Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับนักศึกษารายวิชา Peace and Conflict Resolution Journalism สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร จัดเสวนา เรื่อง "สื่อควรยืนตรงไหนท่ามกลางความขัดแย้ง?" นำเสวนาโดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และ สำนักข่าว AP เมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คณะวิทยาการสื่อสาร โดยมีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สื่อเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารและจัดพื้นที่พูดคุย  

สื่อมีอิทธิพล เพราะสื่อมีบทบาทในการจัดวาระว่าสังคมควรจะสนใจเรื่องราวอะไร และอธิบายเรื่องราวเหล่านั้นให้กับสังคมได้รับทราบ นอกจากนี้สื่อยังมีบทบาทในการจัดพื้นที่สาธารณะว่าใครจะมีโอกาสในการเข้ามาถกเถียงในประเด็นนั้นๆ บ้าง  

แต่ทว่าสื่อมวลชนก็ต้องทำงานภายใต้กรอบเงื่อนไขและข้อจำกัดเช่นเดียวกัน ทั้งบริบททางการเมืองของสังคมใหญ่ เช่น ในสังคมเผด็จการ เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็อาจจะไม่สามารถพูดได้

อีกส่วนหนึ่งก็คืออำนาจทุน สื่อส่วนใหญ่บริหารงานในระบบธุรกิจ การทำงานในระบบเช่นนี้ก็มีผลต่อวิธีการในการเลือกเรื่องและแง่มุมในการทำเสนอของสื่อเช่นกัน  

สื่อกับความรุนแรงในชายแดนใต้  

สื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ สื่อต่างประเทศ สื่อส่วนกลางและสื่อท้องถิ่น  

ข้อดีของสื่อต่างประเทศคือ สามารถเข้าถึงผู้รับสารจำนวนมาก แต่ข้อเสียก็คือว่าไม่สามารถที่จะเขียนได้ลึกซึ้ง เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่อยู่นอกประเทศ และมีความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นน้อย ฉะนั้นในการเขียนจะต้องแบ่งพื้นที่ในการอธิบายข้อมูลพื้นฐานมาก  

สำหรับสื่อส่วนกลาง ในช่วงแรกๆ หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 สื่อส่วนกลางให้ความสนใจกับปัญหาภาคใต้มาก มีการส่งนักข่าวมาประจำเป็นช่วงเวลานานๆ แต่ตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 สื่อส่วนกลางก็ดึงตัวนักข่าวกลับไป เพราะสถานการณ์ทางการเมืองส่วนกลางวุ่นวาย ทำให้การรายงานข่าวในพื้นที่นั้นตกอยู่ในมือของนักข่าวในพื้นที่เป็นหลัก  

สื่อในพื้นที่หรือที่เรียกว่าสตริงเกอร์ เป็นนักข่าวอิสระที่ทำงานอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะส่งข่าวให้กับสื่อหลายๆ สำนัก และได้รับค่าตอบแทนข่าวเป็นรายชิ้น ในโครงสร้างเช่นนี้ทำให้นักข่าวมักจะเลือกนำเสนอเหตุการณ์รุนแรง เพราะจะมั่นใจได้ว่าข่าวนั้นจะได้รับการรายงานโดยสื่อส่วนกลาง ในขณะที่การไปทำข่าวในแง่มุมอื่นๆ อาจจะไม่มีอะไรรับประกันว่าสื่อในส่วนกลางจะสนใจลงข่าวนั้นหรือไม่  

ในท่ามกลางปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาของการสื่อสารกับสาธารณะ ก็ได้มีสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่เรียกว่า “สื่อทางเลือก” เช่น สื่อที่ใช้เว็บในการรายงานข่าว วิทยุชุมชน ฯลฯ สื่อเหล่านี้มีศักยภาพที่จะมาเติมเต็มในสิ่งที่สื่อกระแสหลักนั้นทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้มีการใช้สื่อเพื่อการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดสันติภาพได้ แต่ก็ยังมีข้อท้าทายในการพัฒนาศักยภาพการทำงานให้ได้มาตรฐานทางวิชาชีพ  

สื่อสันติภาพ  

นายเกรแฮม สเปนเซอร์ นักวิชาการที่เขียนหนังสือเรื่อง “The Media and Peace: From Vietnam to the 'War on Terror” ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่มักพบในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในพื้นที่ความขัดแย้งก็คือ  

1.การรายงานข่าวของสื่อมักไม่มีความรอบด้านและส่งผลทำให้ความขัดแย้งบานปลาย

2.สื่อเลือกที่จะมุ่งนำเสนอความเคลื่อนไหวของชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ
3.สื่อนำเสนอความขัดแย้งลักษณะ Zero – Sum political game (เกมการเมืองแบบได้หมดหรือเสียหมด) มีอคติ ทำให้การแสวงหาข้อมูลร่วมกันทำได้ยาก และทำให้เกิดความเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นมีเพียงคนสองกลุ่มเท่านั้น  

สเปนเซอร์พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนักข่าวแนวใหม่ที่เรียกว่า “นักข่าวสันติภาพ” ซึ่งจะมีบทบาทและหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อนำไปสู่สันติภาพ งานของพวกเขาเป็นการนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งจะเน้นถึงสันติภาพมากกว่าสงคราม ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านสงครามและเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ  

เขาอธิบายว่า สิ่งสำคัญที่นักข่าวสันติภาพพึงจะทดลองทำก็คือ การนำเอาตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาในการรายงานข่าว เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้ภาพของปัญหามีความลุ่มลึกมากกว่าเป็นเพียงแค่ความขัดแย้งสองขั้วแบบหยาบๆ การทำเช่นนี้จะนำไปสู่การก้าวข้ามการมองว่าใครกำลังได้เปรียบ ใครกำลังเสียเปรียบ ไปสู่การพิจารณาเรื่องราวว่าเป็นการพูดคุยเจรจาเพื่อหาจุดสมดุลซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง  

รุ่งรวีกล่าวว่า หากเอาสิ่งที่สเปนเซอร์พูดมามองปัญหาในภาคใต้แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าบทบาทที่สื่อควรจะเป็นเพื่อช่วยเสริมสร้างสันติภาพ ก็คือ  

ประการแรก ให้น้ำหนักกับรายงานเรื่องการพูดคุยสันติภาพมากพอๆ หรือมากกว่าข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

ประการที่สอง นอกจากนำเสนอมุมมองของรัฐกับขบวนการแล้ว ก็ควรจะไปตามความเห็นของคนในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วยว่า เขามีความคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถมองเห็นความคิดและทางเลือกที่แตกต่าง และอาจจะทำให้เห็นหนทางที่จะประนีประนอมได้  

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net