Skip to main content
sharethis

เมื่อคนไปม็อบธรรมดาต้องกลายมาเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ประชาไทพูดคุยกับ โตโต้–ธนกร ชัยอาภรณ์ อดีตบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มช. และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ที่ขณะนี้กำลังยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย

 

คนลี้ภัยที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ในช่วงปี 2563-2564 มี ‘คนธรรมดา’ หลายคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 มากเสียจนกลายเป็นจำนวนนับ พวกเขาเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนักทำให้ต้องเผชิญกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเงียบๆ

โตโต้–ธนกร ชัยอาภรณ์ อดีตบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการยื่นขอสถานะลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย

 

ธนกรร่วมกิจกรรมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ สว. เคารพผลการเลือกตั้ง ที่เมืองเมลเบิร์น เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2566

ภาพจาก The Australian Alliance for Thai Democracy

เขาอาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบิร์นและทำงานเป็นพนักงานโรงแรม โดยมีสถานะอยู่อาศัยชั่วคราวจากวีซ่าเพื่อท่องเที่ยวและทำงาน (Work & Holiday) ที่อนุญาตให้พำนักที่นี่ได้นานถึง 12 เดือน

วีซ่า Work and Holiday นี้ เขาได้ยื่นเอกสารขอมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะได้รับคดี แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเพราะติดช่วงโควิด ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2564 เขาได้รับคดีและเริ่มถูกตำรวจคุกคาม

จนกระทั่งต้นปี 2565 วีซ่าได้รับการอนุมัติ ขณะนั้นเขาที่ทำงานเป็นครูในโรงเรียนเอกชนในจังหวัดเชียงรายจึงลาออกจากงาน และเดินทางออกนอกประเทศโดยที่ไม่ได้มีความคิดจะลี้ภัย ด้วยความเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดจึงคิดแค่ว่าจะเก็บเงินกลับมาสู้คดี บวกกับแม่ของเขาก็อายุมากแล้ว

ทว่าในปีต่อมาที่ไทยมีการเลือกตั้ง เขาเห็นว่าการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสัมพันธ์กับสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เลวร้ายจึงตัดสินใจยื่นขอลี้ภัยแต่ถูกปฏิเสธ ขณะนี้เขาอยู่ในช่วงยื่นอุทธรณ์

แม้เขาจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและปรับตัวง่าย ช่วงเวลาที่ต้องรอคอยสถานะผู้ลี้ภัยก็สร้างความหน่วงใจไม่น้อย นั่นหมายความว่าเขายังไม่สามารถวางแผนอนาคตในระยะยาวได้ 

“ผมฝันอยากเป็นอาจารย์มหา’ลัย เรียนจบก็อยากไปอยู่ที่เชียงราย สอนมหา’ลัยใกล้บ้านแม่ ตอนนี้ก็อยากเป็นอาจารย์มหา’ลัยอยู่ แค่เปลี่ยนสถานที่มาเรียนต่อที่นี่ ผมคิดว่าผมยังสานฝันต่อได้ในเส้นทางที่ผมอยากทำ แค่รอวีซ่าให้มันผ่าน อะไรมันจะง่ายขึ้น”

 

ธนกร ผู้ที่กำลังยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ถ่ายรูปร่วมกับ

(ซ้าย)  พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ตำรวจมือปราบค้ามนุษย์ที่กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย

และ (ขวา) ศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโตและเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย

ภาพจาก ธนกร ชัยอาภรณ์

 

ความเปลี่ยนไปของละแวกบ้าน

 

ย้อนไปช่วงหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 2561 ด้วยความเป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบออกไปเจอผู้คน เขาเข้าร่วมโครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยว (Work and Travel) ที่สหรัฐอเมริกา ในบรรดาเพื่อนที่ได้พบเจอ มีอยู่คนหนึ่งที่เล่าเรื่องการเมืองในหลายๆ แง่มุมให้เขาฟัง ความสนใจเรื่องการเมืองของธนกรณ์เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจนักและดูเหมือนจะไม่ได้นำไปสู่อะไร

จนกระทั่งเมื่อปี 2563 ที่มีการชุมนุมนำโดยคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ยุบพรรค ในช่วงเดียวกันโควิด-19 ก็กำลังเริ่มระบาดจนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง

ขณะนั้นเขากลับมาอยู่บ้านแม่ที่อำเภอพานซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเคยอยู่ตอนเด็กๆ ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่กรุงเทพฯ ภาพความทรงจำวัยเด็กย้อนเข้ามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เขาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมหลายๆ อย่างถึงเลวร้ายลง คนทำสินค้าโอทอปเชียงรายเคยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พอช่วงโควิด-19 ทุกอย่างเริ่มแย่ ละแวกบ้านมีคนแก่แขวนคอตาย คนหนุ่มสาวไม่รู้หายไปไหน ซึ่งตัวเขาที่ย้ายไปโตที่อื่นและกลับมาอยู่บ้านแม่เป็นพักๆ ก็ไม่ได้รู้สาเหตุที่แน่ชัดของสภาพเหล่านี้ ที่เห็นก็มีแต่งานเทศกาลที่ไม่คึกคักเหมือนเคย ซ้ำคนในชุมชนดูจะจนลงเรื่อยๆ

เขานึกถึงเรื่องการเมืองที่เพื่อนคนนั้นเคยเล่า ประกอบกับในโลกออนไลน์ก็มีหลายกลุ่มเฟซบุ๊กที่คอยแชร์ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสที่มักวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เขาตามข่าวจากกลุ่มเหล่านั้นและออกไปร่วมชุมนุมบ่อยๆ 

 

ชีวิตเปลี่ยนหลังร่วมคาร์ม็อบ

 

ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่มีชุมนุมคาร์ม็อบที่เชียงใหม่ บทบาทของเขาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา เขาขับรถมาจากบ้านที่เชียงรายและไปจอดรอตรงจุดรวมพล ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก

“ผมก็เอาผ้าพันคอจิตอาสา สีเหลืองฟ้าแปะหน้ากระโปรงรถ แล้วเขียนคำว่า “ค.ว.ย.” คำเล็กๆ ข้างใต้ เขียนว่า “คอยวัคซีนอยู่” แล้วก็ปิดป้ายทะเบียนรถไว้ แอบกลัวนิดหนึ่ง” เขาบอกด้วยว่ามีอีกหลายป้ายข้อความที่ติดอยู่รอบรถ

บรรยากาศของขบวนเป็นไปอย่างคึกคัก เขาขับรถไปเรื่อยๆ จนถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คนจำนวนหนึ่งเข้ามาถ่ายรูปรถ บ้างเซลฟี่แล้วก็โห่ร้องกัน มีเสียงกลอง นกหวีด และมือตบดังคลออยู่เรื่อยๆ ต่อมารูปรถของเขาก็กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมเขาก็ขับรถกลับเชียงราย

หลังจากคาร์ม็อบเพียง 1 วัน (2 ส.ค. 2564) มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 คนจาก สภ.เมืองเชียงราย มาหาธนกรที่บ้านและพูดภาษาเหนือตักเตือนอย่างเป็นกันเอง ถึงการเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันกษัตริย์

“ตอนทำงานอยู่ มีสายเข้าจากพี่ชายว่ามีตำรวจอยากเจอ เลิกงานแล้วให้มาหาที่บ้านหน่อย ที่เชียงราย ผมก็เริ่มกลัวแล้ว เราไม่เคยโดนคดีมาก่อน เป็นคนร่วมม็อบคนหนึ่ง พอถึงที่บ้านปุ๊บก็มีตำรวจ 1 คนจาก สภ.เมืองเชียงราย คนนี้เขาไม่ทำอะไร พูดดีมาก มาแนวตักเตือน บอกว่าถ้าจะเคลื่อนไหวการเมืองหรือรัฐบาลก็ได้ แต่อย่าเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันกษัตริย์…แล้วเขาก็กลับไป”

“หลังจากนั้นก็มีอีกสายโทรหาพี่ชาย บอกว่าอยากให้ผมทำคลิปขอโทษ เพราะองค์รักษ์ในวังรู้เรื่องแล้ว ถ้าทำคลิปเรื่องก็จะจบ”

 

ตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาธนกรเป็นครั้งแรก หลังจากคาร์ม็อบเพียง 1 วัน

ภาพจาก ธนกร ชัยอาภรณ์

คืนนั้นธนกรเริ่มนอนไม่หลับ แต่แน่ใจว่าตัวเองจะไม่ทำคลิปแน่ๆ เพราะเขารู้สึกแปลกๆ ถ้าต้องมาขอโทษในสิ่งที่เขาไม่ผิด

การคุกคามครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันถัดมา (3 ส.ค. 2564) ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 คนจาก สภ.เมืองเชียงราย มาหาเขาที่บ้านเพื่อขอผ้าพันคอผืนนั้นไปเป็นหลักฐาน ครั้งนี้พูดภาษาไทยกลางและขออัดเสียงระหว่างพูดคุย

“มีสายเข้ามาเหมือนเดิม ตำรวจจะขอมาเจอที่บ้านเหมือนเดิม เขาดูจากกล้องวงจรปิด ตัวที่เป็นปัญหาคือผ้าพันคอ “ค.ว.ย.” ตำรวจก็มาหาอีกที 2 คน เขาอยากได้ผ้าพันคอที่ผมเอาไปแปะที่รถ”

ด้วยความที่ตำรวจบอกว่าได้เจาะแชทและดักฟังโทรศัพท์ของเขาไว้หมดแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมือถือและย้ายที่อยู่ ส่วนในเรื่องหน้าที่การงานที่เขามีอาชีพครูก็ได้ปรับเป็นการสอนออนไลน์แทน

 

ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 คนมาหาธนกรอีกครั้งเพื่อหาหลักฐาน  โดยภาพนี้ถูกถ่ายบริเวณหลังร้านค้าของพี่ชายธนกร เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ธนกรบอกผู้สื่อข่าวประชาไทด้วยว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบคนที่ใส่นาฬิกา(ขวา) เป็นคนเดียวกันกับคนในรูปโปรไฟล์ตามภาพแคปด้านล่าง อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวประชาไทนำเบอร์นี้ไปค้นหาในแอปพลิเคชันไลน์ ปรากฏว่าไม่พบผู้ใช้งาน

ภาพจาก ธนกร ชัยอาภรณ์

ธนกรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมตำรวจจึงไม่โทรหาเขาโดยตรง แต่เลือกจะใช้วิธีโทรหาคนใกล้ชิดอย่างพ่อ แม่ พี่ชาย รวมถึงพี่สะใภ้ เพื่อฝากข้อความมาถึงเขา

การคุกคามครั้งที่สามเกิดขึ้นที่บ้านแม่ของเขาในเชียงราย

“ตำรวจไปหาที่บ้านแม่ในอำเภอพานที่ผมมีทะเบียนบ้านตอนเด็ก เขาไปวนหน้าบ้านแม่ผมก่อน ไม่เข้าไป แต่ไปเข้าบ้านผู้ใหญ่บ้าน แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านโทรหาแม่ผมให้มาคุยกันที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน เขาอาจจะกลัวข้อหาบุกรุก ผมไม่ได้ติดต่อแม่เลย ไม่กล้าติดต่อใครเลยตอนนั้น ไม่รู้รายละเอียดเท่าไหร่ แม่บอกว่าเขามาเตือน เขาพูดเหนือ มาจากอำเภอพานนี่แหละ 2 คน เขาพูดดีมาก มาตักเตือน อยากได้หลักฐาน แม่ก็เลยบอกผมว่า เอาไปให้เขาซะ เราก็เลยบอกว่าแม่ว่านี่เป็นจิตวิทยามาคุกคาม ใช้ภาษาถิ่น เหมือนที่พี่แกนนำเคยโดน อย่าไปเชื่อ ให้เชื่อลูก”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีตำรวจจาก สน.บางเขน ไปหาเขาที่คอนโดมิเนียมของเขาในกรุงเทพฯ ด้วย แต่พบว่าบ้านถูกล็อกไว้ ไม่มีใครอยู่ ตำรวจจึงติดต่อหาแม่ของเขาอีกครั้งผ่านทางนิติบุคคลของคอนโดฯ

 

กลับบ้าน

 

หลังจากย้ายมาอยู่ที่นี่ ความที่เป็นคนชอบทำกิจกรรมมาแต่ไหนแต่ไร เขาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม ‘The Australian Alliance for Thai Democracy ออสซี่ ขยี้เผด็จการ’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คนไทยในซิดนีย์ร่วมกันก่อตั้งขึ้น

ตัวเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่เมืองเมลเบิร์น โดยผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมีทั้งคนรุ่นใหม่ รวมถึงรุ่นลุงๆ ป้าๆ ที่ใส่เสื้อแดงมาตลอดพร้อมกับการมาเป็นสปอนเซอร์บ้าง เลิกงานก็พาไปทานข้าว

 

ธนกรในงานนิทรรศการ ‘Faces of Victims of 112’ ที่เมืองเมลเบิร์น

ภาพจาก The Australian Alliance for Thai Democracy

ธนกรกล่าวถึงจุดยืนเรื่องการกลับบ้านระบุว่า ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ผ่านโดยที่มีการรวมคดี ม.112 และมีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เขาเองก็อยากจะกลับเหมือนกัน

“รู้สึกว่าคนที่ได้กลับเป็นสิ่งที่เบื้องบนเลือกมาแล้วว่ามีประโยชน์ ส่วนคนที่ไม่มีประโยชน์ คนรุ่นใหม่ออกไปเถอะ หาประโยชน์ไม่ได้แล้วยังจะมาขัดผลประโยชน์อีก แล้วจะยังมีออกไปอีกเรื่อยๆ คนกลับเข้ามาก็จะเป็นคนที่เขาอยากได้อยู่แล้ว ความยุติธรรมมันไม่เท่ากันจริงๆ”

“เราไม่เห็นว่าไทยมันดียังไงอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าเรารักแม่เหมือนเดิม เรามีเพื่อนที่เชียงราย เชียงใหม่ ก็จะกลับไปหาเขา ไม่ว่าจะด้วยวีซ่าอะไรก็แล้วแต่”   

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net