Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ถ้าจะมีงานวิจัยเกี่ยวกับรัฐประหารที่น่าสนใจ งานวิจัยชื่อ  “โครงสร้างอำนาจรัฐกับรัฐประหาร” (Government structure and military Coups) ที่ศึกษาวิจัยโดย Ruixue Jia  แห่งมหาวิทยาลัยสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ร่วมกับ Pinghan Liang แห่งมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ เซ้าท์เวสต์เทิร์น (SWUFE)  เมืองเฉินตู ประเทศจีน คืองานวิจัยนั้นเป็นงานวิจัยที่สามารถพิสูจน์ความจริงของกระบวนการรัฐประหารได้เป็นส่วนใหญ่และสามารถนำองค์ความรู้ใหม่ที่ได้นี้ไปต่อยอดเพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรัฐประหารได้อีกหลายประเด็น

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้ ได้ให้กำเนิดทฤษฎีเงื่อนไขและอุปสรรคของการทำรัฐประหาร  ที่ชื่อว่า “โมเดลของ Jia กับ Liang”  (2012) โดยผู้วิจัยทั้งคู่ระบุผลของการวิจัยว่า การรัฐประหารมีส่วนสัมพันธ์กับการกระจายอำนาจการเมืองการปกครอง (decentralization) อย่างมีนัยสำคัญ ข้อสรุปของผู้วิจัยทั้งคู่ คือ การรัฐประหารจะทำได้ยากขึ้นหากประเทศใดก็ตามมีลักษณะการบริหารจัดการการเมืองแบบกระจายอำนาจ  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการรวบรวมสถิติข้อมูลของการทำรัฐประหารทั่วโลกมาวิเคราะห์

อนุสนธิต่อเนื่องจากงานวิจัย“โมเดลของ Jia กับ Liang”อยู่ตรงที่สามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างและสถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศที่สุ่มเสี่ยงจากการทำรัฐประหารเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ของการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศเหล่านั้นด้วยสถิติที่ได้รับการยืนยันจากศูนย์สันติภาพ (CSP –The Center for Systemic Peace) ว่า ไทยติดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก เพราะที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นถึง 17 ครั้ง  เป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน และติดอันดับสถิติการทำรัฐประหารมากครั้งในอันดับต้นๆของโลก

ในงานวิจัยของ Jia กับ Liang ให้ความหมายของคำว่า รัฐประหาร (coups) เหมือนที่นักรัฐศาสตร์ทั่วไปทรายกันว่า หมายถึง การใช้กําลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน โดยการใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยการใช้กำลังดังกล่าวบางครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นกับฝ่ายที่ลงมือปฏิวัติรัฐประหารและฝ่ายที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารหรือรัฐบาล นอกเหนือไปจากการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งก็คือทรัพย์สินของประชาชนหรือทรัพย์สินของแผ่นดินนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง รัฐประหารจึงหมายถึง การล้มล้างรัฐบาลผู้บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น โดยกลุ่มอภิชนระดับบน (elite) ที่ประกอบไปด้วยขุนทหาร และผู้ที่กุมอำนาจทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ  โดยที่องคาพยพและโครงสร้างอื่นของประเทศในระดับล่างไม่เขยื้อนเลย หรือมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ในอีกแง่หนึ่ง รัฐประการมิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือดเสมอไป เช่น หากกลุ่มทหาร “สร้างข้ออ้าง”ขึ้นมาว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศชาติผิดพลาด และจำเป็นต้องบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจ จึงใช้กำลังบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ลักษณะนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นการก่อรัฐประหาร (ในประเทศไทยมีการพูดถึงรัฐประหารโดยองค์กรอิสระ เป็นเรื่องใหม่หรือไม่น่าลองพิจารณาดู)

ในวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในวิชาทางรัฐศาสตร์ถือว่าการรัฐประหาร มิใช่วิธีทางของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และถือเป็นความเสื่อมทางการเมือง (political decay) อย่างหนึ่ง โดยหากความพยายามในการก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ

ส่วนคำอีกคำหนึ่งที่คนไทยนิยมพูดกัน คือ ปฏิวัติ (revolution) นั้น  มีความหมายในเชิงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำนองถอนรากถอนโคน ซึ่งสำหรับประเทศไทย  “มีความหมายใกล้เคียงการปฏิวัติ”  คือ การปฏิวัติในปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่กระทำการโดยคณะราษฎร ซึ่งจากความหมายของการปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีการปฏิวัติเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกนั้น คือ การทำรัฐประหารล้วนๆ

อย่างที่บอกครับ “โมเดลของ Jia & Liang” ให้ประโยชน์ในแง่การวิเคราะห์เชิงปัจจัยและความเสี่ยงของการทำรัฐประหารในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย  แม้ว่าผู้วิจัยจะมีกรอบการวิจัย เป็นประเทศที่มีรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นก็ตาม แต่กรอบดังกล่าวก็ยังสามารถนำมาเปรียบเทียบกับการปกครองส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นได้อยู่ดี เช่น หากเปรียบเทียบกรณีของประเทศไทยก็เหมือนส่วนกลาง  คือ รัฐบาลเมืองหลวง กับส่วนต่างจังหวัด ที่มีรูปแบบการกระจายอำนาจด้วยระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  เทศบาล เป็นต้น

การตีความในทำนองนี้ ทำให้  “โมเดลของ Jia & Liang”  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น เพราะรัฐประหารนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็ตามผู้กระทำการรัฐประการมีเป้าหมายและพฤติกรรมที่เหมือนกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดเท่านั้น ซึ่งจากผลพวงของโมเดลนี้ผมขอขยายผลอย่างนี้นะครับ 

1. การรัฐประหารเป็นปฏิภาคหรือขัดแย้งกับการกระจายอำนาจของประเทศนั้นๆ คือ โครงสร้างการเมืองการปกครองมีการกระจายอำนาจออกไปจากส่วนกลางมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้ความพยายามทำรัฐประหารและการควบคุมรัฐ (ในกรณีที่รัฐประหารรัฐบาลกลางเป็นผลสำเร็จ) ประสบผลน้อยลงมากเท่านั้น เนื่องจากแม้คณะผู้รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลในส่วนกลางได้แล้ว แต่ไม่สามารถยึดอำนาจในส่วนภูมิภาคได้สำเร็จ ทั้งหมด หากองค์กรส่วนท้องถิ่น (ภูมิภาค) ทั้งภาคราชการ เอกชน และประชาชนมีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยและต้านการทำรัฐประหารนั้น

2. ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เครือข่ายการสื่อสารเชื่อมโยงกันอย่างถึงที่สุดจนแทบจะไม่มี “พื้นที่ใต้ดิน”ให้เล่นอยู่แล้วนั้น  การเคลื่อนไหว การแสดงออก ซึ่งปฏิกิริยาทางการเมืองสามารถทำได้แทบทุกพื้นที่โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการยึดกุมอำนาจในพื้นที่เมืองหลวงเท่านั้น หากสามารถทำได้ในพื้นที่ภูมิภาคที่มีความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการรัฐประหารของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหาร (รัฐบาลที่โดนโค่น) องค์กรและประชาชนในภูมิภาค

3.  กระบวนการประชาธิปไตย (เสียงส่วนใหญ่) มีความสำคัญต่อการรัฐประหาร หมายถึง การให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารของประชาชนส่วนใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการทำรัฐประหาร นั่นก็คือปัญหาว่า เมื่อทำรัฐประหารสำเร็จแล้วรัฐบาลใหม่จะดำรงอยู่ในอำนาจรัฐได้ยาวนานหรือไม่เกิดความวุ่นวายได้อย่างไร ขณะที่การรวบอำนาจของคณะผู้ทำรัฐประหารแบบเดิมๆที่สามารถทำได้ง่ายดายโดยระบบการปกครองแบบรวบอำนาจเหมาหมดทั้งประเทศ คือ การควบคุมอำนาจขององค์กรรัฐ  องค์กรเอกชน และประชาชนทั้งประเทศได้ยากขึ้น ระบบการกระจายอำนาจทำให้เมืองหลวงไม่ได้เป็นศูนย์กลางการปกครองในทางพฤติกรรม (การกระทำ) อีกต่อไป หากเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น

4. หากมีการกระจายความเจริญออกไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้น ด้วยการทำให้หัวเมืองสำคัญ (กรณีของประเทศไทย คือ จังหวัดสำคัญด้านเศรษฐกิจ) ให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจเหมือนกับเมืองหลวง ผลก็คือ จะทำให้การทำรัฐประหารยากขึ้น เพราะแม้คณะรัฐประหารใช้กองกำลังหรือกองทัพควบคุมเมืองหลวงได้ แต่อาจไม่สามารถควบคุมเมืองใหญ่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับเมืองหลวงในภูมิภาคได้ง่ายเหมือนเดิม ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจขององค์กรรัฐ องค์กรเอกชน และประชาชนในภูมิภาคด้วยว่าจะตัดสินใจอย่างไร เช่น มีการเจรจาหรือไม่เจรจากับคณะรัฐประหาร (กรณีที่รัฐประหารสำเร็จ) ซึ่งหากเลือกในประเด็นหลัง คือ ไม่เจรจา ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งด้านอื่นตามมามากมาย

5. จากผลการกระจายอำนาจและโลกาภิวัตน์ (ปกติโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อการกระจายอำนาจในตัวอยู่แล้ว)  รวมถึงผลจากความขัดแย้งของการทำรัฐประหารที่ไม่เหมือนกับผลของความขัดแย้งกับชาติอื่น (โดยเหตุที่การทำรัฐประหารเป็นการแย่งอำนาจของคนในชาติเดียวกัน) จึงส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ระบบรักษาความปลอดภัยอาจล้มเหลวจนคณะรัฐประหาร แม้กระทำสำเร็จแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมได้

6. การยึดเมืองหลวงสำเร็จไม่ได้หมายความว่า การรัฐประหารจะประสบผลสำเร็จสามารถมีชัยเหนือรัฐบาลได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการกระจายอำนาจส่งผลให้ภูมิภาคสามารถกลายเป็นฐานการต่อสู้ของรัฐบาล กับคณะรัฐประหาร

Jia กับ Liang  สรุปว่า การกระจายอำนาจ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องกระจายความเจริญควบคู่ไปด้วย) ไปยังประชาชนในภูมิภาคหรือท้องถิ่นมีผลต่อความสำเร็จในการทำรัฐประหารของแต่ละประเทศอย่างมีนัยสำคัญ.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net