Skip to main content
sharethis


“It is said that no one truly knows a nation until one has been inside its jails.

A nation should not be judged by how it treats its highest citizens, but its lowest ones.” 

            Nelson Mandela

"มีคำกล่าวว่า  ไม่มีใครจะรู้จักประเทศหนึ่งๆ อย่างแท้จริงจนกว่าเขาจะได้เข้าไปอยู่ในคุกของประเทศนั้น 

ระเทศหนึ่งไม่ควรถูกตัดสินจากการปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นสูงสุด 

หากแต่สิ่งสำคัญคือประเทศนั้นปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นต่ำสุดอย่างไรต่างหาก"

            เนลสัน แมนเดลา

 

ก่อนจะก้าวไปสู่ประเด็นหลักเรื่องการย้ายเรือนจำเชียงใหม่อันเป็นเป้าหมายของข่าวเจาะชุดนี้ อยากให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเรือนจำไทย เป็นสภาพปัญหาที่เรือนจำทุกแห่งต่างเผชิญอยู่ โดยยังไม่มีวี่แววของทางออกและน่ากังวลว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้

นั่นคือ การมีผู้ต้องขังจำนวนมากอยู่รวมกันอย่างแออัด เพราะปัญหานี้นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายประการ จากตัวเลขของกรมราชทัณฑ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศจำนวน 289,568 คน แยกเป็นจำนวนผู้ต้องขังชาย 247,334 คน และผู้ต้องขังหญิง 42,234 คน (14.6% ของนักโทษทั้งหมด)

ประเทศไทยถือได้ว่ามีจำนวนนักโทษมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยเป็น 1 ใน 8 ประเทศในโลกที่มีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 200,000 คน อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน, รัสเซีย, บราซิล, อินเดีย, เม็กซิโก และอิหร่าน โดยทั้ง 8 ประเทศนี้มีผู้ต้องขังรวมกันกว่า 6.2 ล้านคน เท่ากับ 61% ของผู้ต้องขังทั่วทั้งโลก (ราว 10.2 ล้านคน)

เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร ประเทศไทยมีผู้ถูกคุมขังอยู่คิดเป็น 398 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก โดยเฉลี่ยแล้ว 54% ของทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราส่วนผู้ต้องขังต่ำกว่า 150 คนต่อประชากร 1 แสนคน ประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรสูงเช่นนี้ นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศหมู่เกาะในอเมริกากลางและคาริบเบียน

เมื่อพิจารณาเฉพาะในอาเซียน ภูมิภาคนี้เฉลี่ยแล้วมีผู้ถูกคุมขังประมาณ 138 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยประเทศไทยถือได้ว่า มีจำนวนผู้ต้องขังและอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาค แม้จำนวนผู้ต้องขังในอินโดนีเซียมีจะมีถึง 144,332 คน แต่เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากร มีคนถูกคุมขังเพียง 59 คนในประชากร 1 แสนคน

หรือในเวียดนามที่มีผู้ต้องขัง 130,180 คน เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรแล้ว ก็มีจำนวนผู้ต้องขังราว 145 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรมากรองลงมาจากไทย คือสิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราส่วนผู้ต้องขัง 230 คนต่อประชากร 1 แสนคน [ดูข้อมูลส่วนนี้ในรายงานจำนวนประชากรผู้ต้องขังในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายงานจนถึงเดือนตุลาคม 2556 โดยศูนย์ศึกษาเรือนจำนานาชาติ (ICPS) ซึ่งรวบรวมโดย Roy Walmsley]

ภาพแสดงจำนวนผู้ต้องขังในประเทศต่างๆ และเรือนจำไทยอยู่ตรงในโลก?

(ภาพโดย อธิคม มุกดาประกร)

ดูภาพใหญ่ที่นี่

กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผอ.สำนักทัณฑปฏิบัติ ให้ความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของเรือนจำไทยขณะนี้ คือการมีผู้ต้องขังจำนวนมหาศาล และเกินความจุของเรือนจำไปอย่างมาก อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยระบบยุติธรรมเอง และราชทัณฑ์จำเป็นต้องรับไว้  โดยสาเหตุหลักของสภาพเรือนจำที่แออัดนี้เกิดจากลักษณะระบบกฎหมายอาญาไทยที่เลือกใช้การคุมขังเป็นหลักในระบบการลงโทษ

โดยเฉพาะปัญหาผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ราว 2 ใน 3 หรือประมาณ 65% ของนักโทษทั้งหมด เป็นผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดนั้นได้บังคับใช้โทษจำคุกที่กำหนดอัตราโทษสูง โดยแทบไม่ได้ใช้มาตรการอื่นๆ แม้จะมีความพยายามใช้มาตรการฟื้นฟูบำบัดผู้เสพยาโดยไม่ต้องคุมขัง แต่จำนวนผู้ถูกคุมขังจากยาเสพติดก็ยังมีอัตราสูงอยู่ดี การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายนั้น ตามกฎหมายจะพิจารณาที่จำนวน ถ้าหากมียามากกว่า 5 เม็ดก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว ซึงนำไปสู่การติดคุกเพียงอย่างเดียว ทั้งที่บางคนเพียงแค่เสพ แต่ครอบครองเอาไว้ ส่วนนี้จึงเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างของกฎหมายยาเสพติด

อีกทั้งผู้ต้องขังบางคนกว่าจะพ้นโทษก็อายุกว่า 70 ปีแล้ว และไม่สามารถหาอาชีพมาเลี้ยงดูครอบครัวได้อีก บางคนจึงกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด คนกลุ่มนี้เลยติดคุกพร่ำเพรื่อ และทำให้เกิดการใช้คุกพร่ำเพรื่อกับคนจำนวนมากด้วย

“คุกต้องเป็นที่ขังคนที่มีอันตรายจริงๆ แต่ทุกวันนี้ ผมขังคนโทษประหารชีวิตที่ไม่มีอันตรายเลย ผู้ต้องขังประหารชีวิตตอนนี้มีประมาณ 700 คน ผมเข้าใจว่า 600 คน เป็นคนที่ไม่อันตรายเลย บางคนต้องการเงินแค่สามหมื่น มีคนจ้างให้เขาขนยาเสพติดสองสามหมื่นเม็ด แล้วมาถูกจับอยู่แถวกำแพงเพชร ลำปาง เขาไม่มีพิษมีภัยเลย เป็นคนพื้นที่สูงที่ยากจน ต้องการเงินแค่สามหมื่นบาทหรือสี่หมื่นบาทเท่านั้นเอง แต่ว่าเป็นนักโทษเด็ดขาดประหารชีวิตแล้ว” ผอ.กิตติพัฒน์กล่าว

กักขังฉันเถิดกักขังไป

นอกจากนั้นแล้ว เรือนจำไทยยังมีจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และไม่ได้รับการประกันตัวในอัตราค่อนข้างสูง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2556 เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีราว 71,043 คน คิดเป็น 24.53% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ทั้งที่โดยหลักการทางกฎหมาย คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และควรได้รับการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว

ภายใต้เงื่อนไขเชิงระบบเช่นนี้ ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงปี 2545 จะมีการออกกฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเปลี่ยนสถานะให้ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย และให้ดำเนินการบำบัดฟื้นฟูตามโครงการวิวัฒน์พลเมืองในค่ายทหารช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการระบายผู้ต้องขังที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการร่วมกับกองทัพบก ทำให้ผู้ต้องขังลดลงไปส่วนหนึ่งในช่วงนั้น จากที่เคยพุ่งขึ้นไปถึง 2.5 แสนคนในช่วงปี 2544 จึงลดลงเหลือราว 1.6 แสนคนในช่วงปี 2546-47 ก่อนจะค่อยๆ ไต่เพิ่มสูงขึ้นมาอีกครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

สภาพทั้งหมดดังกล่าว ทำให้สัดส่วนของผู้ต้องขังที่เข้าและออกจากเรือนจำอยู่ในสภาวะไม่สมดุลมาโดยตลอด โดยในปี 2555 จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,908 คน ส่วนในปี 2556 จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 3,410 คน จากอัตราการเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ทำให้ในปี 2557 นี้ ผู้ถูกคุมขังจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ภาพแสดงจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำไทยตั้งแต่ปี 2535-2556

(ภาพโดย อธิคม มุกดาประกร)

ดูภาพใหญ่ที่นี่

ปัจจุบันกลไกหลักที่นำมาใช้แก้ปัญหานี้ส่วนหนึ่ง คือการใช้กระบวนการพระราชทานอภัยโทษ  ในวาระสำคัญๆ จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวนมาก โดยผอ.สำนักทัณฑปฏิบัติประเมินว่า การอภัยโทษครั้งหนึ่งๆ จะช่วยลดผู้ต้องขังได้ราว 25,000-30,000 คน

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2554 มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ทำให้ลดผู้ต้องขังจาก 251,812 คน ในเดือนธันวาคม 2554 ให้เหลือ 224,864 คน เมื่อถึงเดือนมกราคม 2555 แต่โอกาสการพระราชทานอภัยโทษนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกๆ ปี เช่น ในปี 2556-57 ก็ไม่ได้มีวาระสำคัญดังกล่าว

ปลากระป๋องตรา คุกไทย

ผลพวงที่ตามมาจากจำนวนผู้ต้องขังมหาศาลเช่นนี้ คือความแออัดภายในเรือนจำแทบจะทั่วประเทศ โดยจากจำนวนเรือนจำและทัณฑสถานทั้งประเทศ 144 แห่ง สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ราว 110,000 คน ความหนาแน่นของประชากรคุกในปัจจุบันจึงเกินความจุที่สามารถรองรับได้ไปเกือบ 3 เท่า ปัญหาความแออัดนี้ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในระบบการจัดการเรือนจำ และส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง

ปัญหาประการแรก คือการจัดแยกประเภทผู้ต้องขังไม่สามารถทำได้ตามหลักการและตามกฎหมาย โดยเฉพาะการแยกคุมขังระหว่างผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ออกจากนักโทษที่คดีถึงที่สุด จึงทำให้เรือนจำส่วนใหญ่เป็นทั้งเรือนจำกลางและเรือนจำพิเศษไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในหลายกรณี เรือนจำพิเศษที่ควรจะใช้คุมขังเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ก็กลับกลายเป็นที่คุมขังนักโทษเด็ดขาดในคดีถึงที่สุดไปด้วย เช่น ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ถูกใช้คุมขังนักโทษที่คดีถึงที่สุด ซึ่งเดิมกำหนดอัตราโทษไม่เกิน 7 ปี แต่ในภายหลังก็ขยายอำนาจคุมขังขึ้นไปอีก เป็นไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากเมื่อมีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้วต้องย้ายเรือนจำไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ไม่มีพื้นที่ให้ย้ายไปได้

ด้วยปัญหาเช่นนี้ กรมราชทัณฑ์จึงพยายามกำหนดหลักปฏิบัติขึ้นมาว่า หากแยกเรือนจำไม่ได้ ให้พยายามแยกแดนผู้ต้องขังระหว่างกับผู้ต้องขังเด็ดขาดออกจากกัน และหากยังแยกแดนไม่ได้อีก ก็ต้องแยกเรือนนอนออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องขังกลุ่มต่างๆ ก็อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันและถูกปฏิบัติไม่แตกต่างกัน

ประการต่อมา ปัญหาความแออัดนี้ยังนำไปสู่ปัญหาอัตรากำลังพลไม่เพียงพอ ตามหลักราชทัณฑ์สากลนั้น กำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับจำนวนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อจำนวนผู้ต้องขัง 5 คน แต่สำหรับบ้านเรานี้ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้กำหนดให้มาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ต่อ 10 หากแต่จำนวนเจ้าหน้าที่จริงๆ ในปัจจุบันของราชทัณฑ์มีอยู่ราว 11,300 คน เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังเกือบ 3 แสนคน ทำให้อัตราส่วนของเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังอยู่ที่ราว 1 ต่อ 25

บ้านพักเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในบริเวณเรือนจำกลางเชียงใหม่แห่งใหม่

อีกทั้งในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ของเรือนจำจำนวนหนึ่งยังต้องทำงานอยู่ภายนอกเรือนจำ เช่น งานการเงิน งานธุรการ งานเยี่ยมญาติ เป็นต้น ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมแต่อย่างใด สัดส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ต้องขังภายในจริงๆ จึงยิ่งห่างจากมาตรฐาน โดยไม่สามารถขยายอัตรากำลังได้ เหตุเพราะนโยบายลดกำลังคนของภาครัฐ ปัญหานี้มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนมีภาระงานที่หนักขึ้น และเพิ่มความเครียดในการทำงานของเจ้าพนักงานนอกเหนือไปจากสภาพบรรยากาศภายในเรือนจำที่ตึงเครียดอยู่แล้ว

สำหรับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็มองว่า ความแออัดนี้เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องโทษได้  หลักสูตรการฝึกวิชาชีพไม่เพียงพอรองรับนักโทษจำนวนมาก ไม่มีเวลาที่จะใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูได้ทั่วถึง ทำให้กระบวนการต่างๆ รวนไปหมด  รวมทั้งทำให้เกิดการซ่องสุมในหมู่นักโทษ  และถ่ายทอดหล่อหลอมพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนอาชญากรรมระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันสำหรับผู้ต้องขัง ปัญหานี้ก็นำไปสู่ผลกระทบต่อสิทธิต่างๆ ทั้งพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การกินอยู่หลับนอนที่ต้องเบียดเสียดแก่งแย่งกัน การรักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งจะได้สำรวจผลกระทบเหล่านี้ในรายงานส่วนต่อไป

นโยบายใหม่ราชทัณฑ์

ปัญหาพื้นฐานข้างต้น นำไปสู่นโยบายใหม่ๆ ของราชทัณฑ์เพื่อพยายามแก้ไขสภาวะของเรือนจำดังกล่าว โครงการสำคัญของกรมราชทัณฑ์ในปีที่ผ่านมา คือโครงการสร้างเรือนจำใหม่กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท โดยจะทำการย้ายเรือนจำเดิมที่ส่วนมากตั้งอยู่กลางเมือง ออกไปยังพื้นที่นอกเมืองที่ห่างไกลจากชุมชน พร้อมออกแบบให้มีขนาดกว้างขวางมากขึ้น

กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผอ.สำนักทัณฑปฏิบัติ ประมาณการณ์ว่า เรือนจำทั่วประเทศในขณะนี้ เป็นเรือนจำที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปอยู่ราว 40-50 แห่ง เรือนจำบางแห่งมีอายุมากกว่า 100 ปี ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคแรกของระบบงานราชทัณฑ์ เช่น เรือนจำจังหวัดพังงา หรือเรือนจำจังหวัดสตูล สภาพเช่นนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างใหม่ในหลายพื้นที่ โดยเรือนจำหนึ่งๆ ใช้งบเฉลี่ยราว 700-800 ล้านบาทขึ้นไป

ในสมัยก่อน ที่ตั้งของสถานที่คุมขังผู้ต้องหานั้น มักจะอยู่ใต้ถุนหรืออยู่กับจวนผู้ว่าราชการจังหวัด หรือติดกับศาลากลางจังหวัด เพราะผู้ว่าฯ มีหน้าที่ในการจับโจรผู้ร้ายด้วย เมื่อมีคนร้าย คนขโมย ก็จับไปล่ามโซ่ใต้ถุน อีกทั้งเรือนจำเหล่านี้ยังมีขนาดเล็ก บางที่มีพื้นที่ราว 3-4 ไร่เท่านั้น เช่น เรือนจำจังหวัดน่าน ทำให้รองรับผู้ต้องขังได้ไม่มากนัก

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ความเห็นว่า การย้ายเรือนจำเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขัง ขณะเดียวกันเมืองที่เจริญขึ้นรอบๆ เรือนจำ ก็ทำให้เรือนจำต้องย้ายออกไป อย่างกรณีเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่เคยอยู่บริเวณทางไปอำเภอแม่ริม เมื่อก่อนก็ถือได้ว่าตั้งอยู่ภายนอกเมือง แต่ความเจริญก็ค่อยๆ ตามไปถึง

หากพิจารณาหลักการตั้งเรือนจำแล้ว กรณีเป็นเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ควรจะตั้งอยู่ใกล้หรือติดกับศาล เพราะต้องนำผู้ต้องขังไปศาล ระยะที่เหมาะสมไม่ควรเกินกว่า 10 กิโลเมตรจากศาล แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ก็อาจจำเป็นต้องตั้งอยู่ไกลออกไป ส่วนเรือนจำผู้ต้องขังเด็ดขาดสามารถจะตั้งอยู่ภายนอกเมืองมากๆ ได้ นอกจากนั้นเรือนจำในพื้นที่ใหม่จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้และสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอด้วย

และเนื่องจากปัญหาการหางบประมาณในการจัดสร้าง ทางกรมราชทัณฑ์จึงค่อยๆ ทยอยสร้างเรือนจำในส่วนที่มีความพร้อม ด้วยการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนสร้างเรือนจำใหม่ๆ โดยบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จะออกพันธบัตรมาขายประชาชนและนักลงทุนทั่วไป เพื่อพยายามปรับปรุงและก่อสร้างเรือนจำใหม่ตามโครงการให้แล้วเสร็จทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณรัฐ ซึ่งกว่าจะสร้างได้ครบสมบูรณ์อาจต้องใช้ระยะเวลานานหลายสิบปี

นอกจากนั้น ราชทัณฑ์ยังมีโครงการสร้างเรือนจำความมั่นคงสูงสุด (supermax prison) เพื่อคุมขังนักโทษในคดีร้ายแรง หรือนักโทษที่มีพฤติกรรมรุนแรงโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ หรือผู้ต้องขังที่พยายามหลบหนีบ่อยครั้ง โดยเป็นเรือนจำที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดสูงสุด  รูปแบบเป็นห้องขังเดี่ยว (เซลล์เดี่ยว) หรือห้องขังคู่ ลักษณะเป็นแดนเดียว ในอาคารหนึ่งจะคุมผู้ต้องขังได้ประมาณ 600 คน แต่จำนวนที่พอเหมาะคือราว 400 คน มีประตูเปิดปิดด้วยระบบไฟฟ้า ใช้คอมพิวเตอร์โปรโตคอลมาควบคุมระบบทั้งหมด การพูดคุยทำผ่านไมโครโฟน การส่งอาหารทำผ่านช่องประตู โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้สัมผัสหรือติดต่อกันกับเจ้าหน้าที่โดยตรง

รูปแบบเรือนจำความมั่นคงสูงสุดนี้นำมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และมีใช้ในหลายประเทศเช่นกัน เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ส่วนในเมืองไทยได้ดำเนินการจัดสร้างจนแล้วเสร็จที่บริเวณเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี รอการเปิดใช้ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดวางกำลังคนและระบบ นอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างเรือนจำลักษณะนี้เพิ่มเติมที่จังหวัดพิษณุโลกและระยอง คาดว่าอีกราว 2-3 ปีน่าจะเปิดใช้ได้

ระบบคอมพิวเตอร์แสดงภาพกล้องวงจรปิดที่จับตาพื้นที่ส่วนต่างๆ

ภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่

นอกจากนโยบายและโครงการสร้างเรือนจำใหม่แล้ว กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ยังมีความพยายามแก้กฎกระทรวงว่าด้วยการพักการลงโทษ หรือการปล่อยผู้ต้องขังก่อนกำหนด ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งตามระบบราชทัณฑ์ นอกจากการพ้นโทษตามคำพิพากษา ระบบการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก เป็นการระบายนักโทษออกจากเรือนจำอีกทางหนึ่ง โดยปีหนึ่งๆ จะมีนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวผ่านช่องทางนี้ประมาณ 4 หมื่นคน หรือราว 1 ใน 5 ของนักโทษทั้งประเทศ แยกเป็นกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวจากการพักการลงโทษราว 8 พันกว่าคน และจากการลดวันต้องโทษ 3.1 หมื่นคน

ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 32 (5) กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดที่มีสิทธิได้รับการพักการลงโทษ ต้องถูกจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือไม่น้อยกว่า 10 ปีในกรณีของจำคุกตลอดชีวิต และมีความประพฤติที่ดี อีก 2 ใน 3 ที่เหลือสามารถได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำได้ โดยไม่ได้ระบุลำดับชั้นของนักโทษ

แต่ตามกฎกระทรวง มีการกำหนดให้นักโทษชั้นเยี่ยมต้องจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพักโทษ นักโทษชั้นดีมากจำคุกมาแล้ว 3 ใน 4 และชั้นดีจำคุกมาแล้ว 4 ใน 5 ซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. จึงได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง โดยกำหนดใหม่ว่า ให้นักโทษชั้นเยี่ยมที่จำคุกมาแล้ว 1 ใน 2 หรือครึ่งหนึ่งของโทษที่ได้รับมีสิทธิได้รับการพักโทษ นักโทษชั้นดีมากจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 และนักโทษชั้นดีจำคุกมาแล้ว 3 ใน 4

กิตติพัฒน์ประมาณการณ์ว่า หากแก้ไขกฎกระทรวงนี้ได้สำเร็จ เข้าใจว่าน่าจะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัวจากการพักการลงโทษมากขึ้นปีหนึ่งราว 5 หมื่นคน หรือราว 1 ใน 4 ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ แต่ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากระบบนี้ยังคงมีเงื่อนไขอยู่ โดยต้องเป็นที่มั่นใจว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อสังคมและยังมีการติดตามดูสถิติการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งจากสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า นักโทษที่ถูกปล่อยตัวจากการลดวันต้องโทษจำคุกที่กระทำผิดเงื่อนไขมีอยู่ราว 3% ส่วนนักโทษที่ได้รับการพักการลงโทษ มีการทำผิดเงื่อนไขราว 1.5% ซึ่งถือว่าไม่มากนัก และอยู่ในระดับที่รับได้ วิธีการนี้จึงน่าจะช่วยระบายนักโทษได้อีกหนทางหนึ่ง

แต่นโยบายใหม่ๆ ของทางราชทัณฑ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการย้ายและสร้างเรือนจำที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ก็ใช่ว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำได้ทั้งหมด ด้วยแนวทางการแก้ปัญหานี้ยังมีลักษณะปลายเหตุ อันไม่ได้แตะต้องต้นเหตุที่กระบวนการยุติธรรมโดยรวมแต่อย่างใด ในตอนต่อไปของรายงานชิ้นนี้ จึงจะได้ลองสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการย้ายเรือนจำ รวมทั้งปัญหาเดิมๆ ที่ยังดำรงอยู่ โดยใช้กรณีของเรือนจำในจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวอย่างในการสำรวจ

 

หมายเหตุ ขอขอบคุณ ธีระพล คุ้มทรัพย์ สำหรับความช่วยเหลือด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วน และขอบคุณ อธิคม มุกดาประกร สำหรับการออกแบบภาพประกอบ
 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net