Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่นโปเลียนขึ้นสู่อำนาจ กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ได้แพร่กระจายจากฝรั่งเศสไปยังประเทศ “อาณานิคม” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาติยุโรปในภาคพื้นทวีปถูก “บังคับให้ริเริ่ม” กฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยแรงกดดันจากภายนอก

ฝรั่งเศสได้กฎหมายลิขสิทธิ์มาพร้อมๆ กับเข้าสู่ช่วง “ยุคแห่งความกลัว” และพอยุคดังกล่าวผ่านพ้นไปบรรดาพ่อค้าหนังสือที่เหลือรอดอยู่ก็ตระหนักว่าลำพังกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ช่วยอะไรกับความซบเซาของตลาด “หนังสือ” เลย เพราะขนาดหนังสือจำพวกนวนิยายที่ควรจะขายดีก็มีตีพิมพ์ออกมาใหม่ในปี 1794 เพียง 16 เรื่องเท่านั้นทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีกฎหมายลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ยอดที่ว่าคือการลดลงจากยอดตีพิมพ์นวนิยายใหม่กว่า 100 เล่มในปี 1789 อันเป็นปีแรกของการปฏิวัติ [1]

ความผันผวนของตลาดอันเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมืองดูจะเป็นพิษร้ายกว่าหนังสือเถื่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะโดยทั่วไปก็ไปภาพรวมก็ไม่น่าจะมีผู้คนมากนักที่รู้สึกสงบร่มเย็นพอจะอ่านหนังสือในยุคที่มีทั้งสงครามที่ชายแดนกับประเทศอื่นๆ มีทั้งสงครามกลางเมืองในต่างจังหวัด และมีการจับคนในเมืองหลวงไปบั่นคอไม่เว้นแต่ละวันฐานเป็นศัตรูของการปฏิวัติ

หายนะของตลาดหนังสือถึงกับทำให้ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ (ซึ่งเพิ่งตั้งมาหลังปฏิวัติ) อย่าง Jean-Baptiste Lefebvre de Villebrune ออกรายงานในปี 1794 มาเรียกร้องว่ารัฐควรให้มีการสนับสนุนสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาคุณภาพด้วยการให้รางวัลในแบบต่างๆ ซึ่งนี่เป็นมาตรการที่กลับหัวกลับหางกับระบอบเก่าที่จัดการเหล่าสิ่งพิมพ์ที่รัฐไม่ต้องการให้อยู่ในสายบบด้วยการแบนเสีย ระบอบใหม่มีมาตรการที่จะไม่แบนอะไรทั้งนั้น (เว้นแต่เป็นภัยต่อการปฏิวัติจริงๆ เช่น ใบปลิวที่เสนอให้เอาระบอบกษัตริย์กลับมาใหม่) แต่มีนโยบายสนับสนุนสิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมแทน [2] ซึ่งสุดท้ายทางฝ่ายบริหารก็ตอบสองสิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างรวดเร็วในรูปของการประกวดเขียนแบบเรียนประถมไปจนถึงเงินช่วยเหลือโดยตรงและสินเชื่อสาธารณะ [3]

ถ้าดูในทางสถิติการนำหนังสือไปขึ้นทะเบียนพร้อมมอบกับหอสมุดแห่งชาติเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ (ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากไม่นำหนังสือไปขึ้นทะเบียน ผู้ถือลิขสิทธิ์ก็ไม่มีสิทธิ์จะทำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์) ก็จะพบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 1794 ไปจนถึงสิ้นศตวรรษนั้นก็เป็นช่วงที่มียอดการตีพิมพ์หนังสือมากขึ้นเป็นลำดับอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาแล้ว การจะให้ความดีความชอบกับนโยบายช่วยเหลือของรัฐ ในการกอบกู้ตลาดวรรณกรรมก็คงจะเป็นการให้น้ำหนักมากไป เพราะอย่างน้อยๆ หมวดหมู่ของหนังสือที่ขยายตัวอย่างมากที่สุดก็คือหมวดวรรณกรรมอันเป็นหมวดที่การขยายตัวดูจะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสนับสนุนการพิมพ์หนังสือของรัฐน้อยที่สุด

ปัจจัยชี้ขาดการฟื้นตัวของตลาดหนังสือฝรั่งเศสหลังจุดเดือดของการปฏิวัตินั้นดูจะไม่ใช่ทั้งการมีหรือไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการมีหรือไม่มีการสนับสนุนของรัฐ แต่เป็นสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีเสถียรภาพขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่สงครามทั้งนอกและในทยอยกันจบสิ้นลง ไปจนถึงการที่เหล่าคนรวยสามารถเดินไปมาบนท้องถนนและใช้ชีวิตทำมาค้าขายได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกลากไปบั่นคอฐานเป็นศัตรูของการปฏิวัตินั้นก็ดูจะเป็นเงื่อนไขสำคัญให้เกิดความสงบสุขของสังคมพอที่คนจะมีกะจิตกะใจซื้อหนังสือมานั่งลงอ่าน

ในกรอบแบบนี้ทั้งการริเริ่มกฎหมายลิขสิทธิ์ไปจนถึงการริเริ่มนโยบายการช่วยเหลือการตีพิมพ์หนังสือของรัฐในฝรั่งเศสก็ล้วนดูจะเป็นความพยายามกอบกู้ตลาดหนังสือของฝรั่งเศสขึ้นมาจากภาวะตกต่ำอย่างไร้ผลทั้งคู่ เพราะวิธีแก้ภาวะตกต่ำและชะงักงันของตลาดหนังสือทางเดียวที่ดูจะได้ผลก็คือการทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่กฎหมายลิขสิทธิ์หรือนโยบายสนับสนุนการพิมพ์ อย่างไรก็ดีทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์และนโยบายสนับสนุนการพิมพ์หนังสือ (ที่ภายหลังขยายไปเป็นนโยบายสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมโดยรวมๆ) ก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันโดยที่ผู้คนก็คงจะไม่ใส่ใจถึงจุดเริ่มของทั้งคู่ในฐานะของนโยบายแก้ไขปัญหาตลาดหนังสืออันไร้ประสิทธิภาพ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วลิขสิทธิ์ดูจะเข้าไปอยู่ในสารบบกฎหมายฝรั่งเศสอย่างบังเอิญมากๆ เพราะมันเป็นกฎหมายทิ้งทวนของเหล่า “ญิรงแด็ง” ก่อนที่จะหมดอำนาจในสภาและต้องหนีกิโยตินกับหัวซุกหัวซุน อย่างไรก็ดีมันก็เป็นกฎหมายที่คงอยู่ตลอดการปฏิวัติจนถึงจุดจบของการปฏิวัติที่หมุดหมายสำคัญก็คือการรัฐประหารของนายพลนโปเลียนในปี 1799

นโปเลียนดูจะเป็นคนที่ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสจบสิ้นลงและพยายามฟื้นฟูสารพัดสิ่งที่การปฏิวัติเคยพยายามจะกำจัดให้หมดสิ้นไปกลับมาก็จริง แต่ผลพวงการปฏิวัติหนึ่งที่นโปเลียนไม่สามารถจะพรากไปจากพลเมืองฝรั่งเศสได้ก็คือหลักการ “ความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย” [4] และสิ่งที่เป็นหลักประกันก็คือ “ระบบกฎหมายนโปเลียน” (Napoleonic Code) อันเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ทรงอิทธิพลที่สุดระบบหนึ่งในยุคสมัยใหม่และมันก็เป็นรากฐานของกฎหมายสมัยใหม่ของประเทศยุโรปจำนวนมาก

การก่อสงครามไปทั่วยุโรปของนโปเลียนนั้นเป็นการ “ต่อยอด” ของการปฏิวัติฝรั่งเศสหรือไม่อาจเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน แต่ในที่นี้ สิ่งที่ดูจะเป็นประเด็นก็คือผลพวงด้านกฎหมายของประเทศต่างๆ ที่โดนฝรั่งเศสยึดในสงครามนโปเลียน ประเทศเหล่านี้ดูจะเปลี่ยนระบบกฎหมายไปจากระบบกฎหมายจารีตประเพณีของโลกศักดินาไปในเพียงข้ามคืน และมิติที่สำคัญที่สุดที่ต้องกล่าวในที่นี้ก็คือ การนำกฎหมายลิขสิทธิ์ไปใช้ในการให้สิทธิ์การผูกขาดการพิมพ์หนังสือโดยอัตโนมัติแก่ผู้เขียน แทนที่ระบบอภิสิทธิ์การพิมพ์หนังสือในแบบเดิมของโลกในระบอบกษัตริย์ที่ต้องขอสิทธิในการผูกขาดพิมพ์หนังสือกับองค์กษัตริย์อย่างเฉพาะกิจเป็นเล่มๆ ไป

การเผยแพร่ลิขสิทธิ์เข้าไปในยุโรปของนโปเลียนนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรที่นักประวัติศาสตร์การเมืองหรือกระทั่งประวัติศาสตร์กฎหมายโดยทั่วๆ ไปสนใจ แต่ในเชิงประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ นี่เป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะมันเป็นครั้งแรกที่กฎหมายลิขสิทธิ์บุกเข้าไปในยุโรป และเป็นครั้งแรกที่ชาติยุโรปในภาคพื้นทวีปถูก “บังคับให้ริเริ่ม” กฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยแรงกดดันจากภายนอก ไม่ได้ริเริ่มกฎหมายนี้เพราะพลวัตภายในเองอย่างอังกฤษ หรือฝรั่งเศส

กล่าวคือแม้แต่ในประเทศจำนวนมากในยุโรปเองการเริ่มใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์อย่างนักเขียนหรือกระทั่งสำนักพิมพ์ในประเทศแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ประเทศเหล่านี้อยู่ในภาวะที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “อาณานิคม” ของฝรั่งเศส (แม้จะในช่วงสั้นๆ ก็ตาม) ซึ่งผลของอาณานิคมก็ทำให้ “อดีตประเทศอาณานิคม” ในยุโรปเหล่านี้ได้ถูกวางระบบกฎหมายใหม่หมดที่โครงสร้างของมันก็มีความคงทนถาวรและดำรงอยู่หลังจากที่ฝรั่งเศสถอยล่ากลับไปและประเทศเหล่านี้มี “เอกราช” แล้ว

และจะพูดให้ตรงกว่านั้น ลิขสิทธิ์ก็คือกฎหมายของเจ้าอาณานิคมที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสอดคล้องกับเจตจำนงของผู้คนในท้องถิ่นแต่อย่างใด และนี่ก็เป็นแนวทางการขยายตัวของกฎหมายลิขสิทธิ์มาโดยตลอดตั้งแต่ยุค “อาณานิคมทางการเมือง” ในศตวรรษที่ 19 มาถึงยุค “อาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ในศตวรรษที่ 20 และกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศเกือบทั้งหมดในโลกก็ดูจะมีจุดเริ่มต้นด้วยอาณานิคมทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น กล่าวคือถ้าไม่ถูกยึดครองทางการเมืองและบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ ก็จะต้องถูกกดดันผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจให้บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ และหลายๆ ครั้งนี่ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่ “คนส่วนใหญ่” ในประเทศเหล่านั้นจะมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองด้วยซ้ำ แต่โดยทั่วไปแม้แต่ในยุคที่มีการต่อต้านลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาโวยวายว่า “ลิขสิทธิ์” ในระบบกฎหมายประเทศตนเป็นสิ่งที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยแต่อย่างใด

อ้างอิง:

  1. Carla Hesse, Publishing and Cultural Politics in Revolutionary Paris, 1789-1810, (Berkeley: University of California Press, 1991), p. 128
  2. น่าสนใจว่า Villebrune พูดถึงสิ่งพิมพ์อัน “ไร้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาสติปัญญา” อย่างชัดเจน แต่เขาก็ชี้ว่าของพวกนี้ก็ไม่ควรจะผิดกฎหมายอะไร แค่รัฐไม่ควรไปสนับสนุน ดู Carla Hesse, ibid, p. 139
  3. Carla Hesse, ibid, p. 144
  4. James H. Johnson, Listening in Paris: A Cultural History, (Berkeley: University of California Press, 1995), p. 229

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net