขียนออกไปทานข้าวกับเพื่อนร่วมงาน ได้แลเห็นเสาธงของที่ทำงานลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแก่การสิ้นพระชนม์ของพระสังฆราช ผู้เขียนได้บ่นว่าไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะเป็นการเอาศาสนามาปนกับเรื่องของรัฐ  หากสถาบันศึกษาหรือองค์กรใดๆ เป็นของศาสนาอื่น จำเป็นต้องลดธงลงหรือไม่ เพื่อนของผู้เขียนทำหน้าเหมือนไม่เข้าใจ ผู้เขียนมาคิดว่าตอนที่มีการต่อสู้รณรงค์ให้ศาสนาพุทธถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญในฐานะศาสนาประจำชาติ (3) เมื่อหลายปีก่อน หากรัฐจัดให้มีการลงประชามติอย่างเป็นทางการจริงๆ อย่างที่ชาวพุทธหัวเคร่งศาสนาหลายกลุ่มเรียกร้องก็คงจะผ่านฉลุยโดยหารู้ไม่ว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเช่นการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของคนไทยจะถูกลดทอนลงอย่างมหาศาลอย่างไร

ดังนั้นรัฐไทยจึงสามารถกำหนดวาทกรรมพุทธให้เหนือชีวิตของคนไทยมักน้อยแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้อง      อำพรางทั้งสิ้น   ยิ่งผูกเข้ากับสถาบันเบื้องสูงก็จะ unlimited เข้าไปอีกแม้ว่าจะกระทบกับชีวิตแบบสุขนิยมของคนไทยก็ตามเช่นให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลหรือปิดสถาบันบันเทิงและอาบอบนวดในวันสำคัญทางศาสนา (4)ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับนักเขียนในประชาไทหลายคนที่เคยออกมาโวยวายว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ

ผู้เขียนนอกจากจะแย้งความคิดของบทความดังกล่าวแล้วยังใคร่อยากจะตั้งคำถามเหมือนกับนักเขียนหลายท่านในประชาไท ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องลดความเป็นพุทธหรือ De-Buddhistize สังคมไทยให้เป็นรัฐฆราวาสและตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล กับคุณค่าของประชาธิปไตยเช่นเคารพสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายของปัจเจกชนอย่างแท้จริงมากกว่าความเชื่อที่ผสมผสมกันระหว่างพุทธ พราหมณ์ ไสยศาสตร์ ศักดินา ทุนนิยม อำนาจนิยมอย่างที่รัฐไทยพุทธกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

เชิงอรรถ
(1) ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าในหลายประโยคนี้ไม่มีการอ้างอิงแต่เป็นการกล่าวลอยๆ เช่นกัน ด้วยมาจากความรู้สึกและมุมมองของผู้เขียนเอง  ดังนั้นผู้อ่านบทความนี้ซึ่งหลายท่านมีความรู้มากกว่าผู้เขียนก็คงสามารถใช้วิจารณาแยกแยะได้เอง
(2) นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้แยกแยะระดับของศาสนิกชนออกเป็น 3 ระดับคือ 1.ผู้เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา   2.ผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอน    3.ผู้ที่ยึดติดแต่ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งในข้อ 3 นี้เองที่ท่านถือว่าเป็นแบบเปลือก ส่วนคนที่รอแต่จะใช้หลักคำสอนของพุทธมาใช้เฉพาะบางเวลา ผู้เขียนก็อยากจะจัดไว้ในข้อ 3 ในระดับปริ่มๆ เกือบถึงระดับ 2
(3) ผู้เขียนเคยลักไก่ถามนิสิตในห้องเรียนว่า ศาสนาประจำชาติของไทยคือศาสนาอะไร ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม (น่าจะเกิน 70%) ว่า "ศาสนาพุทธ"!
(4) ในวันสำคัญทางศาสนา (หรือวันสำคัญอื่นๆ) แม้รัฐจะประกาศไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้เขียนคิดว่าผู้ที่เสียผลประโยชน์ไปคือร้านสะดวกซื้ออย่างเช่นเซเว่น อีเลฟเว่นนั้นเอง เพราะคนไทยสามารถแอบไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างอิสระในร้านโชว์ห่วยหรือแม้แต่ผับ สถานบันเทิงแถวบ้านที่มีเงินจ่ายให้กับตำรวจ  ผู้เขียนเคยไป ทานอาหารนอกบ้านที่ร้านหมูจุ่มแห่งหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา  เจ้าของบอกกับผู้เขียนว่าถ้าจะดื่มเบียร์ก็ให้จ่ายเงินทันที และถ้าตำรวจมาตรวจก็ให้บอกว่าเอามาจากบ้าน ซึ่งคนหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายฉ้อฉล และบาป สำหรับผู้เขียนคิดว่าหาหากมองอีกมุมหนึ่งสิ่งนี้เป็นการขบถของปัจเจกชนต่อกฏเกณฑ์ที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐซึ่งก็ไม่ได้นิสัยดีอะไร ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลา กดขี่ข่มเห่งเอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่เป็นนิจจะต้องห้ามในเรื่องที่ไร้สาระเช่นนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท