ตุรกีผ่าน กม.คุมเน็ต บล็อคโดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล

รัฐสภาตุรกีผ่านกฎหมายที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้นายกตุรกีนั้นเคยวิจารณ์อินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย โดยเรียกทวิตเตอร์ว่า "หายนะ" และเรียกโซเชียลมีเดียว่าเป็น "ภัยอันตรายที่สุดของสังคม"

7 ก.พ. 2557  เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ก.พ.) รัฐสภาตุรกีผ่านกฎหมายที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ด้วยเสียงข้างมากของพรรค AKP ของนายกฯ ตุรกี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน (319 เสียงจากสมาชิกสภา 550 ที่นั่ง)  โดยกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการลงนามโดยประธานาธิบดีตุรกี อับดุลเลาะห์ กูล

กฎหมายใหม่นี้เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐด้านโทรคมนาคมบล็อคเว็บไซต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล โดยผู้ให้บริการเนื้อหาหรือโฮสติ้งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ได้จนกว่าเนื้อหานั้นๆ จะถูกปิดกั้นก่อน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องเก็บข้อมูลกิจกรรมของผู้ใช้เป็นเวลา 2 ปีโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงได้

ระหว่างการอภิปรายร่างกฎหมาย ฮาซาน เออเรน ส.ส.ฝ่ายค้าน เปรียบเทียบ เอร์โดอัน กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

"ตอนที่คุณขึ้นสู่อำนาจ คุณบอกว่าจะส่งเสริมประชาธิปไตยในตุรกี ตอนนี้คุณกำลังนำลัทธิฟาสซิสต์มาใช้" เออเรนกล่าวและว่า "จำไว้ว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ตอนที่เขาขึ้นสู่อำนาจ"

ด้านรองนายกฯ ตุรกี บูเลนต์ อารินค์ บอกว่า ไม่มีการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในตุรกี  

"เรามีเสรีภาพกว่าประเทศอื่นๆ จำนวนมาก รวมถึงมีเสรีภาพสื่อด้วย" อารินค์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน นายกฯ ตุรกี เคยวิจารณ์อินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย โดยเรียกทวิตเตอร์ว่า "หายนะ" (scourge) และเรียกโซเชียลมีเดียว่าเป็น "ภัยอันตรายที่สุดของสังคม" (the worst menace to society) โดยทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กถูกใช้อย่างกว้างขวางโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในการเผยแพร่ข้อมูลระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปีที่ผ่านมา

หลังข่าวการผ่านกฎหมายดังกล่าว ปีเตอร์ สตาโน โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการให้เก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

"ชาวตุรกีควรได้รับข้อมูลและความโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่ถูกจำกัดมากขึ้น" เขากล่าวและว่า ควรต้องมีการแก้กฎหมายให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับของสหภาพยุโรป

ด้านมาร์ติน ชูลซ์ ประธานสภายุโรปทวีตว่า การผ่านกฎหมายนี้ของสภาตุรกีเป็นการก้าวถอยหลังในสภาวะที่เสรีภาพสื่อย่ำแย่อยู่แล้ว

ขณะที่องค์การเพื่อความปลอดภัยและการร่วมมือในยุโรป (Organisation for Security and Co-operation in Europe : OSCE) ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจหน่วยงานโทรคมนาคมของตุรกีเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด โดยที่ผู้ใช้ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บไปเมื่อไหร่และอย่างไร

ข้อมูลจากเว็บ Engelli ซึ่งทำหน้าที่สอดส่องการแบนเว็บไซต์ระบุว่า มีเว็บไซต์มากกว่า 40,000 เว็บถูกบล็อคในตุรกี โดยจำนวนมากมีเนื้อหาลามกอนาจาร

เรียบเรียงจาก:

Turkey passes law tightening control of internet
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-26062038

EU officials raise concerns on Turkey’s strict new internet law
http://www.ft.com/cms/s/0/d86e72ee-8f42-11e3-9cb0-00144feab7de.html#axzz2sczW0yn7

New Turkish Internet restrictions increase concerns over media freedom
http://www.ctvnews.ca/sci-tech/new-turkish-internet-restrictions-increase-concerns-over-media-freedom-1.1673184

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท