วอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์ 14 ชั่วโมง 'สโนว์เดน' เผย "ภารกิจของผมสำเร็จลุล่วงแล้ว"

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุด เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมสหรัฐฯ บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสำหรับเขาแล้วถือเป็นความสำเร็จ รวมถึงมีการนำเสนอบริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้นหลังการเผยแพร่ข้อมูล ที่ส่งผลสะเทือนให้มีการถกเถียงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลอินเทอร์เน็ต

24 ธ.ค. 2556 สำนักข่าววอชิงตันโพสต์นำเสนอบทสัมภาษณ์ล่าสุดของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ผู้ทำการเปิดโปงโครงการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) และหน่วยงานข่าวกรองที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการเผยแพร่เอกสารลับออกสู่สาธารณชนผ่านสื่อเช่น วอชิงตันโพสต์ เดอะการ์เดียน และสปีเกล ตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดการถกเถียงกันเรื่องจุดที่เหมาะสมระหว่างสิทธิความเป็นส่วนตัวกับเรื่องความมั่นคง

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า นับตั้งแต่มีการเปิดโปงในเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา สื่อหลายแห่งก็เริ่มให้ความสนใจและมีการเปิดเผยข้อมูลต่อเนื่องมาเรื่อยๆ อีกหลายครั้ง จนรัฐสภาสหรัฐฯ ถูกกดดันให้ออกมาอธิบายในเรื่องนี้ มีหลักฐานของคดีเก่าถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ รัฐบาลโอบามาก็โดนบีบให้เปิดเผยข้อมูลเอกสารลับที่พยายามปกปิดเป็นความลับมาตลอด และการเผยแพร่เอกสารลับยังเป็นการตีแผ่ในเรื่องระบบการสอดแนมทั่วโลกหลังยุค 9/11

ในการสัมภาษณ์สโนว์เดนกล่าวถึงเรื่องส่วนตัวเพียงเล็กน้อย คือด้านการงานด้านหน่วยข่าวกรองในอดีตของเขาและเรื่องชีวิตปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในรัสเซียเป็นเวลา 1 ปี เขาพยายามวกกลับมาพูดเรื่องการสอดแนม ประชาธิปไตย และสิ่งที่อยู่ในเอกสารที่เขาเปิดโปงมากกว่า โดยยังบอกอีกว่านับตั้งแต่ 6 เดือนที่ผ่านมา เขาถือว่าภารกิจของเขาสำเร็จลุล่วงแล้ว

"สำหรับตัวผมเองในแง่ความพึงพอใจส่วนตัว ผมถือว่าภารกิจของผมสำเร็จลุล่วงแล้ว" สโนว์เดนกล่าวในการให้สัมภาษณ์ล่าสุด "ผมชนะมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว นับตั้งแต่ที่นักข่าวสามารถทำงานได้ ทุกอย่างที่ผมพยายามทำมาถูกสานต่อจนสมบูรณ์ เพราะถ้าหากพวกคุณจำได้ ผมเคยบอกว่าผมไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ผมต้องการให้โอกาสสังคมในการตัดสินกันเองว่าควรจะเปลี่ยนหรือไม่"

"ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมต้องการคือการให้สาธารณชนมีโอกาสเสนอว่าพวกเขาอยากได้รับการปกครองอย่างไร" สโนว์เดนกล่าว "นั่นเป็นหลักไมล์สำคัญที่เราผ่านมานานแล้ว ในตอนนี้สิ่งที่พวกเราทุกคนกำลังมองหาคือเป้าหมายที่ถูกขยายออกไป"

สโนว์เดนซึ่งเป็นคนมีวิธีคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมองว่าการสอดแนมหมู่แบบครอบคลุมซึ่งเป็นอันตรายเริ่มถูกตรวจสอบน้อยลงเรื่อยๆ เขาบอกว่าการควบคุมดูแลโดยรัฐสภาสหรัฐฯ และศาลสืบราชการลับโดยไม่มีการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทำให้ฝ่ายตรวจสอบถูกชักใยโดยองค์กรที่พวกเขาต้องการตรวจสอบได้ และการทำให้เป็นความลับก็ปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงสำหรับสาธารณชน

ผู้ที่พยายามทำลายกำแพงการปิดกั้นนี้ได้ก็จะกลายเป็นการรุกล้ำต่อบรรทัดฐานขององค์กรภายในเหล่านั้น คนผู้นั้นจะต้องผ่านระบบความปลอดภัย นำสิ่งที่เป็นความลับออกมา และต้องติดต่อกับนักข่าวโดยไม่ให้ถูกจับได้ เพื่อมอบสิ่งที่เป็นหลักฐานในการรายงานข่าวเรื่องเหล่านี้

"การมีอำนาจเหนือกว่าด้วยข้อมูล"

สโนว์เดนบอกว่า การกระทำของ NSA เป็น "การมีอำนาจเหนือกว่าด้วยข้อมูล" ซึ่งพวกเขาสามารถใช้ความลับของประชาชนคนอื่นในการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ไปในทางที่พวกเขาต้องการได้

ขณะเดียวกัน สโนว์เดนก็รู้สึกว่าหากเขาเปิดโปงเรื่องการสอดแนม เขาก็ไม่รู้ว่าสาธารณชนจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ แต่หลังจากลองชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบระหว่างการทำกับการไม่ทำแล้ว เขาก็ตัดสินใจออกมาเปิดโปงในที่สุด เพราะอย่างน้อยข้อมูลของเขาจะได้รับการวิเคราะห์และตัดสินเอง

"แต่เมื่อคุณชั่งน้ำหนักกับอีกทางเลือกหนึ่งคือการไม่ทำแล้ว คุณก็ตระหนักว่า การวิเคราะห์บ้างย่อมดีกว่าการที่ไม่วิเคราะห์เลย เพราะแม้ว่าการวิเคราะห์ของคุณเองอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องผิด แต่ตลาดทางความคิดจะเป็นคนยืนยันในเรื่องนี้เอง ถ้าหากคุณมองมันในมุมแบบวิศวกร มุมมองจากการทำซ้ำ (iterative*) ก็เห็นได้ชัดว่าคุณควรจะลองทำบางอย่างแทนที่จะไม่ทำอะไร"

การกระทำของสโนว์เดนถือว่าประสบความสำเร็จกว่าที่เขาคาดเอาไว้ ฝ่าย NSA ซึ่งเคยชินกับการเป็นผู้เฝ้ามองคนอื่นอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบก็ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งยังส่งผลตกทอดต่อไปยังรัฐสภาสหรัฐฯ ศาลสหรัฐฯ วัฒนธรรมร่วมสมัย เหล่าบริษัทไอทีแห่งซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึงเหล่าผู้นำโลก แม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตเองก็ถูกตั้งคำถาม โดยในช่วงปีที่ผ่านมานี้ บราซิลและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาดำเนินมาตรการทำให้ข้อมูลของตนปลอดภัยจากการสอดแนมของสหรัฐฯ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ก็พยายามต่อต้านการเก็บข้อมูลจากรัฐบาล

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโอบามากล่าวโจมตีสโนว์เดนมาโดยตลอดทั้งในแง่แรงจูงใจและกล่าวหาว่ามีการบิดเบือนและตีความข้อมูลของ NSA ผิดไปเนื่องจากยกมานำเสนอเพียงบางส่วน แต่อย่างไรก็ตามการเปิดโปงเรื่องการสอดแนมก็ทำให้คดีความของแลร์รี่ เคลย์แมน นักกิจกรรมอนุรักษนิยมที่ฟ้องร้องเรื่องรัฐบาลเก็บข้อมูลโทรศัพท์ของเขาปิดคดีลงได้โดยผู้พิพากษาศาลแขวง ริชาร์ด เจ ลีออน ตัดสินว่าการดักฟังโทรศัพท์ถือว่าผิดหลักการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวต่อการค้นโดยไม่มีเหตุผลในบทแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ผู้พิพากษากล่าวอีกว่า ลักษณะการเก็บข้อมูลโทรศัพท์ของผู้อาศัยในสหรัฐฯ ทีละมากๆ มีลักษณะ "แทบจะเหมือนกับนิยายของจอร์จ ออร์เวล" (almost Orwellian) ซึ่งสื่อถึงนิยายเรื่อง 1984 ที่มีการสอดแนมและบิดเบือนข้อมูลจากฝ่ายรัฐ

การทักท้วงจากบริษัทโทรศัพท์และบริษัทไอทีว่าการสอดแนมของ NSA เป็นภัยต่อเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารของสหรัฐฯ ทำให้ไม่กี่วันต่อมาโอบามาได้แต่งตั้งคณะกรรมการให้คำปรึกษาเพื่อเสนอแนวทางจำกัดอำนาจของ NSA รวมถึงยกเลิกโครงการดักฟังโทรศัพท์ภายในประเทศ

"ผมไม่ได้ต้องการทำลาย NSA ผมกำลังทำงานเพื่อพัฒนา NSA"

สโนว์เดนถูกฟ้องร้องในข้อหาจารกรรมและขโมยทรัพย์สินราชการในวันที่ 22 มิ.ย. 2556 มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ กล่าวต่อนักข่าวถึงความสำคัญของโครงการสอดแนม โดยบอกว่ามันทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างการโจมตี 9/11 ขึ้นอีก เพราะข้อมูลข่าวกรองทำให้ทหารสามารถหาตัวศัตรูได้ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกล่าวถึงสโนว์เดนด้วยวลีที่สื่อไปในเชิงเห็นว่าสโนว์เดนทรยศต่อพวกเขา เช่นบอกว่าเขาละเมิดคำปฏิญาณเรื่องการรักษาความลับ

ในการให้สัมภาษณ์ต่อวอชิงตันโพสต์ สโนว์เดนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เขาเซ็นสัญญาข้อตกลงเรื่องการปกปิดข้อมูลที่เป็นความลับก็จริง แต่ให้สัตย์ปฏิญาณต่อสิ่งอื่น คือการปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และคนที่กล่าวหาว่าเขาไม่ภักดีต่อองค์กรก็เข้าใจวัตถุประสงค์ของเขาผิดไป

"ผมไม่ได้ต้องการทำลาย NSA ผมกำลังทำงานเพื่อพัฒนา NSA" สโนว์เดนกล่าว "ผมกำลังทำงานเพื่อ NSA อยู่ในตอนนี้ เป็นพวกเขาเองที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้"

สโนว์เดนยอมรับว่า พนักงานของ NSA ส่วนมากเชื่อมั่นในภารกิจของตัวเองและไว้ใจให้องค์กรจัดการกับความลับที่พวกเขาล้วงมาจากประชาชนทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะยอมรับปฏิบัติการขององค์กร โดยสโนว์เดนบอกว่าเขาทราบเรื่องนี้จากการเริ่มทดลองหยั่งเชิงความคิดของเขาเมื่อปีที่แล้ว (2555) โดยการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาส่วนหนึ่ง

สโนว์เดนเล่าว่าในช่วงเดือน ต.ค. 2555 เขาเริ่มนำสิ่งที่เขาคลางแคลงใจไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา 2 คนในหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของ NSA และอีก 2 คนในศูนย์ปฏิบัติการต่อภัยคุกคามที่มีสถานบัญชาการในฮาวาย เขาสาธิตด้วยการเปิดเครื่องมือค้นหาที่เรียกว่า BOUNDLESSINFORMANT ให้แก่ผู้บังคับบัญชาเหล่านั้นรวมถึงเพื่อนร่วมงานอีก 15 คนดู เครื่องมือค้นหาดังกล่าวสามารถแสดงผลด้วยความเข้มของสีในการระบุจำนวนข้อมูลบนแผนที่ว่ามีปริมาณข้อมูลที่ถูกดักโดย NSA มากน้อยเพียงใด

การสาธิตของเขาทำให้เพื่อนร่วมงานหลายคนประหลาดใจเมื่อทราบว่าพวกเขาดักเก็บข้อมูลของชาวอเมริกันในสหรัฐฯ มากกว่าชาวรัสเซียในรัสเซีย มีส่วนมากที่บอกว่าพวกเขารู้สึกแย่ที่ทราบเรื่องนี้ และมีบางคนที่บอกว่าพวกเขาไม่อยากรู้ไปมากกว่านี้

"ผมถามคนเหล่านี้ว่า 'พวกคุณคิดอย่างไรถ้าเกิดสาธารณชนเห็นเรื่องนี้บนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์' " สโนว์เดนกล่าว นักวิจารณ์มักจะกล่าวหาว่าเขาไม่ใช้วิธีการทักท้วงผ่านช่องทางภายในองค์กรก่อน แต่คำบอกเล่าของสโนว์เดนก็ได้ตอบคำถามต่อข้อวิจารณ์นี้ไปแล้ว

วอชิงตันโพสต์เปิดเผยว่า สโนว์เดนเริ่มติดต่อกับผู้สื่อข่าวตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 2555 แต่ก็ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลลับใดๆ สโนว์เดนบอกว่าเขายังคงทดสอบเพื่อนร่วมงานของเขาโดยการพูดถึงเรื่อง 'จะเป็นอย่างไรถ้าเรื่องนี้ปรากฏบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์' ไปจนถึงเดือน เม.ย.

เมื่อวอชิงตันโพสต์ถามถึงเรื่องการสนทนาที่สโนว์เดนพูดถึง โฆษก NSA ตอบกลับเป็นคำแถลงที่เตรียมไว้แล้วระบุว่า "หลังจากการสอบสวนอย่างครอบคลุม รวมถึงการสัมภาษณ์อดีตเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาของสโนว์เดน พวกเราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนว่าสโนว์เดนได้กล่าวถึงข้อโต้แย้งของตนให้ผู้ใดรับรู้"

NSA เคยกล่าวในรายงานนำเสนอว่า ถ้าไม่มีการสอดแนมอเมริกาคงจบสิ้น

สโนว์เดนยังได้กล่าวย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วตอนที่เขาถูกฝ่ายเทคโนโลยีของ NSA ส่งไปช่วยเหลือปฏิบัติการที่ฐานสังเกตการณ์ในประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้บริหารระบบทำให้เขาสามารถเข้าถึงระบบความปลอดภัยและระบบควบคุมได้ทำให้เขาเห็นข้อบกพร่องร้ายแรงในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้เขาแนะนำผู้บังคับบัญชาให้มีการจัดคนควบคุมเพิ่มเป็น 2 คนเพื่อช่วยตรวจสอบปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงเนื่องจากไม่เพียงแค่ 'ผู้เปิดโปง' จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ แต่สายลับก็อาจกระทำได้เช่นกัน

สโนว์เดนเล่าต่อว่า ช่วงก่อนที่จะมีการเผยแพร่เอกสารออกมาเขาได้ประเมินความเสี่ยงเป็นครั้งสุดท้าย เขาพยายามเอาชนะสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "ความหวาดกลัวอย่างเห็นแก่ตัว" ต่อผลที่จะเกิดกับเขาหลังจากนั้น แต่เขาก็บอกว่าความกลัวอย่างสุดท้ายที่เหลืออยู่น่าจะเป็นความไม่ยินดียินร้าย (apathy) ของผู้คนที่ไม่สนใจสิ่งที่เขาเสนอ

แต่เอกสารที่รั่วไหลออกมาสู่สายตาสาธารณชนก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่เปิดเผยหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ต่อชาวอเมริกันโดยที่พวกเขาไม่เคยรับรู้มาก่อน

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าเอกสารต่างๆ ของ NSA ใช้ชื่อที่แสดงให้เห็นการอวดอ้างพลังอำนาจขององค์กรตนเองเช่น MUSCULAR, TUMULT, TURMOIL และจากความร่วมมือของบริษัทเอกชนบางแห่งทำให้ NSA สามารถดักข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสงได้ ทำให้สามารถดักข้อมูลได้ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ พวกเขาเก็บข้อมูลบัญชีรายชื่ออีเมล ตำแหน่งการใช้โทรศัพท์มือถือ และข้อมูลการโทรภายในประเทศ ไว้ได้จำนวนมาก และส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลของคนธรรมดาที่ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเรื่องใด
แต่การสอดแนมและการได้รับข้อมูลข่าวกรองจากสัญญาณสำหรับ NSA แล้วเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ในเอกสารนำเสนอภายในองค์กรเมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. 2544 ระบุว่า "ถ้าไม่มีสิ่งนี้ (การสอดแนม) อเมริกาจะจบสิ้นลงอย่างที่เรารู้กัน" ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวนี้เป็นการโต้ตอบต่อเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และเพนตากอนโดยกลุ่มอัล-เคด้า หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 9/11

จากนั้น NSA ก็ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการเก็บข้อมูลภายในประเทศโดยไม่ผ่านอำนาจของรัฐสภาและศาลสหรัฐฯ ต่อมา NSA ก็ได้รับมอบอำนาจจากองค์กรเหล่านี้ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการแอบตีความกฎหมายที่ผ่านร่างโดยรัฐสภาในช่วงปี 2550 -2555

"ภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูง"

แต่วอชิงตันโพสต์ก็เชื่อว่ามีปฏิบัติการบางอย่างของ NSA ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากสภาหรือศาล เช่น โครงการ MUSCULAR ที่ใช้ฐานปฏิบัติการนอกพื้นที่อาณาเขตสหรัฐฯ ในการดักข้อมูลของบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้ผู้บริหารบริษัทไอทีสหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างมาก แบรด สมิธ ที่ปรึกษาของไมโครซอฟท์ถึงขั้นเขียนในบล็อกของบริษัทว่า NSA เป็นภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูง (Advanced Persistent Threat หรือ APT) ซึ่งถือเป็นคำในแง่ลบมากในวงการความปลอดภัยด้านไอที

แม้สมิธจะเคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านองค์กรข่าวกรองสหรัฐฯ โดยกลุ่มบริษัทไอทีจะมาจากความกังวลเรื่องภัยต่อธุรกิจของพวกเขาเอง แต่พวกเขาเองก็ยึดในหลักการอย่างหนึ่งคือการทำให้แน่ใจว่าข้อมูลของลูกค้าพวกเขาจะตกไปอยู่ในมือของผู้ยื่นคำร้องจากรัฐบาลโดยเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

"การเติบโตของอำนาจอย่างลับๆ เป็นภัยต่อประชาธิปไตย"

จากข้อถกเถียงเรื่องที่ว่าการสอดแนมควรมีอยู่หรือไม่ ควรเป็นไปในระดับใดถึงจะไม่ขัดแย้งกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนทั่วไป ในเรื่องนี้สโนว์เดนแสดงความคิดเห็นไว้ตั้งแต่ต้นและยังคงเน้นย้ำว่า NSA ควรเน้นสอดแนมแบบระบุเป้าหมายชัดเจน

เมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวเคยถามเขาผ่านอีเมลที่ถูกเข้ารหัส (encrypted) ว่ามีเหตุผลใดไหมที่ชาวอเมริกันจะอยากให้ NSA เลิกเก็บข้อมูลแบบเหมารวมจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการใช้อุปกรณ์ดักเก็บข้อมูลข่าวกรองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

สโนว์เดนตอบว่า การเปิดให้มีการถกเถียงสาธารณะเกี่ยวกับอำนาจของรัฐบาลย่อมดีกว่าการปล่อยให้มีอันตรายจากการอนุญาตให้อำนาจเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างลับๆ ซึ่งสโนว์เดนบอกว่าการเติบโตของอำนาจอย่างลับๆ ถือเป็น "ภัยโดยตรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับเทคโนโลยีในยุคนี้ไม่เพียงรัฐเท่านั้นที่จะสอดแนม แต่ก็เป็นไปได้ที่บริษัทเอกชนจะสอดแนมหรือกุมข้อมูลของลูกค้าพวกเขาเองเช่นกัน โดยสโนว์เดนกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ความแตกต่างระหว่างการสอดแนมของบริษัทเอกชนกับขององค์กรรัฐคือการที่รัฐมีอำนาจในการลิดรอนเสรีภาพหรือเอาชีวิตของผู้คนได้ สโนว์เดนกล่าวว่าขณะที่เขาอยู่ที่ NSA เคยมีคนพูดติดตลกว่า "เราจะเอาหัวรบขีปนาวุธยิงใส่หน้าผากเลย" แต่บริษัทอย่างทวิตเตอร์จะไม่เอาอาวุธไปยิงใส่หัวใคร

ประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของสโนว์เดนถือเป็นสิทธิสากล ไม่ว่าจะทั้งชาวอเมริกันหรือชาวต่างประเทศก็มีสิทธินี้

"ผมไม่สนใจว่าคุณจะเป็นพระสันตปาปาหรือโอซามา บิน ลาเดน" สโนว์เดนกล่าว "ตราบใดที่มีเหตุผลมากพอในการตั้งเป้าหมายอย่างเจาะจงชัดเจนในแง่ข่าวกรองต่างชาตินั่นถือเป็นเรื่องที่กระทำได้ ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นการหนักหนาสาหัสอะไรที่จะถามหาเหตุผลความเป็นไปได้ เพราะคุณต้องเข้าใจว่าเมื่อคุณมีเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลแบบที่ NSA มีแล้ว เรื่องเหตุผลก็ถูกละทิ้งไป"

ความเสียหายจากการเปิดโปง?

นอกจากบริษัทไอทีแล้ว ผู้นำต่างชาติหลายคนแสดงความไม่พอใจเมื่อมีการเปิดโปงเรื่องการสอดแนมพวกเขาเช่น  แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิล ทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์แม้ในหมู่ประเทศพันธมิตรด้วยกันเอง

สโนว์เดนกล่าวในเรื่องการเปิดโปงการสอดแนมต่างชาติว่ามันไม่ใช่เป็นการแสดงให้เห็นเรื่องการสอดแนมแต่อย่างเดียว แต่ยังแสดงให้เห็นการหลอกลวงของรัฐบาลโอบามาที่เคยให้คำมั่นว่าพวกเขาไม่เคยมีปฏิบัติการสอดแนมชาวเยอรมัน เมื่อเรื่องนี้ปรากฏออกมา ทำให้เห็นว่าเขาโกหกต่อคนทั้งประเทศ

ทางด้านเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ มักจะบอกว่าการเปิดโปงของสโนว์เดนสร้างความเสียหายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง เพราะการเปิดเผยวิธีการที่ใช้ทำให้ศัตรูสามารถเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการถูกดักเก็บข้อมูลได้

แมทธิว โอลเซน ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติสหรัฐฯ และอดีตที่ปรึกษาของ NSA กล่าวว่าในตอนนี้กลุ่มอัล-เคด้า และกลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องเริ่มมองหาวิธีการปรับเปลี่ยนการสื่อสารของพวกเขาใหม่ เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ก็บอกว่าเขาเห็นว่ามีเป้าหมายการสอดแนมบางคนที่เปลี่ยนช่องทางการสื่อสารต่างออกไปจากเดิม แต่คำกล่าวนี้ก็ทำให้มองเห็นในอีกแง่คือ NSA สามารถทราบเรื่องการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารได้ด้วย

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า เจมส์ แคลปเปอร์ จูเนียร์ ผู้อำนวยการด้านข่าวกรองแห่งชาติมักจะกล่าวย้ำต่อสาธารณะว่าการรั่วไหลของข้อมูลสร้างความเสียหายมาก แต่ในที่ประชุมประเมินความเสียหายจากกรณีจารกรรมก่อนหน้านี้ แคลปเปอร์กล่าวในที่ประชุมว่าความเสียหายที่คาดการณ์ไว้แทบจะไม่เกิดขึ้นจริง ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งบอกกับวอชิงตันโพสต์ว่ายังไงผู้คนก็ต้องสื่อสาร พวกเขาจะทำผิดพลาดและหน่วยข่าวกรองก็จะใช้ประโยชน์จากตรงนั้น

สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองเป็นกังวลมากกว่าในตอนนี้คือ รัสเซีย หรือจีน ได้นำข้อมูลออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของสโนว์เดนหรือไม่ พวกเขายังไม่มีหลักฐานยืนยันความกังวลนี้ ส่วนสโนว์เดนเองก็บอกว่าเขาไม่ได้เผยแพร่ไฟล์เอกสารต่อทางการจีนและไม่ได้นำไปยังรัสเซียด้วย แต่เขาไม่ขอเปิดเผยว่าในตอนนี้ไฟล์เอกสารอยู่ที่ใด เขาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แลปทอปให้ผู้มาเยือนดูแล้วบอกว่าฮาร์ดไดร์ฟเก็บข้อมูลในเครื่องเขาว่างเปล่า

อีกคำถามหนึ่งคือสโนว์เดนนำข้อมูลออกไปมากเท่าใด ซึ่งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่คนสำคัญของ NSA ริค เล็ดเก็ทกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ CBS ว่าอาจจะมีเอกสารมากถึง 1.7 ล้านฉบับ ที่สโนว์เดนนำไป และเขาบอกว่าอาจจะมีการเจรจาเพื่อขอเอกสารคืนแลกกับการนิรโทษกรรมสโนว์เดน แต่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลโอบามาก็ไม่ยอมรับในเรื่องนี้

ผู้สันโดษที่ไม่เผยชีวิตส่วนตัว

วอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่าตลอดระยะเวลารวม 14 ชั่วโมงที่นักข่าวสัมภาษณ์สโนว์เดนครั้งล่าสุดนี้ เขาแทบไม่ยอมพูดเรื่องชีวิตส่วนตัวเลยและไม่ยอมปล่อยให้ถูกหลอกถามในเรื่องนี้ได้ เขาบอกเพียงแค่ว่าเขาเป็นคนถือสันโดษ เขาดำรงชีวิตอยู่ด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและมันฝรั่งทอด มีคนมาเยี่ยมเขาบ้างและหลายคนก็นำหนังสือมาให้ มีหนังสือกองอยู่มากมายโดยที่เขาไม่ได้อ่าน สำหรับสโนว์เดนแล้วอินเทอร์เน็ตเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่และเป็นหน้าต่างที่ใช้มองดูความคืบหน้าของเป้าหมายเขา

ในเรื่องที่ NSA กล่าวโจมตีตัวเขา สโนว์เดนบอกว่าเขาไม่สนใจในเรื่องนี้

"บอกให้เขาพูดสิ่งที่อยากพูดไป" สโนว์เดนกล่าว "นั่นไม่เกี่ยวกับตัวผม"

อย่างไรก็ตามสโนว์เดนรู้ดีว่าการที่ตัวเขาอยู่ในรัสเซียทำให้กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาวิจารณ์ได้ แต่ตัวเขาก็ไม่ได้เลือกให้มอสโกเป็นแหล่งลี้ภัยแหล่งสุดท้าย เขาบอกว่าเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้หนังสือเดินทางของเขาเป็นโมฆะแล้วเขาก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอยู่ที่ละตินอเมริกาโดยไม่มีทางเลือกอื่น

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ทางการรัสเซียไม่จับตาดูเขา ไม่มีใครคอยติดตามตัวสโนว์เดน และคนที่มาเยี่ยมก็ไม่เห็นใครอยู่ในละแวกใกล้เคียง สโนว์เดนเองก็ยังใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ยังคงสามารถพูดคุยกับทนายและนักข่าวได้นับตั้งแต่วันแรกที่เขาออกจากห้องรับรองผู้โดยสารในสนามบินเชเรเมทเยโว

"ไม่มีหลักฐานสำหรับคำกล่าวอ้างว่าผมมีความภักดีต่อรัสเซีย หรือจีน หรือประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ" สโนว์เดนกล่าว "ผมไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับรัฐบาลรัสเซีย ผมไม่ได้ทำข้อตกลงใดๆ กับพวกเขา"

"ถ้าหากผมจะเป็นผู้แปรพักตร์ ผมก็เป็นผู้ที่แปรพักตร์จากฝ่ายรัฐบาลมาสู่ฝ่ายประชาชน" สโนว์เดนกล่าว

 

 

* ภาษาเทคนิคด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ หมายถึงการวางแผนแก้ไขปัญหาโดยใช้โปรแกรมประยุกต์ได้รับการพัฒนาในส่วนเล็กๆ เรียกว่า iterative แต่ละ iterative จะได้รับการทบทวนและวิเคราะห์โดยทีมงานซอฟต์แวร์และผู้ใช้ขั้นปลายศักยภาพ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการวิจารณ์ iterative จะใช้ในการกำหนดขั้นตอนต่อไปในการพัฒนา (ข้อมูลจาก http://www.widebase.net/knowledge/itterm/it_term_desc.php?term_id=iterative)

เรียบเรียงจาก

Edward Snowden, after months of NSA revelations, says his mission’s accomplished, 24-12-2013
Judge: NSA’s collecting of phone records is probably unconstitutional, Washington Post, 17-12-2013

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://www.thaicert.or.th/papers/technical/2011/pa2011te002.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท