Skip to main content
sharethis

เผยความเสียหายแผ่นดินไหว จ.เชียงราย ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 1 ราย อาคารบ้านเรือนและสถานที่สำคัญเสียหายกินพื้นที่ 5 อำเภอ กรมทางหลวงระบุเส้นทาง 118 เชียงใหม่-เชียงรายเสียหาย 2 จุดหลัก จุดที่เสียหายหนักเตรียมรื้อและก่อสร้างใหม่

ความเสียหายของอาคารเทศบาลตำบลแม่ลาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ภายหลังเหตุแผ่นดินไหววันที่ 5 พ.ค. 2557 (ที่มา: ณัฐกร วิทิตานนท์ เอื้อเฟื้อภาพ)

6 พ.ค. 2557 - ภายหลังเหตุแผ่นดินมีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเย็นวานนี้นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ล่าสุดวันนี้ (6 พ.ค.) สวท.เชียงราย รายงานว่า นายสว่าง ม่อมดีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. ศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย วัดแรงสั่นสะเทือนระดับ 6.3 ลึกจากผิวดิน 7 กม.

ซึ่งพื้นที่ในรัศมี 25-112 กิโลเมตร อาคารและสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว ได้แก่ อำเภอขุนตาล, เชียงของ, เชียงแสน, ดอยหลวง, เทิง, ป่าแดด, พญาเม็งราย, พาน, เมือง, แม่จัน, แม่ฟ้าหลวง, แม่สรวย, แม่สาย, เวียงแก่น, เวียงชัย, เวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงรายและอำเภอใกล้เคียงจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และโรงพยาบาลแม่ลาวต้องอพยพผู้ป่วยลงมาจากอาคารลงมาอยู่ข้างล่าง

ทางด้านนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ชั้น 3 หมายเลขโทรศัพท์ 053-177318 ถึง 23 พร้อมแจ้งให้นายอำเภอทุกอำเภอ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ระดับอำเภอและแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชน

สำหรับความเสียหายเบื้องต้น ในพื้นที่อำเภอพาน แม่ลาว แม่สรวย เมืองเชียงราย และอำเภอเวียงชัย โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย วัดเสียหาย จำนวน 10 แห่ง โรงเรียน 3 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ทรุดตัว ยาวประมาณ 50 เมตร กระแสไฟฟ้าดับในเขตพื้นที่อำเภอพาน ป่าแดด แม่ลาว และอำเภอแม่สรวย รวมถึงบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่อำเภอพาน แม่ลาว และอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างสำรวจความเสียหาย

 

หลังแผ่นดินไหว-เกิดอาฟเตอร์ช็อกอย่างน้อย 70 ครั้ง

ทั้งนี้ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าได้เกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกเป็นระยะ โดยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 – 5.9 ริกเตอร์ จำนวน 3 ครั้ง ขนาด 4.0 – 4.9 ริกเตอร์ จำนวน 11 ครั้ง ขนาด 3.0 – 3.9 ริกเตอร์ จำนวน 26 ครั้ง และขนาดน้อยกว่า 3.0 ริกเตอร์ จำนวนมากกว่า 30 ครั้ง

และในวันนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้นัดประชุมนายอำเภอทุกอำเภอเพื่อสรุปความเสียหายที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมสั่งการให้อำเภอแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นและรวบรวมรายงานให้อำเภอและจังหวัดทราบ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

กรมทางหลวงสรุปเส้นทางเชียงราย-เชียงใหม่ เสียหาย 2 จุด

ขณะเดียวกัน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายชัชวาล บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงเส้นทางที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นบนทางหลวง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มี 2 จุด ประกอบด้วย ทางหลวงหมายเลข 118 สาย เชียงใหม่ - เชียงราย กม.ที่ 141 (บ้านโป่งฟูเฟือง) ยาวประมาณ 400 - 500 เมตร และทางหลวงหมายเลข 118 ช่วง กม.ที่ 151 - 152 (บ้านห้วยส้านยาว)

โดยทางหลวงหมายเลข 118 กม.ที่ 141 (บ้านโป่งฟูเฟือง) ลักษณะความเสียหาย เกิดมีรอยแตกตามขวาง และตามยาว ทำให้ผิวจราจรต่างระดับกันเล็กน้อย มีความกว้างของรอยแตกประมาณ 1 - 5 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 10 - 30 เมตร ประมาณ 10 รอยแตก การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น กรมทางหลวง โดยแขวงการทางเชียงรายที่ 1 ใด้จัดเจ้าหน้าที่ อำนวยความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู่ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง และจะได้ดำเนินการอุดรอยแตกที่เกิดขึ้น พร้อมปรับระดับผิวทางให้รถสามารถสัญจรผ่านได้อย่างปลอดภัย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ (6 พ.ค.57) โดยจะขุดซ่อมตามรอยแตกให้ถึงชั้นความเสียหายทั้งหมด และจัดทำโครงสร้างทางใหม่ และปรับระดับผิวจราจรให้เหมือนเดิม

ส่วนทางหลวงหมายเลข 118 กม.151 - 152 (บ้านห้วยส้านยาว) ลักษณะความเสียหาย มีรอยแตกตามยาว และรอยแตกตามขวาง รอยแตกกว้าง ประมาณ 5 - 20 เซนติเมตร ความยาว 20 - 40 เมตร ประมาณ 7 - 10 รอย และโครงสร้างโดยทั่วไป มีการบิดตัวเสียรูปทรงเกือบทั้งหมด และในช่วงประมาณ กม. 152 ผิวการจราจร ด้านซ้ายทาง ทิศทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่ ทรุดตัว ต่างระดับจากผิวเดิม ประมาณ 1 - 3 เมตร ยาวประมาณ 50 - 60 เมตร การดำเนินการแก้ไข กรมทางหลวงโดยศูนย์สร้างทางลำปาง จะก่อสร้างเพิ่มผิวจราจรด้านขวาทาง ทิศทางจากเชียงใหม่ มา เชียงราย อีก 1 ช่องจราจร เพื่อรองรับการจราจรให้เป็น 2 ช่องจราจร ให้เส้นทางผ่านได้ ซึ่งจะรื้อโครงสร้างทางที่เสียหายทั้งหมดออก แล้วดำเนินการก่อสร้างโครงชั้นทางขึ้นมาใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net