Skip to main content
sharethis

ชิลีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำจัดมรดกตกค้างจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์ ทิ้งไป แล้วหันมาชูเรื่องสิทธิทางสังคม, สิ่งแวดล้อม และความเสมอภาค โดยจะจัดให้ประชาชนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในเดือน ก.ย. ปีนี้

 

รัฐรับรองสิทธิของชาวนาและชนพื้นเมืองในการใช้และแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมอย่างเสรี โดยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลีซึ่งจะมีการลงประชามติทั่วประเทศในวันที่ 4 ก.ย.นี้

17 พ.ค. 2565 หลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญชิลีมีการจัดอภิปรายแบบครบองค์ 103 วาระ กินเวลายาวนาน 10 เดือน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาก็ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะจัดให้มีการลงประชามติจากประชาชนภายในปีนี้ ซึ่งถ้าหากผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญก็จะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ตกค้างมาจากสมัยเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์

มาเรีย เอลิซา ควินเทรอส ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลีที่มีสมาชิกอยู่ 155 รายกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และสิทธิทางสังคมเป็นหลัก โดยที่ต่อไปหลังจากนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญจะทำการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเป็นทางการที่พิธีกรรมในเมืองอันโตฟากัสตา

มีการให้คำมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลีจะให้ความสำคัญต่อสิทธิของประชาชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพแบบถ้วนหน้า สิทธิในเรื่องการศึกษา สวัสดิการบำนาญ และการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น รวมไปถึงนโยบายในการส่งเสริมความเป็นธรรมทางเพศสภาพและความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวด้วย

ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลีที่มีอยู่ด้วยกัน 499 มาตรานี้ มีบทเฉพาะกาลที่ระบุถึงการยกเลิกระบบวุฒิสภาแล้วจัดตั้งสภานิติบัญญัติสภาเดี่ยวแทน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการรับรองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์แก่ประชาชน ระบุให้รัฐต้องมีหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขหรือปรับตัวต่อปัญหาวิกฤตภูมิอากาศหรือวิกฤตโลกร้อน และเป็นครั้งแรกที่มีการระบุรองรับสถานะชนพื้นเมืองในชิลี ซึ่งจะทำให้มีการชดเชยให้กับชนพื้นเมืองเหล่านี้จากที่พวกเขาเคยถูกขับไล่จากที่ดินของตัวเองมาก่อน

การทำประชามติรัฐธรรมนูญชิลีจะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ผ่านประชามติ ก็จะได้รับการให้สัตยาบันเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลี แต่ถ้าหากไม่ผ่านประชามติ ชิลีก็จะต้องใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารต่อไป

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของชิลีถูกนำมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งนับเป็นเวลา 7 ปี หลังจากที่มีการรัฐประหารทีโค่นล้มประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคสมัยนั้น หลังจากนั้นชิลีก็เผชิญกับการกดขี่ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิมและทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง มาจนถึงตอนนี้นโยบายแบบของเผด็จการทหารปิโนเชต์ที่เอื้อต่อนายทุนก็ยังคงมีอยู่ชิลี ถึงแม้ว่าเผด็จการทหารชิลีจะสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2533 แล้วก็ตาม นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารยังขัดขวางการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนในชิลีมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย

แรงสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในชิลีนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการประท้วงของประชาชนในเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องที่จุดประเด็นให้เกิดการประท้วงคือเรื่องการขึ้นค่าโดยสารขนส่งมวลชน แต่ผู้ประท้วงก็บอกว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาออกมาประท้วงจริงๆ คือเรื่องความไม่พอใจต่อนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการประชาชนที่ตกค้างมาจากสมัยเผด็จการทหาร

หลังจากที่รัฐบาลชิลีทำการปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิต 36 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนทุพพลภาพอีกจำนวนมาก ประธานาธิบดีของชิลีในยุคนั้นคือ เซบาสเตียน ปิเญรา ก็ถูกบีบให้ต้องจัดทำประชามติในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารปิโนเชต์ ซึ่งประชาชนชาวชิลีเกือบร้อยละ 80 โหวตต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ ก่อนที่จะมีการโหวตอีกครั้งหนึ่งเพื่อเลือกตั้งให้ผู้แทนฝ่ายก้าวหน้า 155 ราย เข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญปิโนเชต์

ควินเทรอสกล่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะ "มีคำตอบให้กับข้อเรียกร้องของการประท้วงในปี 2562"

ถึงแม้ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญชิลีจะยกเลิกข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญข้อที่ระบุถึงการทำให้สิทธิในเหมืองแร่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ เทีย ริโอฟรังคอส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยโปรวิเดนซ์ที่มีงานวิจัยเน้นเรื่องการขุดเจาะทรัพยากรในลาตินอเมริการะบุว่า ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเกี่ยวกับเหมืองแร่ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ร่างรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ก็จะทำให้ "มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในภาคส่วนเหมืองแร่" ถ้าหากมีการนำมาบังคับใช้ ชิลีเป็นประเทศที่ผลิตทองแดงในระดับชั้นนำของโลกและเป็นประเทศที่ผลิตลิเทียมมากเป็นอันดับสองของโลก

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจองชิลีคือ กาเบรียล บอริก เป็นฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นแกนนำขบวนการนักศึกษาเมื่อปี 2554 ที่เรียกร้องการศึกษาที่ฟรีและมีคุณภาพ เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเดือน ธ.ค. 2564 ว่า ถ้าหากมีการทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศชิลีเอง ก็จะกลายเป็นการทำลายโลกนี้ไปด้วย พวกเขาจึงปฏิเสธโครงการต่างๆ ที่จะทำลายประเทศของพวกเขาและทำลายชุมชนในชิลี

ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลี มาตราที่ 107 ยังระบุถึงเรื่องสิทธิของธรรมชาติไว้ด้วย ซึ่งถ้าหากร่างได้รับการอนุมัติจากประชามติก็จะทำให้ชิลีกลายเป็นประเทศที่สองที่รับรองสิทธิของธรรมชาติจากที่เอกวาดอร์เป็นประเทศแรกที่รับรองสิทธิในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นๆ ที่ระบุถึงการสนับสนุนการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต

มีมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลีที่ระบุถึงการจัดพื้นที่ๆ เป็นโซนห้ามทำเหมืองแร่ เรียกร้องให้มีการปกป้องภูเขาน้ำแข็งและคาบสมุทรแอนตาร์กติก การันตีให้มีการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ และเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชได้อย่างเสรี

นอกจากกระบวนการเก็บรายละเอียดอื่นๆ ก่อนหน้าวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้แล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลียังต้องเผชิญความท้าทายในการเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด้วย  เพราะถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญเผด็จการทหาร แต่ผลโพลล่าสุดก็บ่งชี้ว่ามีชาวชิลีร้อยละ 46 ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ และมีร้อยละ 38 ที่สนับสนุน

เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net