Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

4 กรกฎาคม เป็นวันชาติสหรัฐอเมริกา วันนั้นคือวันที่ชาวอาณานิคมอเมริกันประกาศเอกราชจากจักรภพอังกฤษซึ่งปกครองภายใต้ระบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เรียกว่าระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คำถาม แล้วชาวอาณานิคมซึ่งเป็นคนอังกฤษที่อพยพไปตั้งรกรากใหม่ในดินแดนใหม่ที่เรียกว่าทวีปอเมริกานั้น พวกเขาคิดการปฏิวัติปฏิเสธอำนาจปกครองของกษัตริย์อังกฤษทำไม คำตอบคือ พวกเขาคิดและเชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษปกครองพวกอาณานิคมอย่างไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

จุดที่ทำให้การต่อต้านประท้วง ซึ่งเริ่มจากการต่อต้านการเก็บภาษีแสตมป์ในอาณานิคม ลุกลามแล้วขยายใหญ่โตออกไปจนกลายเป็นการต่อต้านอำนาจปกครอง มาจากความเชื่อและประสบการณ์ที่มีต่อระบบปกครองและระบบกษัตริย์เอง ว่ากำลังเป็นระบบทรราช (tyranny) ส่วนตัวกษัตริย์จอร์จที่ 3 นั้นก็เป็นทรราชย์เผด็จอำนาจ ด้วยการบังคับใช้แรงงานทาส รวมทั้งกำลังทำให้พวกชาวอาณานิคม (คนผิวขาว) กลายเป็นทาสไปด้วย ความเชื่อสำคัญที่ทำให้การเผชิญหน้าและต่อต้านรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ มาจากการสรุปความผิดพลาดและจุดอ่อนของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ว่ามาจากการมี “คอร์รัปชั่น” กันอย่างมหาศาลและเป็นระบบของข้าราชบริพารในราชสำนักเอง ด้วยฐานความคิดและความเชื่อว่าผู้นำและระบบรัฐสภากลายเป็นต้นตอของการคอร์รัปชั่น ทำให้การประท้วงต่อต้านของชาวอาณานิคมอเมริกาไม่สามารถยอมรับการเจรจาประนีประนอมได้ มีแต่ยกระดับไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ และในที่สุดเมื่อเผชิญกับการใช้กำลังทหารของอังกฤษในการสยบและทำลายการต่อต้าน เกิดการปะทะกันในบอสตันอันเป็น “วันเสียงปืนแตก” ของการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การปฏิวัติทำลายอำนาจการปกครองอังกฤษในอาณานิคมอย่างสิ้นเชิง

ใครเข้าร่วมและนำการปฏิวัติ โดยส่วนใหญ่มวลมหาประชาอาณานิคมเป็นผู้ประกอบการน้อย เจ้าที่ดินและทรัพย์สิน (ทาส) เล็กๆ ส่วนบรรดาแกนนำและผู้นำระดับสูงมาจากชนชั้นเจ้าของทาสและพ่อค้าใหญ่ของอาณานิคม รวมผู้นำของศาสนาจารย์โปรเตสแตนท์ดังๆ ไว้เกือบหมด เพราะโบสถ์เป็นแหล่งปลุกระดมและรวบรวมกำลังมหาชนที่สำคัญยิ่งก่อนวันปฏิวัติ เรียกว่าเป็นการปฏิวัติของกระฎุมพีใหญ่และน้อยที่แท้จริง ทำให้มีคนสรุปว่าถ้าอย่างนั้นการปฏิวัติอเมริกาก็มีลักษณะของอนุรักษ์นิยม เห็นได้ในแง่ของการรักษาทรัพย์สินส่วนตัว (รวมถึงพวกทาสผิวดำ) เป็นสำคัญ ไม่ใช่การปฏิวัติถอนรากถอนโคนอย่างแท้จริง พูดอย่างนี้ก็ได้ ยิ่งถ้าไปดูคนผิวดำที่เป็นทาสและเป็นไทจำนวนไม่น้อย พากันเข้าร่วมกับกองกำลังและข้าหลวงอังกฤษในอเมริกา เพราะได้คำสัญญาว่าจะได้เสรีภาพเป็นไทจากการเป็นทาส แทนที่จะเข้าร่วมและสนับสนุนการปฏิวัติกับคนผิวขาวด้วย

ถ้างั้นแล้วทำไมคนรุ่นต่อๆ มาถึงยังพากันสดุดีและชื่นชมการปฏิวัติอเมริกากันอย่างไม่ขาดสายอีกเล่า ข้อที่ทำให้การปฏิวัติอเมริกายังดำรงฐานะของการเป็นปฏิวัติของประชาชนครั้งสำคัญอย่างยาวนานมาได้ มาจากคติเชิงปรัชญาการเมืองของการปฏิวัติที่จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ (ก็สุดจะบอกได้) ที่ประกาศออกมาในคำประกาศเอกราช ได้เน้นและแสดงอย่างเป็นจริงเป็นจังถึงคติความคิดใหม่สุดยอดที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองของมหาชนเป็นครั้งแรก นั่นคือคติว่า “คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน” (All men are created equal) วรรคทองนี้แหละที่ทำให้การปฏิวัติถึงจะมีแกนนำเป็นกระฎุมพีแต่ก็เป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะก้าวหน้าและปฏิวัติยิ่ง จากคติและปรัชญาการเมืองนี้ทำให้การเมืองและระบบการปกครองอเมริกาต้องวางอยู่บนหลักการของหนึ่งคนหนึ่งเสียง อำนาจรัฐไม่อาจมาจากนอกระบบมหาชนรัฐได้ คนที่เข้าไปอยู่ในระบบราชการบริหารหรือกองทัพก็ไม่สามารถมีอภิสิทธิ์หรืออำนาจพิเศษเหนือพลเมืองคนอื่นๆ ได้ จากการที่รัฐบาลและบรรดาผู้นำอำนาจรัฐและรัฐสภาต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันมากว่าสองศตวรรษ โดยไม่มีการใช้อำนาจพิเศษใดๆ ได้ นอกจากไปใช้นอกประเทศสหรัฐฯ ทำให้การปฏิวัติอเมริกาที่สร้างระบบคองเกรส ระบบประธานาธิบดีและระบบศาลยุติธรรม ได้รับการยอมรับนับถือจากประชามหาชนและรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกมายาวนานด้วยประการฉะนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net