Skip to main content
sharethis

นักวิชาการคาดผลกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับยุทธศาสตร์เป็นพัฒนาแบบยั่งยืน เดินหน้าลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งซ้ำซาก ป้องกันกรุงเทพฯ จมลงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล


แฟ้มภาพกรมประชาสัมพันธ์

25 ส.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า คาดผลกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ชาวไทยยังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤติหลายมิติหลายลักษณะด้วยกัน ปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรงจากปรากฎการณ์ลานีญาล้วนมีความเกี่ยวพันกับภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนอันเป็นผลจากการพัฒนาแบบทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานฟอสซิสที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศโลก เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศอย่างรุนแรง จากข้อมูลของนักวิจัยเกี่ยวกับลานีญาในประเทศไทย พบว่า ปรากฎการณ์ลานีญาอาจยาวนาน 9-12 เดือน ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้ปริมาณน้ำฝนอาจสูงถึง 14,000 ล้าน ลบ. ม.

การเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญ สู่ ลานีญา ในไทย ทำให้ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ เจอภัยแล้งรุนแรงแล้วก็เจอน้ำท่วมหนัก การจะบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ต้องต้องปรับยุทธศาสตร์เป็นพัฒนาแบบยั่งยืน เดินหน้าลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำ การปรับยุทธศาสตร์เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน จะช่วยแก้ที่ต้นตอของปัญหา การพัฒนาในแบบที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดภาวะโลกเดือดรุนแรงขึ้นอีกทั้งส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศน้ำท่วม ภัยแล้งรุนแรงขึ้นไปอีก

ความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ผลักดันให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศ (งานวิจัยของ Ikumo Isono และ Satoru Kumagai) ความรุนแรงของผลกระทบระยะยาวของน้ำท่วมใหญ่ในไทยปี 2554 ลดลง เมื่อภาคการผลิตบางส่วนเพียงแค่ย้ายฐานการผลิตไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ของประเทศที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม พื้นที่เหล่านี้ได้รับผลบวกทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายตัวของความเจริญมากขึ้น การปิดโรงงานเพียงหนึ่งโรงในพื้นที่น้ำท่วมบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดของเครือข่ายอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้  ขณะนี้ การป้องกันไม่ให้น้ำไหลหลากจากภาคเหนือเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ใจกลางของประเทศจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยอย่างมาก หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับปี 2554 อีก จะสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบป้องกันภัยพิบัติอุทกภัยอย่างชัดเจน เอาเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนการผลิตนั้นมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงภาคการผลิตไม่ต่ำกว่า 16 ประเทศ ความเสียหายทางเศรษฐกิจภาคการผลิตและการลงทุนของผลกระทบน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกจึงไม่จำกัดเพียงเศรษฐกิจไทยเท่านั้น  

เมื่อฝนตกหนัก ดินถล่มในหลายพื้นที่ เป็นผลมาจากป่าไม้ต้นน้ำและป่าไม้ในหลายพื้นที่ถูกทำลาย เป็นผลจากการทำเกษตรอุตสาหกรรมแบบไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตรกรรมแบบขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมยังนำมาสู่ปัญหาวิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 การลดต้นทุนในการเตรียมเตรียมพื้นดินทำเกษตรด้วยการเผาได้สร้าผลกระทบภายนอกด้านลบ (Negative Externalities) อย่างมากต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม เพราะได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพื้นที่ที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยว สถานการณ์ได้เลวร้ายจนหลายจังหวัดในภาคเหนือมีมลพิษทางอากาศและหมอกควันสูงติดอันดับต้นๆของโลก

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งเกิดซ้ำซากทุกปี มลพิษทางอากาศเกิดขึ้นทุกปี เมื่อประเทศไทยจะอยู่ในสภาพน้ำท่วม บวก ภัยแล้ง บวก อากาศร้อนรุนแรง บวก มลพิษทางอากาศ หมอกควัน รวมกันยาวนานเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไปต่อปีจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปีได้  ความเสียหายนี้เหล่านี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว

การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้ ความเสียหายทางทรัพย์สิน ความเสียหายทางด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวและการเดินทาง ภัยพิบัติเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้    ผู้มีรายได้น้อยและคนจนในพื้นที่ภัยพิบัติจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงานในเขตพื้นที่ภัยพิบัติ

ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการเรื่องอุทกภัย การจัดการน้ำท่วมขังและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินแบบปี พ.ศ. 2554 หรือไม่ และการเตรียมการรับมือมีประสิทธิภาพอย่างไร ขณะที่ ปัญหาที่ใหญ่กว่าน้ำท่วมขังอุทกภัยใหญ่แบบปี 2554 ก็คือ มีงานวิจัยของกรีนพีซเตือนว่าในอีก 7-8 ปี กรุงเทพฯอาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรงหากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้น เรื่อย ๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และ เพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ ในอนาคต ความเสียหายลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ตนค่อนข้างเป็นห่วงว่า กรุงเทพฯ อาจจมทะเลในอีก 7-8 ปีข้างหน้า สิ่งก่อสร้างทั้งหลาย โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของทั้งรัฐและเอกชน จะเสียหายหนักหากกรุงเทพจมอยู่ภายใต้น้ำ หากไม่มีใครสนใจในการศึกษา การทรุดตัวลงของกรุงเทพและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และ ไม่มีการเริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังเพื่อป้องกัน “กรุงเทพและปริมณฑล” ไม่ให้จมทะเล หากพื้นที่มากกว่า 80% ของกรุงเทพจมทะเล งานวิจัยกรีซพีซประเมินสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนกว่า 10.45 ล้านคน ตนจึงขอเสนอนโยบาย 6 ข้อเร่งดำเนินการ ได้แก่ สร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือ "ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง" ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนงบประมาณให้ดี, ปลูกป่าชายเลน เพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล การปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่จากบางขุนเทียน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการจะฟื้นฟูธรรมชาติและยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย, จัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่ง, กระจายการลงทุนไปภูมิภาค, หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และศึกษาการย้ายเมืองหลวง นโยบายการย้ายเมืองหลวงแบบกรุงจาร์กาตาควรถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจัง เสนอว่า รัฐบาลใหม่ต้องเริ่มต้นลงทุนเพื่อป้องกัน “กรุงเทพและปริมณฑล” ที่กำลังจมลงใต้ทะเลได้แล้ว  

การที่ประชาชนมีชีวิตปลอดภัยจากภัยพิบัติและอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดของประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้  ผลกระทบภัยพิบัติจากความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ความทรุดโทรมของสุขภาพของผู้คนในหลายกรณีไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูให้คืนสภาพปรกติได้เหมือนเดิม การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก
 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net