Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีนายกรัฐมนตรีย้ายถวิล เปลี่ยนศรีพ้น สมช. ยิ่งลักษณ์ชี้แจงไม่ได้แทรกแซงแต่งตั้งข้าราชการประจำ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ยืนยันย้ายจาก สตช. ไปทำหน้าที่ สมช. ด้วยความสมัครใจ ด้านศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยทันที 7 พ.ค. นี้

6 พ.ค. 2557 - นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการ สมช. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาและกลุ่ม 40 ส.ว. และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การไต่สวนวันนี้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้ 3 ประเด็น คือ 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2. การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3. เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7 ) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ในฐานะผู้ถูกร้องได้เป็นพยานปากแรกย้ำว่าการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดนั้น นายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดในอำนาจหน้าที่แล้วและไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินเกินขอบเขตของรัฐบาลรักษาการได้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายไพบูลย์ ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นสภาพจากตำแหน่ง และขอให้มีคำสั่งให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ต่อไป จึงได้เริ่มการไต่สวนทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ในการโยกย้ายและแต่งตั้งในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยทนายความของนายกรัฐมนตรีได้ซักค้านฝ่ายผู้ร้องด้วย

จากนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้เป็นพยานปากที่ 2 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปฏิเสธพฤติกรรมต่างๆ ตามที่ถูกกล่าวหาและไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของการบริหารราชการแผ่นดินแทรกแซงการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการประจำ แต่เป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่ได้ละเมิด ที่สำคัญการโยกย้ายต่างๆไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเครือญาติ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หย่าขาดกับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แล้ว และตนเองไม่ได้ประโยชน์จากการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีหน้าที่เสนอรายชื่อจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.ตร. เข้าที่ประชุม ก.ต.ช.พิจารณาเท่านั้น ในการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ไปเป็นเลขาธิการ สมช. แทน นายถวิล เปลี่ยนสี โดยการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลต่างๆ เป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการพิจารณาจากความไว้วางใจ ความอาวุโส และประสบการณ์ทำงานปราบปรามยาเสพติดตามนโนบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ส่วนการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จากเลขาธิการ สมช. เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นไปตามฤดูกาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทาบทามไว้ก่อนหน้านี้

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า ขณะที่ พล.ต.อ.เอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ปากคำในฐานะพยานบุคคลปากสุดท้ายต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อนนัดอ่านคำวินิจฉัยว่า การโยกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นไปความสมัครใจและไม่ได้มีการบังคับหรือต่อรองผลประโยชน์ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่เคยตั้งเงื่อนไขในการเข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งไม่ทราบมาก่อนว่าการโยกย้ายตำแหน่งไปแล้ว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ จะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตนเองทำงานในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะนโยบายหลักของรัฐบาลที่เน้นงานด้านยาเสพติดและไม่สามารถทำงานร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นได้ เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดจาตำหนิตนเองผ่านสื่อมวลชน ซึ่งตนเองรู้สึกเสียใจที่ทำให้ภาพพจน์ของตำรวจต้องเสื่อมเสีย

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ยังได้ชี้แจงด้วยว่าเป็น 1 เสียงในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ให้ความเห็นชอบเลือก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความสามารถ

จากนั้นในเวลา 14.10 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังการอ่านคำวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) เวลา 12.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net